Our score
9.1คิม จี-ยอง เกิดปี '82
จุดเด่น
จุดสังเกต
-
ความสมบูรณ์ของบท
9.5
-
คุณภาพงานสร้าง
9.5
-
คุณภาพนักแสดง
9.0
-
ความสนุก
8.0
-
คุ้มเวลา+ค่าตั๋ว
9.5
ว่ากันว่าหนึ่งในสิ่งที่สามารถทำให้มนุษย์เจ็บปวดและทรมานมากที่สุดเหนือความตายก็คือ การที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว การที่ถูกทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย และการที่ต้องอยู่แบบกับปมในอดีตที่ไม่สามารถมูฟออนออกมาได้ ซึ่งไม่ต่างกับสถานะตายทั้งเป็น
ไม่ต่างกันกับ สถานะของ คิมจียอง และผู้หญิงเกาหลีใต้อีกมากมายที่เผชิญเอฟเฟกต์การเปลี่ยนผ่านของสังคมในประเทศจากยุคโบราณกาลและ สร้าง ‘แผลเป็น’ ในใจจนทุกวันนี้ เรื่องราวความเจ็บปวดถูกร้อยเรียงผ่านวรรณกรรมดังที่ชื่อ คิมจียองเกิดปี 82 ของโชนัมจู ซึ่งเคยสั่นสะเทือนวงการวรรณกรรมมาแล้ว และเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นหนังก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองอย่างมากในแดนกิมจิ เพราะหนังเรื่องนี้กำลังฉายภาพความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในสังคมเกาหลีใต้ออกมาอย่างชัดเจน โดยเพิ่งได้ฤกษ์เข้ามาฉายในไทยช่วงสิ้นปีนี้พอดี แถมได้พระนาง จอง ยูมิ และ กงยู สามีแห่งเอเชีย ที่หลายคนคุ้นเคยคู่นี้ดีจาก Train To Busan ได้หวนกลับมาเจอกันอีกครั้ง
หนังฉายเรื่องราวของ คิมจียอง (จองยูมิ) หญิงสาววัย 34 ปี ในฐานะภรรยายุคมิลเลนเนียมคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่หลายอย่างในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่สถานะ ภรรยา แม่ พี่สาวคนโต ลูกสาว ลูกสะไภ้ ไปจนถึงพนักงานบริษัท ยังไม่นับรวมการเป็นแม่บ้านที่ต้องรับผิดชอบงานบ้านและเลี้ยงลูกเล็ก ๆ หนึ่งคน ซึ่ง จีซอง เป็นได้ทุกอย่าง แต่แม้จะทำงานหนักตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตเพื่อครอบครัว แต่ด้วยสถานะทางสังคม กลับทำให้เธอรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง และใช้ชีวิตคู่อย่างทรมาน เธอไม่เป็นตัวของตัวเอง และเริ่มแสดงอารมณ์ที่ผิดปกติออกมาหลายอย่าง ขณะที่ จองแดฮยอน (กงยู) สามีของเธอสังเกตเห็นความผิดปกตินี้ และรู้สึกกังวลถึงปัญหาบางอย่างที่กำลังก่อตัวขึ้น
อย่างที่เราเห็นกันในโลกความเป็นจริง การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเพศสภาพนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่คนภายนอกส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเหมือนเรื่องปากท้องเท่าไหร่ บางคนมองมันเหมือนเป็นแคมเปญรณรงค์เก๋ ๆ อินตามกระแสเมืองนอกด้วยซ้ำ แต่สำหรับ ‘คิมจียองเกิดปี82’ คือสาส์นชั้นดีที่ทรงพลังมากในการเรียกร้องความเท่าเทียมให้สตรี เมื่อองค์ประกอบโดยรวมของหนัง ทำให้คนดูค่อย ๆ เห็นภาพ เห็นว่าสังคมทุกวันนี้ แท้จริงแล้วที่เลวร้ายที่สุดคือ การถูกทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ความราบเรียบในการเล่าของหนังกลับยิ่งทำให้คนดูที่มองเข้ามาในฐานะผู้สังเกตการณ์ หนังค่อย ๆ บดขยี้ปมนั้นให้ใหญ่ขึ้นชัดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของการเกิดมาเป็นผู้หญิงเกาหลี
ด้วยเนื้อเรื่องเดิมที่เล่าจากชีวิตประจำวันของหญิงสาวแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งซึ่งมองผิวเผินก็ธรรมดา แต่ต้องชมเลยว่าวิธีการตัดสลับไทม์ไลน์ที่เล่าชีวิตความสัมพันธ์ในวัยเด็กของ คิมจียอง กับพ่อแม่ กับพี่น้อง วกกลับมายังปัจจุบัน ทำได้สมูทลงตัวมาก ๆ แล้วแอบทึ่งหน่อย ๆ กับการแต่งหน้าที่ทำให้เราเห็นความแตกต่างของตัวละครช่วงอายุระหว่าง 20 ต้น ๆ กับ 30 ปลายมาก ๆ
หนังเซตฉากปูล้อมบรรยากาศของครอบครัวแบบตะวันออกไว้ได้ชัดเจนมาก ความเรื่อย ๆ ของเนื้อหา แต่มี คิมจียอง ที่เป็นตัวละครหลัก ประสบพบเจอกับคนรอบข้าง หนังไม่ได้พยายามชี้นำให้เลือกหาทางออกทางใดทางหนึ่งไปเลย แต่ชวนตั้งคำถามว่าไอ้วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตรงนี้มันควรจะเป็น ‘เรื่องปกติ’ หรือเรื่องที่ ‘ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง’ เสียที — ขณะเดียวกันมันบ่งบอกถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิตหลังแต่งงาน’ ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ความสัมพันธ์ที่เดินไป มีตัวละคร และคนรอบข้างที่ต้องพบเจอ คนสองคนจะยังประคับประคองไปได้สักแค่ไหน หรือต้องมีใครเสียสติไปก่อน ความดราม่าที่ยิ่งดูก็ยิ่งดำดิ่ง จมห้วงไปจนถึงใจของ คน ๆ หนึ่งที่เขาต้องพบเจอจากสิ่งที่เลือกไม่ได้ และต้องใช้ชีวิตให้รอดจากแวดล้อมแบบนั้น
สำหรับเคมีของ ทั้ง จองยูมิ กับ กงยู ในบทหนัก ๆ แบบนี้ถือว่าหายห่วงอยู่แล้ว แต่สำหรับ จองยูมิ กับบทบาทของยายเพิ้งที่ทำทุกอย่างจนเกือบเป็นบ้า ดูแล้วเชื่อว่าผู้หญิงคนนี้อดทนกับความกดดันหนัก ๆ มามากแค่ไหน ต้องชมเลยว่าถ่ายทอดความเจ็บปวดได้ชนิดหลุดออกมาจากตัวหนังสือมาก ๆ เรียกว่าบทประเภทผู้หญิงสตรอง อ่อนนอกแข็งในนี่เข้าทางเธออยู่แล้ว performance เธอเรื่องนี้แบกหนังได้ทั้งเรื่องจริง ๆ แถมไม่ว่าจะโทรมแค่ไหน ต้องยอมรับเลยว่าเธอยังคงเป็นผู้หญิงที่สวยมีเสน่ห์มาก ๆ อยู่ดี
คิมจียอง จึงไม่เพียงแค่เป็นตัวแทนของกลุ่ม เฟมินิสต์ ที่ถูกกฏเกณฑ์ของประเพณีสังคมกดทับ หากแต่ยังสะท้อนไปให้เห็นถึงอุปสรรคและความทุกข์บางมุมของเพศสภาพต่าง ๆ ที่เขาต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนังเรื่องนี้มันเป็นการไฟต์กันระหว่าง คนหัวอนุรักษ์นิยมกับคนหัวสมัยใหม่อย่างแท้จริง ทุกบ้านอยากได้ลูกชาย แต่หากคุณเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนึงแล้วกลับมีลูกชายให้พ่อผัวแม่ผัวไม่ได้ หากลูกคนต่อไปของคุณยังเป็นเด็กผู้หญิงอีกล่ะ? คุณต้องไปทำแท้งหรือเปล่า? สำหรับผมนี่คือหนังที่สร้าง impact ที่ดีในแง่เมสเซจมาก ๆ เมจเซจที่จะตบหน้าปีศาจเบเบี้บูมเมอร์ให้ตาสว่างเสียทีว่าคนจากยุคพวกคุณหลายคน ฆ่าคนรุ่นหลังทั้งเป็นด้วยการ ‘ยึดมั่นถือมั่น’ มาเท่าไหร่แล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส