ไม่กี่วันมานี้ เหล่าสมาชิกที่สังกัดสมาคมผู้กำกับของอเมริกาจะได้รับอีเมลฉบับหนึ่ง ซึ่งมีชื่อผู้ส่งคือ คริสโตเฟอร์ โนแลน (ผู้กำกับ Dunkirk) และ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (ผู้กำกับ Phantom Thread) โดยมีใจความสำคัญว่า “มันจำเป็นอย่างมากที่เรา (พวกผู้กำกับหนัง) ต้องคุมเทคโนโลยีทีวีสมัยใหม่ เพื่อให้แสดงผลงานภาพสำหรับผู้ชมทางบ้านจะได้เสพภาพที่ใกล้เคียงจากตัวหนังฉบับดั้งเดิมตามความตั้งใจของผู้สร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการหาแรงหนุนจากสมาชิกของสมาคมเพื่อต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตทีวีในการใส่การตั้งค่าเพื่อแสดงผลภาพของหนังตามที่ตัวหนังเป็นอยู่เดิม เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ของทีวีมักใส่โหมดภาพพิเศษเพื่อปรับปรุงภาพจนทำให้หนังหลายเรื่องผิดเพี้ยน โดยศัตรูเบอร์หนึ่งของผู้สร้างหนังในเรื่องการดัดแปลงภาพนั้นก็คือ Smooth Motion
ใครได้ตามข่าวแวดวงภาพยนตร์น่าจะจำได้ว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้กำกับสาวคนดังอย่าง รีด โมราโน (ซีรีส์ The Handmaid’s Tale) ได้ออกมาตั้งแคมเปญเชิญชวนเข้าร่วมสนับสนุนบน Change.org ในชื่อ Please STOP making “smooth motion” the DEFAULT setting on all HDTVs หรือ รณรงค์หยุดการตั้งค่าเริ่มต้นของเอชดีทีวีด้วยโหมด Smooth Motion ซึ่งแคมเปญนี้เพิ่งปิดลงชื่อไปเมื่อ 1 ปีก่อนด้วยยอดคนสนับสนุน 12,878 คน อาจดูไม่มาก แต่ก็ได้การสนับสนุนจากคนในวงการบันเทิงจำนวนไม่น้อย และนับเป็นการเบิกฤกษ์การต่อสู้ระหว่างผู้กำกับหนังกับผู้ผลิตโทรทัศน์สมัยใหม่ขึ้น โดยเฉพาะกรณี Smooth Motion ด้วย
การต่อสู้ดำเนินมาเรื่อย ๆ ผ่านการประท้วงและหาแนวร่วมจากแทบทั้งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ปลายปีที่แล้วคนที่ออกตัวชัดก็มีทั้ง เจมส์ กันน์ (ผู้กำกับ Guardians of The Galaxy) เอ็ดการ์ ไรท์ (ผู้กำกับ Baby Driver) แมตต์ รีฟส์ (ผู้กำกับ War for the Planet of the Apes) คริสโตเฟอร์ แมควอรี (ผู้กำกับ Mission: Impossible – Fallout) ไรอัน จอห์นสัน (ผู้กำกับ Star Wars: The Last Jedi) และดาราดังอย่าง ทอม ครูซ ด้วย
https://twitter.com/JamesGunn/status/915992420084539392
มาถึงตรงนี้เราคงรู้สึกว่า เจ้า Smooth Motion นี่มันคือวายร้ายระดับมหากาฬของผู้กำกับหนังเชียวหรือ ว่าแต่ มันคืออะไรล่ะ?
มารู้จัก Smooth Motion กัน
เจ้าเทคนิคทางภาพตัวนี้มีหลากหลายชื่อแตกต่างกันไปตามค่ายผู้ผลิตทีวี แต่มักเรียกรวมทั่วไปว่า Smooth Motion หรือ Motion Interpolation หรือยาวสุดกับชื่อ motion-compensated frame interpolation (MCFI) มันคือเทคนิคการปรับแต่งภาพเคลื่อนไหวให้มีความลื่นไหล ไม่สั่นกระตุก โดยการเพิ่มเฟรมภาพจำลองที่ใช้การประมวลผลของชิพในทีวีเข้าไปในวิดีโอที่มักถ่ายกันที่ 25 เฟรมต่อวินาที (PAL) 30 เฟรมต่อวินาที (NTSC) และ 24 เฟรมต่อวินาที (Film) ให้เท่าเฟรมเรทของทีวีปัจจุบันที่มาตรฐานคือ 60 Hz หรือ 60 เฟรมต่อวินาที ซึ่งจะได้เฟรมเรทของการเล่นภาพเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ลื่นไหล ลดการกระตุกของภาพ ซึ่งมันออกแบบมาสำหรับการดูรายการทีวีจำพวกที่เคลื่อนไหวรวดเร็วเช่น รายการกีฬา เป็นต้น
ฟังดูดีใช่มั้ย แต่ที่มันเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะการเพิ่มแทรกเฟรมเข้าไปนี้ ดันไปทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เรียกว่า Soap Opera Effect โดยเฉพาะกับหนังที่ถ่ายมาในระบบ 24 เฟรมต่อวินาทีเข้าน่ะสิ
Soap Opera Effect (SOE) ศัตรูตัวร้ายของหนัง
Soap Opera Effect คือคำที่ใช้อธิบายคุณภาพของภาพจากหนังโรงที่ดูสวยงามในโรงภาพยนตร์ซึ่งออกแบบมาที่ 24 เฟรมต่อวินาที แล้วดันถูกแปลงขึ้นจอทีวีจนภาพไปเหมือน ละครน้ำเน่า (Soap Opera) ไปเสียนี่ ทั้งนี้เพราะการที่ Smooth Motion ต้องจัดการแปลงจาก 24 เฟรมต่อวินาที ให้กลายเป็น 30 หรือ 60 เฟรมต่อวินาทีของทีวีนั้น มันไม่สามารถทำได้ราบรื่นด้วยการคูณเฟรมแบบปกติน่ะสิ อธิบายอาจยากอยากให้ดูวิดีโอตัวด้านล่างนี้ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการเปิดและปิดโหมด Smooth Motion ให้ดู
จะเห็นว่าถ้าเราปิด Smooth Motion ตามภาพฝั่งซ้ายภาพจะแสดงแบบกระโดดตามเฟรมเรทที่มาจากตัวหนัง และทำให้เรารู้สึกว่าภาพกระตุก ในขณะที่เมื่อเปิดภาพจะไหลเรียงต่อเนื่องกว่า แต่ว่าจะเกิดอาการภาพเหลื่อมกันจากเฟรมที่จำลองขึ้นมาเชื่อม จนรู้สึกเหมือนภาพละลายเหมือนทีวีโบราณในบางที
ซึ่งนี่ล่ะที่ทำลายสุนทรียะทางภาพที่เหล่าผู้กำกับเขาออกมาประท้วงกันมากมาย
ทางออกที่เขาเรียกร้องล่ะ
ทางออกของปัญหานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิดีโอเขาก็คิดมาแล้วล่ะนั่นคือ ปัญหาจะหมดไปกับทีวีที่ เพราะมันจะคูณเฟรมเรทของหนังขึ้นไปพ้องกับเฟรมเรททีวีได้โดยไม่ต้องไปเพิ่มเฟรมหลอก ๆ ภาพหลอน ๆ ในตัวหนัง แต่ปัญหาคือทีวีที่ว่ามันต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นและแน่นอนราคาที่สูงมากในปัจจุบันด้วย ใครจะไปลงทุนผลิตมาแล้วมีคนซื้อได้ไม่กี่คนล่ะ และจริง ๆ ทางออกนี้ก็จะยังมีปัญหากับวิดีโอที่ถ่ายในระบบ PAL ที่ 25 เฟรมต่อวินาทีอยู่ดีล่ะนะ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัญหาจะหมดไปก็ต่อเมื่อทีวีสามารถแสดงผลได้ที่ 600 Hz หรือ 600 เฟรมต่อวินาทีนั่นล่ะ (ปัจจุบันแค่ทีวี 120 Hz ก็แพงมากแล้วนะ)
หรือไม่คนทำหนังก็ต้องถ่ายด้วยกล้องพิเศษที่ให้เฟรมเรทสูงกว่าปกติอย่างเรื่อง Billy Lynn’s Long Halftime Walk (2016) ของผู้กำกับอังลี่ ที่มีเฟรมเรทถึง 120 เฟรมต่อวินาทีแทน ซึ่งระบบ High Frame Rate (HFR) นี้ก็กำลังได้รับความสนใจจากผู้กำกับหลายคน โดยเฉพาะ เจมส์ คาเมรอน ที่พยายามจะดันให้เป็นมาตรฐานใหม่ด้วยหนังภาคต่อของ The Avatar ที่เขากำลังทำอยู่ด้วย แต่โดยพื้นฐานคนในอุตสาหกรรมหนังก็คงยืนพื้นกันที่ 24 เฟรมต่อวินาทีเช่นเดิมล่ะนะ
ทีนี้เนื่องจากรออนาคตให้เทคโนโลยีมันถูกลงคงไม่เข้าท่าเท่าไหร่ สิ่งที่เหล่าผู้กำกับดังออกมาเรียกร้องจึงเป็นเรื่องที่บริษัทผู้ผลิตทีวีทำได้ทันทีนั่นคือ การยกเลิกตั้งโหมด Smooth Motion นี้เป็นค่าเริ่มต้นเสียที แล้วปล่อยให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกเอง ซึ่งอันนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ผู้กำกับหนังหลายคนพยายามผลักดันมาโดยตลอด ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีตัวอื่นที่เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณภาพงานหนังก็ยังมีในเรื่องของการปรับโหมดสี หรือการจัดการคุณภาพภาพอื่น ๆ อีก ซึ่งสำหรับโนแลนเขาก็คงอยากให้ผู้ผลิตทีวีลงมาใส่ใจมากกว่านี้ด้วย
โดยเนื้อหาอื่น ๆ ที่โนแลนใส่มาในแบบสอบถามต่อสมาชิกของสมาคมผู้กำกับยังมีประเด็นอื่น ๆ ซึ่งขอยกมาบางส่วนเช่น
- คุณคิดว่ามันสำคัญมั้ยที่ทีวีตามบ้านทั่วไปควรจะแสดงผลได้ใกล้เคียงกับจอมอนิเตอร์ในห้องตัดต่อแต่งสีซึ่งคุณใช้ผลิตผลงานหนังหรือรายการทีวี?
- สำหรับการรับชมรายการหนังหรือรายการทีวีที่ดีที่สุด อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ควรทำให้เกิดขึ้นในทีวีปัจจุบัน?
- เฟรมเรทจอทีวีควรสัมพันธ์กับเฟรมเรทของตัวผลงานที่นำมาฉาย (ไม่มีการใช้ motion interpolation มาช่วย)
- จอทีวีตามบ้านควรแสดงผลได้โดยไม่ทำให้คุณภาพจากห้องแต่งสีตกลง ทั้งสีสัน ความสว่าง ระดับของสีดำและสีขาวบนภาพ เป็นต้น (แหม ทีวีที่แสดงผลแบบนี้ได้ราคาหลักแสนนะครัช)
- ช่วงการแสดงผลความต่างของแสง (Dynamic Range) ควรรองรับ HDR ที่เป็น HDR จริง ๆ ไม่ใช่ถูกขยายออกด้วยซอฟต์แวร์
- โหมดสำหรับการรับชมนี้ควรถูกใช้ชื่อเดียวกันในทีวีทุกยี่ห้อหรือไม่?
- โหมดการรับชมพิเศษนี้ควรเข้าถึงได้ง่าย โดยอาจเป็นไปโดยอัตโนมัติ หรือเป็นปุ่มให้เลือกบนรีโมท (แต่ต้องไม่ใช่การเข้าไปกดเลือกเปิด/ปิดในหน้าต่างเมนูที่ซับซ้อน)
ส่วนในมุมของผู้ผลิตทีวีเราก็พอเข้าใจได้ระดับหนึ่งล่ะครับ ว่าทีวีไม่ใช่จอฉายหนังสำหรับทุกคน หลายคนมันคือไว้ชมกีฬารายการเกมโชว์ และอื่น ๆ มากกว่าซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของทีวี ดังนั้นเขาก็เลยตั้งค่าเริ่มต้นให้เหมาะกับรายการประเภทต่าง ๆ มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่เพียงแค่ผู้ผลิตหนังที่มีปัญหากับมัน แต่ก็มีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่ชอบโหมด Smooth Motion นี้ ก็เป็นสิ่งที่ควรรับฟังกันทั้งสองทางครับ
ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง Netflix เองก็เคยมีข่าวว่าได้ร่วมมือกับโซนี่ เพื่อทำ Netflix calibrated mode ในทีวี เพื่อที่จะให้ผู้ชมสามารถเลือกชมคุณภาพภาพตรงตามที่ผู้สร้างหนังต้องการด้วย ก็อาจเป็นการปรับตัวหนึ่งที่อาจนำมาเป็นมาตรฐานให้เจ้าอื่นทำตามด้วยครับ
สำหรับใครที่ไม่ชอบระบบ Smooth Motion นี้ เรามีทางออกเบื้องต้นครับ
นั่นก็คือปิดมันด้วยตัวเองซะเลย โดยเข้าไปปิดที่การตั้งค่าของทีวีของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในโหมดการปรับแต่งภาพนั่นเอง คราวนี้ก็ดูว่าทีวีที่เราใช้เป็นยี่ห้ออะไรแล้วดูว่าทีวีเรานั้นใช้ชื่อเทคนิค Smooth Motion ว่าอะไรแล้วก้เลือกปิดมันไปครับ ส่วนใครไม่รู้ว่าทีวีเราใช้ชื่อโหมดนี้ว่าอะไรเราก็เอาลิสต์มาให้ด้านล่างนี้เลย
- Hitachi – Reel120
- LG – TruMotion ,MCI 120
- AOC – Motion Boost 120 Hz
- Mitsubishi – Smooth 120 Hz
- Panasonic – Intelligent Frame Creation (IFC), 24p Smooth Film (24p material only)
- Philips – HD Digital Natural Motion, Perfect Motion Rate
- Samsung – Auto Motion Plus 120 Hz, Clear Motion Rate
- Sharp – Fine Motion Enhanced, AquoMotion 240 Hz, AquoMotion Pro
- Sony – MotionFlow
- Toshiba – ClearScan
และที่สำคัญคือ เวลาดูหนังก็เปลี่ยนโหมดภาพเป็น ภาพยนตร์ หรือ Cinema ครับ จะได้ภาพที่ใกล้เคียงกับที่ผู้กำกับต้องการ และไม่มีการแทรกเฟรม หวังว่าจะเป็นทางออกเบื้องต้นเพื่อการรับชมอย่างมีความสุขของทุกคนครับ
ที่มา: