Our score
9.4American Factory | โรงงานจีน ฝันอเมริกัน | 美国工厂
จุดเด่น
- การดำเนินเรื่องเรียบง่าย ทรงพลัง แต่ดูไม่ยาก
- ถ้าใครอินเรื่องวัฒนธรรมองค์กรสไตล์อเมริกัน-เอเชีย และการทำงานแบบโรงงานอุตสาหกรรม น่าจะอินและดูสนุกทีเดียว
- การเล่าเรื่องแบบ Fly on the wall ทำให้เรามีอิสระในการดู เก็บข้อมูลและตีความได้ด้วยตัวเอง
จุดสังเกต
- ตัวหนังเล่าเรื่องแบบเฝ้าสังเกตการณ์ ต้องอาศัยสมาธิในการดูและเก็บข้อมูลพอสมควร
- ถ้าใครไม่อินหรือสนใจเรื่องการบริหารองค์กรและเรื่องอุตสาหกรรม อาจพาลเบื่อได้เลย
- คนทำงาน (โดยเฉพาะงานโรงงาน) ดูแล้วอาจจะขนลุกและประสาทกินไปเลยก็ได้
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
9.0
-
คุณภาพงานสร้าง
10.0
-
คุณภาพการเล่าเรื่อง
9.0
-
ความน่าติดตาม
9.0
-
คุ้มเวลาดู
10.0
เรื่องย่อ American Factory สารคดีรางวัลออสการ์ เมื่อมหาเศรษฐีชาวจีนเข้าไปเปิดโรงงานใหม่ในโรงงาน General Motors ซึ่งถูกทิ้งร้าง และว่าจ้างคนงานชาวอเมริกันสองพันคนเข้าทำงาน แต่ความตื่นเต้นและความหวังในตอนต้นต้องพบกับปัญหา เมื่อความไฮเทคของจีนปะทะกับชนชั้นแรงงานของอเมริกาเข้าอย่างจัง
จะเรียกว่าเป็นการปะทะกันอย่างบังเอิญก็ได้นะครับ อยู่ดี ๆ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในตอนนี้ ที่มีข่าวที่ตอนนี้มีข่าวว่า GM เตรียมยุติการขาย-ผลิต “เชฟโรเลต” ในไทย ภายในปี 2563 จนต้องลดราคารถในสต็อกจนหมดเกลี้ยง แล้วก็ให้บังเอิญอีกว่า ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาคือช่วงของการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 ประจำปี 2020 ก็มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้รับรางวัลในสาขา “ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม”
ซึ่งปีนี้ก็ตกเป็นของ “American Factory” สารคดี Netflix ว่าด้วยเรื่องราวของการปะทะกันระหว่างอุตสาหกรรมอเมริกัน กับกลุ่มทุนจีน แถมยังพูดถึงเรื่องของโรงงาน GM เหมือนกันอีกซะด้วย! แถมสารคดีเรื่องนี้ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Higher Ground Productions ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโพรดักชันของอดีตประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ บารัค และมิเชล โอบามา ซึ่งก่อนหน้านี้หนังสารคดีเรื่องนี้ก็ได้มีโอกาสไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ปี 2019 มาก่อนแล้วด้วย แถมก่อนจะได้ออสการ์ ก็กวาดรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเป็นการันตีว่า สารคดี Netflix เรื่องนี้ไม่ธรรมดาจริง ๆ
สารคดีเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวตั้งแต่ปี 2008 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำ เมื่อโรงงานผลิตรถยนต์ General Motors หรือ GM ณ เดย์ตัน โอไฮโอต้องปิดตัวลง ส่งผลทำให้คนงานหลายพันคนต้องตกงาน หมู่บ้านของพนักงานกลายเป็นเมืองร้าง แต่แล้วในปี 2016 ก็มีบริษัทผลิตกระจกรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติจีนที่ชื่อฝูเหยา (Fuyao Glass America Inc.) เข้ามาซื้อพื้นที่โรงงานของ GM เพื่อเปลี่ยนอดีตโรงงานผลิตรถยนต์ ให้กลายเป็นโรงงานผลิตกระจกรถยนต์ เพื่อส่งออกกระจกให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อชั้นนำของโลก
และแม้ว่าจะมีการจ้างพนักงานจาก GM เดิมกลับเข้ามาทำงาน และก็ดูมีทีท่าว่าอนาคตของชาวโอไฮโอจะกลับมาสดใสอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องแลกกับการได้ค่าแรงลดลงจาก 29 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ลดเหลือเพียง 13 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่ตามมาอย่างหนักหน่วงกว่านั้นไม่ใช่แค่การลดค่าแรง แต่เป็น “วัฒนธรรมองค์กรแบบจีน ๆ” และ “สไตล์การทำงานแบบจีน ๆ” พ่วงขบวนมาจากแผ่นดินใหญ่ด้วย แล้วมันก็แตกต่างจาก “วัฒนธรรมองค์กรและสไตล์การทำงานแบบอเมริกัน” อย่างสุดขั้ว
หาก “วัฒนธรรมองค์กรและสไตล์การทำงานแบบอเมริกัน” คือการโฟกัสไปที่คุณภาพชีวิตของคนทำงาน ทำงานเพียง 8 ชั่วโมงต่อกะ หยุดเสาร์อาทิตย์ การจ่ายค่าแรงที่สมน้ำสมเนื้อ วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของพนักงานทุกคน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อม และเน้นการทำงานที่มีความสุข มั่นคง และมีสิทธิ์มีเสียงในองค์กรด้วยการตั้งสหภาพแรงงาน “วัฒนธรรมองค์กรและสไตล์การทำงานแบบจีน” ก็คือการเน้นไปที่ Productive เป็นหลัก เน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความพร้อมเพรียง ความจริงจังในการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด เน้นความจงรักภักดีและเคารพผู้บังคับบัญชา ละเว้นมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงาน และไม่สนใจการตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิใด ๆ พร้อมที่จะทำงานหนักกว่าวันละ 12 ชั่วโมง หยุดเพียงเดือนละ 1-2 วัน ซึ่งนั่นส่งผลทำให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานและ Productive ที่เหนือกว่า
ซึ่งนั่นส่งผลต่อระบบการทำงานและการดำรงชีวิตของคนงานอเมริกันกว่าพันคนโดยทันที เริ่มตั้งแต่การที่พนักงานประสบอุบัติเหตุในการทำงาน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอดเวลา 15 ปีที่เคยทำงานกับ GM การให้ทำงานในพื้นที่อุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน ๆ เวลาการทำงานที่มากเกินไป การทำงานและผลงานแบบอเมริกันที่คนจีนมองว่า “ใช้ไม่ได้” การทิ้งสารเคมีเป็นพิษลงแม่น้ำ สภาพความเป็นอยู่ของคนงานที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ จนลุกลามกลายเป็นการประท้วงให้มีการตั้งสหภาพ ทั้ง ๆ ที่นโยบายของผู้บริหารนั้นคัดค้านการตั้งสหภาพแรงงานตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
เอาจริง ๆ พอปูพื้นมาแบบนี้ ทุนจีนอย่างฝูเหยาดูกลายเป็นปีศาจร้ายจากแผ่นดินใหญ่ที่จะมากำราบโรงงานและการทำงานแบบอเมริกันเลยใช่มั้ยครับ (นี่ยังไม่นับเรื่องจุกจิกทั้งเรื่อง Micro Management ธรรมเนียมปฏิบัติจุกจิกคล้าย ๆ ทหาร และคอนเนกชันกับรัฐบาลจีนอีกนะ) แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ของหนังคือการพยายามเรื่องเล่าของมุมมองจากทั้งสองฝั่ง ทั้งอเมริกาและจีน และจากมุมมองจากทุกระดับของ Organization chart ตั้งแต่ซีอีโอ ผู้บริหาร ผู้จัดการโรงงาน ทนายความ ลงไปจนถึงคนงาน และคนภายนอกอย่างสหภาพยานยนต์ (United Auto Works) ที่พยายามเข้ามาผลักดันให้โรงงานฝูเหยามีสหภาพแรงงานเป็นของตัวเองให้ได้
ในหลาย ๆ ครั้งเราจึงได้เห็นคนงานชาวจีนกับชาวอเมริกันกลายเป็นเพื่อนร่วมงานและเป็นมิตรที่เข้ากันได้เป็นอย่างดี ไปมาหาสู่ กินข้าว ตกปลา ชวนขี่ม้าที่บ้านได้ และในอีกแง่มุมหนึ่ง คนงานชาวจีนก็ต้องจากบ้าน จากครอบครัวมาทำงานที่โรงงานในโอไฮโอ พวกเขาก็ต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมอเมริกันที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ภาษาที่พวกเขาฟังไม่เข้าใจ แถมการมาทำงานที่อเมริกาก็ไม่ได้ค่าแรงเพิ่มด้วย การจากบ้านมาทำงานของพวกเขามีเพียงเป้าหมายเดียวคือ ทำงานที่พวกเขาต้องทำเพียงเท่านั้น
ยิ่งซีนการสัมภาษณ์คุณเฉา ประธานและซีอีโอของฝูเหยา ในช่วงที่พูดประโยคที่ว่า
“ผมไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ให้หรืออาชญากร…ผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน คุณไม่คิดแบบนั้นหรือ?”
ก็ยิ่งเสริมมุมมองของการเน้น Productive ในฝั่งจีนให้หนักแน่นขึ้น ซึ่งนั่นก็ดูจะสวนทางกับความปรารถนาแบบอเมริกัน หรืออย่างที่เรารู้จักกันว่า “American Dream” ที่มองว่าการงานนั้นสร้างฐานะและคุณภาพชีวิตให้มั่นคง ทำให้ตัวเองและครอบครัวมีความสุขสบายได้ และเคร่งครัดกับการรับผิดชอบต่อสังคมในแบบที่คนทำงานอเมริกันเชื่อกันมาตั้งนมนาน
แม้ว่าในที่สุดการทำงานแบบจีน ๆ ก็เข้ามาทำให้ “ฝันอเมริกัน” ล่มสลาย แต่สารคดีก็มีพื้นที่ในอีกมุมที่เปิดให้เราได้คิดว่า หรือเอาจริง ๆ การมาของการทำงานแบบจีนและการรุกของทุนจีนผู้เกรียงไกรก็อาจจะกลายเป็นเพียงเรื่องปลายเหตุก็ได้ (ละมั้ง) เพราะถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การบริหารและการทำงานแบบจีน ๆ นี่แหละก็อาจเป็นสาเหตุให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกในตอนนี้ และการทำงานสไตล์แบบอเมริกันนี่แหละ ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้คนงานโรงงาน GM ในเดย์ตันต้องตกงานกันเป็นเบือขนาดนี้
ถ้าว่ากันถึงเรื่องของตัวหนัง ที่ผมรู้สึกชอบเกี่ยวกับสารคดีเรื่องนี้คือ ด้วยการทำงานระหว่าง 2 ผู้กำกับชาวอเมริกันกับโคโพรดิวเซอร์ชาวจีน นั่นจึงทำให้เรื่องราวจากทั้งสองฟากฝั่งถูกเล่าอย่างไหลลื่นโดยแทบไม่มีปัญหาด้านอุปสรรคหรือความแตกต่างเลย ทุกคนต่างสนทนาด้วยภาษาของตัวเองแบบไม่เกร็งเลย ซึ่งถือว่าเป็นความยอดเยี่ยมที่สามารถเกลี่ยสัดส่วนของทั้งเนื้อหาและเรื่องราวต่าง ๆ จากทั้งสองฟากฝั่งออกมาได้เป็นอย่างดี
ตัวสารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องแบบ “Fly on the wall” นั่นก็คือการ “สอดแนม” เอาจริง ๆ จะเรียกสอดแนมก็ไม่ค่อยถูก เพราะเบื้องหลังทีมงานและผู้กำกับก็ต้องเข้าไปปะทะ (สัมภาษณ์-ถ่ายทำ) กับซับเจกต์หรือว่าคนที่อยู่ในเรื่องราวอยู่ดี แต่ก็จะเป็นการถ่ายทำที่ไม่พยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนร่วมกับในฟุตเตจ หรือมีท่าทีเข้าไปสัมภาษณ์ถามไถ่เจ๊าะแจ๊ะกับซับเจกต์ซักเท่าไรนัก เป็นเพียงการสัมภาษณ์เท่าที่จำเป็น และเน้นหนักไปที่การเฝ้าสังเกตการณ์ ใช้กล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่า ในบางครั้งก็มีโอกาสเข้าไปถึงห้องประชุม ได้ฟังเสียงผู้จัดการด่าพนักงานด้วย มันเลยทำให้สารคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยพลังของฟุตเตจดิบ ๆ ที่อาจแสลงนิดหน่อยสำหรับคนที่อาจไม่ชอบหรือไม่สนใจในเรื่องราวของการบริหารองค์กรและเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรม
ซึ่งพอมันเป็นสไตล์สอดแนมที่ผู้กำกับไม่ได้เน้นการเสิร์ฟข้อมูลเป็นจาน ๆ แต่ถูกเสิร์ฟมาเป็นคอร์ส มันก็เลยต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลที่หนักหน่วงอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นการดูหนังเรื่องนี้แบบข้าม ๆ ผ่าน ๆ จึงน่าจะไม่เวิร์ก แต่ต้องดูอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนจบ จึงจะทำให้สารคดีที่เล่าแบบเรียบง่าย และปล่อยให้คนดูค่อย ๆ สอดแนมเองอย่างสารคดีเรื่องนี้ได้ “ทำงาน” อย่างเต็มที่
ที่น่าสนใจอีกจุดไม่ใช่แค่เรื่องใหญ่ ๆ อย่างการเข้ามาของทุนจีนอย่างเดียว เพราะในหนังยังได้แฝงเรื่องราวของการพาดพิง “ความเป็นอเมริกัน” และ “ความเป็นจีน” อยู่เนือง ๆ ตลอดทั้งเรื่อง อย่างเช่นชอตที่คนงานอเมริกันจะเข้าไปชมโรงงานที่บริษัทแม่ในจีนและต้องสวมชุดเซฟตี ปัญหาที่พวกเขาเจอคือ พวกเขาตัวใหญ่จนเกินกว่าที่จะใส่ชุดเซฟตีของคนงานจีนที่ “ตัวเล็กกว่า” หรือการเข้าแถวจัดระเบียบคล้าย ๆ ทหารของคนงานจีนก่อนการทำงานที่โรงงานแม่ของฝูเหยาในจีน ในแบบที่ผมก็ไม่รู้ว่า จะไม่ทำให้คิดถึงการเข้าแถวทหารได้ยังไงจริง ๆ
ด้วยความเรียบง่ายในการเรียงลำดับเหตุการณ์ และการปล่อยให้ผู้ชมได้ทำหน้าที่สังเกตการณ์และรับข้อมูลเองนี่แหละ ที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้กลายเป็นสารคดีที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ที่ฉายให้เห็นภาพของความล่มสลายของเศรษฐกิจอเมริกันและเศรษฐกิจโลก วิธีการทำงานที่อาจไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้เหตุการณ์จะเกิดแค่ในอเมริกัน-จีน แต่ผมเชื่อว่า คนทำงานอย่างเรา ๆ ถ้าได้ดูสารคดีเรื่องนี้อย่างครบถ้วน จะรู้สึกได้ทันทีว่า Disruption ในด้านอาชีพนั้นน่ากลัวและชวนให้ประสาทกินจริง ๆ นะครับ
เพราะไม่แน่หรอกว่า คนทำงานอย่างเรา ๆ อยู่ดี ๆ อาจกลายเป็นคนที่ทำงานช้าจนประสิทธิภาพต่ำลง อาจเจออุบัติเหตุบาดเจ็บจนกลายเป็นคนพิการ คุณอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ได้ Productive เพิ่มขึ้น (แต่ได้ค่าแรงเท่าเดิม) หรือไม่ก็อาจโดนไล่ออกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะงานที่คุณทำใช้หุ่นยนต์ (หรือ AI) ทำแทนได้ดีกว่า เพราะหุ่นยนต์ (และ AI) ทำงานซ้ำ ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าแรงสักบาทเดียว
สำหรับผม นี่คือสารคดีเรื่องราวในอดีตก็จริงนะครับ แต่ด้วยความทรงพลังของสารคดีเรื่องนี้ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้ผู้ชมได้มองเห็นอนาคตที่กำลังจะมาถึง (หรือจริง ๆ มันอาจมาถึงแล้วด้วย) นี่คือสารคดีที่แม้จะเกิดขึ้นระหว่างสองวัฒนธรรม แต่มันกลับฉายให้เห็นถึงสถานการณ์ของคนทำงานทั่วทั้งโลกว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันคือเรื่องของอนาคตของคนทำงานทั้งโลก ในการทำงานที่เต็มไปด้วยความหวั่นไหวและมืดหม่น อะไรกันแน่คือทางออกที่แท้จริงที่จะทำให้คนทำงานมีการงานและชีวิตที่ดึขึ้นในทุก ๆ ด้านทั้งในตอนนี้และอนาคต เพราะแม้ว่าบริษัทจะมีกำไร เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ตรงกันข้าม คนทำงานกลับมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลง และไม่รู้ว่าจะโดน Disruption เมื่อไหร่
นี่คือสารคดีที่อาจจะไม่ได้โด่งดังมาก (ขนาดได้ออสการ์ก็ยังไม่ค่อยดังเลย) แต่เชื่อเถอะครับว่าหนังสารคดีเรื่องนี้ เรียบง่ายและทรงพลังในระดับที่ทำให้เรารู้สึกกลัวเกรงอนาคตได้จริง ๆ แม้ว่าตัวหนังจะเป็นเพียงเรื่องราวเก่า ๆ ของสองวัฒนธรรมการทำงาน แต่มันก็ทรงพลังจนเชื่อได้ว่า ผู้ที่ชมเองก็น่าจะรู้สึกถึงอนาคตที่เสื่อมถอยของคนทำงานว่า วันนั้นอาจมาถึงกับตัวเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
และเรื่องแบบนี้ ต่อให้มีสิบ Google ก็ช่วยเราไม่ได้นะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส