หลายคนคงคุ้นชื่อกันดีกับพ่อมดแห่งวงการอนิเมะญี่ปุ่น “ฮายาโอะ มิยาซากิ” (Hayao Miyazaki) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (Ghibli Studio) เจ้าของผลงานเลื่องชื่อ อาทิ มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (Nausicaä of the Valley of the Wind) เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (Princess Mononoke) มิติวิญญาณมหัศจรรย์  (Spirited Away) โทโทโรเพื่อนรัก (My Neighbor Totoro) ฯลฯ

ล่าสุด NHK World Japan หรือสมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่นได้เผยแพร่สารคดี  “10 ปีกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ” (10 Years with Hayao Miyazaki) ให้ชมฟรี มีทั้งหมด 4 ตอน รวมความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง ในรูปแบบเสียงภาษาอังกฤษ พร้อมคำบรรยายไทย (ปัจจุบัน มีคำบรรยายไทย 2 ตอนแรก และน่าจะมีคำบรรยายเพิ่มในไม่ช้า หากใครไม่อยากรอ จะฟังบรรยายภาษาอังกฤษเลยก็ได้ สำเนียงฟังง่ายมากกกก)

 

สารคดีนี้พิเศษอย่างไร

หลายปีก่อน NHK World Japan ขอถ่ายทำสารคดีชีวิตของมิยาซากิ ผู้กำกับชื่อก้องตอบตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องใช้คนถ่ายทำสารคดีเพียงคนเดียวเท่านั้น ห้ามใช้ทีมงานหรือยกกองถ่ายมาถ่ายทำที่สตูดิโอ ผู้กำกับสารคดี คาคุ อารากาวะ จึงเป็นเพียงคนเดียวที่ได้ตามติดชีวิตการทำงาน รวมถึงชีวิตส่วนตัวของมิยาซากิตั้งแต่ปี 2006 

อาจด้วยความอดทนผสมกับทักษะของอารากาวะ เราจึงได้เห็น ‘มิยาซากิ’ ในมุมมองที่ลุ่มลึกและต่างออกไป ทั้งภาพ จังหวะลำดับเรื่อง รวมทั้งคำบรรยายที่ว่างเว้นระยะอย่างพอเหมาะ ทำให้สารคดีเรื่องนี้มีความละมุนละไม เคล้าดราม่า ไม่ต่างจากความรู้สึกยามชมผลงานของมิยาซากิเลย

ความพิเศษยิ่งไปกว่านั้นคือ สารคดีเรื่องนี้เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนบานใหญ่ ที่จะทำให้เราเข้าใจที่มาของผลงามและเบื้องลึกในจิตใจของผู้กำกับมากความสามารถผู้นี้ ชนิดที่ว่า หากใครอินจัด ต่อมน้ำตาแตกไม่รู้ตัวเลยทีเดียว 

 

“พรสวรรค์ใช้มาก ๆ ก็เสื่อมลงทุกวัน แรงบันดาลใจต่างหากคือทุกสิ่ง”

ฉากที่เราดูแล้วรู้สึกติดตรึงใจ กลายเป็นภาพจำของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากน่าตื่นตาตอนโปเนียวโผล่มาจากทะเล หรือสึนามิซัดสาดบ้านเมืองในเรื่อง “โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย” (Ponyo) หรือฉากบีบหัวใจที่เนาชิกาต่อสู้เพื่อปกป้องหมู่บ้านใน “มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม” แท้จริงแล้วเป็นเพราะมิซายากิ ‘ทุ่มกายถวายชีวิต’ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับฉากเหล่านั้นอย่างมหาศาล และสารคดีเรื่องนี้ก็ถ่ายทอดเล่าให้เห็นความทุ่มเท ที่เกิดจากแรงบันดาลใจอันมากล้นและความแน่วแน่ของเขาได้เป็นอย่างดี 

 

สารคดี 4 ตอน เล่าถึงอะไรบ้าง

สารคดีทั้ง 4 ตอนนำเสนอไล่เรียงตามลำดับของช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2006 – 2013

เริ่มด้วยตอนที่ 1 : Ponyo is Here เล่าถึงช่วงเวลาที่มิยาซากิเค้นไอเดียสุดพลัง เพื่อค้นหาภาพที่ใช้เป็นคีย์หลักใน โปเนียว อนิเมะเรื่องใหม่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่โกโร มิยาซากิ ลูกชายของเขากำกับ “ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร” (Tales from Earthsea) ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องแรก ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้เป็นพ่อ

ตอนที่ 2 : Drawing What’s Real บันทึกห้วงเวลาที่กระบวนการผลิตโปเนียวเดินหน้าเต็มพิกัด ขยายให้เห็นความใส่ใจในรายละเอียดของมิยาซากิ พร้อมเล่าย้อนถึงวัยเด็กของเขา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความหมกมุ่นในงานอนิเมะ และหล่อหลอมให้เกิดผลงานของผู้กำกับชื่อก้องในเวลาต่อมา 

ตอนที่ 3 : Go Ahead – Threaten Me หลังจากศึกเทพมังกรพิภพสมุทรและโปเนียวประสบความสำเร็จอย่างท้วมท้น ต้นปี 2010 โกโร ลูกชายของมิยาซากิเริ่มลงมือผลิตอนิเมะยาวเรื่องที่สอง “ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์” (From Up on Poppy Hill) แม้ความขัดแย้งของพ่อลูกเป็นที่เห็นเด่นชัด แต่สารคดีก็เผยให้เห็นความสัมพันธ์แบบ “รักนะแต่ไม่แสดงออก” ของทั้งสอง ไปพร้อมกับแนวคิดการทำงานที่สุดท้ายแล้วไม่ต่างกันของทั้งคู่ ขณะเดียวกันมิยาซากิก็ได้เริ่มต้นงานใหม่ที่แตกต่างไปจากทุกสิ่งที่เขาเคยทำมา

สำหรับตอนสุดท้าย ตอนที่ 4 : No Cheap Excuse มิยาซากิเริ่มตระหนักถึงร่างกายที่เสื่อมถอย ทำให้เขามุ่งมั่นทำงานโดยไม่หยุดพัก เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 พร้อมกับการผลิตภาพยนตร์เรื่องใหม่ “ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก” (The Wind Rises) เริ่มถึงจุดตีบตัน เขาจึงเริ่มทบทวนเหตุผลของการสร้างภาพยนตร์ของตนเองอีกครั้ง 

 

ถ้าไม่ใช่สาวกล่ะ ดูสารคดีนี้จะอินไหม

สำหรับแฟนคลับหรือสาวกผลงานของมิยาซากิหรือสตูดิโอจิบลิ ย่อมไม่ควรพลาดสารคดีเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด แต่หากว่าคุณไม่ได้อินจัดกับจิบลิขนาดนั้น สารคดีเรื่องนี้ก็เหมาะกับคนที่ต้องการแรงบันดาลใจและพลังสร้างสรรค์เหมือนกันนะ และเผลอ ๆ คุณอาจจะอยากตามไปชมผลงานของมิยาซากิก็ได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีให้ไล่ดูกันอย่างสะใจในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เป็นที่เรียบร้อยแล้วล่ะ 

 

สำหรับสารคดีทั้ง 4 ตอน สามารถติดตามรับชมกันได้ที่ NHK World Japan ตั้งแต่วันนี้ถึงปี 2026 เลยทีเดียว 

ใครสนใจตามไปชมความทุ่มเทและความซึ้งจากลุงฮายาโอะ มิยาซากิกันได้เลยครับ


อ้างอิง

NHK World Japan

Film Club

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส