Our score
9.0The Kid Who Would Be King
จุดเด่น
- เป็นหนังครอบครัวที่คนดูทั่วไปสนุกได้
- เอฟเฟกต์ในหนังดี ไม่ตุ๊บ
- มีมุกเมากาวให้ได้หัวเราะเรื่อยๆ
- แอบวิพากษ์การเมืองอังกฤษได้เจ็บแสบ
- เป็นหนังเสริมพลังเยาวชนมากๆ
จุดสังเกต
-
ตรรกะและความสมบูรณ์ของบท
9.0
-
คุณภาพของงานสร้าง
9.0
-
ความแปลกใหม่
9.0
-
ความสนุก
9.0
-
ความคุ้มค่าตั๋ว
9.0
บอกตามตรงว่านี่คือหนังอันมีองค์ประกอบให้เรายี้ได้ทุกอย่างตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ ทื่อมะลื่อได้อี๊ก! อะไรเข้าฝันให้เอาประโยคเฉิ่มเชยอย่าง The Kid Who Would Be King เด็กที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ เนี่ยนะ! แต่พอได้เห็นชื่อผู้กำกับอย่าง โจ คอร์นิช ซึ่งก็ไม่ได้โด่งดังอะไรมากมายแต่มีเครดิตเขียนบท ANT-MAN (2015) หนังฮีโร่มดตัวน้อยตัวนิดสุดเมากาว ก็พอใจชื้นว่าหนังต้องมีอะไรเกิดคาดแน่ๆ ซึ่งก็จริงดังคาดและเหมือนเราจะถูกชื่อเรื่องสุดเฉิ่มเชยนี่แหละหลอกทางมาแต่ต้น เพราะการนำตำนาน คิงอาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลมมาดัดแปลงพันธุกรรมของมันด้วยการทำเป็นหนังเด็ก ที่สำคัญคือแอบใส่ตัวละครเด็กไว้หลากเชื้อชาตินี่แหละที่สามารถวิพากษ์สังคมอังกฤษได้อย่างเจ็บแสบ ผ่านการเขียนบทของ โจ คอร์นิช เองที่มองเรื่องที่ตนจะเล่าได้ขาดมาก ที่สำคัญทั้งงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่างๆและอารมณ์ขันของหนังก็ทำงานสอดคล้องในประเด็นที่จะเล่าได้เป็นอย่างดี จนเกิดหนังครอบครัวที่คนดูทั่วไปก็สนุกกับมันได้
สำหรับความล้ำลึกของบทหนังก็ตั้งแต่ตัวละครอเล็กซ์ ที่หนังจงใจแคส หลุยส์ แอชบอร์น เซอร์คิส ทายาทแท้ๆของนักแสดงโมแค็ปชื่อดังอย่าง แอนดี เซอร์คิส ด้วยรูปร่างตุ้ยนุ้ยผิดจากพระเอกหนังเด็กที่มักเลือกเด็กตัวเล็กผอมๆน่ารักมารับบทฮีโร่ ก็ทำให้เราเชื่อในความเป็นลูสเซอร์ได้ตั้งแต่ต้นแล้ว ที่สำคัญการให้ภาพคนขาวเป็นลูสเซอร์มันยังนัยยะของประเทศที่กำลังย่ำแย่ได้เห็นภาพมาก ซึ่งหนังก็ยังกำหนดให้เพื่อนๆของอเล็กซ์เป็นเยาวชนที่ถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้ง เบดเดอส์ เด็กอินเดียนบริติชที่ต้องเอาชนะความกลัวของตัวเอง ส่วนแลนซ์ อาจดูเป็นหนุ่มผิวขาวอันธพาลที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพวกฮูลิแกน แต่ก็ยังถือเป็นเด็กที่สังคมอังกฤษทอดทิ้ง ส่วน เคย์ ก็เป็นสาวอังกฤษผิวสีให้ภาพอดีตชนชั้นทาสในประวัติศาสตร์ เมื่อเอาตัวละครทั้งหมดมาจับใส่ตำนานกษัตริย์ อาเธอร์ เราก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงอุดมการณ์หนังที่เชิดชูพลังเยาวชนที่แฝงในเรื่องได้อย่างแยบยล เพราะหากตำนานเดิมถูกบอกเล่าแบบอนุรักษ์นิยมโดยให้ภาพคนผิวขาวรูปร่างกำยำเป็นคนกอบกู้บ้านเมือง อังกฤษในยุควิกฤติจากปรากฎการณ์ เบร็กซิตที่พวกอนุรักษ์นิยมคร่ำครึ นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิงอย่าง มอร์กานา เอ้ย! เทเรซา เมย์ ที่นำพาประเทศมาสู่ทางตันจากแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ก็ต้องพึ่งพาเยาวชนหลากเชื่อชาติและสีผิวนี่แหละในการกอบกู้และพัฒนาประเทศ ซึ่งตรงนี้มันฟ้องถึงความตั้งใจและใส่ใจของ โจ คอร์นิช มากในการถักทอเหตุการณ์บ้านเมืองแฝงการวิพากษ์สังคมใส่ล้อไปกับตำนานแบบเปรียบเปรย (Allegory) ได้อย่างล้ำลึกแบบนี้
อ่านพารากราฟบนดูจริงจังแต่ก็ใช่ว่าหนังจะมาทางซีเรียสนะครับ ตรงกันข้ามเลยหนังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันที่โดนใจและบางมุกก็หน้าด้านมาก ฮ่าาาา ทั้งมุกอัศวินโต๊ะกลมที่เห็นในตัวอย่างหนังไปจนถึงมุกที่ส่วนตัวชอบมากอย่าง เลดี้ออฟเดอะเลค หรือ เทพีแห่งสายน้ำ ที่นางโผล่ได้ตั้งแต่ทะเลสาบไปยันอ่างอาบน้ำเด็กถือว่าเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความเมากาวให้หนังได้สนุกและฮาขึ้นได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือจากบทหนังที่ถักทอมาเป็นอย่างดีแล้ว ด้านงานสร้างของหนังก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาก สเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ในเรื่องแม้จะไม่ใหม่มากแต่ก็ทำได้มาตรฐานไม่มีส่วนโป๊ะแตก ซีจีลาละลอยแบบเดอะทอยแต่อย่างใด เรื่องเสื้อผ้าหน้าผมก็ครีเอตดีซึ่งคราวนี้พอให้เมอร์ลินมาเป็นเด็กหนุ่มที่แฝงกายมาในยุคปัจจุบันด้านคอสตูมก็เล่นสนุกกับชุดกันอย่างเต็มที่โดยเฉพาะมุกเสื้อ เล็ดเซปพลิน ที่มาพ้องเสียงกับ เมอร์ลิน ก็เอาใจคนช่างสังเกตได้เป็นอย่างดี หรือชุดเกราะโบราณที่ถูกดัดแปลงให้เข้ากับไซส์เด็กมัธยมและเสื้อพละของโรงเรียนก็ทำให้เห็นความครีเอตของคนออกแบบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี
ส่วนนักแสดงเด็กๆทั้งหลายก็มีเสน่ห์ต่างกันไป หลุยส์ แอชบอร์น เซอร์คิส ฉายแววหล่อแต่เด็กแม้จะตุ้ยนุ้ยแต่น้องก็แบกหน้าที่บทนำได้อย่างน่าชื่นชมทั้งบทคอเมดี้และบทดราม่าที่หนังปูได้หนักแน่นทีเดียว ส่วนบรรดาเด็กๆที่รับบทอัศวินโต๊ะกลมทั้ง ดีน เชามู, ทอม เทเลอร์ และ เรียอานา ดอริส ก็มีส่วนเสริมให้เรื่องราวดูสนุกขึ้น และบทเมอร์ลินจอมขโมยซีนยังน่าจะแจ้งเกิดให้ แองกัส อิมรี ที่เชื่อว่าใครดูหนังแล้วน่าจะอยากเลียนแบบท่าร่ายมนต์ที่โคตรคูลเกินหน้าเกินตาหนังเรื่องอื่นเลยล่ะ นอกจากนี้หนังยังได้นักแสดงดังทั้งแพตริก สจ๊วร์ต หรือโปรเฟสเซอร์เอ็กซ์ จากไตรภาค X-Men แรกมารับบทเมอร์ลินตอนชรา และได้ รีเบคกา เฟอร์กูสัน จาก Mission Impossible : Fallout (2018) มารับบทมอร์กานา แม่มดผู้ชั่วร้ายอีกด้วย