Our score
8.0american woman (2018)
จุดเด่น
- บทเยี่ยม ลงรายละเอียดพัฒนาการตัวละครได้ดี
- การแสดงแบบเอาตายของเซียนนา มิลเลอร์ ยิ่งถ่ายทอดหัวใจของบทได้ออกมาเป็นภาพเด่นชัด
- ถ่ายทอดความผูกพันของครอบครัวได้ลึกซึ้ง
- เล่าเรื่องราวในแง่มุมที่เราไม่เคยได้เห็นบ่อยนัก
- ฝากใจความดี ๆ ถึงคนดูเรื่องการ "ให้อภัย" ได้อย่างเด่นชัด
จุดสังเกต
- หน้าหนังสืื่อประเด็นผิดไปมาก
- ไม่มีการเมคอัปหน้าตาของเซียนนาให้แก่ตามวัยเลย
-
ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท
9.0
-
คุณภาพนักแสดง
10.0
-
คุณภาพงานสร้าง
7.0
-
ความสนุก
6.0
-
คุ้มเวลา ค่าตั๋ว
8.0
หนังขายฝีมือการแสดงของ เซียนนา มิลเลอร์ นักแสดงหญิงวัย 38 ที่อยู่ในวงการแสดงมาตั้งแต่ปี 2001 เล่นหนังมาแล้วกว่า 40 เรื่อง แต่ก็ป้วนเปี้ยนอยู่ในกลุ่มหนังสายประกวด หนังอินดี้ ไม่ค่อยโผล่หน้ามาในหนังสายบล็อคบัสเตอร์เอาใจคนดูมากนัก บทสุดท้่ายที่คนดูในวงกว้างน่าจะจำเธอได้ก็คือบท “ทายา” ภรรยาหม้ายใน AmericanSniper (2014) ถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้นก็ G.I. Joe: The Rise of Cobra ปี 2009 นั่นเลย แม้จะมีผลงานอยู่ในกลุ่มหนังสายประกวด แต่ เซียนนา ก็เคยได้เข้าชิงรางวัลใหญ่มาแค่ครั้งเดียวคือ ชิงลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากมินิซีรีส์ The Girl (2012) แต่ก็พลาดไป ก็จนมาถึงเรื่องนี้ล่ะ American Woman ที่เธอตั้งใจจริงจัง ได้รับเสียงชื่นชมจาก นักวิจารณ์อย่างมาก เราอาจจะได้เห็นเธอในรายชื่อเข้าชิงเวทีใหญ่อีกครั้งในปลายปีนี้
American Woman เป็นหนังฟอร์มเล็กเช่นเคยที่ฉายตามเทศกาลหนัง และออกฉายแบบจำกัดโรง เป็นหนังที่เซียนนา ได้รับบทนำอย่างจริงจัง ซึ่งเธอก็ได้บทนี้มาหลังจากที่แอนน์ แฮทธาเวย์ บอกปัดไปเพราะตารางงานไม่ลงตัว หนังเล่าเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นแรงงานในเพนซิลวาเนีย เซียนนา มาในบท “เดบรา” สาววัย 32 ที่เติบโตมาจากอดีตวัยรุ่นใจแตก เดบรา คลอด “บริจิต” ลูกสาวตั้งแต่เธออายุเพียง 16 ปี และบริจิตก็เจริญรอยตามแม่ด้วยการมี “เจสซี่” ลูกชายเมื่อเธออายุ 16 เช่นกัน ทำให้เดบราต้องกลายเป็นคุณยายยังสาว ที่ยังคงมีความหวังว่าจะมีผู้ชายดี ๆ สักคนเข้ามาเป็นคู่ชีวิตของเธอ
หนังปูความสั้น ๆ ตอนต้นเรื่องให้เห็นความรักความผูกพันของเดบราและบริจิต แม่ลูกที่รักใคร่กันดี แล้วก็ใส่เหตุการณ์ช็อกคนดู เมื่อบริจิตหายสาบสูญไป หลังจากออกไปปาร์ตี้กับไทเลอร์แฟนของเธอ ซึ่งเป็นพ่อของเจสซี่นั่นแหละ ที่ยังคงสถานะคนรักแต่ก็ไม่ได้มารับผิดชอบอะไรกับเจสซี่นัก เมื่อเรื่องมาถึงตรงนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจว่านี่คือ “หนังปริศนาฆาตกรรม” ที่มีประเด็นหลักกับการตามหาผู้อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของบริจิต แต่แล้วก็ไม่ การหายตัวไปของบริจิตเป็นเพียงหนึ่งมรสุมชีวิตของเดบราเท่านั้น เพราะประเด็นหลักของหนังคือ “เกมชีวิต” ที่เราได้เป็นประจักษ์พยานในช่วงเวลา 15 ปีของเธอ ได้เห็นผู้ชายหลายคนที่ผ่านเข้ามา ในฐานะคนดูก็คอยลุ้นเอาใจช่วยให้เธอได้พบกับผู้ชายดี ๆ เสียที ได้เห็นการเจริญเติบโตของเจสซี่จากวัยแบเบาะ จนเป็นหนุ่มน้อยภายใต้การเลี้ยงดูของยาย
โทนของหนังมาในแนวละครหัวค่ำบ้านเรา ที่เล่าชีวิตของสาวในสังคมระดับล่างที่ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ พาชีวิตตัวเองและหลานชายฝ่ามรสุมชีวิตไปด้วยความหวังที่จะมีชีวิตดี ๆ ในวันข้างหน้า แม้ว่าหนังจะไม่ใช่แนวตลาด ไม่มีจุดหมายปลายทางที่แข็งแรงชวนติดตาม เพราะประเด็นเรื่องการหายตัวไปของบริจิตก็โดนโยนทิ้งไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนดูเกาะตามไปกับหนังได้ตลอดรอดฝั่งก็คือการแสดงของเซียนนา มิลเลอร์ ที่แสดงได้ธรรมชาติสุด ๆ เธอทำให้ เดบรา บนจอมีชีวิตเหมือนสาวเดินถนนคนหนึ่งที่เราเข้าถึงและสัมผัสได้ ที่ชอบที่สุดคือบทหนังของ แบรด อินเกลสบี ที่ถนัดมากกับการเล่าเรื่องราวของสังคมระดับแรงงานของอเมริกัน ดูจากผลงานก่อนหน้าอย่าง Out of the Furnace และ Run All Night บทของแบรด ลงรายละเอียดเรื่องพัฒนาการของเดบราอย่างละเอียดและเซียนนาก็ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพที่เห็นได้ชัด
เราได้เห็นเดบราช่วงต้นเรื่องในวัย 32 ปี ที่เป็นหญิงอารมณ์ร้อน ถึงลูกถึงคน ฉุนเฉียวปากว่ามือถึง ชอบฉากที่เทอร์รี่พี่เขยเห็นเดบราอารมณ์ขึ้น แต่แทนที่จะห้ามกลับคว้ากุญแจรถแล้วขับตามเดบราทันที เพราะรู้กันว่าเดบรานี่ต้องอาละวาดแน่นอนไม่ต้องเสียเวลาห้าม แต่ควรขับตามไปคุมเชิงจะดีทีุ่สุด ฉากเดบราอารมณ์พลุ่งพล่าน เราก็เห็นเธออัดบุหรี่ นั่งไม่ติด เดินพล่านวนไปวนมา การแสดงของเธอเอาคนดูอยู่จริง ๆ หนังก้าวกระโดดไปข้างหน้าอยู่ 2 ช่วงวัย และทุกช่วงเราจะเห็นเดบราที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นปฏิกิริยาตอบรับกับผู้ชายคนใหม่ที่เข้ามาในชีวิตของเธอก็สุขุมเยือกเย็นมากขึ้น มรสุมชีวิตทำให้เธอกล้าแข็งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีวุฒิภาวะขึ้นตามวัย จึงไม่แปลกที่ช่วงท้ายเราได้เห็นเดบรารับมือกับปัญหาด้วยอารมณ์ที่นิ่งมากผิดกับเดบราในช่วงต้นเรื่องอย่างกับคนละคน และนัยยะสำคัญที่หนังสื่อออกมาอย่างชัดเจน ก็คือ “ให้อภัย” ที่เมื่อเวลาผ่านไป เดบรา รู้จักที่จะให้อภัยกับคนรอบข้างมากขึ้น เราก็เห็นเธอมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
แม้ว่าหนังจะสื่อให้เราได้รับรู้ถึงสภาพชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ แต่หนังก็ไม่ได้ลงลึกในเรื่องปัญหาปากท้องของเดบรา เล่าเรื่องราวในการทำงานเพียงผ่าน ๆ แต่ไปลงลึกกับการเข้ามาของผู้ชายแต่ละคนในชีวิตเธอ ที่เล่าควบคู่ไปคือเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวของเดบรา บ้านของเธอนั้นอยู่ตรงข้ามกับแคตเธอรีนพี่สาวของเธอ ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่มีพี่สาว พี่เขย ลูกชาย 2 คนซึ่งแคตเธอรีนก็รับหน้าที่ดูแลแม่ด้วย
ตลอดเรื่องเราได้เห็นฉากดราม่าหนัก ๆ หลายครั้ง เป็นฉากระเบิดอารมณ์ระหว่างเดบรากับผู้ชายแต่ละคนในชีวิตเธอ เดบรากับแม่และพี่สาวที่เธอด่าทั้้งแม่ ทั้งพี่สาว ด้วยอารมณ์รุนแรงและหยาบคาย ภาพตัดมาอีกทีพี่สาวน้องสาวก็นั่งคุยกันกระหนุงกระหนิงเป็นปกติอยู่บ่อยครั้ง เป็นการปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องว่านี่คือวิถีชีวิตครอบครัวปกติที่แม่ลูก พี่น้อง ตัดกันไม่ขาดจะด่ากันรุนแรง ผ่านมาอีกวันก็รักกันเหมือนปกติ ตลอดเรื่องเราจึงได้เห็นเดบราที่ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของทุกดราม่า ไม่ว่ากับคนรักและครอบครัว แต่สุดท้ายแม่และพี่ก็คือสายใยที่บริสุทธิ์และจริงใจ สานต่อกันติดด้วยความรู้สึกมากกว่าถ้อยคำ และลากคนดูให้เข้าถึงผูกพันของครอบครัวนี้ได้อย่างลึกซึ้ง
แน่นอนว่า American Woman ไม่ใช่หนังสนุก ไม่ใช่หนังเอาใจผู้ชมวงกว้าง แต่นี่คือหนังจำนวนน้อยมาก ๆ ที่มีเพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบดี ๆ ทั้งด้านบทภาพยนตร์และการแสดงที่เยี่ยมยอด ไม่ต้องมีปริศนาชวนติดตาม ฉากซีจีหวือหวา ฉากแอ็คชันแต่หนังเลือกพาเราไปสัมผัสชีวิตของครอบครัวระดับล่างในเมืองเจริญที่ไม่ค่อยหยิบมาพูดถึงบ่อยนักบนจอภาพยนตร์ และด้วยการแสดงของเซียนนา มิลเลอร์ บวกกับความเยี่ยมยอดของบทภาพยนตร์ก็ทำให้เรารู้สึกผูกพันและเอาใจช่วยเดบราให้ฝ่าฟันมรสุมชีวิตไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ