Our score
9.4Every Day a Good Day
จุดเด่น
- นี่คือหนังที่ให้ประสบการณ์สุดอัศจรรย์ทั้งภาพและเสียง
- ป้าคิริน กิกิ ให้การแสดงส่งท้ายสุดประทับใจ
- งานภาพสุดงดงามราวภาพวาดตามฤดูกาล
- งานบันทึกเสียงสุดละเอียด เปรียบได้กับการทำ ASMR ธรรมชาติ ทำให้เราเข้าไปร่วมเหตุการณ์กับตัวละครผ่านโสตได้อย่างชาญฉลาด
จุดสังเกต
- หนังอาจไม่มีคอนฟลิกต์รุนแรง จนบางช่วงดูนิ่งไปบ้าง
-
ความลึกซึ้งน่าประทับใจของบทภาพยนตร์
9.0
-
คุณภาพการแสดง
10.0
-
คุณภาพโปรดักชั่น การผลิต ความแปลกใหม่
9.0
-
คะแนนความซึ้ง ชวนน้ำตาแตก
10.0
-
ความคุ้มค่าตั๋ว
9.0
แม้จะไม่เคยอ่านงานเขียนต้นธารอย่าง Everyday is a good day : 15 happiness taught by Tea ของ โมริชิดะ โนริโกะ ที่กลั่นกรองจากการเรียนรู้ชีวิตผ่านศิลปะชงชากว่า 25 ปีของเธอ แต่งานการกำกับของ โอโมริ เท็ตสึชิ ที่จับภาพการชงชาอันแสนละเมียดและภาพธรรมชาติแต่ละฤดูกาลควบคู่ไปกับการบอกเล่าชีวิตของโนริโกะ ก็พอจะบอกได้ว่า นี่คงไม่ใช่หนังที่บอกเล่าเรื่องราวที่มีคอนฟลิกต์ใหญ่โต ชีวิตนางเอกผ่านความลำเค็ญและต้องเสริมพลังใจตัวละครทุก 10 นาทีแบบหนังญี่ปุ่นทั่วไปแน่ๆ ตรงกันข้ามมันเชื้อเชิญเราให้นั่งบนเสื่อตาตามิ มองพิธีชงชาอันแสนละเมียดแช่มช้าทว่างดงามชวนมองแบบไม่วางตา แถมเสียงที่ถูกถ่ายทอดยังพาเราสัมผัสและซึมซับแบบแทบจะเอื้อมมือไปหยิบถ้วยชาและชิมขนมกับตัวละครได้เลย
ไม่เท่านั้นการที่หนังอุทิศ 80% ของเรื่องราวไปกับพิธีชงชามันยังค่อยๆ ให้เราเข้าใจความหมายและพินิจพิเคราะห์สุขทุกข์ในชีวิตตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจอีกด้วย ซึ่งที่ผมว่าน่าอัศจรรย์ใจคือหนังพาเราไปสัมผัสประสบการณ์สุดละเอียดอ่อนนี้ผ่านทั้งงานสุดละเมียดที่ผู้กำกับภาพได้เลือกเฟรมอย่างพิถีพิถัน การตัดต่อที่เข้าใจทั้งพิธีรีตองและลำดับอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่พิเศษสุดคืองานบันทึกเสียงที่เสมือนการทำคลิป ASMR (Autonomous sensory meridian response) ธรรมชาติเพราะมันเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนแบบบันทึกเสียงกระทั่งเสียงแปรงชงชาไม้ไผ่ที่เพิ่งถูกยกขึ้นมาจากถ้วย และทุกเสียงที่มันถ่ายทอดคือการพาเราไปสัมผัสกับความงามที่ผันผ่านตามฤดูกาลได้อย่างไม่เคยสัมผัสจากหนังเรื่องไหนมาก่อนเลยล่ะ
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจส่ายหัวและคิดว่านี่คงเป็นหนังขายวัฒนธรรมญี่ปุ่นดาษๆ ถ่ายภาพสวยอีกเรื่อง ตรงกันข้ามในส่วนดราม่าที่มันตีคู่ไปกับบทเรียนชงชาที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่เขียนเสริมมาหรือไม่ มันกลับค่อยๆ สั่นสะเทือนจิตใจเราได้อย่างรุนแรง ตอนเกิดเหตุการณ์อาจดูนิ่ง ธรรมดา ทว่าอาฟเตอร์ช็อคมันกลับรุนแรงชนิดที่ว่าใครเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียคนที่รักอาจมีร้องไห้แบบใจแทบขาดได้เลย และอย่างที่บอกไปตอนต้นว่านี่คือหนังที่ทำให้เราพินิจพิเคราะห์ชีวิต ดังนั้นดราม่าและจุดขัดแย้งต่างๆ จึงถูกใส่เข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ต่างจากพิธีชงชาที่มีพิธีรีตอง จากปมเรียนมหาวิทยาลัยอย่างไร้จุดหมาย ไปสู่เรื่องหางานประจำที่สำนักพิมพ์ที่มักจบลงด้วยความน่าผิดหวังเสมอ
ควบคู่ไปกับการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับลูกพี่ลูกน้องอย่าง มิจิโกะที่ได้ใช้ชีวิตตามที่ตนต้องการแล้วลงเอยด้วยการแต่งงานมีลูก แต่ทุกครั้งที่เหตุการณ์มันแย่ โนริโกะกลับมีชั้นเรียนชงชาของอาจารย์ทาเคดะ ผู้เปรียบเสมือนครูผู้นำทางการใช้ชีวิตและพาเธอผ่านประสบการณ์อันยากลำบากเป็นแหล่งพักพิง ที่ทำให้แม้หนังแทบไม่มีจุดขัดแย้งรุนแรงแต่การแสดงและงานภาพที่งดงามกลับค่อยๆสั่นสะเทือนจิตใจคนดูจนชะตากรรมที่ตัวละครต้องเผชิญมาตอบโจทย์ข้อคิดของอาจารย์ทาเคดะที่สอนการชงชาแต่ทว่ากลับให้ความหมายชีวิตได้อย่างลึกซึ้งน่าประทับใจทีเดียว
ในส่วนของงานแสดงต้องบอกว่า นอกจากธรรมเนียมชงชา และภาพธรรมชาติตามฤดูกาลแล้ว ในส่วนนักแสดงสาวในเรื่องยังเต็มไปด้วยความชวนมอง นอกจาก การปรากฏตัวของทาเบะ มิคาโกะ ในบทมิจิโกะ ลูกพี่ลูกน้องของโนริโกะที่งดงามชวนมองไปทุกซีนแล้ว ผู้รับบทโนริโกะเองอย่าง คุโรกิ ฮารุ เองที่มองผ่านอาจดูธรรมดา ทว่าทั้งงานแสดงอันทุ่มเทและกริยาในการชงชาของเธอกลับสวยชวนมองโดยเฉพาะในชุดยูกาตะนี่คือทำเอาหนุ่มๆตายได้เลยล่ะ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คงเป็น คุณป้า คิริน กิกิ ที่ฝากฝีมือส่งท้ายก่อนจากไปได้อย่างชวนประทับใจ บทพูดที่งดงามราวกวียิ่งเปี่ยมความหมายเมื่อได้คุณป้ามาถ่ายทอดชนิดที่ว่าหลังหนังจบทุกคนพร้อมใจกันปรบมือกันแบบมิได้นัดหมายเลยทีเดียว
หนังจะเข้าฉายวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ อย่าพลาดกันนะครับ