Our score
8.0The Great Hack
จุดเด่น
- การเล่าเรื่องแบบทันสมัย น่าสนใจ
- เนื้อหาใกล้ตัว และขยายมุมมองต่อโลก
- ข้อมูลแปลกใหม่
- เล่าผ่านบุคคลที่มีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ
จุดสังเกต
- ตัวเอกที่เป็นแกนเรื่องบุคลิกไม่ค่อยอยากเอาใจช่วยนัก
-
ความน่าสนใจของซับเจ็กต์สารคดี
8.0
-
วิธีการเล่าเรื่องสารคดี
7.5
-
ความยากในการถ่ายทำ
7.5
-
แง่คิด แง่มุมที่ให้กับผู้ชม
9.0
-
คุ้มเวลาดู
8.0
เรื่องย่อ
เขาเอาข้อมูลเราไป แล้วก็กุมอำนาจเหนือเรา “แฮ็กสนั่นโลก (The Great Hack)” ตีแผ่ด้านมืดของการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำเสนอผ่านการเดินทางส่วนตัวอันสะเทือนเลื่อนลั่นของบุคคลกลุ่มต่างๆ จากประเด็นสุดฉาวเมื่อข้อมูลผู้ใช้ Facebook รั่วไหลไปยังบริษัท Cambridge Analytica
ผลงานจาก คาริม อาเมอร์ และจีฮาน โนเจม สองผู้กำกับสารคดีที่เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วใน The Square (2013) ที่ว่าด้วยการปฏิวัติอาหรับสปริงในอียิปต์ และก็เป็นหนังทุนจากเน็ตฟลิกซ์เช่นกัน โดยในเรื่องนั้นอาเมอร์กับโนเจมนำเสนอว่าเทคโนโลยีอย่างมือถือและกล้องต่าง ๆ ของกลุ่มประชาชน ช่วยเปิดเผยเหตุการณ์เลวร้ายในกรุงไคโรให้ชาวโลกได้รู้ได้อย่างไร แต่ใน The Great Hack นี้ เหมือนทั้งคู่พลิกไปอีกข้างของเหรียญและชี้ชวนให้ทุกคนตระหนักภัยของเทคโนโลยีที่กำลังครอบงำเจตจำนงอิสระและทัศนคติของผู้คนอยู่อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ละเมิดนำไปขายดังสินค้าอยู่ทุกวัน
คนที่จะดูเรื่องนี้ได้สนุกควรรู้ข่าวการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเฟซบุ๊กอยู่สักนิด แนะนำให้อ่านบทความของแบไต๋ตัวนี้ก่อน สรุปประเด็นร้อน: Facebook, Cambridge Analytica และโดนัลด์ ทรัมป์ กับการละเมิดข้อมูลผู้ใช้ 50 ล้านยูสเซอร์
เล่าสั้น ๆ คือมีการพบว่าเฟซบุ๊กขายข้อมูลของผู้ใช้ 50 ล้านรายชื่อในอเมริกา ให้ทีมหาเสียงของทรัมป์โดยมีบริษัทชื่อแคมบริดจ์อะนาลิติกาซึ่งอยู่ในอังกฤษทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลและวางแผนจัดการโฆษณาชวนเชื่อเจาะกลุ่มคนที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หรือจะพูดว่าทีมงานทรัมป์เล่นไม่แฟร์โดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าเข้าช่วยจากฐานข้อมูลที่ได้มาแบบผิดกฎหมายด้วยความร่วมมือจากเฟซบุ๊กนั่นล่ะ
ซึ่งจากฉากหน้าที่เราอ่านจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในข่าวนั้น ตัวเอกอาจเป็นผู้เล่นหลักอย่างคณะกรรมการชุดสอบสวนต่าง ๆ และฝั่งจำเลยอย่างผู้บริหารเฟซบุ๊กอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นต้น แต่สารคดีนี้จะทำให้เรารู้กระบวนการสืบสวนเบื้องหลังจากบรรดานักข่าว นักสิทธิเสรีภาพด้านข้อมูล และอดีตพนักงานของบริษัทแคมบริดจ์อะนาลิติกาที่ออกมาแฉบริษัทตัวเอง ซึ่งนับเป็นตัวหมากสำคัญที่อาจไม่ใช่ชื่อเบอร์ต้น ๆ ของพาดหัวข่าวนั่นเอง ถ้าคุณสนใจเรื่องราวแบบนี้จากกรณีฉาวการเลือกตั้งอเมริกาปี 2016 ที่ได้ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีดังกล่าว เรื่องนี้จะเติมเต็มจินตนาการและภาพของข่าวได้สมบูรณ์ขึ้นมาก
เราจะได้เห็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ถูกเรียกว่ารุนแรงเทียบเท่าอาวุธทางการทหารหนึ่ง ในตัวอย่างการเลือกตั้งที่ตรินิแดด ซึ่งเหล่าอาจสงสัยว่าแค่ได้ข้อมูลเรามันจะเปลี่ยนแปลงโลกความจริงอะไรได้ขนาดนั้นเลยเหรอ มาดูกรณีตรินิแดดกันเป็นตัวอย่างน้ำจิ้ม ๆ กัน ตรินิแดดมีการเลือกตั้งซึ่งแข่งกันระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่ในสังคมคือกลุ่มเชื้อสายแอฟริกัน และกลุ่มเชื้อสายอินเดีย แคมบริดจ์อะนาลิติกาอ้างว่าเขาทำแคมเปญเพื่อให้กลุ่มอินเดียชนะด้วยวิธีที่เหนือชั้นมากนั่นคือ รณรงค์การไม่ไปเลือกตั้งคือความเท่ คือการแสดงจุดยืนในแบบคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองที่น่าเบื่อ มันเหนือชั้นเพราะเขาเข้าถึงพฤติกรรมวัยรุ่นในตรินิแดดที่กลุ่มแอฟริกันมีแนวโน้มจะเป็นตัวของตัวเองและไหลไปตามกระแสแนวเสรีนิยมแบบนี้ได้ และจริง ๆ มันก็ได้ผลในกลุ่มวัยรุ่นอินเดียด้วยเช่นกัน แต่พฤติกรรมศึกษาแสดงชัดเจนว่าถึงวัยรุ่นอินเดียจะคิดเห็นอย่างไรก็ตาม เขาก็จะต้องทำตามคำสั่งพ่อแม่อยู่ดี ผลลัพธ์จึงคือกลุ่มอินเดียชนะได้เพราะฝั่งแอฟริกาเสียคะแนนจากกลุ่มวัยรุ่นของตนไปนั่นเอง ล้ำเลย!
และสำหรับคนที่ไม่ได้ตามมาแบบลึก ๆ หรืออยากรู้แบบภาพขยายในระดับโลกมันมีอะไรให้ ว้าว อยู่หลายอย่างเหมือนกัน เพราะเรายังจะได้เห็นการขยายเรื่องราวออกไปในแบบที่มากกว่าแค่เรื่องเฟซบุ๊ก คือก็เพิ่งรู้นี่ล่ะว่าแคมบริดจ์อะนาลิติกาเนี่ยมันพ่วงไปยังเรื่องล่าสุดอย่าง การรณรงค์ออกจากการเป็นสมาชิกของอียู หรือ Brexit ในสหราชอาณาจักรอีก และเวทีอังกฤษนี้เองก็เป็นพื้นที่สำคัญในคดีที่แคมบริดจ์อะนาลิติกาจะโดนถลุงไขไส้ในไม่ยั้งด้วย
ความประหลาดใจที่ยังไม่ได้คำตอบของผมส่วนหนึ่งคือในพรีเซนเตชันของแคมเบริดจ์อะนาลิติกา ได้อ้างว่าเหตุการณ์ต้มยำกุ้งปี 1997 ของประเทศไทย คือปฏิบัติการหนึ่งที่แคมบริดจ์อะนาลิติกามีส่วนเกี่ยวข้อง ใครแม่นเรื่องข้อมูลในช่วงนั้นพอรู้ช่วยอธิบายหน่อยแล้วกันว่าเราโดนยาอะไรจากนักจิตวิทยาข้อมูลทีมนี้เล่นเอาโดยไม่รู้ตัวบ้าง
เนี่ยว่าจะดูเอาขำ ๆ บ้านอื่นเมืองอื่นเขา เจอฉากในบ้านเราปุ๊บ เศร้าแปร๊บเลย
ติดตามชมสารคดีที่ดังสุดจากคำแแนะนำของ ผบ.ทบ. ทางเน็ตฟลิกซ์ได้ที่นี่เลย https://www.netflix.com/watch/80117542
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส