[รีวิว] Doctor Sleep ลางนรก: เมื่อ “คูบริก” รัดคอ “คิง” มาสิงร่างผู้สร้างหนัง
Our score
7.5

Doctor Sleep ลางนรก

จุดเด่น

  1. ความเนี้ยบด้านโพรดักชันที่ต้องคารวะเลย
  2. ฟินที่สุดสำหรับแฟนหนัง The Shining 1980
  3. การผสมระหว่างหนังคูบริกและนิยายของคิงที่ทำให้สดใหม่ขึ้น

จุดสังเกต

  1. ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
  2. หนังนานมาก เล่าเรื่องง่วงด้วยช่วงแรก ๆ
  3. นิยายที่กรอบจำกัดความสร้างสรรค์เกินไป
  4. เส้นเรื่องเยอะไป พลอตเยอะไป
  • ความสมบูรณ์ของบท

    6.5

  • ึคุณภาพนักแสดง

    7.0

  • คุณภาพการผลิต

    10.0

  • ความสนุกน่าติดตาม

    7.0

  • คุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ หลังจากเหตุการณ์ใน The Shining ในอีก 40 ปีถัดมาจากเหตุการณ์สยอง ณ โรงแรมโอเวอร์ลุก ที่ยังคงทำให้แดนรู้สึกหวาดกลัวจนถึงทุกวันนี้ แดนพยายามหาวิธีให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่สุด แต่ความสงบสุขนั้นกลับพังทลายลงเมื่อแดนได้เจอกับ แอบรา หญิงสาวจิตใจกล้าหาญเจ้าของพลังวิเศษเรียกว่า “ไชน์” ที่เดินทางออกตามหาแดนเพื่อขอความช่วยเหลือให้ร่วมต่อสู้กับ โรส เดอะ แฮต ผู้เหี้ยมโหด และเดอะ ทรู น็อต กลุ่มลัทธิคัลต์ลูกสมุนของเธอ ที่ออกตามล่าเด็กผู้บริสุทธิ์เพื่อชีวิตอมตะของตัวเอง

Play video

แนะนำให้อ่านบทความที่มาที่ไปของเรื่องนี้จากนี้ก่อนครับ ย้อนตำนานคำสาปสยอง The Shining คืนนรก ก่อนมาสู่ภาคต่อใน Doctor Sleep ลางนรก

ดูจากเปลือกถึงแก่นวิธีการเล่าหนังเรื่อง Doctor Sleep ลางนรก ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความตั้งใจสืบทอดมรดกของหนังอย่าง The Shining (1980) ของผู้กำกับดังอย่าง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ในเชิงคารวะอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการตัดต่อแบบครอสเฟด การตั้งกล้องถ่ายบทสนทนาที่นิ่งงัน และเสียงดนตรีที่ใช้แบบเดียวกับหนังของคูบริก ยังไม่นับรวมการสร้างฉากเปิดเรื่องของ The Shining ที่กล้องค่อย ๆ บินข้ามทะเลสาบไล่ตามรถของทอร์แรนซ์ที่วิ่งไปตามไหล่ภูเขาสู่โรงแรมโอเวอร์ลุก จนกระทั่งโถงและห้องหับต่าง ๆ ในโรงแรมขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตัวละครได้กลับไปอีกครั้ง

doctor sleep

(ซ้าย) จาก The shining ปี 1980 (ขวา) จาก Doctor Sleep ปี 2019

ซึ่งทั้งหมดคือฝีมือของผู้กำกับ ไมก์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan) ที่สร้างชื่อจากซีรีส์เรื่อง The Haunting of Hill House ฮิลล์เฮาส์ บ้านกระตุกวิญญาณ ทางเน็ตฟลิกซ์ จนได้รับคำชมล้นหลามจากการบรรยากาศสยองได้อย่างคลาสสิกและท้าทาย เขาจึงเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ในการสานต่องานภาพยนตร์ของผู้กำกับระดับตำนาน และเนื้อเรื่องจากหนังสือยอดนิยมของ สตีเฟน คิง (Stephen King) ราชานิยายสยองขวัญแห่งยุค ให้ออกมาลงตัวที่สุด

ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเป็นคนนอกไม่ใช่แฟนของคิง หรือคูบริก เราคงบอกได้เต็มปากว่านี่เป็นหนังที่เดินเรื่องได้ง่วงเหงาหาวนอนได้สมชื่อ หมอหลับ มาก ๆ ทั้งบทสนทนาแบบนิยาย การถ่ายและเล่าปูเรื่องที่อืดอาดมากรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ซึ่งดันเป็นสไตล์นิยายที่มักมีจุดล้น ๆ และอิหยังวะในบางจุด ยิ่งเรื่องนี้มีปัญหามาตั้งแต่ตัวนิยายที่เส้นเรื่องเยอะและดูไม่ได้เข้ากันลงตัว ทั้งเรื่องราวของ แดนนี่ ที่โตมาประสบปัญหาเดียวกับพ่อคือติดเหล้าและอารมณ์ร้าย เรื่องราวของแดนที่เป็นบุรุษพยาบาลดูแลคนชราที่มีแมวที่รู้ล่วงหน้าว่าใครจะตายเป็นคู่หู และแดนต้องทำหน้าที่นำพาผู้ป่วยสู่สุขคติจนได้ชื่อ หมอหลับ เรื่องราวของกลุ่มลัทธิสูบวิญญาณคนเพื่อต่อชีวิตตนเองในนามทรูน็อตที่มีผู้นำคือสาวสวยนาม โรสเดอะแฮต ที่ไล่ล่าผู้มีญาณวิเศษรวมถึงชักชวนสมาชิกใหม่เข้ากลุ่ม

doctor sleep doctor sleep

เรื่องราวของแอบราเด็กสาวที่มีพลังไชน์นิ่งเหนือกว่าผู้ใดที่ต้องปกปิดพลังเพื่อให้คนรอบตัวสบายใจ เรื่องราวความสัมพันธ์ของแดนกับแอบราในฐานะเพื่อน ครอบครัว และครูกับศิษย์ เรื่องราวการสะสางปมในอดีตของแดนกับโรงแรมโอเวอร์ลุก จะเห็นว่าแค่พลอตเองก็มีมากมายแล้วในเรื่องเดียว แม้จะเรียงร้อยเป็นเนื้อเดียวด้วยการผูกสถานการณ์ได้ แต่ในภาพรวมของธีมและพลอตใหญ่เรากลับพบว่าหนังไม่สามารถไปถึงจุดที่ชัดเจนได้ ผู้ชมหลายคนจึงรู้สึกว่าหนังมีเรื่องเล่าเยอะมากและกระจัดกระจาย

doctor sleep

ยิ่งถ้าไม่ได้ดูหรืออ่าน The Shining มาก่อนพลังของหนังจะลดลงไปเยอะมากทีเดียว

เมื่อมองเช่นนี้ก็ต้องบอกว่า จริงแล้ว Doctor Sleep ลางนรก คงเป็นหนังที่ทำมาเอาใจแฟนหนังหรือนิยายเดิมมาเสียมากกว่า ซึ่งข้อดีก็มีไม่ใช่น้อย คือถ้าคุณเป็นคนที่อ่านนิยายมาทั้ง 2 เล่ม คือ คืนนรก และ ลางนรก หนังเรื่องนี้มีการตัดส่วนเกินที่ทำให้หนังเดินเป๋ออกไปเช่นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างแดนกับแอบรา ซึ่งเป็นข้อดี ในขณะที่การบิดบทสรุปของ The shining ในปมเรื่องพ่อของแดนหนังก็ทำได้ลงตัวดีกว่านิยายพอสมควร ถือว่าเป็นการดัดแปลงหนังสือมาเป็นหนังที่ดีเลยทีเดียว เสียดายเพียงว่าต้นทางหนังสือของคิงนั้นก็บิดให้สนุกกว่านี้ได้ยาก โดยเฉพาะพลอตฮีโรสู้ปีศาจที่ราวกับหนังมาร์เวลในแบบคิงนี่เป็นอะไรที่ควรสนุกล่ะ แต่ก็เกินเลยจากความน่ากลัวจริง ๆ ในแบบ The Shining ไปมากทีเดียว และถ้าผู้สร้างยังเคารพคิงอยู่แบบนี้ มันก็ยิ่งเป็นงานยากเข้าไปใหญ่ในการจะจับต้องส่วนต่าง ๆ ของหนังโดยเฉพาะการตัดทิ้งที่ควรทิ้งได้มากกว่านี้

doctor sleep doctor sleep

ค่อนข้างเชื่อว่าถ้าคูบริกยังมีชีวิตเขาคงไม่คิดทำหนัง Doctor Sleep ด้วยเช่นกัน และแน่นอนคิงที่เกลียดหนังฉบับคูบริกเองก็คงไม่อยากให้ทำ

เช่นนี้แล้วในตัวไมก์ ฟลานาแกน จึงมีทั้งด้านขัดแย้งในการต้องประสานไมตรีระหว่างคูบริกกับคิง ในขณะเดียวกันก็มีด้านที่อ่อนโยนในการเคารพที่จะดัดแปลงให้ลงตัวมากที่สุด เราจึงเห็นรอยแผลของผีคูบริกและผีคิงในหัวของผุ้สร้างผ่านตัวผลงานหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างเมามัน เรียกว่าทั้งเคารพและสาวหมัดใส่กันไม่ยั้ง ตั้งแต่เรื่องราวตามนิยายของคิงเป็นแกน แต่รายละเอียดที่สำคัญที่คูบริกแก้ภาพจำไปแล้วอย่างเลขห้อง ทิศทางศิลป์ของหนัง หรือชะตาของดิ๊กใน The Shining กลับเจริญรอยตามคูบริก ฉากจบที่คูบริกเปลี่ยนนิยายของคิงไปแล้วใน The Shining ก็เช่นกัน ฟลานาแกนก็มาช่วยแก้ไขให้คิงได้เอาคืนคูบริกใน Doctor Sleep อีก คือถ้าเป็นแฟนของทั้ง 2 ท่านนี้ทำการบ้านทั้งแบบนิยายและฉบับหนังมาดี จะสนุกมากกับการเห็นการชิงชัยระหว่าง 2 แนวคิดจริง ๆ มันมาก

doctor sleep

ยิ่งช่วง 30 นาที สุดท้ายนี่คือคูบริกชนะเลิศ แฟนฟินกระจายไปเลย ถ้าเป็นแฟนหนังมาก่อนห้ามพลาดเด็ดขาดเลย แค่อดทนผ่านช่วงเวลาแห่งคิงราว ๆ 2 ชั่วโมงก่อนหน้าเท่านั้นเอง

โดยสรุปนี่เป็นหนังที่เหมาะกับแฟนหนังฉบับเดิมของคูบริกมากที่สุด รองลงมาคือแฟนหนังจากนิยายของคิง และท้ายสุดคนที่อยากลองประสบการณ์แปลกใหม่ที่คลุกผสมผลงานตำนานจาก 2 สื่อมารวมกันด้วยวิสัยทัศน์ที่ดีมากตามกรอบจำกัดที่ชื่อว่าความเคารพต่อต้นฉบับนั่นเอง

สยองต้องดู กดรูปด้านล่างเลย

doctor sleep

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส