Our score
8.3I Am Mother
จุดเด่น
- เนื้อเรื่อง พลอตเรื่อง น่าสนใจ แปลกใหม่ น่าติดตาม
- นักแสดงเล่นกันได้ดี ช่วยกันแบกหนังสบาย
- งานสร้างดี สมจริง ฉากโลกยุคสิ้นอารยธรรมดูสวยแปลกตาดี
- การเฉลยที่น่าสนใจ ปมปริศนาทำให้ลุ้นดีมาก
จุดสังเกต
- ไม่ได้สุดอารมณ์ไปในทางไหน เน้นไอเดียมากกว่า
- การเฉลยแอบมีความซับซ้อน งงนิด ๆ ในตอนแรก
-
ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท
8.5
-
คุณภาพนักแสดง
8.5
-
คุณภาพงานสร้าง
8.5
-
ความสนุก
8.0
-
คุ้มเวลา+ค่าตั๋ว
8.0
เรื่องย่อ
I Am Mother เป็นภาพยนตร์พล็อตล้ำฉีกกรอบโลกไซไฟกับเรื่องราวของเด็กสาววัยรุ่น “ลูกสาว” (คลารา รูการ์ด) เป็นมนุษย์รุ่นแรกที่ถูกเลี้ยงขึ้นมาในศูนย์หลบภัยใต้ดินกับ “แม่” หุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่เพาะพันธุ์มนุษย์หลังวิกฤติสูญพันธุ์ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกคู่นี้ต้องสั่นคลอนเมื่อมีผู้หญิงเลือดโชก (ฮิลารี สแวงก์) มาเคาะประตูขอความช่วยเหลือ หญิงแปลกหน้าผู้นี้ทำให้ความเชื่อของ ลูกสาว ที่มีต่อโลกภายนอกเปลี่ยนไป การเริ่มต้นค้นหาความจริงครั้งยิ่งใหญ่จึงเริ่มต้นขึ้น
หนังจากเทศกาลซันแดนซ์ที่ฮือฮาว่าเป็นหนังไซไฟปรัชญาที่โคตรเจ๋งของปีที่ผ่านมา อารมณ์ประมาณ Ex Machina ที่มาอินดี้โนเนมแต่ดีเว่อจนคนบอก ๆ ต่อกันเมื่อหลายปีก่อน สำหรับเรื่องนี้ความเจ๋งคงมาตั้งแต่พลอตที่ด้วยเด็กสาวที่ถูกเลี้ยงขึ้นมาจากแม่ที่เป็นหุ่นยนต์ ในห้วงเวลาที่โลกได้สิ้นสุดมนุษยชาติสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ทุกอย่างก็ดูเป็นปกติสำหรับเด็กสาวที่จะเชื่อทุกอย่างที่แม่ของเธอบอก ทั้งการเรียนปรัชญาต่าง ๆ การดำรงชีวิต จริยธรรม รวมถึงการทำแบบทดสอบเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม่มักบอกเธอว่า แม่รักเธอและทำสิ่งที่ดีเพื่อเด็กสาวเสมอ จนวันหนึ่งก็ได้มีผู้หญิงจากโลกภายนอกหลงมา สร้างความปั่นป่วนในการรับรู้ของเด็กสาว ว่าโลกภายนอกอาจไม่เป็นอย่างที่เธอเชื่อ และบางทีแม่ก็อาจจะโกหกเธอมากกว่าแค่เรื่องนี้ด้วย แต่ความสนุกก็อยู่ตรงที่หนังก็สร้างปมขัดแย้งว่าตัวผู้หญิงที่เข้ามาเองก็อาจไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอด้วย เอาล่ะสิ ในฐานะผู้ชมที่มองทุกอย่างผ่านสายตาของ ลูกสาว ที่เหมือนคนกลางและไร้เดียงสาต่อโลกภายนอกสุด ๆ ควรเชื่ออะไรดี
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานของ แกรนท์ ปูตัวร์ ผู้กำกับหน้าใหม่ที่ไม่ผ่านงานหนังใหญ่มาก่อน แต่ก็ผ่านงานซีรีส์ในออสเตรเลียกับเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาพอประมาณ บารมีชื่อชั้นอาจยังไม่มาก แต่อาจด้วยไอเดียของเขานี่ล่ะที่สามารถดึงดาราใหญ่อย่าง ฮิลารี สแวงก์ มาร่วมงานในบทสมทบสำคัญได้ และเมื่อมองด้านโพรดักชันก็ต้องบอกว่ามีความเนี้ยบอยู่ไม่น้อยเลย ทั้งฉากและซีจี การดีไซน์ต่าง ๆ การวางเส้นเรื่องแบบตัวละครจำนวนไม่มาก ก็ทำให้เขาคุมทิศทางบทและงานสร้างได้อยู่มือ ไม่ล้นเกินตัว ทำให้หน้าที่สำคัญของ คลารา รูการ์ด ที่ต้องเป็นตัวเอกแบกหนังค่อนเรื่องลดภาระลงไปพอควร จึงทำให้น้องคลาราซึ่งเด็กสุดในเรื่องก็สามารถประคองตัวรอดไปได้สบาย ๆ แม้จะต้องเล่นอารมณ์กับซีจี และประกบนักแสดงรุ่นเก๋าก็ตาม
จุดที่ชื่นชอบมาก ๆ แต่ก็เป็นทั้งดาบสองคมของหนังเองด้วยคือเนื้อเรื่อง ที่ลงอธิบายลึกได้ยากเพราะจะสปอยล์แน่นอน แต่เอาเป็นว่าหนังค่อย ๆ สอดแทรกจุดเล็กจุดน้อยลงมาเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องการเรียนเรื่องปรัญาที่แม่สอนและให้ลูกสาวต้องทำแบบทดสอบ เช่นว่า หมอคนหนึ่งมีคนไข้ 6 คนในการดูแล โดยมีคนไข้คนหนึ่งที่มีอวัยวะที่เข้ากันได้กับอีกคนไข้ 5 คน ซึ่งหากปล่อยให้คนไข้รายนี้ตายจะสามารถถ่ายอวัยวะช่วยได้อีก 5 ชีวิต คำตอบใดถือว่าถูกต้องที่สุดจะช่วย 1 ชีวิตตรงหน้าอย่างเต็มที่และปล่อยอีก 5 คนหมดโอกาสรักษา หรือจะปล่อยคนไข้ 1 คนตายแล้วรักษาชีวิตได้อีก 5 ชีวิตแทน? หรือการที่ตัวลูกสาวต้องเรียนรู้ความจริงของโลกภายนอกผ่านคำพูดของผู้อื่นทั้งแม่ และผู้หญิงแปลกหน้า โดยต้องพิจารณาจากความจริงและคำโกหกที่ยากพิสูจน์ตรงหน้า ซึ่งอิงไปกับเหตุการณ์ตามไบเบิ้ลที่งูมาลวงหลอกอีฟให้ออกจากสวนอีเดนก็ไม่ปาน แต่ ณ จุดนี้เราไม่ทราบว่าเป็นพระเจ้าเองหรือเปล่าที่หลอกอีเดนไม่ให้ออกจากสวนแห่งอีเดนเพื่อพบความจริง
ส่วนที่ยากของหนังคือการประกอบภาพทั้งหมด ในตอนท้ายนั้นถูกเฉลยผ่านบทสนทนาที่คลุมเครือ ชวนให้เราปะติดปะต่อเอง จนบางทีอาจงงเสียด้วยซ้ำในบางจุด ทว่าเมื่อมานั่งตรองทั้งหมดดี ๆ และเห็นภาพทั้งหมดของหนังก็พบว่า หนังให้คำถามเชิงปรัชญาและเพิ่มหยักในสมองเราได้น่าสนใจทีเดียว ว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตที่ถูกต้องบนโลกใบนี้ ความรักของแม่นั้นคืออะไร และเจตนาที่แท้จริงของแม่นั้นคืออะไรกันแน่ การวัดด้วยจริยธรรมค่านิยมแบบมนุษย์นั้นสมควรหรือถูกต้องหรือไม่? อาจไม่ใช่หนังไซไฟแอ็กชันเข้มข้นชวนลุ้น หากแต่เป็นงานไซไฟปรัชญาชวนคิดที่น่าสนใจทีเดียวครับ
หนังดีไซไฟอินดี้น่าดู อยากรู้ต้องจองตั๋วคลิ้กที่รูปเลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส