Our score
7.8Proud of Me
จุดเด่น
- ได้เห็นเมืองจีนจากอีกมุม เปิดโลกมาก
- ฟีลกู้ด ๆ ดูสนุก ตลก และซึ้งกินใจ
- ทำได้ดีมากกับงบจำกัด
- เป็นธรรมชาติมาก ดูสมจริง
จุดสังเกต
- ก็ตามภาษหนังทุนน้อย พร่องหลายอย่างล่ะ
- รอบน้อยมาก อยากดูคงหายากหน่อย
-
ความสมบูรณ์ของบท
7.0
-
คุณภาพงานสร้าง
7.5
-
ข้อคิด สาระ
8.0
-
ความสนุก
8.5
-
ความคุ้มค่า
8.0
เรื่องย่อ
ความกดดันของคนเป็นลูก ความคาดหวังของคนเป็นพ่อ ตามติดชีวิตของชายหนุ่มที่มีชื่อว่า “369” ในช่วงเวลาตลอด 8 ปี เขาเป็นเด็กที่ไม่เอาการเรียน ไม่เอาการงาน โดนเพื่อนบ้านดูถูกอยู่เสมอ เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางไปเซินเจิ้นเพื่อหาทางหลุดพ้นจากสายตาที่มองดูถูกเขา ภายในดินแดนแห่งนั้นที่ไม่เคยมีใครรู้จัก 369 เขาได้กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ทว่าชื่อเสียงของเขากลับต้องแลกมาด้วยความผิดหวังของคนเป็นพ่อ เขาจึงต้องเลือกระหว่างโลกที่ยอมรับเขา กับ คน ๆ หนึ่งที่ไม่เคยปล่อยมือเขาในยามที่ต่ำที่สุดในชีวิต
หนังนำเสนอตัวเองนอกโรงได้แบบ อิหยังวะ พอสมควร ทั้งโปสเตอร์ที่สวยนะเหมือนหนังสไตล์ญี่ปุ่นหนังไต้หวันสวย ๆ หวนอดีตนิด ๆ แต่พอดูตัวอย่างหนังมันอิรุงตุงนังไม่รู้ว่าพี่แกเล่าอะไรกันแน่ ตัวละครเส้นเรื่องยุ่บยั่บไปหมด แถมฉากที่คัดมาโชว์ในตัวอย่างก็โคตรธรรมดา บ้านมากกกก ความอิหยังวะ เลยเปลี่ยนเป็นความรู้สึก สงสัย ว่าหนังเรื่องนี้มันมีอะไรดี และหน้าที่หาเพชรในตมก็เป็นหน้าที่เสี่ยงตายหนึ่งของนักรีวิวสายลองของอยู่แล้ว เราจึงไปพิสูจน์มาให้ ว่าหนังเรื่องนี้มันยังไงของมันแน่
นี่เป็นหนังอินดี้ม้ามืดสุดแสนจะฮิตเว่อ ๆ ในประเทศจีน กำกับโดย หลานหงชวน ที่ก็เพิ่งกำกับและเขียนบทเรื่องแรก โดยมีนักแสดงธรรมดาบ้าน ๆ ไม่ได้มีชื่อเสียงเลยสักคน แม้แต่ดารานำชาย เจิ้งรุ่งชี ในบท 369 (ชื่อมันยังอินดี้เหมือนหนังเลย) ที่มาเขียนบทร่วมด้วย ก็ยังไม่เคยเล่นเรื่องไหนมาก่อนอีก แถมตัวเนื้อหาก็เล่นความเป็นท้องถิ่นอย่างแถบกวางตุ้งโดยเฉพาะ ภาษาทั้งเรื่องก็เป็นแต้จิ๋ว ซึ่งกลายเป็นหนังจีนพูดแต้จิ๋วเรื่องแรกด้วย หนังลงทุนไปแบบอินดี้ 5 ล้านหยวน แต่กลับทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากผู้ชมในแถบกวางตุ้งจนกลายเป็นกระแสไปทั่วจีน และทำเงินไปได้ถึง 47 ล้านหยวน เป็นโคตรปรากฏการณ์ปี 2018 ในอุตสาหกรรมหนังจีนขนาดเล็กเลยทีเดียว เทียบแล้วนี่มันก็หนังตระกูล ไทบ้าน ของบ้านเราดี ๆ นี่ล่ะนะ
ด้วยบรรยากาศแบบหนังหวนไห้อดีตบาง ๆ สวย ๆ เหมือนพวกหนัง You Are the Apple of My Eye (2011) ของไต้หวัน หรืออย่าง Always Sunset on Third Street (2005) ของญี่ปุ่น หรือแบบ แฟนฉัน กับ ตุ๊กแกรักแป้งมาก ที่เป็นหนังไทย หนังเลยสวย ๆ ยิ้ม ๆ ถูกใจคนทั่วไป และเล่าเรื่องผ่านสายตาของ 369 (เจิ้งรุ่งชี) เด็กม.5 สุดเกเรใน เฉาหยาง เมืองชนบทอีกเมืองของจีน ด้วยความไม่สนใจเรียนเอาแต่เล่นเกมและสนใจโลกออนไลน์กับการแต่งเพลง ทำให้ในที่สุดเขาก็โดนไล่ออก ลุงเหล็ง (เจิ้งเผิงเชง) พ่อของ 369 ผู้ทำอาหารพื้นเมืองขายแบบพอมีพอกินไม่ได้ร่ำรวย ก็ได้แต่อับอายอยู่เสมอที่มีลูกไม่เอาไหน ด้วยความรักและเป็นห่วงเขาพยายามหางานที่พอรู้จักให้ลูกได้ลองตามหาตัวเองต่อ โดยไม่ได้สนใจนักว่า 369 จะมีความฝันอย่างไร เพราะตัว 369 เองก็เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อไม่เคยเอาจริงเอาจัง ได้แต่ขอเงินพ่ออยู่เสมอ เวลาผ่านไป 8 ปี เสี่ยวมิน (จางหยงเซียน) เพื่อนสาวคนที่เขาหลงรักได้เรียนจบและทำงานในเมืองใหญ่อย่างเซิ่นเจิ้น ดินแดนแห่งโอกาสของคนชนบท ซึ่งในขณะนี้ 369 เองก็ยังไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอัน เขาจึงขโมยเงินพ่อและออกไปเผชิญโลกอย่างไร้เดียงสา โดยมีเซิ่นเจิ้นกับสาวคนรักเป็นเป้าหมาย แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายสำหรับชายบ้านนอกการศึกษาน้อย แถมยังต้องสู้เพียงลำพังกลางเมืองใหญ่นักหรอก ที่เหลือก็ไปดูในหนังเอา – ว่ามาแค่นี้พล็อตสไตล์หนังที่เราคุ้นเคยเลย คนต่างจังหวัดมาแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่และได้เรียนรู้ว่ากลับบ้านเกิดไปหาพ่อหาแม่มันก็ดีเหมือนกัน สำนึกรักบ้านเกิดกันไปประมาณนั้น
แต่ในความบ้าน ๆ ชิน ๆ มันก็มีของที่ทำเราแปลกใจหลายอย่างนะ ทั้งเรื่องการล้อเลียนวัฒนธรรมองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ที่สั่งสอนให้ประชาชน รักสามัคคี โดย 369 แต่งเพลงสรรเสริญครูใหญ่ประจำโรงเรียนว่าเป็นคนดีของพรรค แต่บรรยากาศแบบหนังเพลงทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นขบถเล็ก ๆ ของคนทำหนังเลยนะ เทียบกันก็เหมือนมีใครเอาค่านิยม 12 ประการที่ลุงตู่ซีเรียส มาทำเพลงเต้นแบบผิวเผินด้วยท่าทีสนุกสนานไม่จริงจังแบบนั้นล่ะ นอกจากนั้นภาพแบบชนบทจีนในยุคที่โลกมองว่าจีนเจริญโคตร ๆ ก็เป็นอะไรที่แปลกตามาก ยิ่งกว่าสภาพบ้านเรือนความเป็นอยู่ ที่แปลกตาสุด ๆ คือวิธีคิดการดำรงชีวิตแบบเรียล ๆ ของคนต่างจังหวัดจีนนี่ล่ะ เปิดโลกเรามากว่าจริง ๆ จีนเขาก็ยังมีมุมนี้อยู่นะ
ความเจ๋งต่อมาที่น่าจะโดนใจคนจีนยุคเปลี่ยนผ่านพอสมควร ก็คือความขัดแย้งระหว่างวัย คนรุ่นพ่อแม่ยังมองการทำงานแบบเก่า ต้องทุ่มเทเรียนรู้อาชีพมีจำกัดแค่ไม่กี่อย่าง ไอ้อาชีพสมัยใหม่อย่างเน็ตไอดอลนี่คือยิ่งกว่าอาชีพเต้นกินทำกิน หลักลอยและน่าอายมาก นอกจากนั้นตัวพ่อก็ยังสะท้อนความกระด้างแบบผู้ชายที่พูดน้อย และทุ่มเทเพื่อครอบครัวอย่างไม่ปริปากบ่น และปากแข็งในการแสดงความรักหรือเป็นห่วงลูกชายด้วยเช่นกัน ขณะที่ฝั่งเด็กรุ่นใหม่อย่าง 369 ชีวิตมันมีแต่โอกาส ความกล้าเสี่ยง โลกของความโด่งดังที่พลิกชีวิตได้เพียงข้ามคืน แม้แต่บ้านนอกอย่างเฉาหยางก็ยังได้มองเห็นความเจริญและอยากได้อยากมีตามคนเมืองกรุงผ่านสื่อต่าง ๆ เช่นกัน ไม่แปลกที่ 369 จะมองว่าพ่อปิดกั้นโอกาสและความฝันของเขา โดยไม่ได้มองว่าพ่อรักในแบบของเขา และนำมาสู่การแสวงหาตัวเองในเมืองเซิ่นเจิ้นจากศูนย์ด้วย
หนังทำทีเหมือนจะเข้าใจทั้งสองฝั่ง พยายามเล่าเรื่องผสมมุกขำขัน สอดแทรกด้วยความขัดแย้งของวัฒนธรรม ความเจริญ ภูมิภาค ช่วงวัย ความสัมพันธ์ แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มดราม่ามากขึ้น ๆ จนกินใจคน ยอมรับว่าฉากหนึ่งเกือบทำเอาร้องไห้แล้วเหมือนกัน ว่ามาแบบนี้มันก็เป็นหนังที่ทำสำเร็จในการจับกลุ่มคนเฉพาะอย่างเด็ก ๆ ที่ไปล่าโอกาสในเมืองให้มองย้อนกลับไปหาความสุขแบบชนบทหาพ่อหาแม่ที่แก่เฒ่า ในขณะเดียวกันก็เอาใจพ่อแม่คนอีกยุคว่าเนี่ยจริง ๆ พวกเขาหวังดีนะแต่ลูกหลานไม่ยอมเข้าใจเลยอะไรแบบนั้น คือเป็นเสียงให้คนทุกคน เป็นตัวแทนของทุกฝั่ง มันเลยมีความเป็นหนังมวลชนที่จะมีสักฉากล่ะที่โดนกับชีวิตที่ผ่านมาของผู้ชมสักคน
ว่ามานี่ไม่ใช่ว่าหนังมีข้อดีเต็มไปหมดแล้วจะสุดยอดนะ เพราะตามสไตล์หนังบันเทิงของจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าใครคุ้นชินดูบ่อย ๆ จะรู้สึกว่าหนังมักจะบิ้วอารมณ์จับฉ่าย นู่นนี่นั่น ไม่สุดสักทาง เรื่องนี้ก็คล้าย ๆ กัน หากแต่คงโดนจริตผู้ชมชาวจีน ส่วนเราที่ไม่ได้อยุ่ในบริบทนั้นก็อาจจะเฉย ๆ กับวิธีการเล่าของมัน หากแต่ตื่นตาตื่นใจกับความแปลกสดใหม่ของหนังแทน เป็นอีกหนังที่น่าลองดูถ้ามีโอกาสครับ บันเทิงดูได้เรื่อย ๆ มีความสร้างสรรค์ส่วนตัวที่แหวกดี อ่อหนังมีฉากจบ 2 แบบ (งงอ่ะดิ ต้องดูเอง 555) ที่ทำมาได้ครีเอทผสมกวนบาทามาก และแน่นอนพี่แกล้อเรื่องขนบรัฐเรื่องความสามัคคีได้จนหยาดสุดท้ายจริง ๆ ฮามากครับ
ดีที่สุดแล้วลูก ซื้อตั๋วง่าย ๆ กดที่รูปเนี่ย