Our score
8.0GREED
จุดเด่น
- สตีฟ คูแกน มีเสน่ห์สุด เปลี่ยนโลภ ให้ เริ่ด ได้จริง ๆ
- หนังลากไส้วงการแฟชันค้าปลีก มาได้ชวนอึ้งดีมาก
- หนังสนุกมาก แต่ละมุก จิกกัดทุนนิยมได้แสบสันต์
จุดสังเกต
- บางปมปัญหาอาจไม่ค่อยไปด้วยกันกับเนื้อหาหลักนัก
-
ความสมบูรณ์ของบทภาพยนตร์
8.0
-
ความสมบูรณ์ของงานสร้าง
8.0
-
คุณภาพนักแสดง
8.0
-
ความสนุก
8.0
-
คุ้มค่าตั๋ว
8.0
ด้วยหวังกู้ภาพลักษณ์ให้ตัวเอง ริช แมคเครดี (สตีฟ คูแกน) เจ้าพ่อแฟชันค้าปลีกเลยดำริจัดปาร์ตี้ฉลองแซยิดแห่งศตวรรษขึ้นที่เกาะแห่งหนึ่งในประเทศกรีซ แต่ก็ต้องเผชิญอุปสรรคนานับประการทั้งโคลอสเซียมปลอม ๆ ที่ผู้รับเหมาคุมแรงงานตัวเองไม่ได้ ผู้อพยพจากซีเรียที่มาตั้งรกรากที่หาดสวรรค์ คนดังแคนเซิลคิวกะทันหัน หรือจะเป็นครอบครัวสุดป่วนทั้ง ซาแมนธา (ไอสลา ฟิชเชอร์) เมียเก่าสุดเยอะที่ลี้ภัย(การเมือง)ไปอยู่โมนาโค ลิลี (โซฟี คุกสัน) ลูกสาวที่มางานปาร์ตีเพื่ออาศัยเป็นฉากหลังในเรียลลิตีโชว์ของตัวเอง และ ฟินน์ (อาซา บัตเตอร์ฟิลด์) ลูกชายที่แค้นพ่อเพราะถูกเมิน ยังไม่พอ ริช แมคเครดี ยังจ้าง นิก (เดวิด มิตเชล)มาเขียนสกู๊ปกู้ภาพลักษณ์จนทำให้เห็นว่าเบื้องหลังความร่ำรวยของชายฉายา ริชจอมละโมภ แลกมาด้วยกลโกงและการกดขี่แรงงาน เอาล่ะสิ..ปัญหารุมเร้าขนาดนี้งานฉลองวันเกิดของริชจะเนรมิตรได้ทันไหมเนี่ย
ตอนเห็นโปสเตอร์หนังมีสองอย่างที่เตะตาผมคือ ภาพใบหน้าของสตีฟ คูแกน นักแสดงอังกฤษมากฝีมือใส่แว่นกันแดด และชื่อของ ไมเคิล วินเทอร์บอตทอม ผู้กำกับอังกฤษที่มักทำหนังวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่เนือง ๆ และหนังของเขาเองก็มักมี สตีฟ คูแกน แสดงนำเป็นดาราคู่บุญอยู่เนือง ๆ ด้วยนี่สิ และเมื่อส่วนผสมที่เข้ากันดีอยู่แล้วมาผสมกับเรื่องราว “แสบสัน” ที่ลากไส้ทุนนิยมในวงการแฟชันที่ดั๊นไปแขวะคนดังจนได้หนังอย่าง GREED ที่ดูเผิน ๆ เหมือนมาตอกย้ำคำพูด Greed is good วลีทองจากหนังดัง Wall Street ของตัวละคร กอร์ดอน เก็คโค แต่เนื้อแท้มันกลับตอกกลับสถานการณ์แบบ รวยกระจุก จนกระจาย ที่แฉให้เห็นว่าเบื้องหลังเสื้อผ้าสวย ๆ ราคาจับต้องได้ในร้านเสื้อผ้าค้าปลีกแบรนด์ดังกลับมีเบื้องหลังในการสร้างแรงงานทาสและทำให้ตาชั่งทางเศรษฐกิจเอียงกระเท่เร่แค่ไหน\บทหนังของ ไมเคิล วินเทอร์บอตทอม และ ฌอน เกรย์ เลือกแนวทาง แซตไทร์ คอเมดี พร้อมใส่ลูกเล่นเปรียบเปรยกับหลากหลายสถานการณ์โลกให้เห็นโฉมหน้าอันฟอนเฟะและความปั่นป่วนของโลกทุนนิยม เพราะลำพังแค่พลอตว่าด้วย เศรษฐีมีชนักอย่าง แมคเครดี คิดรังสรรค์งานตัวเองด้วยการเอา Gladiator หนังโปรดของตัวเองเป็นข้อมูลอ้างอิงแถมบังคับให้คนงานสร้างโคลอสเซียมปลอม ๆ และซื้อสิงโตจริง ๆ มาเพื่อเลียนแบบฉากในหนังดังเองก็แทบจะอธิบายและเสียดสีคนรวยได้แบบเลือดซิบ ๆ อยู่แล้ว หนังยังสร้างภาวะกระอักกระอ่วนให้คนดูด้วยการใส่ผู้อพยพชาวซีเรียที่หนีตายมาพึ่งพิงหาดสาธารณะเป็นที่ซุกหัวนอน แต่กลับมีค่าแค่ สิ่งขวางตาคนรวยอย่าง แมคเครดี เท่านั้นมาให้เราได้พินิจพิเคราะห์ถึงสารที่หนังต้องการนำเสนอ
และโดยปริยายโคลอสเซียมปลอม ๆ ก็ได้ถูกเปรียบเทียบเหมือนชื่อเสียง เงินทอง ที่ริช แมคเครดี หามาได้จากสารพัดวิธีทั้งการปอกลอกแบบ อัฐยายซื้อขนมยาย กับเหล่านายทุนไปจนถึงการขูดเลือดขูดเนื้อหาแหล่งผลิตเสื้อผ้าราคาถูกที่เขาเองก็ยังไปกดราคาต้นทุนการผลิตจนโรงงานมากดค่าแรงในการเย็บผ้าจนคุณภาพชีวิตคนงานต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพียงเพื่อป้อนสินค้าเข้าสู่ร้านแบรนด์ดังอย่าง Monda ที่ไม่บอกก็รู้ว่าต้องชื่อให้พ้องกับ Demon ที่แปลว่าปีศาจ จากการสร้างทาสยุคใหม่ที่นอกจากแรงงานชาวศรีลังกาที่ตนไปกดขี่เพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าให้เขาแล้ว แม้กระทั่งไอ้โคลอสเซียมปลอม ๆ ก็ยังไปหลอกผู้อพยพให้มาทำงานฟรี ๆ เพียงเพื่อให้ทันกับปาร์ตีวันเกิดตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็จะเห็นว่าวินเทอร์บอตทอมจงใจใส่รายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเสียดสีระบอบทุนนิยมได้อย่างเจ็บแสบ โดยเฉพาะคนแบบริชที่เข้าใจไปว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แท้ที่จริงพฤติการก็แทบไม่ต่างจากซีซาร์ผู้ชั่วช้า เหมือนเหล่านายทุนที่ก็ไม่ต่างจาก ปีศาจหน้านักบุญ เท่าใดนัก
และไม่เพียงวงการธุรกิจแฟชันเท่านั้น งานนี้วินเทอร์บอตทอมยังแวะไปแขวะวงการบันเทิงที่เหมือนสะพานนรกที่เชื่อมจากระบอบทุนนิยมมาสู้ระบบบริโภคนิยมของเหล่าลูกค้าแบรนด์ดัง ซึ่งในส่วนนี้แม้ว่าจะดูหลุด ๆ จากประเด็นหลักของเรื่องไปบ้างแต่ก็สร้างเสียงฮาให้ผู้ชมได้หลากก๊าก เพราะมันพูดถึงความปลอมเปลือกของเหล่าคนดังได้อย่างเจ็บแสบจริง ๆ โดยผ่านตัวละครอย่าง ลิลี ลูกสาวของริชที่อยากดังแบบเซเลบจนถึงขั้นจ้างทีมโปรดิวเซอร์มาทำรายการเรียลลิตีให้ตัวเอง ซึ่งไม่บอกก็รู้ว่าหนังแขวะเซเลบอย่าง คิม คาเดเชียน แบบเต็ม ๆ แถมยังวิพากษ์วงการมายาด้วยการใส่เบื้องหลังไปว่าสิ่งที่ ลิลี ทำต่อหน้ากล้องคึอการแสดงล้วน ๆ และทุกอย่างก็ปลอมไปหมดกระทั่งแฟนหนุ่มก็ยังเป็นนักแสดงที่ไปจ้างมาเล่น แถมยังฉวยโอกาสตอนพ่อของเธอไล่ผู้อพยพสวมบทแม่พระแบบไม่รู้เวลาจนสร้างความเดือดร้อนให้พ่อตัวเองไม่รู้ตัวอีก เรียกได้ว่าการเป็นคนดังใน GREED คือชีวิตที่เบาหวิว ไม่สนความเป็นจริง และความถูกต้องใด ๆ นอกจากชื่อเสียงจนเป็นเหมือนกระสุนปืนใหญ่ให้เหล่าทุนนิยมทำลายความถูกต้องในสังคมก็มิปาน
และแน่นอนว่าในเมื่อเป้าประสงค์ของหนังคือการลากไส้เบื้องหลังสีเลือดของวงการแฟชันค้าปลีก หนังก็เลยเลือกเล่าในส่วนของเบื้องหลังความสำเร็จ (และกลโกง) ของริช แมคเครดี ผ่านตัวละคร นิก นักเขียนที่ถูกจ้างมาเขียนหนังสือชีวประวัติแกมบังคับให้เขียนอวย ริช แต่ปรากฎว่าเมื่อได้สัมภาษณ์บุคคลแวดล้อมก็พบทั้งความโสมมของเล่ห์เหลี่ยมธุรกิจทั้งการตั้งร้านเพื่อหวังขายที่ดินแพง ๆ การเอาบริษัทไปกู้ยืมเงินมาให้ตัวเองและเมียใช้ ไปจนถึงการได้เป็นประจักษ์พยานความหน้าเลือดเมื่อได้ไปสัมภาษณ์เหล่าแรงงานในโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าป้อนแบรนด์ Monda ทำให้ นิก เป็นเหมือนตัวแทนผู้ชมที่ถูกหนังพาไปรู้จักกับเบื้องหลังความฟอนเฟะและอยุติธรรมของระบอบทุนนิยมที่ค่อย ๆ ลดทอนคุณค่าของมนุษย์ไปทีละน้อย
สตีฟ คูแกน ใน GREED ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไม วินเทอร์บอตทอม ถึงเลือกเขามารับบทริช แมคเครดี หรือบทอื่น ๆ ในหนังของเขา คูแกน ฉายเสน่ห์อย่างหาตัวจับยาก แม้ว่าเราจะอดเอาเขาไปเปรียบกับตอน ไมเคิล ดักลาส เล่นเป็น กอร์ดอน เก็คโค ใน Wall Street ไม่ได้แต่คูแกนก็ฉายเสน่ห์ทำให้คนโคตรโกงอย่าง ริช ดูเป็นคนฉลาดและเผลอใผลคล้อยตามกับทุกคำพูดดั่งอมสาริกาลิ้นทองเอาไว้ ส่วน ไอสลา ฟิชเชอร์ ก็กลับมาสู่จอเงินอีกครั้งแม้บทจะน้อยไปหน่อยแต่ก็ทำให้เห็นพัฒนาการทางการแสดงแม้ส่วนตัวจะช็อกนิดหน่อยว่าเพิ่งเห็นเธอเล่นเป็นนางเอกได้ไม่กี่เรื่องก็ต้องมารับบทแม่ซะแล้ว ส่วน อาซา บัตเตอร์ฟิลด์ ก็ได้รับบทที่ดาร์กขึ้นเพียงแต่ปมออดิปุสคอมเพล็กซ์ หรือปมอยากฆ่าพ่อตัวเองจะดูหลุดโลกและไม่ค่อยเข้าพวกไปหน่อยก็ตาม แต่ที่ถือว่ามาโดดเด่นทั้งในแง่รูปลักษณ์และการแสดงยกให้ ดานิตา โกฮิล ในบทอแมนดา ด้วยรูปลักษณ์ใบหน้าคมแบบสาวอินเดียและบทบาทในช่วงหลังของหนังที่ส่งให้เธอส่องประกายแทบทันทีก็ทำให้กลายเป็นนักแสดงที่น่าจดจำที่สุดในเรื่องคู่กับคูแกนได้เลย
สำหรับ GREED จะฉายเฉพาะที่ HOUSE สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมเป็นต้นไป สามารถเช็ครอบฉายได้จากแอปพลิเคชัน HOUSE หรือบนเว็บไซต์ของ House ได้เลยครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส