[รีวิว] John Wick: Chapter 3 – Parabellum แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ
Our score
9.7

John Wick: Chapter 3 - Parabellum

จุดเด่น

  1. สไตล์เอกลักษณ์ที่สร้างแฟรนไชส์ จอห์น วิค ได้แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง ชมกันยาว ๆ ไปอีกกี่ภาคก็ไม่เบื่อ
  2. ความจัดเจนในการออกแบบดีไซน์ แสง ฉาก ซีนการต่อสู้ สุดยอด
  3. ผูกเรื่อง และขยายรายละเอียดของโลกสมมติได้โคตรน่าติดตามต่อ
  4. ดาราทั้งหลักทั้งรับเชิญมาเยอะมาก คาแรกเตอร์น่าจดจำทุกตัว
  5. ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคอหนังบันเทิง สนุก ตลก ดราม่า เท่ ครบรส

จุดสังเกต

  1. ความโหด บางฉากนี่ "ติดตา" เลย
  2. แอคชั่นเยอะจนรู้สึกเรื่องเดินน้อยไปนิด
  3. ความพยายามสร้างเรื่องราวต่อยอดที่ทำให้ภาคนี้จบไม่อิ่มนัก
  • ความสมบูรณ์ของบท

    9.5

  • ฉากแอคชั่นมันหยด

    10.0

  • โปรดักชั่น ภาพ เพลง นักแสดง

    9.0

  • ความสนุก

    10.0

  • ความคุ้มค่า

    10.0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ

John Wick 3: Parabellum ในภาคใหม่นี้ John Wick ต้องถูกคนทั้งโลกตามล่าด้วยค่าหัว $14 ล้านเหรียญ เนื่องจากเขาได้แหกกฎกลาง โดยการฆ่าคนในพื้นที่โรงแรมของ Continental และยิ่งคนที่เขาฆ่าคือสมาชิกระดับสูง เขาจึงต้องสู้และฆ่ากับศัตรูรอบด้านเพื่อหาทางหลบหนีออกจากเมืองนิวยอร์ก

นี่คือการกลับมาของหนังแอคชั่นที่สาวกหนังบู๊ทั่วโลกรอคอย และสำหรับใครที่ลืม ๆ (ซึ่งจริง ๆ ลืมหนังตระกูลนี้ยากนะ ภาพจำมันเยอะเลย) ลองชมคลิปสรุปภาค 1-2 แบบรวบรัดมาก ๆ จากค่ายสหมงคลนี้ดูก่อนเลย เดี๋ยวจะได้เหลากันยาว ๆ ต่อ

Play video

สำหรับภาค 3 นี้ ได้รับชื่อภาคว่า Parabellum ซึ่งจริง ๆ มาจากประโยคลาตินสุดโด่งดังที่มีคำเต็ม ๆ ว่า Si vis pacem, para bellum หรือที่มีคนแปลไทยไว้อย่างเพราะพริ้งนานมาแล้วว่า แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ โดยว่ากันว่ามันเป็นประโยคที่สืบเนื่องย้อนไปได้ยันสมัยโรมันนั่นเลยแม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ความมีชื่อเสียงของมันนั้นก็ยังสืบทอดมาสู่ภาพลักษณ์ของกระสุนปืนที่แพร่หลายที่สุดในโลกตระกูลหนึ่ง หรือก็คือ กระสุน 9 มม. ที่มีฉายาเรียกท้ายว่า พาราเบลลั่ม เช่นเดียวกับชื่อภาค 3 ของหนังนั่นเอง

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” สำหรับ จอห์น วิค ภาคนี้ ก็ใช้ความหมายของวลีเด็ดนี้อย่างเด็ดดวงทีเดียว

หนังเล่าเหตุการณ์ต่อเนื่อง เมื่อ จอห์น วิค (คีอานู รีฟส์) ทำผิดกฎของวงการนักฆ่าที่ห้ามทำภารกิจใด ๆ (ห้ามฆ่าแกงกันนั่นล่ะ) ในเขตธรณีของพื้นที่เป็นกลาง โดยในเรื่องนั้นคือโรงแรมคอนติเนนทัลของสภาสูงเหล่านักฆ่านั่นเอง ซึ่งการแหกกฎของวิคเพื่อล้างแค้นครั้งนี้ ทำให้สหายเก่าผู้ดูแลโรงแรมอย่าง วินสตัน (ไอแอน แมคเชน) ต้องกลั้นใจส่งคำร้องให้อัปเปหิจอห์น วิค ออกจากวงการ พร้อมตั้งค่าหัวสูงถึง 14 ล้านเหรียญ ผลคือนอกจากจอห์นจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากคนทั้งโลกนักฆ่าแล้ว เขายังถูกทั้งโลกตามล่าด้วยค่าหัวที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ทิ้งค่าหัวอันดับสองบนตารางกระจุย หนังเล่าเรื่องแบบไร้รอยต่อมาที่ภาคนี้ เมื่อจอห์นมีเวลาเหลืออีก 1 ชั่วโมงก่อนคำสั่งอัปเปหิจะถูกประกาศ เขาจึงดิ้นรนสุดชีวิตในการมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อที่จะยังมีคนได้จดจำเรื่องราวของคนรักของเขาต่อไป (โรแมนติกไปแล้วเฮีย) ซึ่งการดิ้นรนของจอห์นนี่ล่ะคือสิ่งที่เรียกว่า แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ คือหนทางแห่งสันติที่เขาจะไม่ต้องฆ่าทุกคนที่จะมาฆ่าเขา นั่นคือการก่อสงครามเพื่อกรุยทางไปเจรจากับผู้ครองอำนาจสูงสุดแห่งโลกนักฆ่าให้ยกเลิกคำสั่งอัปเปหิเขานั่นเอง

และบอกได้เลยว่าเส้นทางที่จอห์น วิค เลือกนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้แต่เป็นกองกะโหลกพะเนินเทินทึก ทั้งยังขยายจักรวาลนักฆ่าในเรื่องออกไปกว้างไกลมาก ทั้งพิธีในขนบนักฆ่าที่แปลกประหลาดที่มีมากกว่าตราโลหิตซึ่งถูกใช้ตั้งแต่ภาคที่ 2 เรื่อยมาถึงภาคนี้ ทั้งภูมิหลังที่ไม่คิดว่าจะได้รู้ของจอห์น วิค ซึ่งน่าแปลกใจทีเดียว กระบวนการยุติธรรมสุดแสนเลือดเย็นและเที่ยงธรรมของโลกนักฆ่าผ่านตัวละครใหม่อย่าง ตุลาการ (อาเชีย เคท ดิลเลี่ยน – นักแสดงสาวจาก Orange Is the New Black) ที่ทำเอาผู้ทรงอำนาจอย่างวินสตันกับ หัวหน้าแก๊งบาวเวรี่ (ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น) แทบปางตายได้ รวมถึงทีมนักฆ่าขั้นพระกาฬที่เรียกว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกับจอห์น วิค แบบพลาดนิดเดียวก็เสียวตายได้จริง ๆ ซะที ยังรวมไปถึงโลกภายนอกนิวยอร์กที่เป็นฉากหลักของเรื่องมาตลอด 2 ภาค เราได้ไปไกลถึงแดนทะเลทรายและโรงแรมนักฆ่าที่นอกเหนือจากคอนติเนนทัลด้วย คือหนังขยายไปได้ไกลมาก และอาจเผยลาสต์บอสของแฟรนไชส์นี้ไว้ด้วย ต้องติดตามเลย

แอคชั่นผสมผสานศิลปะป้องกันตัวระยะประชิด ผสม อาวุธปืน ก่อกำเนิด Gun Fu

หลายครั้งทีมงานหนังแฟรนไชส์นี้ได้ใช้คำเรียกแนวศิลปะการต่อสู้ที่ผสมหลากหลายแนวเข้ากับการใช้อาวุธไม่ว่าจะมีดหรือปืน (หรือแม้แต่ ดินสอ หนังสือ) ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของหนังจอห์น วิคนี้ว่า Gun Fu ซึ่งเป็นการเล่นคำ Gun ผสมกับ Kung Fu ซึ่งแม้จะไม่ใช่ศัพท์บัญญัติทางการแต่ก็ทำให้เห็นภาพแนวทางการออกแบบการต่อสู้อันโดดเด่นแพรวพราวของหนังได้อย่างดี (เหมือนตอนที่ทีมสตั๊นท์ไทยเคยผสมมวยไทยเข้ากับยิมนาสติก จนกลายเป็นงานเอกลักษณ์ระบือโลกในองก์บากมาแล้ว – งานแบบนี้ล่ะที่น่าจดจำ) มันจึงเป็นหนังที่เราต้องทำการศึกษาทั้งการออกแบบการเคลื่อนตัว แม่ไม้ท่าทางต่าง ๆ การออกแบบซีนให้ไหลลื่นต่อเนื่อง ตลอดจนการเคลื่อนกล้อง การสอดผสานของตัวละครหลักกับทีมสตั๊นท์แมน (และภาคนี้มีเหล่าน้องสัตว์มาร่วมแจมด้วยทั้ง ม้า ทั้งสุนัข โคตรโหดบอกเลย) มันเลยทำให้จอห์น วิค กลายเป็นงานหนังบู๊อ้างอิง เป็นต้นแบบเป็นครูให้หนังแอคชั่นรุ่นหลังได้ต่อยอดต่อไปแน่ ๆ

ส่วนของความเดือดนั้น ต้องบอกว่า ไม่หยุด ไม่ยั้ง บ้าพลังกันสุด ๆ ช่วงพักหายใจมีครับ แต่ช่วงไม่ให้หายใจนี่ ลืมตายกันเลยทีเดียว หนังเปิดมาเรียกว่าต่อเนื่องจากภาค 2 แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือดูสองภาคติดกันจะให้อารมณ์หนังเรื่องยาวระดับ 4-5 ชั่วโมงกันเลย และขนาดว่าดูแยกภาคเรายังเหนื่อยแทนนายวิคเลย ถ้าดูติดกันคงสัมผัสได้ถึงการหนีตายกายแทบขาดดิ้นของตัวละครกันเลยทีเดียว เพราะแต่ละภาคก็อัดฉากแอคชั่นทั้งมือต่อมืออาวุธต่ออาวุธแบบแน่นเอี้ยด ยิ่งภาค 3 นี่ขอบอกเลยว่าอะไรที่คิดว่าเยอะในภาคก่อน ๆ ภาคนี้อัดกระหน่ำมากกว่ายาวกว่ารัวกว่า มันคือความเดือดแบบไม่ยั้งที่จะบันเทิงเราไปแบบลืมเวลาเลยทีเดียว ที่สำคัญยกระดับด้วยมุกตลกร้ายที่ โหดก็ยังได้ ฮาก็ยังด้วย เป็นสูตรความสำเร็จที่ทำงานได้ดีมาก ๆ สนุก ๆ สุดเลย อ่อ และส่วนที่ดีงามมาตลอดและคงต้องขอกราบชาบูกันต่อ ๆ ไปคือการออกแบบแสงขั้วตัดในซีนและระหว่างซีนที่จัดเจนหนักหน่วงในเรื่อง Contrast Visual ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งที่คนทำหนังฮอลลีวู้ดที่ได้รับความนิยมสูง ต้องศึกษาอย่างดี เพราะภาพที่ขัด-กระตุ้นการตื่นรู้ของดวงตาผู้ชมนั้นเป็นเคล็ดลับหนึ่งสำหรับหนังแนวนี้เลยทีเดียว และหนัง John Wick ก็เก่งเรื่องนี้แบบจดเลกเชอร์ได้ซีนต่อซีนเลยทีเดียว

นอกเหนือจากตัวหนัง มันยังพูดถึงนอกหนังที่สั่นสะเทือนใจ

ส่วนตัวรู้สึกถึงสารบางอย่างอันทรงพลังอยู่ 2 ประการ

อย่างแรกนี่คือหนังที่บูชาคนเบื้องหลังของวงการแอคชั่นอย่างแท้ทรู เป็นที่ทราบกันดีว่าคีอานู รีฟส์ให้ความเคารพทีมสตั๊นท์ของหนังที่เขาเล่นอย่างมาก ถึงขนาดว่าซื้อรถแจกสตั๊นท์แมนในหนัง The Matrix ก็ทำมาแล้ว เขาจึงเป็นที่รักของเหล่ายอดฝีมือตัวจริงในยุคนี้ทั้งสิ้น และจอห์น วิค ก็คือหนังที่สะท้อนคุณค่าและตัวตนของพวกเขาเหล่านั้นออกมาผ่านคีอานู รีฟส์ด้วย ดารานักบู๊และดารารับเชิญมากมายทั้งที่ปรากฏชื่อตัวละครและเพียงตัวประกอบนิรนามต่างร่วมมาแสดงในฉากต่าง ๆ ราวกับไม่มีใครเห็นก็ไม่เป็นไร แต่ขอฝากฝีไม้ลายมือไว้ในแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นตัวร้ายหลักอย่าง ซีโร่ นักฆ่ายอดยุทธร้านซูชิผู้เป็นทาสแมว ทั้งฝีมือก็ไม่ได้ด้อยกว่าจอห์น วิคเลย แสดงนำโดย มาร์ค ดาคาสคอส ยอดนักบู๊จากหนังเก่าทั้ง Brotherhood of the Wolf หรืออย่าง Crying Freeman ก็กลายเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์น่าจดจำมากที่สุดตัวหนึ่งในตระกูลหนังจอห์น วิค เหล่าลูกศิษย์ของซีโร่เองก็ได้ยอดฝีมือปันจักสีลัตตัวจริงจากอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเคยฝากฝีมือไว้ในหนัง The Raid ทั้งภาค 1-2 มาแล้ว แสดงนำ เอ่ยชื่อไปก็อาจไม่รู้จักทั้ง ยายาน รูเฮียน และ ซีเซป อาริฟ ราห์มาน แต่เขาทั้งคู่คือกุญแจสำคัญที่ทำให้โลกนี้รู้จัก อิโก อูไวส์ เลยทีเดียวล่ะ

นอกจากนั้นยังมีสตั๊นท์คู่บุญของคีอานู รีฟส์ที่มาร่วมเล่นแม้จะแค่ตัวละครไร้ชื่อแต่มีฉาก ติดตา อย่าง ไทเกอร์ หูเฉิน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งบอกถึงการทุ่มใจให้หนังเรื่องนี้แค่ไหน และที่คงไม่เอ่ยถึงไม่ได้ ผู้กำกับอย่าง แชด สตาเฮลสกี้ เองก็เกิดและได้โอกาสสำคัญจากคีอานู รีฟส์ ด้วยการร่วมงานในฐานะสตั๊นท์แมนอาชีพในหนัง The Matrix มาก่อนด้วยนั่นเอง (อีสเตอร์เอ้กเล็ก ๆ คือประโยคที่จอห์นพูดว่า Guns, Lots of Guns ก็เป็นคำที่ นีโอ ใน The Matrix เคยพูดด้วยล่ะ) ซึ่งในหนังถ้าจะไล่ไปก็คงต้องชื่นชมเหล่าตัวประกอบมาตายทุกตัวจริง ๆ ที่ทำให้หนังโคตรมัน โคตรน่าจดจำได้ขนาดนี้

นอกจากนั้นหนังยังมีดารารับเชิญที่น่าจดจำหลากหลายวงการมาร่วมแจม ไม่ว่าจะ การมารับบท เดอะไดเร็กเตอร์ ของ แอนเจลิกา ฮัสตัน ดาราเจ้าของรางวัลออสการ์สมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหนังบู๊โรแมนติกเมื่อปี 1985 เรื่อง Prizzi’s Honor ที่มีฉากเชือดเฉือนสะเทือนไตได้ใจเราทีเดียว ส่วน ฮัลลี่ เบอรี่ เจ้าของออสการ์นำหญิงจากเรื่อง Monster’s Ball(2001) ก็มาสวมบทเจ้าแม่นักฆ่าผู้เลี้ยงคู่สุนัขสายโหด พร้อมกับฉากดราม่านิด ๆ ที่ส่งพลังอย่างแรงกับหนัง ซีนของ 2 ตัวละครนี้ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าหนังเรื่องนี้บทพูดไม่มาก แต่มาที คม ๆ เท่ ๆ ทั้งนั้นเลยนะเนี่ย เป็นอีกส่วนที่ชอบมาก  

แล้วถ้าใครเห็นชายร่างยักษ์ที่มาท้าสู้กับจอห์น วิค และอาจงงว่านี่มันใคร แต่แฟนวงการบาส NBA น่าจะมีว้าวเพราะเขาคือ โบบัน มายาโนวิช ผู้เล่นของทีม Philadelphia 76ers นั่นเอง ส่วนตัวละครอีกตัวก็มีที่มาอย่างฮานิด ๆ ก็คือโปรดิวเซอร์หนังดังนาม เจสัน มันท์โซกัส ได้มาเล่นเพราะไปพูดขำ ๆ ในรายการรีวิวหนังเก่าของคีอานู รีฟส์เรื่อง Johnny Mnemonic (1995) ว่าอยากเล่น John Wick 3 ทีมงานก็ไปเชิญแกมาเล่นจริง ๆ ตัวละครนี้คนที่ดูน่าจะจำได้ดีเพราะเขามีชื่อในเครดิตหนังว่าเล่นเป็น ติ๊กต่อกแมน ด้วย มันจึงคือหนังที่ให้ค่ากับคนเบื้องหลังอย่างมีนัยยะมากทีเดียวในจุดนี้

สารทรงพลังอันที่ 2 คือ พลอตที่หนังปูสร้างมาจนเด่นชัดในภาคนี้ คือกฎที่ควบคุมเราอยู่ หนังมีกฎที่ตัวละครไม่อาจเอาชนะได้ มีชนชั้นทางสังคมที่สมมติขึ้นให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ มีสภาสูงที่กำหนดกฎและการบังคับใช้ มีผู้อยู่เหนือสภาสูงที่ประหนึ่งพระเจ้าที่จะไม่ไยดีสนใจความเป็นไปในวงการ เป็นพลังนอกกฎกรอบที่ถ่วงดุลตัวเองด้วยการไม่เข้ามาไม่แทรกแซง มีพิธีขนบความเชื่อที่บีบบังคับให้ใครที่ตอบรับต้องกลายเป็นทาสคำพูดตนเอง (สัจจะ) ในรูปของเหรียญทองที่คือรูปธรรมของความสัมพันธ์ที่นักฆ่ามอบให้กัน รวมถึงตราโลหิตที่เจ้าหนี้มีสิทธิ์เยี่ยงเจ้าชีวิต (ที่ทำเอาจอห์นแทบตายในภาคที่แล้ว) และพันธะแห่งชาติกำเนิดที่ชื่อตั๋วทอง เหล่านี้ล้วนให้เราเห็นเข้าใจภาพกฎของโลก ที่ไม่มีใครอาจละเมิดได้ ซึ่งสุดท้ายตัวละครก็ได้เผยคำซ้ำ ๆ ถึงกฎหนึ่งที่ว่า consequences อันเป็นคำตอบว่าทั้งหมดทั้งมวล มันคือการสะท้อนถึง กรรม (เหตุกำหนดผลที่ตามมา) นั่นเอง จริง ๆ สายรัฐศาสตร์-ปรัชญา น่าจะวิเคราะห์เรื่องอำนาจและกฎของหนังจอห์น วิคได้น่าสนุกเลยล่ะ ใครมีความรู้แนะนำให้ลองดูครับ

สุดท้ายแล้วหนังไม่มีตำหนิเลย คงไม่ใช่หนังที่น่าจดจำ

คีอานู รีฟส์ เคยพูดไว้ว่าเขากลัวว่าการตั้งใจสร้างแฟรนไชส์ (การเป็นหนังที่มีภาคต่อไม่รู้จบได้) จะทำลายตัวหนังภาคต่อไป ซึ่งเป็นการอ่านเกมที่ขาดมาก เพราะมันตั้งคำถามและตอบจบในตัวสำหรับหนังภาคนี้ ว่าจริง ๆ ถ้าโครงเรื่องมีเท่านี้ ควรหรือต้องลากความยาวถึงขนาดนี้ เพราะถ้ามองอย่างเป็นกลางมันก็คือภาค 2.5 ไม่ผิดนัก และมันก็มีสัดส่วนแอคชั่นที่มากโขจนรู้สึกว่าเรื่องราวเดินได้น้อยกว่าเวลาที่เดินไป หลายจุดไม่มีบทสรุปให้ กลายเป็นทิ้งปมไว้ทั่วไปหมด ซึ่งสำหรับความรู้สึกต่อหนังภาค 3 มันควรอิ่มจบในตัวและทิ้งปมใหญ่ ๆ ไว้น้อยกว่านี้ แต่ก็นะ ด้วยความสนุกความเป็นที่รักของหนัง เราคงไม่ใส่ใจเรื่องหยุมหยิมพวกนี้ล่ะ ถ้าจะพูดให้เข้าท่าก็ควรบอกว่า จอห์น วิค ภาคแรกคือภาคซีโร่ ส่วนภาคนี้แท้จริงก็คือหนังภาค 2 นั่นล่ะ ข้อเสียสุด ๆ ของมันคืออะไรน่ะเหรอ คือมันทำเราอยากดูภาคต่อไปซะตอนนี้แล้วน่ะสิ (แต่ก็รู้ว่าน่าจะมีอีกปีสองปีกว่าจะได้ดูไง) ฮืออออ

สงครามเริ่มจากสองฝั่งปะทะกัน ส่วนความมันเริ่มต้นที่กดรูปจองตั๋วดูหนังเฮียวิค


Play video