Play video

ยอมรับตามตรงว่าเริ่มรู้จักกับหนังจริงๆก็ตอนมันได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขาใหญ่ๆไปหมดนั่นแหละ แถมตอนแรกยังงงด้วยซ้ำ ไอ้หนังชื่อยาวๆนี่มันโผล่มาจากไหนกันแน่ แต่พอได้อ่านเรื่องย่อก็อ๋อ หนังมันมาถูกจังหวะกับกระแสต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศนี่เอง ซึ่งก็นับว่าหนังมาถูกที่ถูกเวลากับเหตุการณ์ในอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง

ใน Three Billboards Outside Ebbing, Missouri  มิลเดร็ด เฮย์ (ฟรานเซส แมคดอร์มานด์) ใช้สื่อโฆษณาอย่างบิลบอร์ดเพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีข่มขืนแล้วฆ่าของลูกสาวจาก วิลเลอบี (วูดดี้ ฮาเรลสัน) ตำรวจขวัญใจชาวบ้านผู้กำลังป่วยหนัก  จนคนเป็นแม่ที่เสียลูกไปในเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญกลายเป็นจำเลยสังคมและเป้าหมายของอันธพาลเสียเองโดยเฉพาะ ดิกซอน (แซม ร็อคเวล) ลูกน้องเลือดร้อนของวิลเลอบีที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับมิลเดร็ด อย่างเปิดเผย



แม้ดูจากโครงเรื่องที่มีทั้งคดีข่มขืนและฆ่า หรือการขึ้นป้ายบิลบอร์ดด้วยข้อความรุนแรงแล้วอาจพาลให้นึกว่าหนังจะต้องเครียดหัวแตก ซีเรียสจริงจังกันทั้งเรื่องแต่ตรงข้ามเลยครับ หนังกลับเล่าด้วยลีลาตลกโปกฮาทั้งการสร้างสถานการณ์และตัวละครที่ดูเป็นมนุษย์มากๆ เลยทำให้เราสามารถติดตามเรื่องราวที่พลิกผันไปมาของหนังได้อย่างสนุก เข้มข้น เร้าใจ ที่สำคัญคือมันโน้มน้าวให้เราเชื่อจุดเปลี่ยนของตัวละครที่แม้จะสุดโต่งมากไปหน่อยก็ตาม  ซึ่งตรงนี้ต้องชื่นชมบทหนังที่สามารถเล่าเรื่องราวในมิติใหม่ๆ เพราะขณะที่โครงเรื่องหลักเหมือนจะทำให้เราเข้าข้าง มิลเดร็ด แต่การตอกกลับสถานการณ์ต่างๆในเรื่องกลับทำให้เห็นว่าเธอเองก็เอา โมหะ หรือความแค้นมานำการตัดสินใจทุกอย่างแบบไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนรอบข้างเธอเลยจนนำไปสู่การตั้งคำถามกับการกระทำของเธอได้อย่างคมคาย



และที่เรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญที่หนังมาเข้าฉายในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองกำลังต้องการความถูกต้องพอดี คนดูไทยๆอย่างเราเลยแทบจะสามารถแทนข้อความของมิลเดร็ดด้วยรูปเสือดำหรือ นาฬิกา ในมโนสำนึกแบบอัตโนมัติ ยิ่งหนังมีฉากเผาป้ายนี่ โอ้โห นึกถึงการลบกราฟิตีของหน่วยงานภาครัฐอันรวดเร็วได้เลย ซึ่งเชื่อว่าคนไทยเราน่าจะอินกับหนังได้ไม่ยาก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการเรียกร้องความถูกต้องผ่าน “สื่อ” จนสามารถดึงความสนใจจากสื่อมวลชนที่มาทำข่าวป้าย 3 ป้ายที่มุ่งโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐของเธอ จนสามารถจุดไฟให้ตำรวจหันมาสนใจทำคดีลูกสาวของเธอต่อไป

และตัวหนังคงออกมาพิกลพิการไม่น้อยถ้าไม่ได้การแสดงระดับออสการ์อย่าง ฟรานเซส แมคดอร์มานด์ ที่สามารถถ่ายทอดบทแม่ผู้แหลกสลายได้อย่างน่าเห็นใจ ทั้งแววตา ท่าทางการเดิน การเคลื่อนไหวต่างๆ เราพร้อมจะเชื่อ ได้เลยว่าเธอคือ มิลเดร็ด แม่ผู้ไม่มีอะไรจะเสียและพร้อมจะทิ้งมโนสำนึกทันทีเมื่อต้องทำสงครามกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วน แซม ร็อคเวล ก็สามารถทำให้ ดิกซอน ตำรวจอันธพาลแต่กลับขี้แหง่ติดแม่ ออกมาเป็นมนุษย์ที่สุด และกลายเป็นตัวละครที่เล่นกับทัศนคติคนดูได้อย่างสนุกสนานแบบไม่รู้จะรักหรือจะเกลียดดีเลยล่ะ  และปิดท้ายด้วย วูดดี้ ฮาเรลสัน คู่แข่งของร็อคเวลบนเวทีรางวัลต่างๆ ที่แม้จะกลับบ้านตัวเปล่าแต่ผลงานบนจอก็ถือว่าสมศักด์ศรีผู้เข้าชิงรางวัลจริงๆ โดยเฉพาะบทวิลเลอบี ตำรวจใกล้ตายที่มิลเดร็ดใช้บิลบอร์ดโจมตี ที่ต้องต่อสู้ทั้งการความผิดบาปในใจเรื่องคดีและความป่วยไข้ที่สร้างความร้าวรานให้วีรบุรุษอย่างเขาได้น่าเห็นใจจนคนดูไม่อาจชังน้ำหน้าเขาได้เลยซักวินาที

สรุปแล้วแม้จบงานประกาศรางวัลออสการ์ แล้วหนังอาจไม่ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมแต่เชื่อได้เลยว่า Three Billboards Outside Ebbing, Missouri  คือหนังชิงรางวัลที่ทั้งบันเทิงและชวนคิดจนน่าจะเป็นแรงบันดาลใจและคติเตือนใจสำหรับประชาชนตัวเล็กๆที่หวังกระตุ้นจิตสำนึกของรัฐได้อย่างแยบคายแบบที่หนังเรื่องอื่นไม่เคยทำได้มาก่อนแน่นอน