Wanted ออกฉายเมื่อปี 2008 เป็นหนังแอ็กชันที่เต็มไปด้วยไอเดียแปลกใหมม่จากผู้กำกับ ทิมเมอร์ เบกแมมบีทอฟ ที่โด่งดังมาจากรัสเซีย หนังได้แองเจลีนา โจลี มารับบทนำประกับกับ เจมส์ แม็กเอวอย แล้วยังมี มอร์แกน ฟรีแมน รับบทสมทบอีกด้วย หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงตอนที่ออกฉาย กวาดรายได้ไปมากถึง 342 ล้านเหรียญ ตั้งแต่วันนั้นทางยูนิเวอร์แซล ก็พูดถึงโพรเจกต์ภาคต่อมาโดยตลอด แต่กลับใช้เวลากว่าทศวรรษ เราถึงจะได้เห็น Wanted 2 เริ่มมีเค้าโครงความเป็นไปได้มากขึ้นในวันนี้
ทิเมอร์ เบกแมมบีทอฟ เข้าพูดคุยความคืบหน้าของโพรเจกต์กับยูนิเวอร์แซลแล้ว Wanted 2 จะมาในมุมมองแบบใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้แฟน ๆ ที่ประทับใจภาคแรกอาจจะต้องบอกว่าเสียดาย ที่เราจะไม่ได้เห็นภาพลูกกระสุนที่วิ่งออกจากปากกระบอกปืนแล้วหมุนติ้ว ๆ แบบใกล้ชิดอีกแล้วในภาค 2 เพราะว่าผู้กำกับทิเมอร์ กำลังลุ่มหลงกับวิธีการเล่าเรื่องแบบ Screenlife technology เจอศัพท์คำนี้เข้าไป หลายคนต้องงงแน่นอน แต่ถ้าใครเคยดูหนังอย่าง Unfriended และ Searching น่าจะร้องอ๋อ เพราะ Screenlife technology ก็คือหนังที่เล่าเรื่องผ่านหน้าจออุปกรณ์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอสมาร์ตโฟน, หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเว็บแคม
ซึ่งวาทศิลป์ของ ทิเมอร์ ทำงานได้ดี ทางยูนิเวอร์แซลเห็นพ้องกับไอเดียสร้างหนังด้วย Screenlife technology ตามที่ทิเมอร์เสนอ ตอนนี้ทิเมอร์เซ็นสัญญากับยูนิเวอร์แซลไปแล้ว ว่าจะต้องสร้างหนังด้วยเทคโนโลยี Screenlife technology ให้กับยูนิเวอร์แซลถึง 5 เรื่อง ตอนนี้มาอ่านถ้อยคำของ ทิเมอร์ เบกแมมบีทอฟ กัน
“ผมอาจจะเล่าเรื่องราวภาคต่อของ Wanted ในรูปแบบ Screenlife เพราะว่าผมนึกภาพนักฆ่าในโลกวันนี้ที่ยังต้องถือปืนวิ่งไปวิ่งมาไม่ออกแล้ว เพราะอะไรน่ะเหรอ นักฆ่าในโลกปัจจุบันนี้จะใช้โดรน ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ผมว่าคนดูอาจจะไม่อยากเห็นลูกกระสุนวิ่งอีกต่อไปแล้วละมั้ง พวกคุณต้องดูไอเดียที่ฉีกออกไปแล้ว”
ทิเมอร์ ยังเล่าต่ออีกว่าถ้าเขาเสนอไอเดียสร้างหนังที่เล่าเรื่องด้วย Screenlife technology เมื่อปีที่แล้ว ทั้งยูนิเวอร์แซล หรือค่ายหนังไหนก็คงไม่สน แต่เมื่อสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาด แล้วผู้คนต้องดำเนินชีวิตด้วยวิธี Social Distancing กัน ทำให้ไอเดียเรื่อง Screenlife technology กลับดูน่าสนและเป็นไปได้มากขึ้น เพราะขั้นตอนการสร้างมันสะดวกกว่าเดิมมาก สามารถถ่ายทำได้โดยที่ทีมงานกับนักแสดงไม่ต้องอยู่ด้วยกัน
บวกกับหนัง Unfriended และ Searching ทั้ง 2 เรื่องนี้ที่นำเสนอด้วยเทคโนโลยี Screenlife ก็ล้วนทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ Unfriend เป็นหนังของยูนิเวอร์แซล ใช้ทุนสร้างไปแค่ 1 ล้านเหรียญ แต่ทำเงินไปมากถึง 62 ล้านเหรียญ, ส่วน Searching นั้นเป็นหนังของSony ใช้ทุนสร้างไปแค่ 880,000 เหรียญ แต่ทำเงินไปมากถึง 75 ล้านเหรียญ นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ยูนิเวอร์แซลเห็นพ้องตามไอเดียการนำเสนอของทิเมอร์ถึงขั้นเซ็นสัญญากับเขาทีเดียวถึง 5 เรื่อง
“นับถอยหลังไปก่อนหน้านี้ 2 เดือน ไอเดียผมนี่เข้าใจยากมาก ไม่มีใครเข้าใจความหมายของ Screenlife ที่ผมพยายามจะสื่อ แต่พอเข้าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี่ที่เราต้องอยู่แบบแยกห่างกัน พวกเราต้องมาเรียนรู้กันใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล ส่วนตัวผมกับยูนิเวอร์แซลสตูดิโอนั้น เรามีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน เพราะผมเคยสร้างหนัง Wanted กับเขา เราทำหนังในรัสเซียด้วยกันเรื่อง Black Lightning เป็นหนังซูเปอร์ฮีโรในแบบรัสเซีย”
“แล้วจากนั้นก็มาทำ Unfriended ด้วยกันเป็นเรื่องถัดมา ดอนนา แลงลีย์ เป็นผู้บริหารสตูดิโอคนแรกที่เห็นชอบกับไอเดีย Screenlife ของผม เธอบอกว่า ‘โอเค งั้นเรามาลองเสี่ยงกัน ลองสร้างด้วยกันดู เราจะลองเอาจอคอมพิวเตอร์มาขึ้นจอหนังกัน’ แล้วในที่สุดมันก็ประสบความสำเร็จ โชคดีที่ผมได้ดอนนา และ เจสัน บลัม คอยสนับสนุนผม แล้วตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเขาจะต้องมาสนับสนุนผมในหนังที่ผมจะนำเสนอในรูปแบบของผมเองบ้าง”
ตอนนี้ยังไม่มีสักเรื่องในโพรเจกต์ 5 เรื่องของทิเมอร์ที่มีการประกาศสร้างอย่างเป็นทางการ