Our score
6.5บอดี้การ์ดหน้าหัก
จุดเด่น
- หนังยังให้ความตลกแบบที่แฟนหนังพี่หม่ำหวังได้เสมอ
- ซีนแอ็กชันดีไซน์ได้แปลกใหม่ดี
- มุกที่เกี่ยวข้องกับภาษากัมพูชา ตลก และ นำเสนอได้ระมัดระวังดี
จุดสังเกต
- หนังเสียเวลากับมุกก็อปปี้โชว์เยอะไปหน่อย
- ใช้เพลงของศิลปินที่เชิญมาเล่นแบบไม่เข้ากับหนังเท่าใดนัก
- การใช้ปืนบีบีกันมาถ่ายทำ ทำให้ฉากแอ็กชันขาดความสมจริงอย่างน่าเสียดาย
- ยังวนเวียนกับมุกในแก๊งสามช่าอยู่
- ใช้ประโยชน์จาก ปาย สิตางศุ์ ไม่คุ้มค่าเลย
-
ความสมบูรณ์ของบท
6.5
-
คุณภาพงานสร้าง
6.5
-
คุณภาพนักแสดง
6.5
-
ความสนุกน่าติดตามของเรื่องราว
6.5
-
คุ้มค่าตั๋ว
6.5
เหตุต้องไปซื้อบะหมี่โหน่งให้เมียแท๊..แท้.. ทำให้ คำก้อน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ต้องพัวพันกับเหตุลอบสังหาร ชุณ เขมพิณ (ยิ่งยง ยอดบัวงาม) ประธานาธิบดีประเทศเขมราษธาราที่กุมความลับของกบฏในประเทศตัวเองอยู่ มิหนำซ้ำ เทพ (สุเทพ โพธิ์งาม) หัวหน้าแก๊งสุดโหดยังจับตัว ศร (Shin Yubin) ลูกสาวของชุณ และคนรักของ เปรม (หรินทร์ สุธรรมจรัส) พนักงานแบงค์ที่สนิทกับคำก้อนเหมือนลูกเหมือนหลาน งานนี้คำก้อนต้องงัดฝีมือจากการฝึกหน่วยรบพิเศษ พร้อมกำลังเสริมอย่าง โสภา (สิตางศุ์ ปุณภพ) สาวสวยเจ้าแม่คลังแสงมาถล่มเหล่าร้ายให้สิ้นซาก และเอาบะหมี่ไปฝากเมียให้สำเร็จ….
เห็นโลโก้บังไฟฟิล์มเห็นหน้าพี่หม่ำพร้อมชื่อบอดี้การ์ดหน้าหัก..หลายคนอาจเข้าใจผิดว่างานนี้เป็นการควบกำกับและแสดงนำเหมือนหนังสร้างชื่ออย่าง บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม แต่แท้จริงแล้วเครดิตกำกับตกเป็นของ พิพัฒน์ จอมเกาะ อดีตผู้ช่วยผู้กำกับหนังไทยหลายเรื่องและเคยช่วยเขียนบทหนังให้พี่หม่ำทั้ง จั๊กกะแหล่น และ ส่มภัคเสี่ยน จนได้รับความไว้วางใจให้มากำกับหนังแอ็กชันคอมเมดี้เต็มตัวเรื่องแรก แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับอยู่ดีว่าดีเอ็นเอของ หม่ำ จ๊กม๊ก ก็ยังเด่นชัดเตะตาผู้ชมอยู่ดี ทั้งมุกเรื่องเพศ มุกด่าหยาบคาย รวมถึงบรรดาแขกรับเชิญแนวก๊อปปี้โชว์ที่ช่วงหลัง พี่หม่ำ ดูจะอยากผลักดันพวกเขาเป็นพิเศษหลังเชิญมาออกรายการหม่ำโชว์ และไม่เพียงเท่านั้นหากดูหนังทั้งเรื่อง หลายคนคงสังเกตได้ชัดเจนว่าตัวหนังเองก็ไม่ได้ต่างจากรายการซูเปอร์หม่ำ เท่าใดนัก และแน่นอนว่าหนังเองก็ยังคงแวะรายทางไปล้อเลียน หรือนำเสนอเพลงฮิตของเหล่าศิลปินแบบแทบไม่ได้สนว่าเข้ากับเรื่องที่ตัวเองเล่าหรือไม่
หากใครได้ดูหนังของพี่หม่ำในยุคหลัง ๆ จะสังเกตเห็นได้เลยว่าหนังแต่ละเรื่องจะมี ศิลปินก๊อปปี้โชว์ มาปรากฎตัวตลอด ตั้งแต่คนเลียนแบบมิสเตอร์บีนใน ส่มภัคเสี่ยน มาจนถึงบอดีการ์ดหน้าหักนี้ ที่มีมุกก๊อปปี้โชว์เยอะมากและโดดเด่นจนช่วงแรกของหนังไม่ต่างจากช่วงโชว์ในรายการซูเปอร์หม่ำทั้ง ตูน บอดีสแลมปลอม หรือ แอ๊ด คาราบาวปลอม (แสดงโดย คาวบอย ศิลปินอินดีที่เลียนเสียงน้าแอ๊ดร้องเพลง) แต่ยังดีที่หนังมีลูกเล่นในการสลับเพื่อเปิดตัว น้าแอ๊ด คาราบาว พี่เทียรี่ คาราบาว เข้ามาในฉาก และยังอุตส่าห์มี ป๋าเทพ ตัวปลอมอีกนะ ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพี่หม่ำแกจะทิ้งทวนมุกก๊อปปี้โชว์หรือยังเพราะส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าการมานั่งดูก๊อปปี้โชว์ในโรงจะสร้างความบันเทิงตรงไหนแถมยังไม่ได้ไปกับเรื่องราวในหนังเท่าใดนักด้วย
และสิ่งที่หนังดูจะภูมิใจและเอามาเป็นจุดขายหนีไม่พ้นการนำเซเลบระดับไอคอนอย่างวงคาราบาว ทั้งน้าแอ๊ด น้าเทียรี่ หรือน้าเล็ก มาเล่นหนังบู๊ก็ทำให้เหล่านักร้องในตำนานได้มีโอกาสปรากฎตัวบนจอใหญ่ในฐานะนักแสดง พร้อมซีนหยอกจากป๋าเทพก็ทำให้การปรากฎตัวของศิลปินจากวงคาราบาวดูน่าจดจำไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งส่วนตัวโอเคกับบทบาทเท่ ๆ ที่น้า ๆ วงคาราบาวได้รับนะครับ แม้ว่าจะไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเวลาถูกยิงต้องเปิดเพลงฮิตของแต่ละคนคลอไปด้วยก็ไม่ทราบ แต่ที่ไม่ค่อยเห็นประโยชน์เท่าไหร่ เห็นจะเป็นซีนรับเชิญของ เอกชัย ศรีวิชัย ที่มาร้องเพลง หมากัด แล้วถูกยิงตายนี่แหละที่ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมตัวละครตัวนี้ถึงโผล่มา เก่งยังไง ทำไมป๋าเทพต้องเรียกมาร้องเพลง หมากัด ให้ฟังแล้วถูกยิงตายแบบงง ๆ ขนาดนี้ แต่ก็นั่นแหละครับมันทำให้เราเห็นบารมีของชายชื่อ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ที่ทำให้เหล่านักร้องในตำนานมาตบเท้าแสดงหนังให้เขาได้อย่างพร้อมเพรียงและยังนำเพลงฮิตมายัดไว้ในเรื่องได้ครบทั้ง มนต์เพลงคาราบาว, ทะเลใจ, คนเก็บฟืน, นางงามตู้กระจก และ หมากัด ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างจากแขกรับเชิญรายการซูเปอร์หม่ำเท่าใดนัก เพียงแต่เปลี่ยนจากการสัมภาษณ์มาร่วมสนุกแสดงหนังด้วยกันเท่านั้นเอง ส่วนป๋าเทพ เราจะสังเกตได้เลยว่า พี่หม่ำ สร้างคาแรกเตอร์ เทพ ให้ป๋าจริง ๆ และการนำเสนอก็ดูเคารพและให้ซีนป๋าได้ยิงมุกและยิงปืนเท่ ๆ อยู่หลายนัด เรียกได้ว่าใครคิดถึงป๋าก็น่าจะได้ชื่นใจกันบ้างแหละ
อีกมุกที่ดูจะปรากฎคู่กับหนังของพี่หม่ำทุกเรื่องคือการอำในแก๊งสามช่า คราวนี้ใจดี โปรโมตร้านบะหมี่โหน่ง ให้พี่โหน่ง สามช่า แต่ก็ยังเป็นการหยอกแรง ๆ ด้วยการเอาโหน่งน้อย ก๊อปปีโชว์ที่ล่วงลับไปก่อนหนังฉายมาแสดงแทนแล้วให้ภาพพี่โหน่งตัวจริงเป็นภาพอากงที่ล่วงลับแทน แถมยังได้ซีนมีแพ็กช็อตโลโกบะหมี่โหน่งปรากฎทั้งเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ไม่แพ้ธนาคารออมสินเลยทีเดียว ส่วนมุกนอกใจ-มุกเมียน้อยเป็นคนเหนือ (ต่อเนื่องจาก เชียงรายมิชชันใน ขุนบันลือ) เรียกได้ว่ามาครบแบบหลับตานึกก็มีมุกพวกนี้โผล่มาให้เห็นแน่นอน แต่กระนั้น บอดีการ์ดหน้าหักก็ยังอุตส่าห์สร้างความแปลกใหม่ในระดับที่จะเรียกว่าโกอินเตอร์ก็น่าจะได้ ด้วยการเชิญไอดอลจากกัมพูชาอย่าง ชินยูบิน นักแสดงสาวสวยที่มารับบท ศร คู่กับดิม วงแทตทูคัลเลอร์ และยังนำยิ่งยง ยอดบัวงาม ที่เคยเป็นตัวขโมยซีนใน บอดีการ์ดหน้าเหลี่ยม มาเล่นเป็นประธานาธิบดีประเทศสมมติที่พูดภาษากัมพูชา ทำให้เห็นช่องทางเลยว่าหนังน่าจะหวังขายตลาดเพื่อนบ้านเราได้แน่นอน และยังทำให้เกิดมุกพูดกันไม่รู้เรื่องที่ส่วนตัวมองว่า เวิร์กที่สุดแล้วในหนัง และพี่หม่ำก็ดูจะระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการล้ำเส้นไปสู่การดูถูกดูแคลนได้ดีทีเดียว จะมีเสียดายที่สุดก็เห็นจะเป็นการปรากฎตัวของ ปาย สิตางศุ์ ปุณภพ ในบท โสภา ที่ได้เวลาบนจอน้อยไปหน่อย ทั้งที่บทของเธอ ถ้าปั้นให้ดีอาจได้หนังแนวผู้หญิงสวยดุ เซ็กซี่ และบู๊แหลกได้เลย แถมหนังยังไม่ได้ให้เธอเล่นอะไรมากไปกว่าแค่ ยิงปืน ทำหน้ามุ่ย และพูดประโยคแนวตัดพ้อกับพี่หม่ำเพื่อเล่นมุกเมียน้อยที่เชียงรายเท่านั้นเอง
ส่วนงานโพรดักชันยอมรับเลยว่าทั้งการดีไซน์คิวบู๊ หรืองานถ่ายภาพของ ทิวา เมยไธสงทำให้ภาพรวมของฉากแอ็กชันในหนังดูดีมาก เสียแค่การเลือกใช้บีบีกันในการถ่ายทำที่ดูมือสมัครเล่นไปหน่อย แม้ฝุ่นของบอลสีที่กระทบกับเนื้อตัวจะคล้ายเลือดพุ่งและมีการติดเอฟเฟกต์เลือดแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดูยังไงก็ดูออกว่าเป็นปืนบีบีกัน จนฉากบู๊ที่ดีไซน์มาอย่างดีมามีจุดด่างพร้อยไปอย่างน่าเสียดาย แต่ภาพรวมการออกแบบฉากวินาศสันตะโรต่าง ๆ ก็ทำได้ดี แม้หลายจังหวะจะดูออกว่าได้แรงบันดาลใจจากหนังบู๊แห่งยุคอย่าง john wick อย่างชัดเจนก็ตาม โดยมีซีนน่าจดจำเยอะทั้งฉากยิงกันที่ตลาดสด การสังหารหมู่ ณ ร้านบะหมี่โหน่ง การลอบสังหารประธานาธิบดี หรือฉากบุกทลายผู้ร้ายท้ายเรื่องก็ดูสนุกดี
สรุปแล้ว ใครอยากหาหนังไทยบู๊ ตลก ๆ บอดีการ์ดหน้าหัก ยังคงเป็นตัวเลือกที่ใช่สำหรับคุณอยู่ แต่หากมองหาหนังที่มีเนื้อหาสาระ มีข้อคิดเตือนใจ หรือหาหนังครอบครัวไม่มีพิษมีภัยให้เด็ก ๆ ได้ดู หนังยังไม่ตอบโจทย์เท่าใดนักครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส