Our score
9.1Where We Belong
จุดเด่น
- ดีกว่าตัวอย่างหนังไปเยอะ เกินคาดมาก ๆ
- แสดงกันได้สุดยอดมาก น่าจดจำทุกคน
- มุกตลก และตลกร้าย ทำงานดีมาก สนุกทั้งเรื่อง
จุดสังเกต
- จังหวะการเล่าแบบหนังอินดี้อาจหนืดไปสำหรับบางคน
- สาระทางสังคมที่ซ่อนไว้ ทำให้ฉากหลัง ๆ ดูยากขึ้น คิดเยอะขึ้น
- มีฉายเฉพาะเครือ SF Cinema นะ แถมถูกขนาบด้วยหนังใหญ่หน้าหลัง ต้องไปอุดหนุนกันเยอะ ๆ หน่อย
-
ความสมบูรณ์ของบท
9.0
-
คุณภาพการแสดง
9.5
-
คุณภาพโปรดักชั่น การผลิต ความแปลกใหม่
9.5
-
ความสนุก ประเทืองตา ประเทืองใจ
9.0
-
ความคุ้มค่า
8.5
เรื่องย่อ
‘เบล’ ตัวแทนของเพื่อน ที่เป็นมากกว่าเพื่อนสนิท แต่ก็ไม่เคยเป็นเกินเพื่อน ‘เบล’ เพื่อนที่เราเลือกจะบอกบางเรื่องกับมันแค่คนเดียว ‘เบล’ เพื่อนที่ทำให้เรารู้สึกโชคดี ที่มีคนแบบมันสักคนในชีวิต และถ้าวันนึงคุณต้องจาก ‘เบล’ เช่นเดียวกับ ‘ซู’ คุณจะทำอย่างไร?
การกลับมาแบบเต็มตัวของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี นับจากหนังเรื่องหลังสุดอย่าง Snap (2558) เข้าฉาย ก็เกือบ 4 ปีเต็ม ๆ แล้วที่เขาห่างหายไปในฐานะผู้กำกับหนัง โดยความพิเศษครั้งนี้ยังเป็นการจับมือกับ BNK 48 Films โดยได้นำ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ จับคู่กับ มิวสิค แพรวา สุธรรมพงษ์ มาแสดงนำ โดยยังได้ แพนด้า จิดาภา แช่มช้อย, นํ้าหนึ่ง มิลิน ดอกเทียน, ปูเป้ จิรดาภา อินทจักร, ฝ้าย สุมิตรา ดวงแก้ว และ ตาหวาน อิสราภา ธวัชภักดี มาสมทบด้วย ถ้าจะไม่นับหนังสารคดี (อย่าง Girl Don’t Cry) นี่จึงจะเป็นหนังโรงเรื่องแรกที่มีสาว ๆ BNK48 ร่วมแสดงมากที่สุดด้วย โดยรับบทแสดงนำถึง 2 คนเลยทีเดียว
เมื่อมองเช่นนี้ ก็อาจมองได้ว่า นี่เป็นหนังของ BNK48 ส่วนหนึ่ง และหนังคงเดชอีกส่วนหนึ่ง แม้ทั้ง 2 ส่วนนี้จะกลมกลืนอย่างลงตัวอย่างแยกได้ยาก ทว่าการให้คุณค่าของหนังเรื่องนี้อย่างยุติธรรม อย่างไรเสียก็ต้องมองแยกใน 2 ส่วนนี้แยกกัน
ความเป็นหนังของสาว ๆ BNK48
ต้องสยบยอมโดยดุษฎีว่า เจนนิษฐ์ เป็นนักแสดงที่สามารถดึงผู้ชมให้เข้าไปอินกับตัวละคร ซู ได้อย่างยอดเยี่ยม จริง ๆ โดยเนื้อแท้ตัวละครนี้มันเหมือนถ่ายทอดง่ายนะ กับเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งจบ ม.6 และยังสับสนล่องลอยกับอนาคตของตัวเอง ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าที่อยากเดินคืออะไร รู้แต่เพียงรอยย่ำเท้าจากอดีตที่นำพาเธอมาถึงปัจจุบันนั้น เป็นส่งที่เธอไม่พึงใจ และอยากก้าวหนีออกไปโดยไว และการชิงทุนไปฟินแลนด์ โดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศปลายทางเลยนั้นก็คือคำตอบทั้งหมดแล้ว ตัวละครนี้จึงอยู่ในสภาวะพร้อมออกวิ่งแต่ก็เหม่อลอยเหมือนครุ่นคิดและซ่อนตัวถีบตัวเองออกจากปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจมองว่าการลอย ๆ เช่นนี้เป็นกริยาที่ไม่ได้ซับซ้อน และถ่ายทอดออกแบบทื่อ ๆ ก็เพียงพอประคองตัวไปกับแนวหนังของผู้กำกับแล้ว แต่เจนนิษฐ์ก็ทำให้เราตระหนักว่านี่ไม่ใช่บทที่ง่าย เพราะหนังความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะใช้แค่ความสวยน่ามองแล้วเล่นพอประคองไปได้จนจบโดยคนไม่เบื่อหน่าย เจนนิษฐ์สามารถถ่ายทอดแง่ลึกของตัวละครผ่านการมอง การยิ้ม การพูดที่เว้นจังหวะคิดหลายครั้ง และในฉากที่เปิดโอกาสให้เธอระเบิดด้านดิ่งลึกของตัวละครออกมา เธอก็เก็บโอกาสนั้นไว้ได้อย่างน่าจดจำ
สำหรับ มิวสิค ในบท เบล เธอรับบทที่สนับสนุนให้ตัวเอกอย่าง ซู อย่างชัดแจ้ง มันจึงต้องพอดิบพอดีอย่างลงตัวทั้งสัดส่วนบทและการแสดง แม้ว่าพื้นที่ในหนังเบลจะไม่ได้ด้อยกว่าซูเท่าใดเลย แต่มิวสิคก็จับจุดในการเล่นไม่ล้ำหน้าตัวละครนำได้อย่างดี สิ่งที่ต้องชื่นชมมาก ๆ คงเป็นความเป็นธรรมชาติของตัวละคร ไม่ใช่ว่ามิวสิคเอาความเป็นตัวเองลงไปเล่นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ความยากของสิ่งนี้คือการที่เธอต้องเป็นละครที่ภูมิหลังหรืออาจอุปนิสัยบางอย่างที่เหมือนอยู่อีกโลกกับเธอ แต่กลับทำให้เรารุู้สึกได้ว่า เบล ดูเป็นธรรมชาติมาก ๆ ราวกับเป็นคนจริง ๆ ที่อาจจับต้องได้ แน่นอนแม้บทเธอจะเกิดมาส่งเสริมซูเป็นหลัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว บทนี้ก็มีความน่าค้นหามาก ยิ่งบางอย่างมากกว่าตัวนำเสียอีก เช่นว่าเรื่องราวที่เธอต้องเลี้ยงย่า หรือความสัมพันธ์กับแม่ที่แปลกแปร่ง ตลอดจนว่าทำไมเธอถึงทุ่มเทให้ซูมากขนาดนี้ มันแทบไม่เคยมีคำตอบใด ๆ ในเรื่องเลย แม้จนจบเรื่องปมของซูจะได้รับการเปิดเผยมากมาย แต่กับเบลเราแทบจะไม่ได้รู้ใจจริงของเธอเท่าใดเลย ถ้าเจนนิษฐ์คู่ควรเข้าชิงบทนำหญิงยอดเยี่ยมไม่ว่าเวทีใด มิวสิคก็ควรคู่กับการเดินเคียงข้างในรางวัลสายสมทบหญิงยอดเยี่ยมเช่นกัน
ต้องยอมรับว่าหากขาดตัวละคร เบล รวมถึงการแสดงของมิวสิคไป ตัวละครที่ต้องจืดจางล่องลอย ทั้งที่เล่นนำอย่างซูนั้น จะต้องแบกหนังอย่างยากลำบากมากทีเดียว คงไม่มีอะไรเหมาะกับคำว่า สมทบยอดเยี่ยม ได้เท่านี้อีกแล้ว (โดยเฉพาะที่ฝรั่งใช้ศัพท์ได้ตรงกว่าว่า Supporting คือไม่ได้แค่มาแจม แต่ต้องเกื้อหนุนตัวละครหลักให้ยิ่งใหญ่ด้วย)
ความเป็นธรรมชาตินี้ ยังเหมือนไวรัสที่แพร่กระจายในความหมายที่ดีสู่ตัวละครต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องให้เราอิน และเชื่อในตัวหนังได้มากขึ้น ๆ ในส่วนของน้อง BNK48 ที่เหลือที่มารับเชิญ ก็ซ่อนประกายความโดดเด่นลดแสงลงทำตัวแบบเด็กต่างจังหวัดบ้าน ๆ ได้อย่างสมจริง ซึ่งต้องชมทุกคนเลยนะ ที่ทำให้เราเชื่อได้มากขนาดนี้ว่าเรากำลังดูชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่งในเมืองอันเปลี่ยวเหงาต่างจังหวัด ไม่ใช่สาว ๆ ที่มีแฟน ๆ คอยแห่แหนห้อมล้อมตลอดเวลาอย่างที่พวกเธอถูกตราภาพจำไว้
การเป็นหนัง BNK48 ได้เผยภาพของเหล่าเด็กหญิงทั่วไปที่เราพบเจอได้ ได้เข้าไปลงลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนแก๊งผู้หญิง มีความหยาบคาย จริงใจ มีความไม่เข้าใจหลายอย่างในโลก และอารมณ์ครุ่นแค้นที่เหลือพอพุ่งใส่ใครรอบตัวได้ไม่เลือกหน้า เช่นเดียวกับวัยรุ่นวัยที่สับสนและทดลองทางเดินของตนเอง เป็นพัฒนาการการนำเสนอที่น่าสนใจของ BNK48 ไม่ว่าจะภาพที่เราได้เห็นพวกเธอสบถ เหี้ย หรือมึงมาพาโวย คือเราได้รับการร้องขอให้พิจารณาพวกเธอในฐานะ อาร์ติสต์ มากกว่า ไอดอล ผ่านงานหนังเรื่องนี้ด้วย ก็แล้วแต่คนดูแต่ละคนจะตัดสิน แต่ส่วนตัวผมว่าพวกเธอเก่งทั้งสองอย่าง เก่งทั้งด้านศิลปะในการแสดงได้สมจริง และเก่งในด้านสกิลไอดอลที่ช่วยสร้างเสน่ห์ขึ้นในตัวละครที่บ้าน ๆ เช่นนี้ได้ จนความยาวหนังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ทรมานคนดูอย่างที่แนวหนังนี้มักเป็น
ความเป็นหนังของผู้ชายชื่อ คงเดช
ว่ากันตามตรง แฟนหนังของคงเดช น่าจะชินกับการเป็นหนังที่สอดแทรกประเด็นการเมืองอย่างอ้อมค้อมแต่คมคายมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะการเดินทางของชายสามแขนใน กอด หรือ เด็กหนุ่มในวงสงครามกลางเมือง ใน ตั้งวง ที่ล้วนแต่สะท้อนถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งชี้ประเด็นในสังคมไทยในห้วงเวลาหนึ่งอยู่เสมอ และกับเรื่อง Where We Belong นี้ แม้จะแจมด้วยสาว ๆ ใส ๆ อย่าง BNK48 แต่เอกลักษณ์ด้านประเด็นของคงเดชก็ไม่ได้เบาลงเลย แต่กลับยิ่งใช้ข้อได้เปรียบนี้สร้างความขัดแย้ง ให้ส่งพลังสั่นสะเทือนไปยังผู้ชมอีก ไม่ว่าจะตลกร้ายกับใบหน้าใส ๆ ที่พูดกันแบบชิล ๆ นิ่ง ๆ ทั้งที่ถ้อยคำนั้นอาจหยาบ และร้ายจนน่าขบขันก็ตาม หรือการให้นักแสดงหน้าตาดีต้องเปลือยใบหน้าตัวเองจนสดดิบ และให้เหล่าตัวละครหน้าตาดี ๆ ต่างต้องเจอจุดที่เลวร้าย โชคชะตาที่ไม่ชวนโรแมนติกให้ร่ายคำคมปรัชญาชีวิตเก๋ ๆ ได้สักนิด
สำหรับเรื่องนี้เชื่อว่าใครได้ดู คงต่างเห็นชัดว่า ประเด็นที่ถูกนำมาอภิปรายนั้นชัดเจนว่าคือวาทกรรมเรื่องเมืองไทยและเมืองนอกที่ถูกยกระดับมาสู่วงถกเถียงในสื่อออนไลน์ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ กำเนิดทั้งคำไล่ที่ผลิตซ้ำอย่าง พวกชังชาติ หรือวลี ไม่พอใจก็ไปอยู่ที่อื่น หรือในมุมกลับกันก็คือวลีอย่าง อยากขอลี้ภัยไปอยู่เมืองนอก หรืออยากให้ลูกได้สัญชาติประเทศที่เขาเจริญทางความคิดแล้วมากกว่า เป็นต้น
ต้องใช้คำว่า ถูกยกมาอภิปราย เพราะหนังไม่ได้เพียงชูประเด็นว่าจงคิดตรองหัวข้อนี้กัน แต่ค่อย ๆ ป้อนเหตุและผลสนับสนุนความเชื่อของแต่ละฝั่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าฟังขึ้น และไม่ได้เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนจนไร้สาระ มันเชื้อเชิญให้เราเข้าใจฟากฝั่งต่าง ๆ และดีไม่ดีอาจเป็นจุดเริ่มให้คนต่างวัยต่างความคิดลองมองกันอย่างเข้าใจหาวิธีอยู่ร่วมกันได้ด้วย หนังอินดี้หลายเรื่องเลือกจะซ่อนสารสังคมการเมืองอย่างซับซ้อนจนดูไม่รู้เรื่อง แต่กับเรื่องนี้คงเดชฉลาดพอที่จะไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ปกปิด แต่ก็ไม่ไร้มารยาท ไม่ไร้กาลเทศะในการนำเสนอ และลีลาการเสนอประเด็นในสไตล์คงเดชที่เคยทำคน 3 แขนมาแล้วย่อมไม่ธรรมดา บางมุกเราต้องกราบว่าพี่แกคิดได้ไง อย่างเรื่องราวของย่าเบล หรือเรื่องราวของครูภาษาชาวเยอรมันที่บอกว่า ผมไม่อยากกลับไปบ้าน และอีกมากมายที่สนุกมาก ๆ
แต่ขึ้นชื่อว่าหนังคงเดชมันไม่ได้ง่าย ย่อยสบายอย่างนั้นแน่นอน หนังได้สร้างฉากไคลแม็กซ์ที่ตัวละครซูต้องตัดสินใจเรื่องไปเมืองนอกหรืออยู่เมืองไทยได้อย่างอัศจรรย์ ประหลาด และก็ทรงพลังมาก ๆ แบบที่ไม่คิดมาก่อน และเมื่อคิดว่าหนังน่าจะคลี่คลายลงจบแล้ว หนังกลับเราพาเดินไปอีกหน่อยและทำให้เราตระหนักว่าบางที ประเด็นแท้จริงอาจเพิ่งเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ และนับตั้งแต่ที่เสียงหัวเราะค่อย ๆ น้อยลงนี่ล่ะ หนังก็ป้อนคำถามสุดท้ายมาอย่างต่อเนื่อง ใครไม่ชินก็คงคิดว่าหนังดูยากในฉับพลัน เป็นยารสขมสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจมาคิด แต่คือยาที่ทำให้วุฒิภาวะในฐานะคนไทยเติบโตขึ้นด้วย จัดว่าขมแต่ดี
โดยสุดท้ายด้วยการผสมผสาน อาหารตา ผ่านน้อง ๆ BNK48 ที่อัปเลเวลศิลปินจนท่วมท้น กับอาหารสมองผ่านสัญญะและนัยยะต่าง ๆ แบบคงเดช นี่จึงกลายเป็นหนังที่ส่วนตัว ชอบมากที่สุดของทั้งฝั่งหนัง BNK48 และหนังของคงเดช ไปโดยปริยาย ชื่นชมมาก ๆ
น้อง ๆ ชวนขนาดนี้ ไม่ไปให้กำลังใจในโรงก็ใจดำไปละ
ซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่นี่เลย https://www.sfcinemacity.com/showtime/movie/HO00000528