[รีวิว] The Wife เมียโลกไม่จำ- หนังเฟมินิสต์ยืนหนึ่งเตรียมล่ารางวัลปีหน้า
Our score
9.0

THE WIFE

จุดเด่น

  1. หนังมีการแสดงที่ดีมากโดยเฉพาะจาก เกล็น โคลส
  2. บทบอกเล่าเรื่องราวอึดอัดของคนรักได้อย่างชาญฉลาด
  3. ให้มุมมองใหม่ๆของความรักได้ดี

จุดสังเกต

  1. หนังมีช่วงช้าบ้าง แต่ไม่มากถึงกับน่าเบื่อ
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    10.0

  • ความสมบูรณ์ของงานสร้าง

    8.0

  • ความแปลกใหม่

    9.0

  • ความสนุก

    9.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    9.0

Play video

ในบรรดาหนังที่เข้าฉายปลายปีแบบนี้ หนังกลุ่มหนึ่งซึ่งคอหนังต่างเฝ้ารอมานานคือหนังที่มีแนวโน้มจะได้เข้าชิงออสการ์ แม้ว่าจะเริ่มมีหนังหวังรางวัลที่ทยอยเข้าฉายมาตั้งแต่เดือนตุลาคมตั้งแต่ First Man ของ เดเมียน ชาเชล แล้ว แต่ช่วงที่หนังหวังรางวัลชุกที่สุดหนีไม้พ้นเดือนธันวาคมแบบนี้ และหลังจุดพลุเริ่มที่ Roma เมื่อสัปดาห์ก่อน สัปดาห์นี้โรงหนังบ้านเราก็ได้ฤกษ์ปูพรมต้อนรับ The Wife หนังที่ไปกวาดเสียงชื่นชมมาจากทุกที่ที่เข้าฉาย

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

The Wife นำเสนอปมขัดแย้งที่ปะทุในใจของ โจน แคสเซิลแมน (เกล็น โคลส) เมียของ โจเซฟ แคสเซิลแมน (โจนาทาน ไพร์ซ) นักเขียนดังที่ได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่ประเทศสวีเดน และระหว่างที่ทั้งคู่พร้อมลูกชายใช้เวลาในช่วงได้รับเกียรติยศในต่างแดน เนธานเนียล โบน (คริสเตียน สเลเตอร์) นักข่าวสายจิกกัดก็พยายามมาตีสนิท โจน เพื่อหวังให้เธอคายความลับงานเขียนของสามีที่อาจเปลี่ยนความจริงที่ทุกคนรับรู้ไปตลอดกาล

The Wife นับเป็นงานเปิดซิงหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของ บียอร์น รุนจ์ ( Björn Runge) ผู้กำกับสวีเดนที่เครดิตมาจากสายหนังดราม่าเฟมินิสต์ที่มักพูดถึงเรื่องสิทธิสตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วโดยงานสร้างชื่ออย่าง Om jag vänder mig om (2003) เองก็มีการพูดถึงความสัมพันธ์ได้อย่างถึงแก่นจนได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังระดับโลกมากมาย และกับ The Wife งานวรรณกรรมขายดีของ เม็ก โวลิตเซอร์ ที่ได้ เจน แอนเดอร์สัน มาดัดแปลงเป็นบทหนังให้แล้วก็เรียกได้ว่าเป็นงานที่ไม่ได้ยากเกินมือของ รุนจ์ เท่าใดนัก ยิ่งหนังเดินเรื่องที่ สวีเดน บ้านเกิดของตัวเองเป็นหลักก็เอื้อให้รุนจ์ถ่ายทอดบรรยากาศความเย็นชาของครอบครัวนักเขียนสอดรับกับสภาพอากาศหนาวเหน็บของประเทศสวีเดนได้เป็นอย่างดี

 

ว่ากันถึงบทหนังนี่ถือเป็นหัวใจหลักของ The Wife จริงๆนะครับ เพราะหนังดราม่าแบบนี้ยากที่จะหาองค์ประกอบใดๆมาช่วยสร้างความบันเทิงได้เลย โดยสิ่งที่ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงฝีมือของ เจน แอนเดอร์สัน (อดีตคนเขียนบทซีรีส์ที่ดีที่สุดตลอดการอย่าง Mad Men) คือการลำดับเรื่องราวที่ชาญฉลาด เจนเลือกเปิดหนังที่ฉากเซ็กส์ระหว่าง โจเซฟ และ โจน ที่หนังเลือกให้โจนอยู่ด้านหน้า แล้วโจเซฟ อยู่ด้านหลังเธอ ดูเผินๆเหมือนไม่มีความสลักสำคัญใดๆแต่เมื่อเรื่องราวเริ่มเปิดเผยที่มาของความสัมพันธ์ทั้งคู่

สปอยล์แน่นอน อย่ากดอ่านถ้ายังไม่ได้ดู
ฉากเปิดเรื่องดังกล่าวกลับยิ่งทำงานกับคนดูอย่างหนักหน่วงเมื่อเรื่องราวสืบย้อนไปในฉากแฟลชแบ็คที่อดีตเผยให้เห็นว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา โจเซฟ ได้ใช้ประโยชน์จากความรักของเธอมากมายขนาดไหน โดยเขาได้ใช้อิทธิพล (Impact) ที่มีต่อโจนตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมให้กับเธอ ค่อยๆล่อลวงให้เธอเสพย์ติดความรักของเขาจนเมามัว ส่วนเขาก็ใช้ประโยชน์จากความรักของเธอสวมรอย (Imposter) งานเขียนจนส่งให้เขาได้รับเกียรติยศสูงสุดในชีวิตนักเขียนคนหนึ่ง
ความอึดอัดใจของโจนที่เราเห็นตั้งแต่ฉากเซ็กส์เปิดเรื่องจึงกลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่บทหนังวางไว้ตั้งแต่แรกได้อย่างชาญฉลาด

ซึ่งแม้หนังจะเล่าเรื่องราวของนักเขียนและเมียผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชาย แต่ The Wife สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่นักเขียนหญิงถูกเมินเฉยในสังคมวรรณกรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หนึ่งในฉากที่ผมชอบมากคือฉากย้อนอดีตที่โจนในวัยสาว (แอนนี สตาร์ค) ได้รับคำแนะนำจากนักเขียนหญิงให้หันหลังให้วงการวรรณกรรมเสียเพราะขนาดงานเขียนของเธอเองก็ยังถูกวางให้ฝุ่นจับบนชั้นวางหนังสือผลงานศิษย์เก่า โดยเธอยื่นหนังสือเล่มหนึ่งให้โจนเปิด ทันใดนั้นก็เกิดเสียงกระดาษใหม่ที่ถูกแยกออกเพื่ออธิบายว่า หนังสือที่มีนักเขียนเป็นผู้หญิงมักถูกเมินจากผู้อ่านในยุคนั้นได้อย่างชาญฉลาดเห็นภาพ และมันยังส่งผลให้โจนจำนนต่อสถานะ “ผู้ส่งกษัตริย์ขึ้นครองบัลลังก์” อย่างจำใจ

 

ในด้านการกำกับของ บียอร์น รุนจ์ ต้องบอกว่าโทนแบบหนังยุโรปทำให้ The Wife ถูกบอกเล่าได้ห่างไกลความ “ลิเก” แบบหนังฮอลลีวูดทั่วไป โดยเฉพาะรสนิยมในการเลือกใช้ภาพที่หนังชาญฉลาดมาก ทั้งการถ่ายภาพในระยะปานกลางเสียเป็นส่วนใหญ่หรือการเคลื่อนกล้องจากตัวละครอื่นมาถึงโจน ตัวละครของเกล็น โคลส ก็ช่วยขับเน้นความเด็ดเดี่ยว ก่อนจะเปลี่ยนขนาดเป็นภาพใกล้เพื่อถ่ายทอดความอึดอัดกล้ำกลืนของ โจน ทุกครั้งที่สามีกล่าวชื่นชมเธอ ซึ่งคงต้องขอกล่าวซ้ำๆว่าทุกเทคนิคในท้ายที่สุดมันก็กลับมาขับเน้นแอ็คติ้งระดับเทพของ เกล็น โคลส ซึ่งเราคงไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้วเมื่อล่าสุดชื่อของเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำไปเป็นที่เรียบร้อย (และยังเหมือนใบผ่านทางไปสู่เวทีออสการ์ต่อไปอีกด้วย) และยังน่าจะได้รับการกล่าวถึงไปอีกนานจนถึงคืนประกาศผลรางวัลต่างๆ

แต่โดยส่วนตัวแล้ว นักแสดงที่ผมมองว่าช่วยให้หนังบันเทิงมากๆเลยคือ คริสเตียน สเลเตอร์ ในบท นาธานเนียล โบน นักข่าวสายจิกกัดที่พยายามล้วงความลับเบื้องหลังงานเขียนของ โจเซฟ จาก โจน เพื่อหวังเขียนหนังสือแฉนักเขียนดัง ซึ่งแม้การแสดงของ คริสเตียน สเลเตอร์ จะยังไม่ถึงขั้นโดดเด่นมาก แต่ต้องยอมรับการมีอยู่ของตัวละคร นาธานเนียล คือตัวจุดระเบิดอารมณ์ดราม่าชั้นดีและยิ่งได้บุคลิกกวนๆเท่ๆของคริสเตียน สเลเตอร์ ก็ยิ่งทำให้ตัวละครถูกจดจำมากกว่าแค่ตัวประกอบของหนังได้เป็นอย่างดี

 

ตีตั๋วชมการแสดงระดับสุดยอดของ เกล็น โคลส คลิกเลย