Our score
10.0Netflix The Irishman
จุดเด่น
- เรื่องราวน่าติดตามจน 3 ชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว
- ทีมนักแสดงสาดพลังการแสดงกันเต็มที่
- เทคนิคการลดอายุนักแสดงทำให้เราติดตามเรื่องราวได้อย่างไม่มีสะดุด
- มีแทรกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้เข้ากับเรื่องแต่งมาก
จุดสังเกต
-
ความสมบูรณ์ของบท
10.0
-
คุณภาพงานสร้าง
10.0
-
นักแสดง
10.0
-
ความสนุกน่าติดตาม
10.0
-
คุ้มค่าเวลาในการรับชม
10.0
The Irishman เล่าเรื่องราวในชั่วระยะเวลาร่วม 50 ปีในชีวิตของ แฟรงค์ ชีแรน (โรเบิร์ต เดอ นีโร) จากคนขับรถบรรทุกส่งขาหลังวัวไปทำสเต๊ก สู่วงการมาเฟียด้วยการชักชวนของ รัสเซล บัฟฟาลิโน (โจ เพสซี) ที่เปลี่ยนให้แฟรงค์ได้ลิ้มรสการฆ่าคนเพื่อเลี้ยงชีพในฐานะมือปืน ก่อนเขาจะได้เลื่อนขั้นไปเป็นผู้ติดตามของ จิมมี ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน) เจ้าพ่อแห่งสหภาพแรงงานที่นำลาภยศชื่อเสียงมาให้แฟรงค์ได้สัมผัส แต่ในวงการสีเทา..มิตรและศัตรูอาจเปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามคืน
หลังวิวาทะอันร้อนแรงจากการไปวิจารณ์หนังมาร์เวลว่าเป็นเพียงแค่สวนสนุกไม่ใช่ภาพยนตร์ ก็คงจะพอทำให้คนรุ่นใหม่ได้ยินและรู้จักชื่อ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) บ้าง แม้จะในฐานะศัตรูแห่งยุคสมัยของหนังซูเปอร์ฮีโรมาร์เวลก็ตามทีเถอะ แต่หากจะให้กล่าวถึง สกอร์เซซี หรือ ลุงมาร์ตี้ แบบพอสังเขปก็พอบอกได้ว่าผลงานของลุงส่วนใหญ่มักเกี่ยวพันกับเรื่องราวแนวแอนตีฮีโร ชีวิตตัวเอกมักเผชิญกับชะตากรรมที่บัดซบเป็นประจำเพื่อจะได้ก้าวข้ามวิบากกรรมชีวิตตัวเอง ซึ่งมีทั้งหนังตลกอาชญากรรมอย่าง The King of Comedy (1982) หนังดราม่าประวัติบุคคลสำคัญทั้ง นักมวย (Raging Bull, 1980) ดาไลลามะ (Kundun, 1997) มหาเศรษฐี (The Aviator, 2004) พ่อมดตลาดหุ้น (The Wolf of Wallstreet,2013) โดยหนังของลุงมาร์ตี้จะเด่นเรื่องความรุนแรงเป็นหลัก และหนังแนวหนึ่งที่ลุงมาร์ตี้ทำเป็นประจำได้แก่หนังมาร์เฟีย ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็น Goodfellas (1990) ที่สื่อเมืองนอกอดเอามาเปรียบเทียบกับ The Irishman เรื่องนี้ไม่ได้ ทั้งการเล่าเรื่องของมิตรภาพลูกผู้ชายในวงการมาเฟีย รวมถึงการปรากฎตัวของขาประจำหนังลุงมาร์ตี้ทั้ง โรเบิร์ต เดอ นีโร และ โจ เพสซี ซึ่งก็มาจาก Goodfellas เหมือนกัน แต่กระนั้นก็ต้องบอกว่า The Irishman เองก็เป็นเครื่องพิสูจน์การบ่มเพาะประสบการณ์ทำหนังจนได้สถานะ Master of Cinema หรือ เอตทัคคะด้านภาพยนตร์คนหนึ่งในโลกภาพยนตร์ของชายชื่อ มาร์ติน สกอร์เซซี ได้เป็นอย่างดี
ความโดดเด่นของบทภาพยนตร์ The Irishman ของ สตีเฟน ซิลเลียน (ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของ ชาร์ลส์ แบรนด์) คือการใช้ระยะเวลา 50 ปีในชีวิตตัวละครเพื่อบอกเล่าคู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ของอเมริกา ตั้งแต่การบุกคิวบาอันล้มเหลวที่ เบย์ออฟพิก หรือการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี โดยใช้เหตุการณ์ทางการเมืองมากล่าวถึงกระแสลมเปลี่ยนทิศที่ผลักตัวละครให้เผชิญปมปัญหาได้แนบเนียน (หากเปรียบกับนิยายไทยก็อาจจะใกล้เคียงกับ ประชาธิปไตยบนเส้นขนานของ วินทร์ เลียววาริณ) โดยหนังสร้างโลกมาเฟียที่มีโครงสร้างชัดเจนผ่านสหภาพแรงงานที่ประธานสหภาพแทบไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊ง เป็นระบบอุปถัมภ์แบบเจ้าพ่ออย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งข้อดีอย่างแรกเลยคือทำให้มันต่างจากหนังมาเฟียส่วนใหญ่ที่จะวนเวียนกับการค้าของเถื่อน หรือฆ่ากันเพราะขัดผลประโยชน์ทางการค้า แต่ใน The Irishman กลับเล่นอยู่สองประเด็นที่โดดเด่นนั่นคือ สายสัมพันธ์ และ กลไกอำนาจ ที่ขับเคลื่อนให้ตัวละครรุ่งเรือง หรือ ตกต่ำ ไปจนถึง ประสานผลประโยชน์ หรือ แตกหัก ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกคนดูได้อย่างรุนแรงยิ่งกว่าฉากยิงกันเลือดกระจายเสียอีก
ถ้าจะว่าถึงเรื่องประเด็นสายสัมพันธ์ ในหนังมาร์ติน สกอร์เซซี ที่โดดเด่นมากได้แก่เรื่องครอบครัวที่นับเป็นสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่ใน The Irishman กลับให้ แฟรงค์ ชีแรน แทบไม่คอนเน็กต์กับครอบครัวตัวเองเลย ในหนังเราจะเห็นภาพเขากลับบ้านมาแป๊บ ๆ ก็ต้องออกไปทำงาน หรืออาการห่างเหินกับลูกสาวอย่างเพ็กกี ก็ทำให้เห็นว่าสำหรับครอบครัวแล้ว เขาไม่ต่างจากคนแปลกหน้าเท่าใดนัก ตรงกันข้ามกับความสัมพันธ์กับรัสเซล หรือจิมมีที่เขาพร้อมตายถวายหัวและทำเรื่องอัปมงคลเพื่อ “ครอบครัวสีเทา” ของเขามากกว่า ซึ่งการปูพื้นเรื่องความห่างเหินกับครอบครัวตัวเอง หรือสายสัมพันธ์สีเทาในครอบครัวมาเฟียของแฟรงค์ นับเป็นระเบิดเวลาชั้นดีเมื่อถึงบทสรุป และที่สำคัญคือมันทำให้ช็อตสุดท้ายของหนังดูสงบนิ่งแต่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย.
ว่ากันถึงเรื่องกลไกอำนาจ The Irishman ฉลาดมากที่ดึงเหตุการณ์การเมืองเป็นฉากหลังเล่าเรื่องคู่ขนานกันไป เพราะมันทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบเปรียบเปรยอย่างแยบยลของการเมืองระดับประเทศอย่างเก้าอี้ในทำเนียบขาวและเก้าอี้ประธานสหภาพแรงงาน เพราะในขณะที่นิกสันกับเคนเนดีขับเคี่ยวกันจนฝ่ายหลังได้อำนาจ ในสหภาพเอง จิมมี ก็เพลี่ยงพล้ำเสียคะแนนและเก้าอี้ประธานสหภาพให้แก่ โทนี โพร (สตีเฟน เกรแฮม) จนเขาต้องหาทางกลับสู่อำนาจโดยหารู้ไม่ว่ามันจะทำให้ความสัมพันธ์ในองค์กรต้องระส่ำระสายและอาจหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมิตรแท้รอบกายอีกด้วย จนอดนึกถึงเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว ไม่ได้เพราะยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่ยิ่งหาคนรอบกายยากขึ้นทุกทีได้อย่างเห็นภาพมาก ๆ
อีกสิ่งที่น่าศึกษาในหนังของลุงมาร์ตีได้แก่ เทคนิคในการถ่ายทำ และภาษาภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับ The Goodfellas ที่โดดเด่นด้านการถ่ายแบบลองเทคเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นคนพิเศษของตัวละคร หรือการถ่ายแบบ ดอลลีซูม เพื่อถ่ายทอดภาวะบางอย่างในบทสนทนาแล้ว The Irishman ก็เต็มไปด้วยงานภาพที่น่าสนใจมากมายโดยนอกจากลองเทคที่โดดเด่นในหลายช็อตแล้ว การตัดต่อของหนังเองก็ยังกำหนดอารมณ์ของคนดูได้อย่างดี ตั้งแต่การตัดสลับระหว่าง แฟรงค์ในปัจจุบันกำลังเล่าเรื่องในอดีต ไปจนถึงการเล่าย้อนจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องราวก็นับว่าเป็นลูกเล่นที่ลุงมาร์ตี้เล่นกับเงื่อนเวลาได้อย่างสนุกสนาน แต่สิ่งที่โดดเด่นกว่าภาษาหนังที่นับเป็นความเชี่ยวชาญของลุงมาร์ตี้แล้ว ก็เห็นจะเป็นเทคโนโลยี ดีเอจจิง (De-Aging CGI) ที่เกิดจากความรั้นของลุงมาร์ตีเองที่ไม่อยากแคสต์นักแสดงคนอื่นมารับบทวัยหนุ่มของตัวละคร และไม่อยากให้แปะมาร์กเกอร์เพื่อทำโมชัน แคปเจอร์ (Motion Capture) เพราะจะกระทบกับการแสดงของนักแสดง ผลคือ ตากล้องของหนังอย่าง รอดริโก ปริเอโต ต้องถ่ายหนัง 3 กล้องพร้อมกัน ได้แก่ กล้องฟิล์มเป็นกล้องหลัก และกล้องดิจิทัลพร้อมริก CGI ที่สามารถให้ภาพหลังทำเอฟเฟกต์ลดอายุแบบคร่าว ๆ ได้เลย ที่ช่วยให้ลุงมาร์ตีได้ใช้นักแสดงชุดเดียวกัน แลกกับงบประมาณของหนังที่ถูกผลักไปถึง 159 ล้านเหรียญ ซึ่งก็นับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดเพราะมันให้ภาพที่แนบเนียนมาก ที่แน่ ๆ คือเนียนกว่าหน้า วิล สมิธ วัยหนุ่ม ใน GEMINI MAN แน่ ๆ ครับ ฮ่าาาา
ที่มาข้อมูลการถ่ายทำ : LA TIMES
สำหรับนักแสดง น่าจะไม่ต้องพูดแนะนำอะไรมากแล้ว แค่ได้เห็น โรเบิร์ต เดอ นีโร, อัล ปาชิโน, โจ เพสซี และ ฮาร์วีย์ ไคเทล ร่วมจอแบบแทบจะกลายเป็นหนังเลี้ยงรุ่นดาราคู่บุญของลุงมาร์ตีก็กำไรของคอหนังแล้ว แต่ที่สำคัญเรายังได้เห็นทั้งนักแสดงที่หายหน้าไปนานโผล่มาอย่าง แอนนา พาควิน อดีตสาวโร้กแห่ง X-Men ก็มารับบท เพ็กกี ลูกสาวที่เหินห่างกับพ่อ แม้จะได้บทน้อยไปหน่อยก็เถอะ หรือจะเป็น เจสซี พลีมอนส์ จากซีรีส์ Breaking Bad และ Fargo มารับบทลูกชายซื่อบื้อของจิมมี สร้างเสียงฮาได้ไม่น้อยเลย หรือจะเป็น เรย์ โรมาโน ที่มารับบททนายของแฟรงค์ตอนต้นเรื่องได้อย่างมีสีสันมาก ๆ และมีลุ้นรางวัลด้านการแสดงบนเวทีออสการ์ปีหน้าหลากสาขาแน่นอน
แม้ตอนแรกที่กดดูในแอป Netflix จะแอบหวั่นใจกับความยาวหนังถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง แต่ดูเข้าจริง ๆ มันกลับผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการกำกับหนังที่แม่นย่ำมากของมาร์ติน สกอร์เซซี และ การแสดงของนักแสดงทุกคนที่สาดพลังใส่กันเต็มเหนี่ยว จะมีเสียดายก็แต่ว่าบ้านเราไม่มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ในโรง เพราะงานภาพของหนังเหมาะกับการดูในโรงมากครับ
สนใจชม The Irishman คลิกชมได้ทาง Netflix ที่นี่
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส