Our score
9.5SUSPIRIA
จุดเด่น
- หนังหามุมใหม่จากต้นฉบับมาเล่าได้อย่างฉลาด
- นักแสดงเล่นดีทุกคนโดยเฉพาะทิลดา สวินตันที่เล่นเป็น 3 ตัวละคร
- หนังโหดมาก สะใจคอหนังลาบเลือดแน่ๆ
- ใช้นาฏลีลามาถ่ายทอดความสยองได้อย่างมีคลาส
- ทั้งเพลงประกอบและงานถ่ายภาพคือดีงาม
จุดสังเกต
- เนื้อหาซับซ้อนพอสมควร
- มีฉากหวาดเสียวเยอะมาก ไม่เหมาะกับคนขวัญอ่อน
- มีฉากโป๊เปลือยอยู่ ห้ามพาเด็กไปดูเด็ดขาด
-
คุณภาพงานสร้าง
10.0
-
เนื้อหา ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท
8.5
-
ความแปลกใหม่
9.5
-
ความสยอง
10.0
-
ความคุ้มค่า
9.5
ซูซี่ แบนเนียน (ดาโกตา จอห์นสัน) หอบความฝันในการเป็นนักเต้นมาสู่คณะ มาร์กอส ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมันในปี 1977 ที่สงครามกลางเมืองปะทุไม่เว้นแต่ละวัน แม้เริ่มแรกเธอจะได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นจากบรรดาครูทั้งหลายโดยเฉพาะ มาดามบลองค์ (ทิลดา สวินตัน) ผู้พยายามผลักดันให้เธอได้รับบทเด่นในโชว์เต้น “โฟล์ค” ของเธอ แต่หลังการหายตัวไปของแพตทริเซีย (โคลอี เกรตซ์ มอเรตซ์) นักเต้นคนก่อนได้นำพาให้เธอร่วมมือกับ ซาร่า (มีอา กอธ) สืบค้นมุมมืดของคณะโดยหารู้ไม่ว่าเธอกำลังตกอยู่ในวงล้อมของเหล่าปีศาจร้ายที่คอยชักใยการตายของคนในคณะมาร์กอสอย่างหฤโหด
SUSPIRIA นับว่าเป็นโปรเจคต์รีเมกขวัญใจกองแช่งมาตั้งแต่เริ่มประกาศ ด้วยความที่หนังต้นฉบับของผู้กำกับ ดาริโอ อาเจนโต้ ได้ขึ้นหิ้งหนังสยองขวัญคลาสสิกโดยมีจุดเด่นในงานภาพของ ลูเชียโน โทโวลี ที่การจัดแสงแบบคอนทราสต์เล่นสีตัดกันแบบจัดจ้านเพื่อสะท้อนความบ้าคลั่งของเหล่าปีศาจจนกลายเป็นกรณีศึกษาในตำราภาพยนตร์ทั่วโลก และก็เป็น ลูก้า กัวดานีโย ที่เพิ่งขึ้นแท่นผู้กำกับดังมาจากหนัง Call Me By Your Name (2017) หนังโรแมนติก LGBT ขวัญใจคนทั่วโลกมารับเผือกร้อนร่วมกับ สอง สยมภู มุกดีพร้อม ตากล้องคู่บุญชาวไทยที่เพิ่งมีผลงานถ่ายภาพ นาคี๒ ที่ออกฉายและประสบความสำเร็จไปไม่นาน
ว่ากันถึงลีลาการเล่าเรื่องที่คราวนี้ ลูก้า มอบหมายให้ เดวิด คาจยานิค มือเขียนบทที่เคยร่วมงานกันใน A Bigger Splash (2015) ดัดแปลงบทจากหนังต้นฉบับปี 1977 โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็น 6 องก์และระบุเมืองที่ใช้ดำเนินเรื่องชัดเจนคือ เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เพื่อให้หนังอวลกลิ่นบรรยากาศของสงคราม ความตึงเครียดทางการเมือง และความชั่วร้ายของสงครามล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งก็ไปได้ดีกับความสยดสยองที่ซ่อนอยู่ใต้ความงามอันน่าสะพรึงของคณะเต้นรำแม่มดในเรื่อง กระนั้นสิ่งที่ต้องบันทึกเป็นพิเศษเห็นจะเป็นการทำการบ้านขยายขอบเขตเรื่องราวจากต้นฉบับ ซึ่งมองผิวเผินอาจดูเป็นการพลิกแนวหนังจากต้นฉบับไปโดยสิ้นเชิง ทั้งที่จริงแล้ว คาจยานิค ได้หลอมรวมตำนานของพระแม่ทั้งสามจากหนังไตรภาคของดาริโอ อาเจนโตไว้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเรียบร้อยแล้ว
โดยในเรื่องได้อ้า่งอิงตำนานพระแม่นรกแตก 3 องค์ได้แก่ พระแม่มาครีมารัม (Mater Lachrymarum) พระแม่แห่งน้ำตา พระแม่ เทเนบารัม (Mater Tenebrarum) พระแม่แห่งความทมิฬ และ พระแม่ ซัสพีริโอรัม (Mater Suspiriorum) พระแม่แห่งความโหยหา โดยพระแม่ทั้งสามปรากฎตัวในหนัง 3 เรื่องของ ดาริโอ อาเจนโต คือ The Mother of Tears (2007) Inferno (1980) และ Suspiria (1977) ตามลำดับ โดยเราอาจวิเคราะห์เรื่องราวที่หนังต้องการสื่อได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆคือ
น้ำตาแห่งความสูญเสีย-ความรักอันสูญหาย
ในเรื่องราวส่วนนี้สามารถกินความความสัมพันธ์ได้หลากหลายตัวละคร ที่เด่นชัดที่สุดคือ การหายตัวไปของ อังเค (เจสสิกา ฮาร์เปอร์) อดีตภรรยาของ ดร. โยเซฟ เคลมเพอเรอ (ทิลดา สวินตัน รับบทชายแก่ได้เนียนเกิ๊น) ที่กลายเป็นตราบาปในใจจนกระทั่งการหายตัวไปของ แพตทริเซีย คนไข้ที่หนีจากคณะมาร์กอสที่ทำให้ต้องยอมเอาชีวิตไปเสี่ยงกับความชั่วร้ายเพื่อชำระอารมณ์ผิดบาปในใจ และยังส่งผลให้ ซาร่า เริ่มสงสัยในความลับอันชั่วร้ายในคณะเต้นของเธออีกด้วย
ความมืดทมิฬ – สงครามและความโหดร้ายของการเมือง
ซึ่งนอกจากสถานการณ์ในเรื่องจะถูกคลุมด้วยยุคกำแพงเบอร์ลินแล้ว หนังยังพยายามเอาสถานการณ์การเมืองต่างๆทั้งสงครามกลางเมือง และข่าวของสลัดอากาศที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวหัวหน้าผู้ก่อการร้าย มาเป็นบรรยากาศที่อบอวลตลอดเรื่องแล้ว บทหนังยังเพิ่มสถานการณ์การเมืองในคณะเมื่อเกิดการแย่งชิงของเหล่าแม่มดเพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดบนห่วงโซ่ของอำนาจ ที่หนังปูตั้งแต่ต้นเรื่องว่ามีสองชื่อที่ขับเคี่ยวกันในการโหวตของเหล่า ผู้อาวุโส ในคณะ ซึ่งเชื่อว่าหลายคนน่าจะงงกันทั้งโรงว่าจะโหวตกันทำไม จนกระทั่งหนังไปเฉลยตอนท้ายเรื่องนั่นแหละ ถึงได้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองทั้งโลกภายนอกและในคณะมาร์กอส คือจุดระเบิดของความชั่วร้ายที่รอการเผยตัว
ความโหยหา – ปรารถนาอันตราย
แน่นอนล่ะ ว่าส่วนนี้คือหัวใจของหนังทั้งเรื่องและเป็นบ่อเกิดซึ่งความชั่วร้ายต่างๆนานา โดยเราอาจมองที่ตัวบุคคลอย่าง ซูซี่ ที่ค่อยเผยความปรารถนาทีละขั้นๆออกมาจาก แค่อยากอยู่ในคณะเต้นของ มาดาม บล็องค์ ผู้เป็นไอดอลของเธอ แต่หลังเรื่องราวดำเนินไปเราก็เริ่มได้เห็นมุมมืดในความปรารถนาของเธอทั้งจากภาพนิมิตรชวนเสียวสยิวช่วงล่าง จนไปถึงบทสนทนาที่เปรียบเปรยอารมณ์ปรารถนาในการสมสู่กับสัตว์ของเธอ และมันยังถูกเน้นย้ำในฉากย้อนอดีตอันเกี่ยวพันกับความเคร่งศาสนาในครอบครัวและความทรงจำอันเลวร้ายเกี่ยวกับแม่ที่นำไปสู่บทสรุปอันชวนช็อคได้อย่างสมเหตุสมผล
และผลพวงจากการเชื่อมโยงเรื่องราวลัทธิซาตานเข้ากับการเมืองเลยทำให้ Suspiria ได้กลิ่นอายแบบหนังยุค 70 ของฮอลลีวูด โดยอาศัยประวัติศาสตร์ของเบอร์ลินที่ผ่านสงครามอันโหดร้ายมาเป็นภาพแทนของโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความชั่วร้ายโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอกว่า ซึ่งการที่เดวิด คาจยานิค เลือกเล่าเรื่องราวให้ซับซ้อนก็ยังผลให้หนังดูเกินๆล้นๆอยู่บ้าง เพราะหลายฉากเมื่อมาเรียงต่อกันก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน การตัดสลับเรื่องราวหลายครั้งเข้าขั้นปั่นป่วน-ทำลายความต่อเนื่องอยู่ไม่น้อยแต่พอดูไปซักพักคนดูจะเริ่มชินและถ้า “ต่อติด” กับมันจะพบว่าตัวหนังยั่วเย้าให้คิดตีความ-สนุกสมองมากเลยเชียวแหละ
อีกจุดหนึ่งที่ส่วนตัวมองว่าสำคัญไม่แพ้บทหนังคือการออกแบบท่าเต้นของ โอลิเวีย แองโคนา(Olivia Ancona) และ โทบี แอชราฟ (Toby Ashraf) ให้กับ ดาโกตา จอห์นสัน และ ทิลดา สวินตัน เพราะท่วงท่าการใช้ร่างกายของทั้งคู่ส่งผลอย่างมหาศาลในการเล่าเรื่อง และมันยังทำงานสอดประสานกับดนตรีของ ทอม ยอร์ค นักร้องวงเรดิโอเฮด ได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คืองานถ่ายภาพของ สอง สยมภู มุกดีพร้อมที่คนไทยภูมิใจมากและยิ่งได้ดูในหนังเรื่่องนี้ สยมภู กำลังยกระดับไม่เพียงงานถ่ายภาพคนไทยแต่ยังรวมถึงวิสัยทัศน์ในการทำหนังสยองขวัญที่ยากหาตัวจับ ในลีลาที่เขาสามารถลอกการบ้านต้นฉบับ แต่สยมภูกลับเลี่ยงความมักง่ายดังกล่าวด้วยท่ายาก ทั้งการถ่ายแสงธรรมชาติและการจัดแสงให้ออกโทนเย็นยะเยือก เล่นกับกรอบภาพทั้งพื้นที่ที่คอนทราสต์ระหว่างหิมะขาวโพลนชวนหนาวเหน็บกับอาคารของคณะเต้นที่ดูอึมครึมในภายนอก แต่ชวนขนลุกกับการถูกจับจ้องด้วยพื้นที่กระจกที่ส่องสะท้อนเหมือนไม่ทางรอดพ้นจากสา่ยตาความชั่วร้ายไปได้ นับว่าเป็นงานที่ควรค่าแก่การศึกษาการถ่ายภาพจริงๆ
ด้านนักแสดง คงต้องยอมรับว่า ลูก้า กัวดานีโย สามารถดึงศักยภาพของนักแสดงทุกคนออกมาเต็มที่โดยเฉพาะ ดาโกตา จอห์นสัน ที่ถูกปรามาสเรื่องฝีมือจนได้มาสำแดงเดชใน A Bigger Splash หนังสร้างชื่อของเขาในปี 2015 และกับ Suspiria ต้องขอบันทึกไว้ว่าหนังเรื่องนี้ได้ลบภาพ สาวไร้สมองบ้าเซ็กส์จาก Fifty Shade ออกจากตัวเธอได้แบบหมดจด ไม่เพียงแค่การแสดงเท่านั้น แต่กับการใช้ร่างกายเพื่อสื่อความหมายในเชิงนาฏลีลาได้อย่างงดงามและน่าสะพรึงกลัวจริงๆ และนักแสดงที่ถือว่าคุ้มค่าตัวที่สุด คงหนีไม่พ้น ทิล ดา สวินตัน ทีนอกจากบท มาดาม บล็องค์ จะชวนเสียวสันหลังวาบแล้ว นางยังไปเป็นชายแก่ ! ใช่ครับ เธอยังรับบท ดร. โยเซฟ เคลมเพอเรอ ได้เนียนจนเมื่อมาหาข้อมูลงานสร้างถึงกับต้องอุทานออกมา เพราะเธอไม่ออกมูฟเมนต์หรือการใช้เสียงแบบผู้หญิงเลยสักนิด และตบท้ายด้วยบท เฮเลนา มาร์กอส หญิงชราบ้าอำนาจผู้ชักใยความชั่วร้ายในคณะได้แบบไม่คิดว่า สามบทบาทนี้คือใช้นักแสดงคนเดียวกันเป็นร่างทรง
แม้เสียงวิจารณ์จากเทศกาลหนังเวนิสจะเสียงแตกมีทั้งเสียงโห่และปรบมือที่อาจทำให้หลายคนหวาดหวั่นในคุณภาพ แต่ผมขอยืนยันเลยว่า การมาชม Suspiria เวอร์ชันนี้จะเป็นอีกประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง มันโหด มันสยอง แต่กลับงดงามชวนสะพรึง แม้ความอึดอัดคืออารมณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่คนดูก็ถูกพันธนาการด้วยพลังด้านภาพ การแสดง และเทคนิคต่างๆจนน่าจะกลายเป็นหนังบันเทิงที่เปี่ยมรสนิยมที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้เลยทีเดียว
ฮาโลวีนนี้มาสยองกับลีลาใหม่ของความหลอน ซื้อตั๋วหนังคลิกที่รูปเลย..!!