[รีวิว] ROMA – งานสัจนิยมที่สมควรชมในโรงภาพยนตร์ที่สุดแห่งปี
Our score
9.6

ROMA

จุดเด่น

  1. หนังถ่ายทอดเรื่องราวในแนวทางสัจนิยมได้อย่างลุ่มลึก
  2. งานถ่ายภาพขาวดำ คือเด็ดขาดมากๆ
  3. หนังรุ่มรวยด้วยภาษาภาพยนตร์
  4. งานเสียงของหนังคือดีที่สุดของปีนี้จริงๆ
  5. หนังมีหวังได้ชิงออสการ์ปีหน้าหลายรางวัลแน่ๆ

จุดสังเกต

  1. อาจต้องอาศัยความอดทนในการอ่านซับไตเติลสักนิดแต่รับรองว่าคุ้มค่า
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    10.0

  • งานถ่ายภาพ

    10.0

  • ความแปลกใหม่

    10.0

  • ความสนุก

    8.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    10.0

เข้าปลายปีแบบนี้ สื่อภาพยนตร์หลายสำนักเริ่มมีการจัดอันดับหนังดีประจำปี รวมถึงการเก็งโผรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครัั้งที่ 91 ในปีหน้ากันแล้ว โดยชื่อหนังที่นำโด่งแทบทุกสำนักก็หนีไม่พ้น ROMA งานชิ้นล่าสุดของ อัลฟองโซ กัวรอง หลังจากได้รับรางวัลออสการ์จาก GRAVITY (2013) หนังไซไฟปรัชญาที่ซิวรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาให้เขา 

Play video

ROMA ฉายภาพชีวิตของผู้หญิง 2คนต่างชนชั้นแต่ร่วมชายคาเดียวกันฝ่ายแรกคือ เคลโอ (ยาลิซา อปาริชิโอ) สาวใช้ในบ้านของครอบครัวคุณหมอชนชั้นกลางที่ชีวิตของเธอผกผันหลังจากตั้งท้องกับชายหนุ่มที่หนีจากเธอไป ส่วนฝ่ายหลังคือ โซเฟีย (มารินา เดอ ทาวิรา) ภรรยาของคุณหมอที่นอกใจเธอ โดยทั้งสองชีวิตต้องดูแลเด็กๆและคุณย่าในบ้านภายใต้สถานการณ์การเมืองอันคุกรุ่นในเมืองโรมา ประเทศเม็กซิโกยุค 70

พิจารณาจากต้นธารที่ กัวรอง นำชีวิตวัยเด็กมานำเสนอในรูปแบบสัจนิยมแล้วก็ดูเหมือนว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานชื่อเดียวกันอย่าง Roma หนังปี 1972 ของ เฟรดเดอริโก เฟลลินี หนึ่งในผู้นำความเคลื่อนไหวของยุค Italian Neo-Realism หรือ กลุ่มนวสัจนิยมอิตาเลียนไม่น้อย ทั้งการที่หนังเลือกแนวทางสัจนิยมสำรวจชีวิตแบบไม่มีพลอตเรื่องชัดเจนในการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชนชั้นกลางและชั้นล่าง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองหลังยุคสงครามหรือวิกฤติการเมืองทั้งการทิ้งให้คนดูเห็นความเคลื่อนไหวในภาพเป็นเวลานานเพื่อให้พินิจพิเคราะห์ตีความสัญลักษณ์ต่างๆ การใช้สถานที่ถ่ายทำเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินเรื่อง-และดัดแปลงมันให้น้อยที่สุดเพื่อคงความจริงของสถานที่ รวมถึงการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่อย่าง ยาลิซา อปาริชิโอ (ตรงนี้ถือว่าใกล้เคียงกับการทำหนังแนวนวสัจนิยมที่มักเลือกคนท้องถิ่นมาเป็นนักแสดง) นั่นทำให้เราได้ติดตามชีวิตของ เคลโอ และ โซเฟีย แบบผู้สังเกตการณ์และค่อยๆซึมซับเรื่องราวทั้งสุขและเศร้าของพวกเธอท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคุกคามชีวิตของผู้หญิงทั้งสองคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป น่าเชื่อถือและนำพาให้เกิดอารมณ์ร่วม

และด้วยสายตาและมันสมองของ กัวรอง หนังจึงไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาลอกการบ้านงานชั้นครูแบบทื่อๆ ตรงกันข้าม กัวรอง สามารถนำศิลปะภาพยนตร์อันหลากหลายมาใช้งานได้อย่างลุ่มลึกนำเทคนิคมารับใช้เนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแอบคารวะมาสเตอร์ออฟซีนีม่าหลายท่านโดยนอกจาก เฟลลินี ที่ถือเป็นแรงบันดาลใจหลักแล้วที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็น อากิระ คุโรซาว่า ในแง่การวางความเคลื่อนไหวในกรอบภาพ การมิกซ์เสียงให้เกิดมิติสอดคล้องกับภาพ ฉากเด่นสุดคือฉากที่ เคลโอ ไปตามหา แฟร์มิน ถึงสนามฝึกที่ใครดูก็น่าจะถึงงานมาสเตอร์พีซอย่าง Seven Samurai (1954) ของคุโรซาว่าแน่ๆ

เอาล่ะเชือเถอะว่าอ่านมาสองย่อหน้าก็ยังไม่เด่นชัดอยู่ดีว่า ทำไมเราจะต้องถ่อไปถึงโรงหนังทั้งที่เราสามารถเปิด Netflix อยู่บ้านดูแบบสบายๆได้ แต่หากจะพอโน้มน้าวด้วยตัวอย่างของกลวิธีทางภาพยนตร์ที่กัวรองนำมาใช้ก็คงต้องเป็นสองฉากสำคัญ โดยฉากแรกที่อยากจะยกคงหนีไม่พ้นฉากจลาจลในเมืองโรม่า ที่ต้องบอกว่ากัวรองสามารถนำเทคนิคด้านการถ่ายแบบลองเทคมารับใช้เนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งน่าสะพรึงกลัวด้วยเนื้อหาของหนังที่นำเสนอความขัดแย้งสุดขั้วเมื่อ เคลโอ กำลังเลือกซื้อเตียงเด็กเพื่อต้อนรับเจ้าตัวน้อยในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองอันโหดร้ายก็บุกเข้ามาถึงในร้านที่สำคัญมันยังเป็นจุดแตกหักของชีวิตที่สำคัญที่สุดของเธอในเวลาต่อมาเมื่อได้พบว่าชีวิตนี้เธอคงไม่มีหวังพบความสุขในชีวิตครอบครัวอีกแล้วรวมถึงฉากที่ เคลโอ ซึ่งว่ายน้ำไม่เป็นเสี่ยงตายลงไปช่วยชีิวิตเด็กๆในทะเลที่คลื่นกำลังซัดสาดอย่างบ้าคลั่งไม่ต่างจากมรสุมชีวิตของคนในครอบครัวที่กล้องได้ติดตามเคลโอจากบนฝั่งลงไปในทะเลพร้อมงานมิกซ์เสียงที่ถือว่าเป็นหนึ่งในงานเสียงที่ดีที่สุดของปีนี้ที่นำเสนอเสียงระลอกคลื่นได้มิติสมจริงจนคนดูสัมผัสได้ถึงแรงคลื่นที่ค่อยๆโถมเข้าใส่ตัวเคลโอและเด็กๆจนอดลุ้นตามไม่ได้จริงๆ

ซึ่งไม่เพียงเทคนิคทางภาพยนตร์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงการแสดงแบบเหมือนไม่ได้แสดงของยาลิซา อปาริชิโอ ที่กัวรองเสี่ยงใช้นักแสดงที่ไม่ใช่มืออาชีพมาถ่ายทอดบทบาทสาวใช้ได้อย่างน่าเชื่อถือ เปี่ยมเสน่ห์เฉพาะตัวและสามารถนำพาอารมณ์ให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจและชื่นชม ฉายภาพพี่เลี้ยงของกัวรองบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาได้อย่างเห็นภาพ สมศักดิ์ศรีนักแสดงหน้าใหม่ที่เริ่มกวาดรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นว่าเล่น และอาจจะได้ “ยืนหนึ่ง” บนเวทีออสการ์ปีหน้าก็เป็นได้

ด้วยการนำเสนอเรื่องราวในแนวทางสัจนิยมที่สามารถนำเทคนิคมารับใช้เนื้อหาได้อย่างลุ่มลึก ความงดงามของงานภาพที่แต่ละเฟรมคืองานศิลปะเคลื่อนไหวที่ต่อไปคงได้บันทึกในตำราเรียนภาพยนตร์แน่ๆ รวมถึงการแสดงอันเป็นธรรมชาติและถือว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปี2018 จึงแทบไม่มีข้อแม้ใดๆที่เราจะไม่ไปสัมผัสประสบการณ์นี้ในโรงภาพยนตร์  โดยหนังจะฉายที่โรงภาพยนตร์ เฮาส์ อาร์ซีเอ และ สกาล่า พร้อมลงสตรีมมิงทาง Netflix วันนี้เลย