ถ้าพูดถึงชีวิตวัยรุ่น ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน การอยากเป็นที่ยอมรับ ไม่มีใครอยากโดดเดี่ยวหรือเป็น loser ในสายตาใคร ซึ่ง เคย์ลา เดย์ (เอลซี่ ฟิเชอร์) สาวน้อยวัย 14 ที่ชีวิตด้านหนึ่งชอบอัดคลิปสร้างแรงบันดาลใจลงยูทูบทุกวัน แต่ในชีวิตจริงที่เธอเผชิญในโรงเรียนนั้นช่างแตกต่างตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเธอเป็นเด็กสาวที่แทบไม่มีเพื่อนคบ ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่เคยมีใครมาจีบ เคย์ลารู้สึกอึดอัดทุกครั้งที่ต้องเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อน ๆ เธอรู้สึกมาตลอดว่าตัวเธอเองไม่ต่างจากอากาศธาตุในห้องเรียน
หน้าหนังของ Eighth Grade เรียกว่าน่าสนใจกว่าที่คิด ถือเป็นผลงานเดบิวต์ของผู้กำกับหนุ่มวัยเพียง 28 ปี อย่าง โบ เบอร์แนม ที่ได้รับคำชมอย่างมากในเทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปี 2018 ถึงความเป็นหนังวัยรุ่นทรงคุณค่าแห่งปี ใครดูก็บอกกันว่า รู้สึกเหมือน 14 อีกครั้ง แต่ที่น่าสนใจคือ การแคสนักแสดงและเส้นเรื่องที่ค่อนข้างเรียบง่ายสมจริง มากกว่าการแต่งเติมอะไรเวอร์วังตามสไตล์หนัง coming of age ในทางกลับกัน มันเหมือนเราคนดูกำลังส่องชีวิต เคย์ลา อยู่หลังบ้านของน้องเขาเลย
หลังจากที่หนังปูแบ็คกราวน์ของ เคย์ลา แล้ว ก็ถึงคราวที่เธอจะต้องเจอบททดสอบสำคัญของการที่ต้องอยู่ในสภาวะ introvert อย่างไม่ตั้งใจ ทั้งที่ลึก ๆ เธอไม่ได้อยากจะโดดเดี่ยว เธอก็เหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ ที่อยากจะมีเพื่อน มีสังคม ได้รับการยอมรับอะไรสักอย่างแล้วเข้าไปอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมั่นใจนั่นแหละ แต่ทว่าในโลกของความเป็นจริงตรงหน้ามันไม่ง่ายขนาดนั้น สิ่งที่เธอทำได้ มีเพียงการอยู่บนโลกโซเชียล สังเกตการณ์อยู่หลังหน้าจอมือถือที่เธอรู้สึกปลอดภัย นอกจากจะมีปัญหาเรื่องเข้าสังคมแล้ว ยังปะปนไปด้วยความรู้สึกของเด็กสาวแรกรุ่นที่อยากจะเติบโต อยากจะมีอิสระ อยากเป็นผู้ใหญ่เหมือนรุ่นพี่ ม.ปลาย ที่ออกมาดูแลตัวเอง ไปไหนกลับบ้านดึกได้พ่อแม่ไม่ว่า นั่นคือก้อนความคิดที่แว่บเข้ามาทดสอบจิตใจของเคย์ลา ซึ่งถือว่าหนักหน่วงสำหรับเด็กอายุ 14
เคย์ลา ตกอยู่ในสภาวะ ‘อึดอัด’ ขึ้นมาทันทีที่จำยอมต้องไปร่วมงานปาร์ตี้พูลวิลล่าตามคำเชิญของแม่เพื่อนร่วมชั้นของเธอ ที่นั่นมีเพื่อนร่วมชั้นของเคย์ลาไปรวมตัวเฮฮาปาร์ตี้กัน ซึ่งทันทีที่ เคย์ลา ได้ก้าวเข้าไปในงาน เธอรู้สึกได้ว่าที่นี่ ‘ไม่ใช่ที่ของเธอ’ เลยแม้แต่น้อย ถึงตรงนี้ บรรยากาศของหนังส่งอินเนอร์มาถึงคนดูแบบเต็ม ๆ ทั้งที่ไม่มีฉากดราม่า ไม่มีเสียงกรีดร้องอัดอั้นของเด็กสาว ไม่มีน้ำตาสักหยด มีแต่ความเศร้าที่ส่งผ่านมาจากสายตาของเคย์ลา ที่เธอก็ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะเอาชนะใจเพื่อน เอาใจชนะใจหนุ่มหน้ามนที่เธออยากได้เป็นแฟน แม้ว่าเธอจะพยายามเข้าหาและผูกมิตรแล้ว
บางทีเมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อหันมามองอีกครั้ง เมื่อเราทำบางอย่างเต็มที่แล้วแต่กลับให้ผลตรงข้าม ก็คงไม่ใช่เราที่ผิดพลาดเสมอไปแล้ว..
ตลอดทั้งเรื่อง หนังเดินเรื่องโดยมีโซเชียลมีเดีย ถูกหยิบมาวางอยู่ใน position ที่เป็นเหมือนเพื่อนผู้หวังดี แต่ประสงค์ร้าย และสุดท้ายมันคือปีศาจร้ายที่แท้จริงสำหรับคนในยุค 4.0 เคย์ลา เติบโตและค้นพบความเปลี่ยนแปลงจากการ ลด ละ เลิก มัน! เมื่อทำแบบนั้น เธอถึงมองเห็นว่าใครที่เป็นคนที่ยืนเคียงข้างเธอและหวังดีกับเธอจริง ๆ
Eighth Grade เหมือนหนังธรรมดา ๆ ที่เล่าแล้วโดนใจจี้จุดของคนที่เคยเป็นอย่าง เคย์ลา คนที่มีปัญหากับการเข้าสังคม มีปัญหากับความมั่นใจ ทุกครั้งที่ เคย์ลา อยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัด มันยิ่งกว่าโดนใจของเราเอง เหมือนเห็นตัวเองในนั้น ซึ่งคนที่ไม่เคยเป็น ไม่เคยเจอกับตัวเองจะไม่มีวันเข้าใจ สิ่งนี้มันน่ากลัว และสามารถ ฆ่าคนได้ ตรงนี้หนังถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก ๆ อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีความแปร่ง ๆ ในการเลือกตัดสินใจของตัวละครในบางซีน ที่ดูจะหลุดแคแรคเตอร์เดิมไปนิดนึง บางจุดหนังไม่ได้ขยี้ในประเด็นนั้น ๆ ที่ร้อยเรียงออกมาอย่างที่ควรจะเป็น แต่โดยรวมก็ไม่ทำให้หนังเสียทรงเท่าไหร่นัก
Eighth Grade ถูกใจผมตรงที่มันเล่าออกมาได้เรียล ไม่ได้มีพระเอกขี่ม้าขาวเพ้อเจ้อออกมาให้แฟนตาซี ชีวิตพลิกผันอะไรแบบนั้น หากแต่เป็นตัวน้องเคย์ลาเองที่คิดแก้ ทดลอง แล้วสุดท้ายรู้ว่าตัวเองจะอยู่อย่างไรต่อไป มันคือ coming of age จริง ๆ บนชีวิตที่รู้ว่าต่อจากนี้ก็จะต้องเจอเรื่องสุขทุกข์ปนกันไปไม่จบสิ้น
เพราะชีวิตจริงไม่มี Happy Ending
***Eighth Grade ฉายเฉพาะโรง House RCA เท่านั้น