ก่อนได้ดู เห็นคะแนนใน IMDB ที่ 5.5 ก็ยังฉงนว่าทำไมคะแนนถึงน้อยเพียงนี้ ทั้งที่ผู้กำกับ โฮเซ่ พาดิลา จาก Robocop และซีรีส์ Narcos ก็ดูน่าเชื่อถือดี นักแสดงนำอย่าง แดเนียล บรูห์ล และ โรซามันด์ ไพค์ ก็ดาราระดับขายฝีมือ หน้าหนังจากที่ได้ดูตัวอย่างก็น่าสนุกดีกับปฏิบัติการชิงตัวประกันที่วางให้อิสราเอลเป็นพระเอกก็เป็นแง่มุมที่ฮอลลีวู้ดยังไม่เคยสร้าง แต่หลังที่ได้ดูแล้วก็เข้าใจล่ะ ว่าทำไมคะแนนถึงออกมาเป็นเช่นนั้น
หนังย้อนอดีตไปเล่าเหตุการณ์ในปี 1976 ช่วงคุกรุ่นระหว่างปาเลสไตน์ และ อิสราเอล หนังเปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้เรารู้จัก บริจิตต์ คุห์ลแมน และ วิลฟรีด โบส นักปฏิวัติชาวเยอรมันหัวรุนแรงที่เข้าร่วมกับชาวปาเลสไตน์ วางแผนยึดเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ ที่มีชาวอิสราเอลโดยสารอยู่จำนวนมาก เพื่อบีบบังคับให้อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ หนังเล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องไปทีละวันตั้งแต่วันแรก และไปจบในวันที่ 7 ตามชื่อเรื่อง , คุห์ลแมน , โบส และเพื่อนร่วมแก๊งอีก 2 คน ยึดเครื่องบินได้สำเร็จและนำไปจอดในเอ็นเท็บบี เพราะได้อีดี้ อามินผู้นำชาวอูกันดาสนับสนุนปฏิบัติการนี้ หนังเล่าเรื่องราว 2 ฝั่งคู่ขนานกันไประหว่างที่ทำการรัฐบาลอิสราเอลที่วางแผนช่วยเหลือตัวประกัน มีหัวเรือหลักคือ ประธานาธิบดีราบิน และ ชิมอน เปเรส รัฐมนตรีกลาโหม อีกฝั่งก็เล่าเหตุการณ์ในเอ็นเทบบี ฝั่งผู้ก่อการร้ายที่คุมตัวประกันไว้ในอาคารผู้โดยสาร ความยาวหนัง 1 ชั่วโมง 47 นาที หมดไปกับการโต้เถียงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของฝั่งผู้ก่อการร้าย การโต้แย้งเรื่องยุทธวิธีการชิงตัวประกันของทางรัฐบาลอิสราเอล
จุดที่พาให้หนังล้มเหลวที่สุดคือ “บทภาพยนตร์” ของเกรกอรี่ เบิร์ค มือเขียนบทโนเนม ที่เคยผ่านงานเขียนบทหนังมาแค่เรื่องเดียว บทของเกรกอรี่ พยายามดัน วิลฟรีด โบส และ บริจิต คุห์ลแมน ขึ้นมามีบทบาทมากสุด ให้ผู้ชมได้เข้าใจเจตนาของพวกเขา ได้รู้จักนิสัยใจคอของแต่ละคนแล้วก็พยายามดึงตัวละครอื่น ๆ อีกมากขึ้นมามีบทบาททั้ง วิศวรกรประจำเครื่องบิน , ผู้โดยสารหลายคน และหนึ่งในทหารอิสราเอลที่มีแฟนสาวเป็นนักเต้น หนังใช้เกือบทั้งเรื่องไปกับเรื่องราวเหล่านี้ สิ่งที่คาดหวังจากตอนที่ดูเทรลเลอร์กับผิดคาดหมดสิ้น คาดว่าหนังจะมาแนวแอ็คชั่นชิงตัวประกัน กลับกลายเป็นหนังที่ถกกันเครียดเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เหลือพื้นที่ให้ฉากชิงตัวประกันแค่ 5 นาทีท้ายเรื่องเท่านั้น และเป็นฉากชิงตัวประกันที่ขาดความตื่นเต้นชวนลุ้น เป็นปฏิบัติการที่ง่ายดายที่สุดเท่าที่เคยผ่านตา ส่วนดีที่สุดคือการใส่ลูกเล่นในฉากชิงตัวประกันด้วยการตัดสลับภาพปฏิบัติการกับภาพการแสดงโชว์ลีลาประกอบดนตรีบนเวทีของแฟนสาวหนึ่งในทีมชิงตัวประกันที่ปูมาตั้งแต่กลางเรื่อง การตัดต่อที่เข้ากันลงจังหวะระหว่างสองเหตุการณ์ก็ช่วยให้ฉากนี้น่าสนใจมากขึ้น อีกจุดที่น่าชื่นชมคือการทำการบ้านของทีมงาน ที่จำลองภาพให้ได้บรรยากาศในยุค 70s ก็ถือว่าทำงานตรงนี้ได้สมบูรณ์แบบ ทั้งการหาเครื่องบินแอร์ฟรานซ์รุ่นเก่า ฉากภายในเครื่องบิน รถรายานพาหนะ เสื้อผ้าหน้าผมตัวแสดงละเอียดเป๊ะหมด
หนังจบด้วยความรู้สึกว่างเปล่าว่าบทหนังเสียเวลากับการหว่านให้คนดูไปรู้จักตัวละครมากมายเพื่ออะไร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีผลอะไรกับบทสรุปของหนัง คือผ่านมาก็ผ่านไป ทั้ง ๆ ที่บทหนังมีช่องให้ขยายเรื่องราวดราม่าแล้วขยี้อารมณ์ได้มากมายแต่ก็เปล่า แม้กระทั่ง 2 ตัวละครหลักอย่าง บริจิตต์ คุห์ลแมน และ วิลฟรีด โบส ก็มาถึงบทลงเอยที่ดูสูญเปล่า ที่น่าผิดหวังอีกคนก็คือ ชิมอน เปเรส ที่สร้างความคาดหวังพอควรจากตอนที่ได้เห็นตัวอย่างหนัง ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวหลักที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งเอาจริงก็ไม่ได้เด่นกว่าประธานาธิบดีราบินเสียด้วยซ้ำ รายที่โดดเด่นสุดต้องยกให้ โรซามันด์ ไพค์ เป็นดารามากฝีมือที่น่าสงสารครับ โอกาสมาถึงตัวหลายหนก็ไม่ดังสักที ทั้งที่เป็นดาราที่เพียบพร้อมมาก ทั้งใบหน้าที่สวยสะดุดตาและฝีมือการแสดงที่ให้ประจักษ์กันมาแล้วจาก Gone Girl แต่แล้วก็เงียบไม่มีงานเด่น ๆ ให้เห็นอีกเลย เรื่องนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเธอทุ่มเทกับบทมาก เล่นแบบไม่ห่วงสวยโชว์หน้าสดทั้งเรื่อง และก็ใช้งานเธอได้คุ้ม มีฉากที่เธอได้แสดงสีหน้าอารมณ์คนเดียวยาว ๆ
หนังจึงไม่ได้เหมาะกับผู้ที่คาดหวังฉากแอ็คชั่นเน้นยุทธการ แต่จะเหมาะกับคนที่ชอบหนังแนวการเมือง และชอบศึกษาเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองโลก แต่เอาเข้าจริงกับเหตุการณ์ไฮแจ๊คครั้งนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การหยิบมาถ่ายทอดอีกครั้งเป็นภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่ทั้งหลายทั้งปวงถ้าหนังได้มือเขียนบทที่เชี่ยวประสบการณ์กว่านี้ การเสริมเติมแต่งใส่สีสันให้มีเรื่องราวดราม่าระหว่างผู้ก่อการร้ายกับตัวประกัน เน้นความตึงเครียดกับการโต้แย้งกันภายในรัฐบาลอิสราเอล และสุดท้ายการใส่ความระทึกตื่นเต้นลงไปในฉากชิงตัวประกัน ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้หนังสนุกกว่านี้มาก หนังปิดท้ายตามฟอร์มหนังประวัติศาสตร์ทั่วไป ด้วยการขึ้นภาพนักแสดงคู่กับตัวตนจริงในประวัติศาสตร์พร้อมกับคำบรรยายความเป็นไปของแต่ละบุคคลที่เราเห็นกันในหนัง ไม่แนะนำครับ