[รีวิว] The Grudge บ้านผีดุ: ไม่แย่แต่ไม่สุด Another American Horror Film
Our score
7.0

The Grudge บ้านผีดุ

จุดเด่น

  1. โพรดักชันดีงาม โดยเฉพาะแสงเงา
  2. กิมมิกที่คารวะหนังฉบับก่อนหน้ามีแทรกเยอะ พิถีพิถันดี
  3. การคิดโจทย์เล่า 3 ไทม์ไลน์น่าสนใจทีเดียว ทำดี ๆ น่าจะเปรี้ยง

จุดสังเกต

  1. ขาดเอกลักษณ์แบบเดิม ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
  2. ขาดนู่นนี่นั่นอย่างละหน่อย จนหนังไม่สุดสักทาง
  3. มุกหลอกดี ๆ ก็สดใหม่ยากเพราะภาคก่อน ๆ หน้านี้เล่นอะไรไปเยอะมากแล้ว
  4. หนังถูกเปลี่ยนคนแก้บทใหม่ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการเล่า
  • ความสมบูรณ์ของบท

    6.0

  • คุณภาพนักแสดง

    7.5

  • คุณภาพการผลิต

    8.5

  • ความสนุกน่าติดตาม

    7.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    6.0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ เรื่องราวของบ้านต้องสาปที่มาพร้อมกับผีจอมอาฆาต (จู-ออน) ที่พร้อมจะตามหลอนใครก็ตามที่เหยียบย่างเข้าไปในบ้าน ด้วยความตายอันโหดร้ายทารุณ จากการรายงานได้บอกว่าในเวอร์ชันนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคดั้งเดิม

Play video

คอหนังผีหลายคนน่าจะรู้จักหนังผีแค้นหน้าขาวจากญี่ปุ่นอย่าง จูออน ดี ด้วยเอกลักษณ์การเมกอัปที่ไม่เหมือนใครกับความโหดชนิดฆ่าทุกผู้ทุกนามไม่ถามสักคำ ก็ทำให้ผีสองแม่ลูกนี่กลายเป็นไอคอนจำของแฟรนไชส์ไปอย่างติดตาตรึงใจลากยาวจนมีหนังถึง 13 เรื่องเข้าไปแล้ว โดยเป็นฉบับหนังวิดีโอ 2 ภาค หนังโรงฉบับญี่ปุ่น 2 ภาค หนังฉบับฮอลลีวูดรีเมกและดึงผู้กำกับเดิมไปทำ 2 ภาค หนังโรงฉบับฮอลลีวูดภาคต่อแต่เปลี่ยนผู้กำกับ 1 ภาค กลับมาเป็นหนังฉบับญี่ปุ่นอีก 4 เรื่อง หนังครอสโอเวอร์ปะทะซาดาโกะอีก 1 เรื่อง และหนังเรื่องนี้ก็จะเป็นฉบับฮอลลีวูดรีบูตใหม่ ถือเป็นหนังเรื่องที่ 13 ของแฟรนไชส์นี้แล้ว โดยไม่นับฉบับหนังสั้นปี 1998 ที่ผู้กำกับ ชิมิสุ ทาเคชิ ทำเป็นเหมือนเดโมก่อนที่จะได้ไฟเขียวทำหนังวิดีโอต่อมา

The Grudge บ้านผีดุ

โดยในครั้งนี้โพรดิวเซอร์ใหญ่อย่าง แซม เรมี่ ก็ยังกลับมาและดึงผู้กำกับใหม่อย่าง นิโคลาส เปสเช่  ที่มีผลงานเปรี้ยงแจ้งเกิดในเวที Fantastic Cinema Festival อย่าง The Eyes of My Mother (2016) หนังเขย่าขวัญขาวดำที่คว้ารางวัลใหญ่ของเทศกาลแบบกวาดเรียบจนไปเข้าตาแซม เรมี่ในที่สุด โดยเขายังทำหน้าที่แก้ไขบทด้วยตนเองจากบทฉบับเดิมของ เจฟ เบอห์เลอร์ มือเขียนบทสยองขวัญจากหนัง The Midnight Meat Train (2008) ด้วย โดยเรื่องราวในการรีบูตนี้ได้ย้ายสถานที่จากโตเกียวมาสู่อเมริกาอย่างเต็มตัว และเป็นไทม์ไลน์ที่อยู่ระหว่างหนัง The Grudge (2004) กับ The Grudge 2 (2006) ที่ขยายคำสาปจาก ผีคายาโกะ กับ ผีโทชิโอะ ลูกชายของเธอ มาสู่คำสาปบทใหม่ ซึ่งก็เป็นเหตุให้แฟนเดิม ๆ ของผีหน้าขาวตาเหลือกส่ายหน้าเพราะผีคายาโกะ (และ/หรือโทชิโอะด้วย) ออกมาในหนังแค่ 8 วินาทีเท่านั้น จนหนังได้คะแนนจาก Cinemascore ซึ่งสำรวจความเห็นผู้ชมจากวันเปิดตัวโดยโดนตัดเกรดไปเพียงแค่ F เท่านั้น (ซึ่งเป็นเกรดที่ได้ยากมาก ที่ผ่านมีหนังแค่ 20 เรื่องที่ได้เกรดนี้)

the Grudge

เปิดเรื่องด้วยบ้านหลังเดิมในญี่ปุ่นที่คุ้นเจนตา ก่อนจะไปอเมริกาแบบถาวร

ซึ่งตอนที่ดูหนังก็พอเข้าใจได้ว่า พอหนังเก็บรักษาหัวใจของแฟรนไชส์ไว้แค่ คนที่ตายด้วยความแค้นจะกลายเป็นคำสาปติดที่อยู่ในสถานที่นั้น ๆ และเมินเฉยต่อรูปลักษณ์ที่เป็นไอคอนของแฟรนไชส์แบบผีญี่ปุ่นผิวขาวซีดตาเหลือกโตร่างกายบิดเบี้ยวผมยาวสยาย มากลายเป็นภาพแบบผีซอมบี้อเมริกัน (พูดให้ตรงคือฉากที่เห็นหน้าตาชัด ๆ มันคือผีแบบ Evil Dead ของแซม เรมี่ เลยล่ะ) แม้จะใส่กิมมิกทั้งเลขที่บ้าน 44 ที่เชื่อมโยงไปถึงหนังสั้นของชิมิสุที่ชื่อ 4444444444 หรือฉากปี๊กาบู หรือการเล่าเรื่องแบบย้อนไปปี 2004 ที่ตรงกับหนังฉบับฮอลลีวูดเข้าฉากครั้งแรกก็ด้วย ล้วนเพื่อคารวะหนังต้นฉบับของทั้งญี่ปุ่นและอเมริกาแบบเอาใจใส่พอสมควรเลย ก้ยอมรับล่ะว่าผีแม่ลูกจูออนดูจริง ๆ มันออกตลกมากกว่าน่ากลัวแต่พอเปลี่ยนไปใช้ผีอีกแบบและเข้าสูตรหนังผีเมกันจ๋าแบบนี้ หนังจึงไม่เหลือเอกลักษณ์น่าจดจำไปมากกว่าหนังบ้านผีสิงในแนวเดียวกันที่มีออกมามากมายเหลือเกิน ก็ไม่แปลกถ้าแฟนหนังจูออนจะมีความคาดหวังอีกอย่างและจะผิดหวังเมื่อเข้าไปดูหนังฉบับนี้

the Grudge

มาสภาพผี Evil Dead เลย

แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับหนังนะ หากมองข้ามความเป็นหนังจูออนไป หนังเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นหนังสยองของผู้กำกับหน้าใหม่ที่ทำออกมาค่อนข้างดีใช้ได้เลยล่ะ ที่ประทับใจคือการออกแบบงานสร้างที่สวยงาม การจัดฉากแสงไฟเงามืดตามซอกมุมต่าง ๆ ส่งเสริมกับการมีอยู่ของผีได้อย่างลงตัว และจังหวะการขู่คนดูด้วยความเงียบกับเสียงสะดุ้งก็ทำเอามีคนหลับตาปี๋ หรือขนาดมีเสียงกรี๊ดออกมาให้ได้ยินเช่นกัน

the Grudge

ห้องหับหลืบลับที่จัดแสงเงาประกอบแล้วดูน่าจะมีผีอยู่ทุกจุด

ส่วนที่รู้สึกหนังมีความพยายามดีไซน์ที่ดีอีกอย่างคือ การเล่าเรื่องหลายไทม์ไลน์ไปพร้อมกัน ที่จริง ๆ มันน่าสนใจเลยล่ะ เพราะไทม์ไลน์ปัจจุบันปี 2006 จะว่าด้วยนักสืบสาวที่เข้าไปพัวพันกับตัวบ้านต้องสาปด้วยความสงสัยว่าทำไมรุ่นพี่เธอถึงห้ามยุ่งคดีนี้นัก ส่วนปี 2004 ก็เล่าเรื่องราวของนายหน้าขายบ้าน (จอห์น โช) ที่ไม่รู้ว่าครอบครัวนี้เกิดโศกนาฏกรรมไปก่อนหน้าแล้ว และ 2005 ก็เล่าเหตุการณ์ของผู้เข้าพักอาศัยรายต่อมาที่ตัวภรรยาป่วยหลงผิด และตัวสามีต้องการให้ภรรยาจากไปอย่างสงบจนติดต่อนักฆ่าตัวตายมาช่วย ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ในปีนั้น ๆ ก็มีซับพลอตของตัวเองที่น่าสนใจเหมือนหนังสั้น 3 เรื่องที่มาร้อยกันแบบเนียนกริบ เรื่องปี 2004 เป็นซับพลอตของพ่อแม่ที่รู้ว่าลูกในท้องอาจไม่ปกติและต้องรับความจริงนั้นให้ได้ แต่ก็กลายเป็นดราม่าโศกนาฏกรรมในเวลาต่อมา ปี 2005 เป็นซับพลอตว่าด้วยชายที่วิ่งเข้าหาบ้านผีสิงด้วยตนเองเพราะเชื่อว่าเมื่อภรรยาตายเขาก็อาจได้อยู่ร่วมกับภรรยาต่อไปในบ้านผีสิงหลังนี้ได้ ปี 2006 คือซับพลอตว่าด้วยแม่ที่หมกมุ่นกับครอบครัวในคดีมากกว่าลูกชายของตนเองจนนำภัยร้ายมาสู่ตน และภาพใหญ่ก็คือ ผีแค้นนามจูออน ที่ไม่ได้ลงมิติลึกนักว่ามีธีมภูมิหลังของผีตนนี้อย่างไรกันแน่ ทำให้มองรวม ๆ หนังเลยไปไม่สุดในทางที่ควรเป็น จะผีผลุ่บโผล่หรือผีเดินเห็นกันจัง ๆ ก็ก้ำกึ่งกัน ไอเดียหรือขมวดคิดสอนใจก็ไม่ชัดเพำราะถูกกระจายไป 3 ซับพลอตที่ตอบสนองต่อกันเองน้อยไปหน่อย (จริง ๆ ก็อาจจะมีล่ะ แต่ไม่ค่อยรู้สึก) โดยเฉพาะการเฉลยว่าสุดท้ายทั้ง 3 ไทม์ไลน์นั้นเชื่อมกันอยู่ ก็กลายเป็นสิ่งเกินเลยที่หนังไม่จำเป็นต้องทำเลย เพราะหนังแทบจะเปิดเผยแต่ต้นแล้วโดยไม่ได้ใช้เทคนิคการเล่าพรางไว้แต่อย่างใด

the Grudgethe Grudge the Grudgethe Grudge

สรุป มองว่าเป็นหนังจูออนก็ต้องบอกว่าเสี่ยงในการนำเสนออะไรใหม่ ๆ สำหรับแฟรนไชส์ มองเป็นหนังผีเรื่องหนึ่งก็ได้มาตรฐานอยู่แม้จะไม่ได้สดใหม่หรือมีอะไรให้ว้าวนัก และถ้ามองแบบกลาง ๆ ก็เป็นหนังสยองที่พอตอบโจทย์หนังโพรดักชันคุณภาพได้ดีพอสมควรเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส