ในโลกภาพยนตร์นั้น การเลือกรับบทที่โด่งดังหรือล้มเหลวของนักแสดงบางครั้งก็เหมือนการแทงหวยของนักแสดงแต่ละคนที่แทงถูกแทงผิด บางเรื่องตอนยังไม่ดังก็ไม่มีสิทธิ์เลือกมากนัก ค่ายหนังให้แสดงบทไหนก็ต้องเล่น (ดีกว่าให้คนที่ต่อแถวรออยู่ยาวเหยียดได้ไป) บางเรื่องตอนที่ดังแล้วก็ปฏิเสธไปจนบทนั้นดังเปรี้ยงขึ้นมาเสียอย่างนั้นในตอนที่ออกฉาย
ในจำนวนภาพยนตร์และบทบาทมากมายในฮอลลีวูดก็มีอยู่หลายบทที่ไม่เหมาะสมเอาเสียเลยกับนักแสดงคนนั้น ๆ แต่ผู้สร้างก็เข็นออกมาจนได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ บางเรื่องนักแสดงเลือกเล่นไปแล้วก็มารู้เอาทีหลังว่า หนังเละแน่แต่ก็ถอนตัวไม่ทัน และบางบทนักแสดงก็ยังขอโทษขอโพยต่อคนดูจนถึงทุกวันนี้ที่ไปรับเล่นและแสดงได้ห่วยแตกและทั้งหมดนี้คือ 12 บทบาท “คิดผิดจนวันตาย” ของนักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูด
John Wayne ใน The Conqueror (1956)
ดาราคาวบอยอมตะอย่าง John Wayne ก็เคยมีหนังที่โดนด่าขรมกับเขาเหมือนกัน กับการมารับบทเป็น “เตมูจิน” หรือต่อมาโลกได้รู้จักในนาม “เจงกิสข่าน” ผู้นำกองทัพและจักวรรดิมองโกลอันเกรียงไกรในอดีต การคัดเลือก Wayne มารับบทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของฟอกขาว (Whitewashing) ที่เป็นการเลือกนักแสดงฝรั่งมารับบทเป็นคนเอเชีย เพราะ Wayne ไม่มีเชื้อสายเอเชียเลย และทีมงานก็ยังแต่งหน้า ทำผม แต่งคิ้ว เติมหนวด ทาผิวสีแทนให้เขาดูเหมือนกับคนเอเชียมากที่สุด ซึ่งถ้าจะขนาดนี้ก็เลือกดาราเอเชียมาเล่นก็ได้ (มีคนเสนอว่าเอา Yul Brynner จาก The King and I (1956) ยังจะเหมาะสมกว่า) หนังกลายเป็นความล้มเหลวทางรายได้แต่มาได้รับความนิยมในภายหลังจากการเป็นหนังห่วยจนสนุกที่คนรุ่นหลังต้องหามาดู เรื่องน่าเศร้าก็คือหนังดันไปถ่ายทำใกล้กับ Nevada National Security Site ที่เป็นสถานที่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ จนทำให้ผู้กำกับ Dick Powell และทีมงานอีกหลายคนป่วยเป็นมะเร็งเสียชีวิตตาม ๆ กันไป
Mickey Rooney ใน Breakfast at Tiffany’s (1961)
อีกครั้งกับการจงใจจะฟอกขาวของฮอลลีวูด กับการเลือกนักแสดงตลกมากความสามารถอย่าง Mickey Rooney มารับบท “มิสเตอร์ยูนิโอชิ” เจ้าของบ้านชาวญี่ปุ่่น ที่มีภาพลักษณ์ที่ไม่น่าดูทั้งตัวเตี้ย ใส่แว่น ฟันเหยิน ขี้โมโห และใส่ชุดยูกาตะตลอดเวลาไม่ว่าจะยามไหนอย่างที่กลัวคนจะไม่รู้ว่าเป็นคนญี่ปุ่น หนังกลายเป็นความสำเร็จสูงสุดของนางเอก Audrey Hepburn แต่ก็มีรอยด่างพร้อยเป็นประเด็นนี้ที่ต่อมาผู้กำกับ Blake Edwards ก็ได้ออกมาขอโทษ แต่เหมือนจะเลือกไม่ได้เพราะถูกสตูดิโอบังคับหรือย่างไร สุดท้ายเขาก็ยังเลือก Peter Sellers มารับบทนำในหนัง The Party (1968) ในบทของคนอินเดียอีกครั้ง
Sofia Coppola ใน The Godfather Part III (1990)
จุดเริ่มต้นทางการแสดงและอาจจะถือเป็นจุดจบไปในคราวเดียวของผู้กำกับสาวลูกไม้หล่นใต้ต้นอย่าง Sofia Coppola เจ้าของผลงานกำกับอย่าง Lost in Translation (2003) แต่ก่อนหน้านั้นในภาค 3 ของหนังไตรภาคมาเฟียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง The Godfather เธอก็เคยมารับบท “แมรี่ คอร์เลโอเน่” ในตระกูลแห่งนี้ร่วมกับนักแสดงระดับ Al Pacino และ Andy Garcia ซึ่งจะบอกว่าพ่อแม่รังแกฉันที่ Francis Ford Coppola เลือกเธอมารับบทนี้เพราะพ่อกะจะดันลูกก็ไม่ถูก เพราะบทนี้เคยจะเป็นของ Julia Robert ก่อนจะถอนตัวไป และได้ Winona Ryder มาเสียบแทนจนถอนตัวไปในวินาทีสุดท้าย ผู้กำกับก็อาจจะไม่รู้จะหาใครมาได้ทันเลยให้ลูกสาวแสดงสิ้นเรื่องกันไป เธอได้ครองรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดแย่บนเวทีราซซี่ และหลังจากนั้นเธอไม่รับเล่นหนังอีกเล่น (ไปกำกับหนังรุ่งกว่าเยอะ)
George Clooney ใน Batman and Robin (1997)
กลายเป็นหนังแบ๊ตแมนที่ประสบความล้มเหลวที่สุดตั้งแต่เคยมีมา (คะแนนในเว็บ iMDB ซัดไปที่ 3.7/10) แม้ว่ารายได้จะไม่แย่ที่สิ่งที่ถูกแซวกันมานานและคงจะโดนต่อไปก็คือ ชุดแบ๊ตสูทที่มีหัวนมของ George Clooney ที่ในตอนนั้นกำลังดังสุด ๆ จากซีรีส์หมอ ER และความหล่อก็เข้าตาผู้กำกับเกย์อย่าง Joel Schumacher ที่เนรมิตทุกอย่างในเรื่องให้เต็มไปด้วยฉากโฮโมอีโรติกระหว่างแบ็ตแมนกับโรบิน และชุดแฟนตาซีของตัวละคร “มิสเตอร์ฟรีซ” ของ Arnold Schwarzenegger และ “พอยซันไอวี่” ของ Uma Thurman Clooney ยอมรับว่า บทนี้เป็นบทที่ด่างพร้อยที่สุดในชีวิตการทำงานและขอโทษแฟน ๆ ออกสื่อเสมอที่ยอมให้แบ็ตสูทมีหัวนม เขาบอกว่า เขาเลือกรับเล่นบทนี้ก็เพราะคิดว่าจะช่วยเป็นสปริงบอร์ดส่งให้เขามีที่ทางในฮอลลีวูดมากขึ้น สุดท้ายเขาก็ทำได้กับหนังในสายขายการแสดงมากกว่า
Denise Richards ใน 007: The World is Not Enough (1999)
ดาราสาวที่ฮอตปรอทแตกแห่งยุค 90s กับทรวดทรงองเอวสุดสบึมของ Dennis Richard ที่โด่งดังมาจาก Starship Troopers (1997) และ Wild Things (1998) ที่กลายเป็นหนังดังที่สุดของเธอ ด้วยความดังที่ว่าจึงถูกเลือกมารับบทสาวบอนด์ของ Pierce Brosnan ในเรื่อง The World is not Enough โดยได้มารับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์อะตอมที่ต้องมาช่วยเจมส์ บอนด์ ยับยั้งการวางระเบิดท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งการมารับบทนักวิทยาศาสตร์ในชุดนักกีฬาสุดคล่องแคล่วเป็นเหตุผลที่ Richards บอกว่า ทำให้เธออยากรับบทนี้ แต่สิ่งที่ปรากฎในเรื่องคือ ชุดแขนเสื้อกล้ามและกางเกงขาสั้นที่เธอต้องใส่ตลอดเรื่องอย่างไม่น่าจะใช่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงตัวเธอที่ดูเด็กเกินกว่าจะเป็น ดร. ก็ทำให้ไม่มีอะไรดูสมจริงสักอย่าง
Hayden Christensen ใน Star Wars: Episode II & III (2002, 2005)
เป็นหนึ่งในบทบาทยอดแย่ที่สุดในจักรวาลสงครามอวกาศ Star Wars กับผู้มารับบทอนาคิน สกายวอล์กเกอร์ ซึ่งแฟน ๆ ล้วนคาดหวังจะได้นักแสดงที่มากฝีมือมารับบทที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเป็นสุดยอดวายร้ายตลอดกาลอย่างดาร์ธ เวเดอร์ การได้ Christensen มารับบทที่แม้ว่าจะหล่อ แต่เขากลับไม่ได้แสดงอารมณ์อะไรออกมานอกจากหน้าบึ้งตึงและเก๊กหล่อใส่เพดเม่ อมิดาล่า บทของ Natalie Portman เคยมีข่าวลือว่านักแสดงที่ดังกว่าอย่าง Leonardo DiCaprio และ Paul Walker ผู้ล่วงลับเคยมาคัดเลือกเป็นบทนี้แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แสดง ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดหนังก็ยังทำเงินระเบิดระเบ้อเพราะความเป็น Star Wars แต่ Christensen ก็แทบจะจบบทบาทการเป็นนักแสดงในหนังดังเรื่องไหนอีกเลย (ไม่รู้เพราะฝีมือไม่พัฒนาหรืออาถรรพ์จากบทดังกันแน่)
Ben Affleck ใน Daredevil (2003)
ในช่วงตั้งไข่ของหนังมาร์เวลก่อนจะเกิด Marvel Studios นั้น หนังฮีโรก็ไปล้มลุกคลุกคลานอยู่กับหลายสตูดิโอรวมถึงเรื่องนี้ที่อยู่กับค่าย Fox ที่กลายเป็นความล้มเหลว Ben Affleck เป็นดารามาแรงในยุคนั้น (เล่นหนังดัง ๆ อย่าง Armageddon (1999) และ Pearl Harbor (2001) มาแล้ว) แต่ก็ได้ปี 2003-2004 ที่ไปคบอยู่กับ Jennifer Lopez กลายเป็นปีที่คนหมั่นไส้ เล่นหนังเรื่องไหนเป็นเจ๊งเรื่องนั้น ซึ่งกับบทฮีโรที่เป็นทนายตาบอดแต่ออกสู้ในยามค่ำคืนคล้าย ๆ แบ๊ตแมน เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่การที่เขาแสดงอยู่หน้าเดียวและพอสวมชุดแดร์เดวิลก็ให้สตันท์แมนเล่นแทนทั้งหมดก็เป็นที่มาของความล้มเหลว ซึ่งจากจุดนั้นก็ทำให้ Affleck อยากจะฮึดกลับมาแก้มือกับบทแบตแมนของดีซียุคหลังนี้อีกที การถ่ายหนังเรื่องนี้ยังทำให้เขาได้พบกันอดีตภรรยาอย่าง Jennifer Garner ด้วย (มีหนังแยกเดี่ยวอย่าง Elektra (2005) ที่เจ๊งหนักกว่าเรื่องนี้ไปอีก)
Nick Stahl ใน Terminator 3: Rise of the Machine (2003)
หลายคนที่ประทับใจกับบทจอห์น คอนเนอร์วัยรุ่นที่รับบทไว้อย่างหล่อโดย Edward Furlong ในภาค Judgement Day (1991) ก็คาดหวังว่าถ้า Furlong จะไม่กลับมารับบทเดิมอย่างน้อยคนที่มารับบทนี้ก็ต้องมีเสน่ห์และดูสำคัญเทียบเท่า แต่การได้นักแสดงโนเนมและแทบไม่เคยเล่นหนังมาก่อนอย่าง Nick Stahl มารับบทก็ชวนให้คนดูงงกันไปทั้งบาง แถมในเรื่องก็ยิ่งปรับลุคของเขาให้ดูโทรมสมกับการเป็นคนเร่ร่อนข้างถนนเพื่อหลบซ่อนตัวจาก Skynet ก็ยิ่งทำให้บทนี้ดูไร้สง่าราศีหนักขึ้นไปกว่าเดิม แถมบทเด่นของเรื่องก็ไปอยู่กับบท “เคท บรูว์เสตอร์” ของ Claire Danes มากกว่าด้วย สุดท้ายหนังก็พอทำเงินเพราะบารมีของสองภาคแรกที่ทำไว้ดีมาก (ซึ่งตั้งแต่ภาค 3-6 ก็กลายเป็นความล้มเหลวทางรายรับทั้งหมดอย่างปลุกผีคนเหล็กไม่ขึ้น บทจอห์น คอนเนอร์ในภาค 4 Salvation ก็เป็นรอยด่างพร้อยของ Christian Bale ด้วยเช่นกัน ชนิดที่ขอไม่เผาผีกับผู้กำกับ McG อีกเลย) คู่แข่งคนสำคัญที่เกือบจะรับบทนี้ของ Stahl คือ Shane West จากซีรีส์ Gotham และ Nikita ที่หล่อกว่ากันเยอะเลย
Colin Farrell ใน Alexander (2004)
มีคนเคยแซวว่าหนังเรื่องไหนที่ Colin Farrell ต้องสวมวิกหรือเปลี่ยนทรงผมที่ไม่ใช่ทรงผมปกติของเจ้าตัว หนังเรื่องนั้นมักจะเจ๊ง (เช่น Daredevil (2003), The New World (2005), Miami Vice (2006) รวมไปถึงเรื่องนี้ด้วยที่จับเอานักแสดงไอริชย้อมผมทองเป็นกษัตริย์กรีกผู้ปกครองมาซิโดเนียและล่าดินแดนไปค่อนโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเวลานั้น Farrell คือดาวรุ่งพุ่งแรงที่เล่นแต่หนังดี ๆ และระดับผู้กำกับอย่าง Oliver Stone ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักแสดงและทีมงานเชื่อว่าหนังจะประสบความสำเร็จ ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ยิ่งของหนังเรื่องนี้คือ การวางแผนงานสร้างที่มั่วไปหมด จากการต้องไปถ่ายทำหลายประเทศ (มาไทยด้วย) นักแสดงที่มารับบทเป็นแม่ของอเล็กซานเดอร์มหาราชคือ Angelina Jolie ที่แก่กว่า Farrell แค่ปีเดียว สุดท้ายหนังก็กลายเป็นยักษ์ล้มของปี 2004 ทำรายได้รวมทั่วโลก 167 ล้านเหรียญจากทุนสร้าง 155 ล้านเหรียญฯ แต่มาทำรายได้ดีตอนเป็นหนังแผ่นที่ออกมาหลายเวอร์ชัน
Halle Berry ใน Catwoman (2004)
นักแสดงหญิงแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้รางวัลออสการ์สาขานำหญิงอย่างเธอ ได้ปี 2002 เป็นปีที่ดีมากเพราะนอกจากจะได้ออสการ์ ก็ยังได้ 007 Die Another Day (2002) หนังบอนด์เรื่องสุดท้ายของ Pierce Brosnan เป็นหนังฮิตกับบท “จิงซ์” ที่ขโมยซีน 007 ตลอดเรื่องจนถึงขนาดที่เกือบจะมีหนังภาคแยกเดี่ยวเป็นของตัวเอง แต่ในยุคนั้นที่หนังนำเดี่ยวของนักแสดงหญิงยังเกิดได้ยากเทียบกับหนังนำเดี่ยวของนักแสดงชาย 2 ปีต่อมาเธอก็มีโอกาสได้เล่นหนังฮีโร Catwoman ซึ่งจากหนังฮีโรก็ได้กลายเป็นหนังสยองขวัญตั้งแต่คอสตูมเครื่องแต่งกายที่ออกแบบได้เห่ย กับบราหนัง กางเกงขาดเป็นริ้ว และรองเท้าเปิดหัวที่โชว์เล็บเท้าสีแดง หนังห่วยไปทุกภาคส่วนโดยเฉพาะบท ทำให้คว้ารางวัลราซซี่หนังยอดแย่ รวมถึงเธอก็ได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดแย่ Berry ไปรับรางวัลด้วยตัวเองซึ่งปกติไม่มีใครทำ (อีกคนคือ Sandra Bullock) พร้อมกับเอารางวัลออสการ์ไปถือคู่กับราซซี่ด้วย ชนะเลิศ!
Scarlett Johansson ใน The Prestige (2006) และ Ghost in the Shell (2017)
แม้ว่าทุกวันนี้ Scarlett Johansson จะกลายเป็นนักแสดงที่เล่นหนังรางวัลก็ดี เล่นหนังฟอร์มยักษ์ก็ขายได้ แต่ในยุคเริ่มแรกที่กำลังไต่เต้าความดังนั้น เธอก็เคยได้ไปร่วมแสดงในหนังศึกนักมายากลของผู้กำกับ Christopher Nolan มาก่อนเรื่อง The Prestige ซึ่งขึ้นชื่อว่า Nolan ที่เป็นจอมเนี้ยบก็ให้เธอต้องฝึกพูดสำเนียงอังกฤษ Johansson ที่เป็นนักแสดงอเมริกันจึงอึดอัดอย่างมากที่ไม่สามารถฝึกการพูดได้ในตอนนั้น สุดท้ายบทของเธอก็เลยไม่โดดเด่นเท่ากับนักแสดงคนอื่น อีกครั้งกับบทในหนังที่ดัดแปลงมาจากมังงะญี่ปุ่น ต้นกำเนิดเดียวกันกับหนัง Matrix กลายมาเป็น Ghost in the Shell ที่ถูกโจมตีว่าเป็นการฟอกขาว เลือกนักแสดงฝรั่งมารับบทนำเป็นคนเอเชีย (ที่ในยุคปัจจุบันไม่น่าเกิดขึ้นแล้ว) จนพาลให้คนไม่ไปดูและหนังก็ล้มเหลวทางรายได้ในท้ายที่สุด
Brie Larson ใน Kong: Skull Island (2017)
หลังจากคว้าออสการ์นำหญิงจาก Room (2015) ทั้งที่แสดงหนังมาหลายเรื่องแต่ก็ยังไม่ดังเสียที การคว้าออสการ์ได้ทำให้เธอได้สปริงบอร์ดส่งให้มารับบทซูเปอร์ฮีโรหญิงที่หนังทำรายได้สูงที่สุดในโลกอย่าง Captain Marvel (2019) แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องที่ว่า Brie Larson ก็ได้ไปแสดงในหนังสัตว์ประหลาดในบรรยากาศยุค 70s สงครามเวียดนามอย่าง Kong: Skull Island ที่ในเรื่องเธอรับบทเป็นนักข่าวสาวที่ตามไปถ่ายภาพยังเกาะประหลาด น่าเสียดายที่ในเรื่องนี้เธอไม่ได้โชว์ความสามารถทางการแสดงอะไรเลย นอกจากเดินถ่ายรูปและอธิบายเบาะแสต่าง ๆ ให้คนดูฟัง แล้วก็ยังเป็นรองบทเด่นของเพื่อนร่วมจักรวาลมาร์เวลอย่าง Tom Hiddleston และ Samuel L. Jackson ที่โดดเด่นกว่ามาก สุดท้ายเธอก็เลยแทบจะเป็นตัวประกอบของหนังและคงไม่นับบทบาทนี้เป็นที่น่าจดจำสักเท่าไร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส