‬[รีวิวสารคดี] The Kingmaker – ต้นไม้แห่งเผด็จการที่ไม่มีวันตายของอีเมลดา มาร์กอส

Release Date

02/07/2020

แนวภาพยนตร์

สารคดี

เรต

R (มีภาพความรุนแรง)

ความยาว

101 นาที

ผู้กำกับ

Lauren Greenfield

‬[รีวิวสารคดี] The Kingmaker – ต้นไม้แห่งเผด็จการที่ไม่มีวันตายของอีเมลดา มาร์กอส
Our score
10.0

The Kingmaker

จุดเด่น

  1. เจาะลึกเรื่องราวของอีเมลดา มาร์กอส ควบคู่ไปกับความจริงของอีกฝั่งอย่างเข้มข้น
  2. เรื่องราวเวอร์วังของอีเมลดา กลายเป็นสีสันที่น่าขัน และทั้งหดหู่่ในระหว่างเดียวกัน
  3. ฟุตเตจและบทสัมภาษณ์ทรงพลังมากจนทำให้ดูแล้วขนลุก
  4. ดูแล้วอาจจะคิดถึงบางประเทศบางประเทศ ที่ตอนนี้ก็คล้าย ๆ แบบนี้แหละ

จุดสังเกต

  1. ตัวหนังมีความเป็นสารคดีการเมือง อาจจะเป็นยาขมสำหรับคนที่ไม่ค่อยสนใจ
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    10.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    10.0

  • คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น

    10.0

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    10.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    10.0

สนับสนุนข้อมูลโดย SF Cinema

เรื่องย่อ อีเมลดา มาร์กอส เป็นทั้งผู้อยู่เบื้องหลังและตัวแสดงเบื้องหน้าของ “ตระกูลมาร์กอส” ครอบครัวที่ปกครองประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลายาวนาน และแม้ช่วงเวลาแห่งความเรืองรองจะผ่านพ้น อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งผู้เป็นที่จดจำจากไลฟ์สไตล์ฟุ้งเฟ้อหรูหราผู้นี้ก็ยังดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อปลุกความเกรียงไกรให้แก่ครอบครัวของเธอผ่านการผลักดันลูกชายเข้าสู่อำนาจทางการเมือง สารคดีเรื่องนี้ย้อนสำรวจความเป็นมาอันน่าพรั่นพรึงจนถึงวันเวลาปัจจุบันของอีเมลดา ผู้กำลังพยายามเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการลบล้างอดีตที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉลโหดร้าย แล้วแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ของ “แม่ผู้แผ่ความรักอันไพศาลแก่ประเทศชาติ”

อิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) คืออดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่ผมเชื่อว่าหลายคนต่อให้ไม่ได้สนใจเรื่องต่างประเทศก็ต้องเคยได้ยินบ้างแหละ ซึ่งเรื่องราวอันมีสีสันของเธอก็คือ วีรกรรมสุดโต่งนับไม่ถ้วนครั้งที่เธอได้ก่อไว้นี่แหละครับ ทั้งจากเรื่องชีวิตของเธอเอง อิทธิพลของเธอต่อคนรอบข้าง ทรัพย์สินที่เธอถือครอง ข่าวซุบซิบที่รู้กันทั้งโลกเกี่ยวกับวีรกรรมของเธอ

ยกตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เช่น ในสมัยสาว ๆ เธอเคยประกวดนางงามมะนิลา ในปี 1953 ซึ่งเธอได้อันดับที่ 3 จนปีต่อมาเธอไปเหวี่ยงวีนกองประกวด และประท้วงกับนายกเทศมนตรี จนต้องมอบตำแหน่ง ‘The Muse of Manila’ ให้เพื่อเป็นการตัดรำคาญ และนั่นยังเป็นจุดเริ่มต้นในการพบเจอกับนักการเมืองดาวรุ่งอย่างเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ทั้งคู่ตกหลุมรักกันภายในเวลาเพียง 20 นาที และแต่งงานกันหลังพบกันเพียงแค่ 11 วัน ด้วยความมีเสน่ห์ พูดจาฉะฉาน และมั่นใจในตัวเองของเธอ จึงทำให้สาวต่างจังหวัดอย่างเธอและสามีกลายเป็นจุดสนใจของสื่อ

หลังจากที่เฟอร์ดินานด์ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 1965 เธอได้กลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอออกติดตามสามีไปช่วยทำงานแบบแข็งขันในทุกฝีก้าว ในระหว่างช่วงสงครามเย็น รัฐบาลของมาร์กอสรับใช้สหรัฐฯ อย่างแข็งขัน เริ่มมีการใช้อำนาจและความรุนแรงกับประชาชน ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริงสลายการชุมนุมการประท้วงในปี 1970 และใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์ในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ตั้งแต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการจะล้มระบอบมาร์กอส สื่อที่พูดหรือเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือแม้แต่ประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาประท้วง หนักข้อที่สุดก็คือการประกาศกฏอัยการศึกเพื่อรักษาอำนาจให้ตัวเองได้ดำรงอำนาจอยู่ต่อแบบไม่แคร์เวิลด์

ด้วยอำนาจของสามี อีเมลดาใช้อำนาจของความเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งในการเป็นแม่แห่งชาติ (และแม่ของคนทั้งโลก) ด้วยการเข้าเยี่ยมเยียนสถานสงเคราะห์คนยากจน สลัม ถิ่นทุรกันดาร เที่ยวแจกเงินกับคนยากจนเหมือนเดินแจกใบปลิว เป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปาชีพของฟิลิปปินส์ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยไปกับทุกสิ่งอย่าง (ที่ดูแปลกประหลาด) ตั้งแต่การสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมถึงอย่างที่เราทราบกัน (และสื่อก็มักจะคอยแซะเธอเรื่องนี้เสมอ) ว่า เธอมีรองเท้าที่ถูกค้นพบในทำเนียบมาลากัญญัง (ทำเนียบประธานาธิบดี) กว่าสามพันคู่ รวมถึงยังมีบ้านที่เอาไว้เก็บแฟ้มคดีความของเธอและสามีนับร้อยนับพันเล่ม

แน่นอนว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องแค่ความหรูหราฟู่ฟ่าของอีเมลดาเท่านั้น เพราะแม้ว่าในช่วงแรกจะเป็นการพาไปสำรวจความหรูหรา และฟังเธอนั่งเล่าเรื่องชีวิตอันแสนจะประเสริฐเลิศล้ำ (ที่เธอเล่าออกมาจากปากตัวเอง) อย่างเป็นธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่ง (แถมยังได้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำสัมภาษณ์ติดมานิดหน่อยด้วย) รวมถึงพาไปดูกิจกรรมของเธอในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ได้เห็นพฤติกรรมความเป็นแม่ของเธอ ตั้งแต่ที่เธอนั่งรถ เปิดหน้าต่างแล้วไล่แจกเงินชาวบ้าน ไปเยี่ยมสถานที่ดูแลเด็กผู้ป่วยมะเร็ง เธอก็สั่งให้ผู้ติดตามหยิบเงินเป็นฟ่อน ๆ แล้วเดินแจกเงินให้เด็ก ๆ ซะงั้น

ในหนัง เราจะได้เห็นเรื่องราวของ “โลกคู่ขนาน” จากสองฟากฝั่งค่อย ๆ ไหลออกมาปน กันเรื่อย ๆ เบื้องหลังโลกคู่ขนานของสารคดีนี้อยู่ที่ Lauren Greenfield ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งพูดคุยกับอีเมลดาแบบใกล้ชิด และค้นพบว่า เธอมองเห็นถึงความย้อนแย้ง และเชื่อถือไม่ได้ของอีเมลดา ลอเรนจึงเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบ cinéma vérité (ภาพยนตร์ความจริงบริสุทธิ์) ที่นำเอาฟุตเตจสัมภาษณ์ของอีเมลดา ที่ลอเรนตัดสินใจให้เธอพูดในสิ่งที่อยากจะพูดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

รวมถึงปฏิกิริยาท่าทางของเธอต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ปรุงแต่งมากนัก เช่นช็อตที่เธอหยิบกรอบรูปภาพประวัติศาสตร์ แต่เผลอทำกรอบรูปอื่น ๆ ตกแตก แต่เธอก็ยังคงพูดต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือตอนที่ผู้กำกับอยากถ่ายภาพนิ่งของเธอ แล้วขอให้เธอมองมาที่ช่างภาพ แต่กลับได้ภาพของอีเมลดาที่ตาเหลือบออกไปทางอื่น (เพราะไม่ยอมมองกล้อง) แทน

จากนั้นก็เอามามาปะทะกับฟุตเตจสัมภาษณ์บุคคลอื่น ๆ ที่เคยเกี่ยวข้องกับเธอ รวมถึงฟุตเตจข่าวจากทั้งในและนอกฟิลิปปินส์ (ต้องชื่นชมว่าหาได้โคตรเก่ง) ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอันโหดร้ายของ “ระบอบมาร์กอส” ที่ใช้อำนาจในการควบคุมอำนาจ สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง คู่ขัดแย้งที่ต่างก็ต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากการปราบปราม ป้ายสี หรือไม่ก็เป็นเหยื่อโดนไข้โป้ง รวมถึงเรื่องของการทุจริตคอรัปชันที่ทำกันแบบเป็นล่ำเป็นสัน ในขณะที่บ้านเมืองของฟิลิปปินส์เองก็ยังเต็มไปด้วยคนยากคนจน แถมยังมีเรื่องของการพยายามกลับสู่อำนาจของเธอ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการส่งลูกชายคนรองอย่าง “บองบอง มาร์กอส” เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพียงเท่านั้น

สารคดีเรื่องนี้จึงกลายเป็นการนำเอาอีเมลดา ในฐานะ “คนต้นเรื่อง” มาเล่ามุมมองของ “โลกของอีเมลดา” (ที่จะบอกว่าเธอคิด เชื่อ ทำแบบนั้นจริง ๆ ก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นเพียงการโกหกหน้าด้าน ๆ ของเธอก็ได้เหมือนกัน) ในความพยายามที่จะลบล้างอดีตอันฉ้อฉลที่เธอและสามีได้ก่อไว้ และตบแต่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ใสสะอาด มาปะทะกับ “ความเป็นจริงแวดล้อมในอีกด้านหนึ่ง”

“สิ่งที่คนรับรู้ต่างหากคือของจริง ส่วนสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงน่ะ ไม่จริงหรอก” – อีเมลดา มาร์กอส

มาปะทะกับ “ความเป็นจริงแวดล้อมในอีกด้านหนึ่ง” ผ่านเรื่องราวอันแสนจะย้อนแย้งที่ตีคู่กันไปตลอดทั้งเรื่อง ฟุตเตจภาพข่าวในอดีตอันทรงพลังที่นำมาประกอบกันได้อย่างพอดิบพอดีกับเรื่องที่เล่า และรวมถึงการถ่ายทอดความโหดร้ายของเผด็จการมาร์กอส ทำให้สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เพียงแค่เล่าเรื่องสีสันและความฟุ่มเฟือยและใช้อำนาจในการทำสิ่งประหลาดต่าง ๆ นานาของอีเมลดาแค่เพียงในเชิงซุบซิบ ช่างแซะ ขบขัน หรือฉาบฉวยเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้ประกอบสร้างให้ตัวหนังความยาว 101 นาทีได้ทำให้คนดูเห็นความย้อนแย้ง และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนดูได้เก็บไปคิดต่อกันเองว่า อะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งที่เชื่อไม่ได้กันแน่ แน่นอนว่าพอมันเป็นเรื่องการเมือง ก็แอบมีจุดสังเกตเล็ก ๆ สำหรับสารคดีเรื่องนี้เหมือนกันคือ เรื่องการเมืองที่แอบเข้าใจยากนิดหน่อยตอนช่วงกลาง ๆ เรื่อง ซึ่งเป็นช่วงที่บทสัมภาษณ์ของอีเมลดา (ที่ดันกลายเป็นสีสันของหนังไปโดยปริยาย) โดนลดทอนลงมาพอดี ก็เลยอาจจะกลายเป็นสัมภาษณ์ในเชิงการเมือง และความโหดร้ายของเผด็จการ ที่ดูแล้วขมปี๋ หดหู่ และชวนง่วงอยู่นิด ๆ อยู่เหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ตาม สารคดีเรื่องนี้ก็ทรงพลังอย่างที่ผมกล้าพูดได้ว่า ดูไปก็ขนลุกไปตลอดทั้งเรื่อง ด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ฟุตเตจทุก ๆ ช็อต ประกอบกันกลายเป็นสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวความหรูหราที่ทั้งดูประหลาด ย้อนแย้งของอีเมลดา และเรื่องราวฉ้อฉลของการเมืองฟิลิปปินส์ ความโหดร้ายของเผด็จการมาร์กอส เป็นเรื่องราวของต้นไม้แห่งเผด็จการ ที่แม้ว่าจะถูกโค่นล้มไปแล้ว แต่ด้วยความที่รากยังคงหยั่งลึกต่อไปเรื่อย ๆ ต้นไม้แห่งเผด็จการต้นนี้ก็เลยดูเหมือนว่าจะไม่มีวันตาย เพียงแต่รอโอกาสที่จะแตกดอกงอกใบออกมาอีกครั้งในไม่ช้าก็เร็ว

สารคดีเรื่องนี้จึงกลายเป็นสารคดีที่ทั้งโคตรเข้มข้น มีสีสัน ชวนให้ตื่นตะลึง และทรงพลังสุด ๆ ซะจนทำให้ข่าวซุบซิบเรื่องรองเท้าสามพันคู่ในทำเนียบมาลากัญญัง หรือการแต่งงานภายใน 11 วันของอีเมลดา กลายเป็นเพียงเรื่องธรรมดาจิ๊บ ๆ ไปเลยแหละ!


The Kingmaker แด่ลูก ผัว และตัวฉันเอง… อีเมลดา มาร์กอส เริ่มฉายแล้ววันนี้ที่ SF Cinema (เซ็นทรัลเวิลด์ / เทอร์มินัล 21 / งามวงศ์วาน / ลาดพร้าว / คริสตัลเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา / เมญ่าเชียงใหม่) และเริ่มฉายวันที่ 16 ก.ค. ที่ House Samyan / BKKSR / Lido Connect

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส