แม้ว่ามนุษย์จะได้รู้จักโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ HIV มายาวนานกว่า 30 ปีแล้วนับแต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคนี้เกิดขึ้นบนโลก แต่ขณะเดียวกันการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจากโรคนี้และโรคอื่น ๆ ก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ภายใต้บริบทความเป็น “เรื่องต้องห้าม” ของสังคมไทยที่จะพูดถึงการใช้ถุงยางอนามัย (อย่างปลอดภัย) ซึ่งต้องแลกกับปัญหาการติดโรคและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
สำหรับโลกภาพยนตร์ ได้มีการกล่าวถึงบุคคลผู้ป่วยเป็นโรคนี้ภายใต้บริบทต่าง ๆ อยู่พอสมควร ทั้งในภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดี รวมถึงภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศก็มีอยู่หลายเรื่อง วันนี้ What The Fact ขอหยิบภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้ที่ออกฉายเป็นวงกว้าง และนำเสนอแง่มุมได้อย่างน่าสนใจ หยิบมาเล่าให้ได้อ่านและไปหาหนังที่น่าสนใจเหล่านี้ดูกัน โดยหลายเรื่องนั้นก็ทำให้นักแสดงถึงกับคว้ารางวัลใหญ่อย่างออสการ์กันเลยทีเดียว
Philadelphia (1993)
ภาพยนตร์ที่ทำให้นักแสดงมากฝีมืออย่าง Tom Hanks คว้ารางวัลออสการ์นำชายยอดเยี่ยม ก่อนที่ปีถัดมาเขาจะคว้าไปอีกสมัยซ้อนจากหนังในตำนานอย่าง Forrest Gump (1994) (ซึ่งก็มีตัวละคร “เจนนี่” คนรักของฟอร์เรสต์ กัมป์ ที่เชื่อว่าป่วยเป็นโรคเอดส์จนจบชีวิตในช่วงท้ายเรื่องเช่นกัน) ในเรื่องนี้เขารับบทเป็น “แอนดรูว์ แบ็คเก็ตต์” ทนายความของบริษัทกฎหมายชื่อดังในสหรัฐฯ ก่อนที่เขาจะพบว่า เขาติดเชื้อ HIV และเริ่มมีอาการอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนบริษัทผิดสังเกตและหาทางบีบเขาออก ท้ายที่สุดเขาจึงฟ้องร้องบริษัทที่ให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุค่อนไปทางที่ว่า คนในบริษัทรังเกียจที่เขาเป็นโรคเอดส์มากกว่าเพราะเขาด้อยความสามารถในการทำงาน
แบ็คเก็ตต์ยังได้รับการช่วยเหลือจากทนายผิวสี “โจ มิลเลอร์” นำแสดงโดยสุดยอดฝีมืออีกคนอย่าง Denzel Washington ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยในขณะที่ไม่มีทนายคนไหนคิดจะช่วยแบ็คเก็ตต์ฟ้องบริษัทกฎหมายยักษ์ใหญ่เลย หนังสะท้อนให้เห็นว่ามิลเลอร์ที่เป็นคนผิวสีและถูกดูถูกดูแคลนจากสังคมเช่นกัน ก็เข้าอกเข้าใจแบ็คเก็ตต์ที่โดนที่ทำงานและสังคมรังเกียจ นักแสดงอีกคน (ที่ได้เข้าชิงออสการ์นำชายในปีนี้) อย่าง Antonio Banderas มารับบท “มิเกล อัลวาเรซ” คู่รักของแบ็คเก็ตต์ ผู้เดินเข้ามาในชีวิตหลังจากเขาป่วยแล้วและอยู่ดูแลหัวใจกันจนวาระสุดท้าย
หนังกำกับโดย Jonathan Demme ที่ก่อนหน้าเรื่องนี้ เขาพา The Silence of the Lambs (1991) ไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์มาก่อน หนังให้มุมมองที่ดีกับคนดูตรงที่ทำให้เห็นว่า โรคเอดส์ไม่ใช่โรคที่ติดต่อด้วยการสัมผัสหรือใช้ชีวิตภายนอกร่วมกัน รวมถึงสะท้อนให้เห็นความหวาดกลัวของคนรอบข้างต่อโรคที่ยังไม่รู้จักและเข้าใจกันมากนักในเวลานั้นที่โรคเพิ่งเริ่มระบาดได้เป็นอย่างดี
Dallas Buyers Club (2013)
หนังที่ทำให้ Matthew McConaughey กอดคอ Jared Leto คว้ารางวัลออสการ์นำชาย (เฉือนชนะ Leonardo DiCaprio ที่คนเชียร์กันเยอะมาก ๆ ให้ได้ออสการ์เสียทีในปีนั้น) และสมทบชายกลับบ้านไปจากเรื่องเดียวกัน สร้างจากเรื่องจริงของ “รอน วูฟรูฟ” (McConaughey ลดน้ำหนักไป 21 กิโลกรัมจนผอมมากเพื่อให้สมบทบาทคนป่วย) นักแข่งโรดิโอที่รู้ตัวว่าติดเชื้อ HIV และจะเหลือเวลาในชีวิตอีกเพียง 30 วัน (ในตอนนั้นยาต้านไวรัสสำหรับรักษาโรคเอดส์อยู่ในระหว่างการค้นคว้าพัฒนา จึงยังไม่มียาตัวใดที่รักษาเขาได้) แต่วูฟรูฟไม่ยอมแพ้ เขาเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลและออกเดินทางไปยังประเทศเม็กซิโกเพื่อหาหนทางการรักษาโรคเอดส์
วูฟรูฟได้พบกับหมอคนหนึ่งที่สามารถช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้นานขึ้นอีกหน่อย เขาจึงลักลอบนำยาตัวนี้เข้ามาในสหรัฐฯ และนำไปปล่อยให้กับคนในสังคมชาวรักร่วมเพศ ด้วยความช่วยเหลือของ “เรย์ออน” (รับบทโดย Jared Leto ที่ต้องเล่นเป็นกะเทยแต่งหญิง) ที่ติดเชื้อ HIV เช่นกัน ท้ายที่สุดพวกเขาตั้งกลุ่ม Buyers Club ชุมชนผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ลงขันจ่ายเงินกันเองเพื่อใช้เป็นทุนในการเสาะหาตัวยานำเข้ามาใช้ในสหรัฐฯ และวิธีการรักษาแบบใหม่โดยไม่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
หนังลากหน่วยงาน FDA หรือองค์กรที่ทำหน้าที่เดียวกับองค์การอาหารและยา (ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้ายา) ของบ้านเรามาตบกลางสี่แยก ซึ่งถ้าว่าตามท้องเรื่องในหนังนั้น รัฐไม่ค่อยสนใจจะขวนขวายหายามารักษาผู้ป่วยโรคนี้ จนประชาชนต้องลุกมาหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง (ฟังแล้วเหมือนประชาชนของบางประเทศแถวนี้) และหนังก็ยังให้กำลังใจกับผู้ป่วยโรคเอดส์ได้อย่างดี ขนาดในยุคนั้นที่ยังไม่มียาและภาครัฐก็ไม่สนับสนุนการรักษา วูฟรูฟก็ยังหาทางรักษาตัวเอง แม้ว่าจะต้องตายแน่ ๆ แต่ก็ขอให้อยู่ได้นานที่สุดอย่างไม่ยอมแพ้
A Home at the End of the World (2004)
แม้จะไม่ได้เป็นหนังที่กล่าวถึงโรคเอดส์หรือผู้ป่วยติดเชื้อ HIV โดยตรง แต่ก็มีตัวละครในเรื่องที่ลงเอยด้วยบทสรุปที่น่าสะเทือนใจจากการป่วยเป็นโรคนี้ หนังมีจุดเด่นเป็นการบอกเล่าชีวิตที่โดดเดี่ยวอันเกิดมาจากความสูญเสียในวัยเด็กของ “บ็อบบี้ มอร์โรว์” (รับบทโดย Colin Farrell) ที่สูญเสียครอบครัว โดยเฉพาะพี่ชายที่เป็นเหมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเขาไปตั้งแต่วัยรุ่นจนเมื่อได้มาพบกับเพื่อนใหม่อย่าง “โจนาธาน โกลเวอร์” และ “อลิซ” แม่ของโจนาธาน อลิซให้ความเอ็นดูและเมตตาบ็อบบี้เหมือนเป็นลูกอีกคนหนึ่ง เมื่อความสนิทสนมมีมากขึ้นตามวันเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างบ็อบบี้และโจนาธานก็ยิ่งแน้นแฟ้น พวกเขาเปรียบเหมือนคนรักและพี่น้อง เป็นครอบครัวในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องหาคำนิยาม
เมื่อโจนาธานย้ายมานิวยอร์ก บ็อบบี้ก็ย้ายตามมาด้วยและร่วมแชร์ห้องกับโจนาธาน รวมถึงรูมเมตของเขาอีกคนอย่าง “แคลร์” (รับบทโดย Robin Wright ที่ก็เล่นเป็นเจนนี่ สาวผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ใน Forrest Gump) สาวสวยที่อายุมากกว่า แคลร์รักอิสระเสรีและชอบไขว่คว้าหาความรัก เหตุเพราะเคยผิดหวังในชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลวมาก่อน แคลร์หลงรักโจนาธาน แต่ตัวโจนาธานเองก็เปิดตัวแล้วว่าเป็นเกย์ ด้วยความผิิดหวังแคลร์เกิดมามีความสัมพันธ์ที่เกินเลยกับบ็อบบี้จนในที่สุดก็กลายเป็นความรัก ขณะที่ตัวโจนาธานนั้นก็ยังรักและศรัทธาในบ็อบบี้ในเหมือนเดิม เกิดเป็นความสัมพันธ์รักระหว่างเราสามคน ในช่วงท้ายของเรื่องแคลร์ได้ตัดสินใจเดินออกจากความสัมพันธ์เพื่อให้บ็อบบี้ได้ใช้ช่วงวาระสุดท้ายของโจนาธานที่ป่วยเป็นโรคเอดส์
The Normal Heart (2014)
หนังสร้างสำหรับฉายทางโทรทัศน์ของช่อง HBO ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในกลุ่มคนรักร่วมเพศในช่วงต้นยุค 80s ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเกย์เริ่มเปิดเผยตัวเองต่อสังคมวงกว้าง และก็เป็นช่วงแรก ๆ ของมนุษย์ที่ได้รู้จักกับโรคเอดส์ หนังอุดมไปด้วยทีมนักแสดงชั้นดีคับคั่ง ทั้ง Mark Ruffalo จาก Avengers, Julia Roberts นักแสดงหญิงรางวัลออสการ์จาก Erin Brockovich, Taylor Kitsch จาก John Carter, Matt Bomer จาก Magic Mike และ Gonathan Groff จากซีรีส์ Mindhunter ซึ่งสองนักแสดงคนหลังนี้เป็นเกย์ในชีวิตจริง กำกับภาพยนตร์โดย Ryan Murphy ผู้สร้างซีรีส์ฮิตอย่าง Glee และ American Horror History และเป็นผู้กำกับหนัง Eat Pray Love (2010) ที่ Julia Roberts นำแสดง
“เน็ด” (Mark Ruffalo) นักเขียนหัวรั้นที่มาจากครอบครัวร่ำรวย นิสัยชอบจิกกัด โผงผาง ด้วยความที่อารมณ์ร้อนไม่ยอมคนทำให้เขาโสดมานานหลายปี จนกระทั่งเขาได้พบกับ “ฟีลิกซ์ เทอร์เนอร์” (Matt Bomer) หนุ่มคอลัมนิสต์ที่ทำงานในนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งแอบชอบเน็ดมาตั้งแต่ที่เขาเคยมีอะไรกันในซาวน่าเมื่อนานมาแล้ว เน็ดตกหลุมรักฟีลิกซ์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ความรักของทั้งคู่เบ่งบานท่ามกลางสถานการณ์ที่โรคเอดส์เริ่มระบาดอย่างหนัก ขณะเดียวกัน “ดร.เอ็มมา” (Julia Roberts) แพทย์ที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่ช่วงล่างของลำตัวลงไป ก็ได้พยายามช่วยเหลือชีวิตบรรดาเกย์ที่ล้มป่วยด้วยโรคเอดส์และต่อสู้เพื่อของบประมาณในการรักษาจากกระทรวงสาธารณสุขที่ดูจะเมินเฉยต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
The Normal Heart เป็นหนังที่ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างชัดเจน ทั้งความโศกเศร้าจากการต้องเห็นผู้คนรอบกายล้มหายตายจากกันไปทีละคน ๆ จากโรคนี้ ที่ในเวลานั้นหากเป็นก็จะรักษาไม่ได้และต้องตายสถานเดียว และยังถ่ายทอดความโกรธเกรี้ยวที่ตัวละครในเรื่องมีต่อรัฐบาล ซึ่งไม่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยโรคนี้ราวกับว่าพวกเขาเป็นคนที่ไม่มีค่า รวมถึงการนำเสนอภาพความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มคนรักร่วมเพศกันเองอีกด้วย
Bohemian Rhapsody (2018)
หนังชีวประวัติศิลปินที่โด่งดังจนทำรายได้สูงที่สุดในบรรดาหนังตระกูลนี้ด้วยกัน และผู้ชมที่ได้ดูแล้วก็จะเห็นด้วยว่า หนังมี 20 นาทีสุดท้ายเป็นฉากคอนเสิร์ต Live Aid 1985 ที่สนาม Wembley ของเฟรดดี้ เมอร์คิวรีและวง Queen ที่สุดมัน เหมือนได้ย้อนเวลาไปอยู่ร่วมห้วงเวลาคอนเสิร์ตด้วยเลยทีเดียว เฟรดดี้เสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรคเอดส์ โดยเขาแถลงต่อสาธารณชนว่าเขาติดเชื้อ HIV เพียง 1 วันก่อนเสียชีวิตในปี 1991 ในตอนที่อายุได้ 45 ปีเท่านั้น (ในฉากนี้ที่หนังนำเสนอว่าเฟรดดี้เดินเข้าไปบอกเพื่อนร่วมวงว่าเข้าติดเชื้อ HIV ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเหมือนหนังเล่า เพราะเพื่อน ๆ ในวงออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขารู้ว่าเฟรดดี้ป่วยหลังจากจบคอนเสิร์ต Live Aid แล้ว) และในปี 1992 วง Queen ได้ตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือติดเชื้อ HIV อีกด้วย
Bohemian Rhapsody บอกเล่าชีวประวัติตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการเป็นนักร้องของเฟรดดี้ ก่อนจะไปเน้นความสัมพันธ์ของเขาและแมรี่ (รับบทโดย Lucy Boynton) ภรรยาคนแรกและคนเดียวของเขาที่เริ่มห่างเหินกันเพราะการต้องออกทัวร์ และเฟรดดี้เริ่มไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่เขาพบเจอระหว่างทาง ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนจบลงเมื่อเฟรดดี้บอกกับเธอว่าเขาเป็นเกย์ เธอรับไม่ไหวแม้จะรู้อยู่แก่ใจและยอมรับว่าเขาเป็นเกย์มาโดยตลอดอยู่แล้วก็ตาม ต่อมาเมื่อวง Queen ประสบความสำเร็จ คนก็จ้องจะเข้ามาหาผลประโยชน์กับเฟรดดี้ โดยเฉพาะผู้จัดการส่วนตัวจอมโลภ Queen วงแตก เฟรดดี้ติดเหล้าและยาเสพติด แต่ก็เพราะแมรี่ที่เป็นรักและมิตรแท้ของเขาเสมอที่คอยเตือนสติและประคับประคองจนกลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง
เฟรดดี้ได้เจอกับรักแท้เป็นผู้ชายที่สอนให้เขาเริ่มต้นจากการรักตัวเอง เขากลับไปรวมเล่นดนตรีกับวง Queen อีกครั้งเพื่อขึ้น Concert Live Aid และบอกกับเพื่อนร่วมวงในช่วงซ้อมว่า เขาติดเชื้อ HIV และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ในช่วงที่ เฟรดดี้ รวม Queen ได้อีกครั้งนั้น วง Queen สามารถขโมยคอนเสิร์ตทั้งงานเป็นของตัวเองอย่างยิ่งใหญ่จนยอดบริจาคทะลุเป้าหมาย 1 ล้านปอนด์ในช่วงที่วง Queen เล่นนี้เอง Elton John ถึงกับพูดกับพวกเขาทำนองว่า “พวกแกทำอย่างนี้ได้ยังไง พวกแกขโมยคอนเสิร์ตนี้ไปเป็นของพวกแกแล้ว!” Rami Malek คว้ารางวัลออสการ์นำชายยอดเยี่ยมจากรับบทเป็นเฟรดดี้ ศิลปินในตำนานและเป็นที่ยกย่องที่สุดในหมู่คนรักร่วมเพศ LGBT อย่างที่ไม่มีใครมาแทนที่ได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส