Our score
7.0Liam Gallagher: As It Was "เลียม กัลลาเกอร์ ตัวตนไม่เคยเปลี่ยน"
จุดเด่น
- เห็นเลียมกับมุมอบอุ่นและอ่อนโยนเมื่ออยู่กับครอบครัว ซึ่งแฟนเพลงส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เห็น
จุดสังเกต
- นำเสนอเป็นเส้นตรงขาดความน่าสนใจไปนิด
- พาร์ทดราม่าของหนัง ยังไม่ถึงกับดำดิ่งมากอย่างที่ควรจะเป็น
- เซอร์วิสแฟนน้อยไปหน่อย
- ทำมาเพื่ออวยเลียมโดยเฉพาะ
-
ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบทภาพยนตร์
6.5
-
คุณภาพนักแสดง
7.0
-
ความสนุก
6.5
-
คุ้มเวลาค่าตั๋ว
7.0
-
คุณภาพงงานสร้าง งานซีจี
8.0
หลังจากแฟน Oasis ต่างตราตรึงและประทับใจกับสารคดี Supersonic ไปเมื่อ 3 ปีก่อนแล้ว สารคดีชุดใหม่ที่พูดถึงชีวิตฟรอนต์แมน Oasis เพียว ๆ อย่าง เลียม กัลลาเกอร์ ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวฉายเสียที ช่วงเวลาเดียวกับอัลบั้มใหม่ของเลียม Why Me? Why Not? เพิ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนก่อน เรียกว่าโปรโมตเพลงใหม่ไปทีเดียว โดย As It Was นั้นก็ได้ ชาร์ลี ไลเทนนิ่ง และ กาวิน ฟิตซ์เจอรัลด์ มานั่งแท่นกำกับหนังสารคดีเรื่องนี้ด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เพราะเคยกำกับมิวสิควิดิโอให้ Beady Eye วงเก่าของเลียมมาแล้วหลายตัวนั่นเอง
ถ้า Supersonic คือการพูดถึงช่วงรุ่งโรจน์จากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสูงสุดของ Oasis บรรจบที่คอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์ที่ Knebworth แล้ว As It Was คือหนังที่พูดถึงร็อกสตาร์คนหนึ่งที่พยายามกลับไปยืนอยู่ในจุดที่เคยยืนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือการเป็นไอคอนของวงการดนตรีอีกครั้งเหมือนในยุค 90
As It Was เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ สองพี่น้อง เลียม และ โนล ทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตของ Oasis ที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2009 ซึ่งเป็นค่ำคืนที่หนึ่งในวงดนตรีแห่งประวัติศาสตร์ของโลกต้องถึงคราวแยกทาง และหลังจากนั้น ชีวิตของเลียม ในฐานะหัวหอกของวงต้องพบกับบททดสอบสำคัญของชีวิต เพราะมันไม่ใช่แค่การแยกวงธรรมดา แต่มันคือการที่ต้องแยกจากพี่ชายที่ร่วมงานกันมาตลอด 20 ปี ผู้เปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญคอยขับเคลื่อน Oasis ให้มาถึงจุดสูงสุดได้ เลียม พบกับบททดสอบที่ว่าเมื่อขาดมันสมองอย่างโนลไปแล้ว เขาจะไปได้ไกลแค่ไหน ด้วยวีรกรรมสุดห่ามในช่วงยุค 90 และเพลงผลงานเพลงที่แต่งออกมาน้อยนิดในยุค Oasis ไม่มีใครเชื่อน้ำยาเลียมว่าจะกลับมามีผลงานมาสเตอร์พีชได้เหมือนสมัยหนุ่ม ๆ อีกแล้ว
เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังตัดสลับ เลียม ยุคอดีตและปัจจุบัน ฉายให้เห็นภาพวันที่เขาเคยเป็นร็อกสตาร์ผู้ไร้เทียมทานในยุค 90 กับวันที่เขาตกต่ำดำดิ่ง ไม่ว่าจะฟอร์มวง Beady Eye ออกมาก็ไปไม่รอด รวมท้ังชีวิตครอบครัวที่ถึงคราวแยกทางพร้อมกับต้องสูญเงินค่าเลี้ยงดูและทนายอีกมหาศาลจนเงินร่อยหรอ เพลงไม่มี งานไม่มี แถมพี่ชายยังคอยตามแซะตามเย้ยหยันความล้มเหลว
เลียม ที่เคยเย่อหยิ่ง ปากสุนัข ผู้ที่ไม่มีใครคิดว่าเขาจะก้มหัวให้ใคร กำลังเผยให้เห็นด้านที่อ่อนไหว อ่อนแอ และอ่อนโยน ที่เราไม่เคยได้เห็นจากนำเสนอของสื่อตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา หนังเรื่องนี้พาเราไปมองดูวันที่เขาหมดหนทาง ซึมเศร้า และลุกมาออกอัลบั้มเดี่ยวจนกลับมาติดชาร์ตอันดับ 1 ได้อย่างไร โอเค สำหรับปัญหาของเลียมนั้น เอาจริง ๆ มันอาจไม่ได้หนักหนาเมื่อเทียบกับคนทั่วไปเลย แต่สำหรับคนที่เคยเป็นเบอร์ 1 ของวงการ การกลับมาแล้วแป้กนั้น ความคาดหวังมันต่างกันลิบลับ การกลับมาของเขาคือ ต้องกลับมาเปรี้ยงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ As It Was สำหรับผม ยังไม่อิมแพ็กเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับ Supersonic ที่มาพร้อมวิธีการนำเสนอที่มีชั้นเชิงกว่า ร้อยเรียงได้ดีน่าติดตาม มีเซอร์ไพรส์มากมายให้ตามต่อ แต่ไม่ใช่กับ As It Was ที่จะพาไปยังจุดต่ำสุด ก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น แล้วในฐานะแฟน Oasis เดนตายคนหนึ่ง มันน่าเสียดายฟุตเทจมากมายในยุคที่เลียมพีค ๆ กับ Oasis ในช่วงยุคตลอดจนช่วงต้น 2000 นั้นกลับถูกพูดถึงน้อยนิด หนังไม่ได้ขยี้มากพอให้เห็นว่า เลียม วันนั้นกับวันนี้ แตกต่างกันแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อตระหนักว่า เลียม กลับมาในครั้งนี้ ไม่ต่างจากการเกิดใหม่
เพราะเขาได้ฐานแฟนเพลงรุ่นใหม่มากมายมหาศาล เด็กในยุคมิลเลนเนียม โตมาวันนี้มีหลายคนที่ตามเลียม แต่พวกเขาน่าจะได้เห็นความเจ๋ง ความคูลของร็อกสตาร์ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในไอคอนแห่งวงการดนตรียุค 90 มากกว่านี้ ซึ่งผมสามารถสัมผัสได้จาก Supersonic แต่กลับไม่พบเจอใน As It Was ที่เลียมดูจะได้บทความเป็นพ่อบ้านที่ดูแลลูก ๆ ทั้ง 3 คนมากกว่า
แต่จุดที่ As It Was ทำได้เด่นชัด กลับเป็นเรื่องความรักจาก เดบบี้ คู่ชีวิต และจากครอบครัว คุณแม่ เพ็กกี้, ลูก ๆ ทั้ง 3 (จีน-เลนนอน-มอลลี), พี่ชาย พอล, เพื่อนเก่าอย่าง โบนเฮดส์ บวกกับแพสชันในเสียงดนตรี ที่ทำให้ เลียม กลับคืนสู่วงการได้ เร่ิมจากเวทีเล็ก ๆ ไปจนถึงระดับ Glastonbury เวทีระดับเมเจอร์ที่เขาเคยมายืนอยู่ในฐานะฟรอนต์แมนของ Oasis ไปสู่การก้าวพ้นร่มเงาของ โนล กัลลาเกอร์ ก้าวข้ามผ่าน Oasis และนับหนึ่งในฐานะศิลปินเดี่ยวได้ โดยที่ตัวเองได้สร้างทุกสิ่งอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง นี่คือ coming of age ที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
จริงอยู่แม้เลียมจะถูกครหาว่า เพลงของเขาแทบไม่มีความซับซ้อน และยังคงยึดมั่นในแนวทางร็อกแอนด์โรลล์มาตลอด ผิดกับพี่ชายที่ทดลองซาวด์ใหม่ ๆ มากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ในอีกมุมหนึ่ง ด้วยศรัทธาและรักมั่นในไอดอลดนตรียุค 60-70 จวบจนวันนี้ มันน่ามหัศจรรย์ที่เลียม ได้นำพาจิตวิญญาณของ The Beatles, จอห์น เลนนอน, Pink Floyd, หรือ เดวิด โบวี ผ่านเสียงดนตรีแปดเปื้อนเสียงไซคีเดลิค มาถึงเด็กรุ่นนี้ด้วย ผมต้องยอมรับว่ามันจริงที่ว่า
‘เด็กเขาโตขึ้นอยากเป็นเลียม ไม่ได้อยากเป็น โนล’
เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับ เลียม กัลลาเกอร์ กับการได้ชื่อว่าเป็น ร็อกสตาร์คนสุดท้ายแห่งศตวรรษนี้
จาก cult hero ในแวดวง britpop สู่หนึ่งในตำนานวงการดนตรีโลกที่ยังมีลมหายใจ…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส