Our score
8.0มาร-ดา The Only Mom
จุดเด่น
- หนังน่ากลัวมาก ชวนตกใจสุดช็อค
- หนังผสานการเมืองเข้ากับหนังผีได้อย่างแนบเนียน
- นักแสดงทุกคนเล่นดีมาก
- งานกำกับชาติชาย เกษนััส แม่นยำมาก เอาคนดูกลัว และซึ้งได้อย่างถูกจังหวะ
- งานถ่ายภาพของเปีย ธีรวัฒน์ รุจินธรรมคือเนี้ยบกริบ สยอง และงดงามมาก
จุดสังเกต
-
ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท
8.0
-
ความสมบูรณ์ของงานสร้าง
8.0
-
ความแปลกใหม่
8.0
-
ความสนุก บันเทิงแบบซีรีส์ทั่วไป
8.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการชม
8.0
หนังพม่าเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับไทย ชาติชาย เกษนัส ได้สร้างปรากฎการณ์โรงแตกที่บ้านเกิดมาแล้วด้วยองค์ประกอบที่ถึงพร้อมทั้งงานโปรดักชั่นและคุณค่าทางศิลปะที่น่าจะเหนือกว่าหนังท้องถิ่นเรื่องอื่นก็ไม่ยากเลยที่หนังจะเป็นที่นิยม แต่อีกจุดหนึ่งที่ปฏิเสธมิได้เลยคือบรรยากาศสยองๆที่เคล้ากับอารมณ์ร่วมจากความไม่สงบทางการเมืองที่ชาวพม่าทุกคนสัมผัสได้ก็น่าจะเป็นการกลับไปย้อนมองประวัติศาสตร์ชาติพม่าอันน่าสนใจหลายประการ ดังนี้
บ้านอิงลิช โคโลเนียล
การเลือกบ้านสไตล์อังกฤษ หากอยู่ในหนังชาติอื่นอาจไม่มีความหมายทางการเมืองอะไร แต่หากกระเทาะประวิติศาสตร์พม่าที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและประชาชนผ่านการถูกกดขี่จากเจ้าอาณานิคมก็ยิ่งทำให้ “ผี” จากอดีตของพม่าที่เล่าเรื่อง “อะเหม่จัม” ยิ่งมีความหมายเชิงสัญญะที่ไปไกลกว่าแค่เอาตำนานผีท้องถิ่นมาบอกเล่า เพราะมันกำลังเล่าถึงหัวใจของหนังอันว่าด้วย “ลูก” ที่ไม่สามารถเลือก “แม่” ที่เปรียบได้กับประชาชนพม่าเองที่ไม่เคยมีโอกาสได้เลือกผู้ปกครองตัวเองได้อย่างแยบยล
ข้อมูลประกอบการเขียน Wikipedia
ภาพถ่ายกระจก
“เราเป็นคนชอบถ่ายภาพ เลยคิดว่าถ้ามีเรื่องภาพถ่ายโบราณอยู่ในหนังมันก็น่าสนใจดี ตอนแรกคิดแค่นี้ ส่วนเรื่อง Post-Mortem Photography (การถ่ายภาพคนตาย) มันก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจริงหรือไม่ แต่เรื่องถ่ายภาพเด็กที่ตายแล้วนั่นมีจริง สมัยก่อนการถ่ายรูปมันแพง มันต้องไปถ่ายในสตูดิโอเท่านั้น มันไม่สามารถยกกล้องออกไปข้างนอกได้ง่ายๆ เมื่อก่อนมันเป็นฟิล์มกระจก ซึ่งคือการทำในกระบวนการที่ยังเปียกอยู่ (wet glass) มันค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก แต่ก่อนโรคภัยก็เยอะ เด็กเกิดมาไม่ทันไรก็ตาย เลยมีการถ่ายรูปเก็บไว้ สังเกตจะเห็นว่ารูปพวกนี้พ่อแม่จะวูบๆ เบลอๆ แต่เด็กที่นอนอยู่จะนิ่ง ถ้าเจอภาพประมาณนี้ให้รู้ไว้เลยว่าของจริง เพราะความที่การถ่ายภาพเมื่อก่อนมันต้องยืนนิ่งๆ 3-5 นาที คนมันนิ่งขนาดนั้นไม่ได้ แต่คนที่ตายแล้วนี่นิ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเลยคิดว่ามันเป็นรายละเอียดที่กลัวดี”
(ที่มา เพจ Documentary Club )
จากบทสัมภาษณ์ของ ชาติชาย เกษนัสทำให้เราเห็นถึงไอเดียอันเริ่มจากภาพถ่ายฟิล์มกระจก และยิ่งเรานำมาผนวกกับเรื่องลูกไม่สามารถเลือกแม่ได้ก็ยิ่งทำให้ดีเทลในภาพถ่ายนอกจากจะสร้างความสยองขวัญให้หนังอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว มันยังทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่ได้อย่างแจ่มชัด การที่เด็กต้องถูกไม้ยึดศีรษะให้นิ่งตอนถ่ายภาพก็ไม่ต่างจากการต้องถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ และมิหนำซ้ำมันยังนำไปสู่การพูดถึงประวัติศาสตร์ความไม่สงบทางการเมืองที่คนตายไปแล้วไม่มีสิทธิพูดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งหนังก็ใช้ประโยชน์เรื่องความเปราะบางของฟิล์มกระจกมาพูดถึงทั้งระดับจุลภาคอย่างครอบครัว หรือการเมืองระดับประเทศได้อย่างเห็นภาพดีเสียด้วย
ความเป็นแม่ – การเป็นลูก
มาถึงธีมหลักที่หนังพูดถึงเสียที… ในส่วนนี้คงต้องชมทีมเขียนบทชาวพม่านั่นแหละที่สามารถผูกโยงเรื่องราวผีหลอกวิญญาณหลอน 2 ช่วงเวลาให้สะท้อนกันไปมาได้อย่างเปี่ยมความหมาย เพราะในขณะที่เรื่องราวของครอบครัวยุคใหม่ของ อองและเมย์ จะพูดถึงพลวัตทางสังคมในยุคทุนนิยมของพม่าในปัจจุบันที่บีบให้ครอบครัวต้องทำทุกอย่างกระทั่งย้ายบ้านย้ายโรงเรียนและสละเวลาที่จะอยู่กับครอบครัวเพื่อหาเลี้ยงชีพหรือเพื่อนคงสถานะทางสังคมแล้ว เรื่องราวในส่วนช่างภาพปริศนาที่รับบทโดย ดาง์ว ก็ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวอันซับซ้อนในสังคมพม่าที่ผ่านประว้ติศาสตร์อันน่าเจ็บปวดได้อย่างแนบเนียน เพราะยิ่งหนังพยายามไม่พูดถึงการเมืองแบบตรงๆเราก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงสารทางการเมืองที่แฝงอยู่อย่างเข้มข้น ทั้งประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ของประชาชนและการถูกทอดทิ้งผ่านชะตากรรมเด็กกำพร้า ความล้มเหลวของความเป็นมารดาของผู้ปกครอง หรือกระทั่งมารดาจำแลงที่มาให้ความหวังเพียงชั่วครู่ก่อนจะทำร้ายประชาชนจนสุดท้ายประชาชนต้องจำยอมอยู่กับชนชั้นปกครองเพศชาย ถึงขั้นมีคำกล่าวในเรื่องที่ถูกเน้นย้ำอย่างผิดปกติอย่าง “หนูรักพ่อมากกว่าแม่” ก็ยิ่งทำให้ภาพสุดท้ายของหนังทั้งเจ็บปวดและสิ้นหวังไม่ต่างสภาพการเมืองประเทศพม่าเลยสักนิด
ข้อมูลประกอบการเขียน Matichon
ทีมงานไทย-หนังพม่า การประสานพลังมิใช่แย่งซีน
ต้องยอมรับความดีงามส่วนหนึ่งของหนัง The Only Mom ว่ามาจากทีมงานไทยที่เชี่ยวชาญ นอกจากผู้กำกับ ชาติชาย เกษนัส ที่กำกับความกลัวและจังหวะหนังอย่างแม่นยำแล้ว งานกำกับภาพของ เปีย ธีรวัฒน์ รุจินธรรม ยังยกระดับความอินเตอร์ของหนังด้วยการกำหนดแสงเงาและวางสีสันในภาพที่ให้ความไม่อิ่มตัวของสีภาพมาส่งเสริมบรรยากาศความไม่น่าไว้วางใจของหนังได้เป็นอย่างดี ผสมผสานการประพันธ์ดนตรีประกอบเปี่ยมอารมณ์ของ พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ. อยุธยา ในเพลง Until We Meet Again ที่มีเนื้อเพลงกล่าวถึงเพลงกล่อมเด็กสุดสยองเคล้าเสียงร้องอันโหยหวนที่น่าจะติดหูติดหัวได้ไม่ยากแล้ว เรายังต้องชื่นชมทีมงานชาวพม่าที่นอกจากบทภาพยนตร์ของทีมงานชาวพม่าที่เหมือนเขียนประวัติศาสตร์ผ่านหนังผีได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว นักแสดงนำทั้งสามยังสวมบทบาทได้อย่างเข้าถึงและเข้าใจในตัวละคร พาคนดูอินได้ไม่ยากเลยทั้ง คิท คิท วุด มน ชเว ยี ที่ก้าวข้ามการเป็นนางเอกหน้าสวยสู่นักแสดงขายฝีมือได้อย่างน่าชื่นชม ส่วน ไนน์ ไนน์ ก็สามารถแสดงหนังดราม่าได้ดี แม้จะคุ้นเคยกับหนังบู๊มากกว่า เชื่อว่าสาวๆน่าจะกรี๊ดหนุ่มไนน์ ไนน์ ได้มายากเลยเพราะทั้งหล่อและล่ำมาก ส่วน ดาง์ว ไม่น่าเชื่อเลยว่าเขาจะสามารถรับบทที่มีความซับซ้อนทางปมจิตวิทยาได้อย่างยอดเยี่ยม การใช้ร่างกายของเขาช่วยให้การแสดงสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ในภาพรวมหนังจะอาศัยฉากตุ้งแช่และเมคอัพหน้าเละ ตาขาว มาสร้างความสยองไม่ต่างจากหนังผีสุดคลีเช่ แต่ในเมื่อหนังสามารถวางฉากสยองควบคู่ไปกับบทภาพยนตร์ได้อย่างแนบเนียนก็ต้องยอมรับว่ามันทั้งทำหน้าที่หนังสยองขวัญที่สร้างความกลัวให้ผู้ชมได้ทั้งเรื่อง และยังเป็นอาหารสมองสำหรับคนชอบการเมืองอย่างผมได้เป็นอย่างดี และไม่อยากให้ใครพลาดดูหนังเรื่องนี้เลยเชียวล่ะ
เพลง Until We Meet Again