Our score
8.8McQueen
จุดเด่น
- หนังถ่ายทอดผลงานของแม็กควีนแบบครบถ้วน
- ฟุตเตจชีวิตส่วนตัวนับว่าพาเราไปรู้จักกับตัวตนได้ดีทีเดียว
- ให้พลังใจอย่างมหาศาลแม้ไม่ได้เรียนแฟชั่นดีไซน์
- ถ่ายทอดชีวิตได้อย่างมีอารมณ์ขัน
- บทสัมภาษณ์สะเทือนอารมณ์มาก
จุดสังเกต
- คนไม่คุ้นเคยกับสารคดีอาจต้องอดทนกับการดูบทสัมภาษณ์นิดนึง
-
คุณภาพงานสร้าง
8.0
-
เนื้อหา ตรรกะ ความสมบูรณ์ของการเล่า
9.0
-
การถ่ายทอดตัวตนและผลงานแม็คควีน
9.0
-
ระดับความสะเทือนอารมณ์
9.0
-
ความคุ้มค่าตั๋ว
9.0
สารคดีบอกเล่าชีวิตดีไซน์เนอร์คนดัง อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ผู้สร้างแบรนด์ตัวเองด้วยความบ้าบิ่นของทั้งเสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และโชว์ไม่ธรรมดาที่มีทั้งกระแสชื่นชมและต่อต้าน ก่อนไปอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์จิวองชี่ ที่แม้หน้าฉากเขาจะถูกจดจำในฐานะมือออกแบบเสื้อผ้าหัวขบถที่มาพร้อมแนวคิดแหกกรอบของสังคม แต่ในชีวิตส่วนตัวกลับเต็มไปด้วยรูโหว่ของจิตใจที่ไม่อาจปะชุนด้วยเข็มและด้ายเหมือนอาภรณ์ที่เขารังสรรค์ออกมา
โดยส่วนตัว อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน คือดีไซน์เนอร์ที่ผมชื่นชมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นในส่วนของผลงานจึงเป็นภาพที่ผ่านตามาแล้วทั้งนั้น แต่ก็ด้วยฝีไม้ลายมือในการลำดับเรื่องราวของ เอียน บงฮอยต์ และ ปีเตอร์ เอตเทตไกว ( Ian Bonhôte and Peter Ettedgui) 2 ผู้กำกับที่สามารถนำผลงานแฟชั่นโชว์มาลำดับเข้ากับฟุตเตจจากกล้องวีดีโอส่วนตัวของ แม็คควีน และบทสัมภาษณ์ครอบครัว, เพื่อนร่วมงานและคู่ชีวิต ที่ช่วยสะท้อนตัวตนที่บ้าบิ่น-เปี่ยมอารมณ์ขันและผลงานอันเป็นทั้งความหลงไหลและหอกที่กลับมาทิ่มแทงให้เขาต้องเผชิญความโดดเดี่ยวจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ในส่วนของชีวิตการงาน หนังพาเราเข้าไปรู้จักกับความบ้าพลังของแม็คควีนทั้งด้านที่น่าชื่นชมอย่างการไม่ยอมให้มีอุปสรรคใดมาขวางกั้นความฝันในการเป็นดีไซน์เนอร์ ตั้งแต่เอาเงินสงเคราะห์คนจนมาทำแฟชั่นโชว์ครั้งแรกและประทังชีวิตด้วยอาหารกระป๋องของพ่อแม่ ไปจนถึงความเอาจริงเอาจังและสร้างสรรค์ในการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของสก็อตแลนด์กับอังกฤษ การนำด้านมืดในงานศิลปะมาปรับใช้ในงานแฟชั่นโชว์ และเบื้องหลังอันเหลือเชื่อของโชว์อันโด่งดัง
ซึ่งหนังก็ยกฟุตเตจแฟชั่นโชว์ดังๆอย่างคอลเล็กชัน Fall 2006 ชุด Widows of Culloden ที่มีจุดเด่นตรงการใช้ภาพโฮโลแกรมของเคต มอสส์ ปรากฎตัวลอยอยู่เหนือแคตวอล์ค
VOSS ที่เนรมิตรแคตวอล์คให้ผู้ชมกลายเป็นผู้สังเกตการณ์หลังกระจกบานใหญ่ที่นางแบบสวมบทบาทเป็นคนไข้โรคจิต ก่อนกล่องยักษ์ตรงกลางจะเปิดออกเผยให้เห็นหญิงสาวร่างท้วมเปลือยกายใส่หน้ากากที่สายต่อ แล้วผีเสื้อกลางคืนนับพันตัวบินออกมา
Highland Rape ที่นำประวัติศาสตร์อันน่าอัปยศที่ทหารอังกฤษข่มขืนสาวสก็อตแลนด์เป็นกิมมิกให้นางแบบเดินออกมาบนแคตวอล์คในสภาพเหยื่อเพิ่งถูกข่มขืน
หรือแม้แต่โชว์คอลเล็กชัน Spring 1999 ของแบรนด์ McQueen โดยให้แขนจักรกลพ่นสีใส่ชุดขาวของนางแบบเป็นไฮไลต์ของโชว์
แต่ส่วนที่ส่วนตัวรู้สึกสะเทือนอารมณ์ที่สุดหนีไม่พ้นชีวิตส่วนตัวของแม็คควีน แม้ว่าเรื่องราวในส่วนของครอบครัวจะไม่ได้พ้นจากการรับรู้ในประวัติที่มีเผยแพร่ทั่วไป แต่เรื่องราวความสัมพันธ์อันสุดแสนพิเศษที่ถูกบอกเล่าโดยผู้คนที่ทั้งรักและชังเขามากมายกลับสั่นสะเทือนความรู้สึกเราแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่าง แม็คควีน กับ อิซาเบลลา โบวล์ บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นผู้เป็น มิวส์ หรือผู้สนับสนุนคนสำคัญที่เหมาเสื้อผ้าของแม็คควีนตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรกในปี 1992 ผ่านช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นยันความตายมาเยือนชีิวิตของแต่ละคน ที่ถูกบอกเล่าได้อย่างละเอียดอ่อนผ่านปากสามีของ โบวล์ ที่ช่วยยืนยันความรักความผูกพันธ์ที่เหนือคำบรรยายของทั้งคู่ได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ เสมือนพาเราไปรู้จักกับแม็คควีนแบบที่ไม่มีใครบรรยายได้เห็นภาพขนาดนี้จริงๆ
ซึ่งในส่วนที่ต้องชื่นชมผู้กำกับทั้งสองคนนอกจากงานกราฟิกที่ได้แรงบันดาลใจจากคอลเล็กชั่นของแม็คควีนที่มาคั่นช่วงได้อย่างถูกจังหวะจะโคนแล้ว การเลือกสัมภาษณ์บุคคลแวดล้อมของทั้งคู่ยังช่วยส่งเสริมทั้งข้อมูลและอารมณ์หนังได้อย่างเหมาะเจาะจริงๆ เพราะในบทสัมภาษณ์มิได้มีเพียงคนที่อวยยอดดีไซน์เนอร์ผู้นี้ แต่มันเต็มไปด้วยความรู้สึกทั้งรัก ทั้งเกลียด ทั้งเสียดายในการจากไปของยอดดีไซน์เนอร์ผู้นี้จนเราไม่อาจกลั้นน้ำตาได้เลย
แน่นอนว่ารีวิวหนัง McQueen ก็ดำเนินมาถึงตอนฟินาเล่ที่เราอาจสรุปได้ตามเนื้อผ้าว่าสิ่งที่มากกว่าการได้ยลผลงานและชีวิตของยอดดีไซน์เนอร์ผู้นี้ คือการได้รู้จักตัวตนแบบเลาะทุกตะเข็บของชีวิตที่แม้แต่เศษด้ายของชีวิตก็กลับแสดงให้เห็นถึงรอยแผลเป็นในชีวิตที่ชวนสะเทือนใจทว่ามันกลับกลายเป็นอัตลักษณ์ ตัวตนและความอัจฉริยะแบบหาตัวจับได้ยากของชายชื่อ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน
ตีตั๋วชิดขอบรันเวย์แบบเริ่ดๆ คลิกรูปด้านล่างได้เลย