[รีวิว] Pain and Glory แด่หนัง ชีวิต และความเจ็บปวด – ความงามของชีวิตใจกลางความเจ็บปวด
Our score
9.0

Pain and Glory

จุดเด่น

  1. แอนโทนิโอ แบนเดอราส ถอดวิญญาณเล่นจนชวนให้กลั้นน้ำตาไม่อยู่
  2. หนังสอดแทรกภาพอดีตอันงดงาม เคล้าความเจ็บปวดได้ลงตัว
  3. งานภาพและเพลงประกอบดีงามมาก
  4. นี่คืองานคืนฟอร์มของเจ้าป้าเปโดร อัลโมโดวาร์ อย่างแท้จริง

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของบท

    9.5

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • คุณภาพการแสดง

    9.5

  • ความบังเทิงตามแนวหนัง

    9.0

  • คุ้มค่าตั๋ว

    9.0

ซัลวาดอร์ มัลโย (แอนโทนิโอ แบนเดอราส) ผู้กำกับชื่อดังที่ห่างหายจากการทำหนังถึง 32 ปีเพราะอาการเจ็บป่วย และเจ็บปวดไปทั้งตัวต้องกลับไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับ อัลแบร์โต (อัสซิเออร์ เอตซิอังเดีย) อดีตนักแสดงคู่บุญที่เคยมีเรื่องทะเลาะกันในอดีตเพื่อชวนไปงานฉายหนังดังในอดีตของทั้งคู่อีกครั้ง และเป็นอัลแบร์โต ที่แนะนำให้ ซัลวาดอร์ รู้จักกับเฮโรอีน ยาเสพย์ติดที่มาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของเขา แต่ผลข้างเคียงของมันคือการพาเขากลับไปเผชิญหน้ากับอดีตอันเจ็บปวดอื่น ๆ ทั้งชีวิตปากกัดตีนถีบในวัยเด็ก และความรักที่ไม่สมหวังของเขากับ เฟดเดอริโก (ลีโอนาร์โด สบาราเกลีย) แลัวซัลวาดอร์จะทำอย่างไรให้ตัวเองเอาชนะความเจ็บปวดแล้วกลับมายืนหยัดทำหนังได้อีกครั้ง

Play video

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หลังสิ้นสุดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ปีล่าสุด บรรดาหนังที่ไม่ได้รางวัลอาจกลายเป็นหนังตกสำรวจไปโดยปริยาย แต่สำหรับ Pain and Glory งานคัมแบกสู่เวทีรางวัลของเจ้าป้า เปโดร อัลโมโดวาร์ จะถือว่าน่าเสียดายมากหากมันถูกหลงลืมหรือหายไปในเงามืดจากบรรดาคอหนังทั้งหลาย เพราะแม้ตัวหนังจะยังวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์กับผู้เป็นแม่แทบไม่ต่างจาก All about my mother (1999) หรือ Volver (2006) หรือเรื่องลับ ๆ ในวงการบันเทิงอย่าง Bad Education (2004) แต่ความต่างที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งใน Pain and Glory คือท่าทางและน้ำเสียงในการเล่าเรื่องที่ลดความร้อนแรงลงและแต่กลับเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดต่าง ๆ ได้อย่างล้ำลึกและเจ็บปวดจนจับใจ

สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมอาจต้องทำความเข้าใจเวลาเห็นชื่อของผู้กำกับ เปโดร อัลโมโดวาร์ ในหนังเรื่องไหนคือ การเล่าเรื่องราวของมันมักไม่ใช่การดำเนินเรื่องแบบ 1 2 3 4 เรียงลำดับเหตุการณ์หรือมีปมประเด็นหลักให้ยึดเกาะ มากเท่ากับการที่มันพาไปสำรวจชีวิตตัวละครแบบทั้งกว้าง ยาว ลึก และกับ Pain and Glory นี่ยิ่งหนักข้อเลยเพราะต้นเรื่องเราจะได้รู้จักกับ ซัลวาดอร์ คือผ่านการบอกเล่าของเขาในเรื่องอาการเจ็บป่วยที่ก็พ่วงภาพกราฟิกและคำบรรยายที่ดูหลุดโลกมาอธิบายให้เราเข้าใจได้เร็วที่สุดว่า Pain ตัวแรกในชื่อหนังคืออะไร

WHAT THE FACT รีวิว Pain and Glory WHAT THE FACT รีวิว Pain and Glory

และอาการเจ็บป่วยอันแรกพอไปเจอกับ เฮโรอีน มันก็นำไปสู่นานาความเจ็บปวดในชีวิตที่ ซัลวาดอร์ ต้องเผชิญทั้งการกลับไปเผชิญหน้ากับพระเอกหนังที่ตัวเองเกลียดเข้าไส้แต่ที่ตลกร้ายที่สุดคือตัวเองกลับไปทดลองเฮโรอีนยาเสพย์ติดที่เป็นต้นเหตุให้ อัลแบร์โต กลายเป็นนักแสดงที่เขาชิงชังและหมางเมิน แถมอาการข้างเคียงของมันยังผลให้ภาพอดีตในสมัยเด็กที่มีแต่ความแร้นแค้นกับแม่ผู้ทุ่มเททุกอย่างให้ชีวิตของเขาดีขึ้นกลับมาย้ำแผลเป็นในใจให้ยิ่งถ่างออกเข้าไปอีก ที่สำคัญมันยาใครบางคนในอดีตกลับมาเข้ามาในชีวิตอีกด้วย

สำหรับพาร์ตอดีตหนังก็ได้ เพเนโลปี ครูซ นักแสดงคู่บุญของเจ้าป้าจาก Volver มารับบทแม่ที่ทำทุกทางเพื่อผลักดันเด็กน้อยอย่าง ซัลวาดอร์ ให้มีชีวิตที่ดีกว่าการเป็นกรรมกร แต่ในความแร้นแค้น ซัลวาดอร์ ก็ได้ค้นพบความงามในชีวิตทั้งการใช้ชีวิตในถ้ำและการได้สอนพิเศษคนงานก่อสร้างแลกกับการมาทำบ้านให้ฟรี ซึ่งเรื่องราวส่วนนี้อาจไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักมากนักแต่เชื่อเถอะว่า การกำกับของป้าอัลโมโดวาร์ และงานภาพอันงดงามของหนังจะทำให้มันเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมรวมถึงการแสดงอันดูใสซื่อน่าเอ็นดูของหนูน้อย อัสซิเออร์ ฟลอเรส ในบทซัลวาดอร์วัยเด็กที่ยากเหลือเกินที่จะไม่ให้ใครตกหลุมรัก แถมยังเดาได้ไม่ยากเลยว่าเจ้าป้าแอบใส่เรื่องราววัยเด็กของตัวเองลงไปในหนังอีกด้วย

WHAT THE FACT รีวิว Pain and Glory WHAT THE FACT รีวิว Pain and Glory

และนอกจากพาร์ตอดีตอันงดงามแล้ว สิ่งที่จะละเลยไม่พูดถึงไม่ได้เลยคงหนีไม่พ้นการแสดงระดับได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ของ แอนโทนิโอ แบนเดอราส อดีตนักแสดงขาบู๊จากหนังชุด  El Mariachi  และ Spy Kids ที่เคยมาร่วมงานกับเจ้าป้าในหนังทริลเลอร์อย่าง The skin I live in (2011) ที่มารับบทผู้กำกับรุ่นใหญ่ได้เหมือนถอดวิญญาณเล่น โดยเฉพาะความเจ็บปวดในแววตาคู่นั้นที่ส่งผ่านถึงคนดูได้ทุกซีน โดยเฉพาะฉากเผชิญหน้ากับคนรักเก่าที่ขอบอกว่าใครเพิ่งอกหักหรือมีอดีตรักที่ลืมไม่ลงคือตายคาจอแน่ ๆ รวมถึงซีนที่เล่าเรื่องราวในช่วงชีวิตสุดท้ายระหว่างเขากับแม่ที่เจ็บปวดแต่อบอุ่นหัวใจอย่างประหลาดจนอดกลั้นน้ำตาไม่ไหวจริง ๆ เอาเป็นว่าแม้ไม่มีรางวัลใหญ่การันตีแต่การแสดงของแบนเดอราสเรื่องนี้ก็น่าจดจำด้วยหลักฐานที่ปรากฎบนจอ

มองเผิน ๆ เหมือนหนังชีวิตเรื่องนี้จะไม่ได้มีฉากใหญ่โตหรือเรื่องราวที่ชวนตื่นตาตื่นใจ แต่หากใครอยากหาประสบการณ์แปลกใหม่ในการดูหนังแนะนำให้ดู Pain and Glory ในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่คอหนังของเปโดร อัลโมโดวาร์ รู้กันดีว่าในความมืดของโรงหนังภาพชีวิตบนจอที่เจ้าป้าเล่าบวกกับงานเสียงอันประณีตคือที่เดียวที่เราจะซึมซับประสบการณ์ความงามของชีวิตในหนังของเขาได้ดีที่สุด

WHAT THE FACT รีวิว Pain and Glory

click ที่ภาพเพื่อเช็กรอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส