Release Date
15/09/2020
แนวภาพยนตร์
สารคดี
เรต
13+
ความยาว
1.19 ชม. (79 นาที)
ผู้กำกับ
ไพลิน วีเด็ล
Our score
8.7Hope Frozen: A Quest To Live Twice 'ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง'
จุดเด่น
- เล่าเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ VS ความเชื่อ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
- มีเรื่องราวเกี่ยวกับไครโอนิกส์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
- การลำดับภาพและเพลงประกอบคือหมัดเด็ดของสารคดีเรื่องนี้
จุดสังเกต
- การดำเนินเรื่องอาจเรียบไปสักหน่อยสำหรับคนขี้เบื่อ
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
9.0
-
คุณภาพงานสร้าง
8.8
-
คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น
7.9
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
9.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.0
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ๆ ครับ สำหรับ Netflix ที่ตัดสินใจเอาภาพยนตร์สารคดี Hope Frozen ฝีมือการกำกับโดย อดีตพิธีกรรายการวัยรุ่น “ทีนทอล์ก” และนักข่าวอิสระ ไพลิน วีเด็ล เรื่องนี้ออกมาฉาย เพราะแม้ว่าตัวสารคดีเองจะมีจุดเริ่มต้นจากข่าวที่ผู้คนสนใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และตัวสารคดีเองก็ได้มีโอกาสฉายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังได้รับรางวัลระดับสากลมาแล้วจากหลายเวที ทั้งรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยอดเยี่ยมจากเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival ในปี 2019 และในปีนี้ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ในเทศกาล San Antonio Independent Film Festival จากภาพยนตร์สารคดีที่เข้าชิงรางวัลกว่า 900 เรื่อง อีกด้วย
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยกระแสของสารคดีเล็ก ๆ เรื่องนี้ก็ถือว่าค่อนข้างอยู่ในวงแคบ ๆ สำหรับคนที่เป็นแฟนหนังสารคดีเท่านั้น เรียกได้ว่ามีโอกาสที่จะฉาย และโอกาสที่จะได้ชมนั้นมีน้อยมาก ๆ จนกระทั่ง Netflix ได้ประกาศไว้เมื่อเดือนก่อนว่า จะหยิบเอาภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มาฉาย ผมเองที่เคยพลาดโอกาสในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในเทศกาลหนัง ก็ถืงกับต้องตั้งเวลา และตั้งตารอไว้เลยครับ เพราะด้วยความน่าสนใจของเรื่องราว รวมถึงตัวสารคดีเรื่องนี้ ใน Netflix เอง ก็จะมีความแตกต่างออกไปจากเวอร์ชันที่ได้ฉายในเทศกาลต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ด้วย เพราะจะมีการเพิ่มเติมภาพความทรงจำของครอบครัวนี้ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนเพิ่มเติมเข้าไปอีก สำหรับผม นี่จึงถือว่าเป็นโอกาสที่พิเศษมาก ๆ
สารคดีเรื่องนี้ตามติดเรื่องราวของครอบครัว “เนาวรัตน์พงษ์” โดยแกนกลางของเรื่องราวก็คือ เด็กหญิงวัยสองขวบที่ชื่อว่า “น้องไอนส์” เด็กหญิงเมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเนื้องอกประสาทส่วนกลาง อันเป็นโรคมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดในโลก แม้ว่าจะผ่านการผ่าตัด 10 ครั้ง คีโม 12 ครั้ง ฉายแสง 2 ครั้ง และเข้าออกไอซียูหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถจะยื้อชีวิตของน้องไอนส์ไว้ได้
“ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์” ผู้เป็นพ่อ จึงตัดสินใจที่จะนำร่างของลูกสาวไปยังมูลนิธิ Alcor Life Extension Foundation ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เพื่อทำวิธี “ไครโอนิกส์” (Cryonics) หรือการเก็บรักษาเซลล์ด้วยการแช่แข็งร่าง (หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่นศีรษะ) ในถังที่บรรจุไนโตรเจนเหลวภายใต้อุณหภูมิ -196 องศา โดยหวังว่าเมื่อวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า ก็อาจจะมีวิธีการที่จะรักษาโรคร้าย และปลุกชีวิตน้องไอนส์ให้ฟื้นคืนมาได้อีกครั้ง ซึ่ง ดร.สหธรณ์ยังหวังพยายามส่งต่อความหวังนี้ให้กับเมทริกซ์ ลูกชายคนโต ที่จะมีโอกาสใช้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ในการคืนชีพให้กับน้องสาวของเขาเอง
แม้ว่าด้วยภาพที่สื่อออกมาทั้งหมด จะดูมีความเป็นวิทยาศาสตร์และมีความวิชาการหน่อย ๆ อารมณ์ประมาณเหมือนเป็นสารคดีที่จะพาไปดูขั้นตอนของการทำไครโอนิกส์ พาไปดูเบื้องหลังและเคล็ดลับต่าง ๆ รวมถึงการค้นหาว่าในวงการวิทยาศาสตร์นั้น เล็งเห็นผลหรือมีความหวังอะไรกับการรักษาโรคมะเร็ง หรือการเก็บรักษาร่างไว้เพื่อรอวิทยาการในอนาคตหรือไม่ แต่ก็ต้องบอกเลยนะครับว่า กับสารคดีเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แม้ว่าจะมีเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามาเจือปนบ้าง แต่ก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก จะว่าไป สำหรับผมแล้ว สารคดีเรื่องนี้คือสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องของ “ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์” ที่มีความเป็นครอบครัววิทยาศาสตร์ ที่มีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงยังสะท้อนภาพความเชื่อแบบไทย ๆ ทั้งเรื่องของความเชื่อ ศาสนา เรื่อยจนไปถึงเรื่องใหญ่โตอย่างเช่นเรื่องปรัชญาได้ดีทีเดียวเลย
ด้วยตัวของคุณพ่อนักวิทยาศาสตร์ที่มีแนวคิดที่จะทำไครโอนิกส์กับร่างของลูกสาว และภรรยาที่ก็เป็นนักวิทยาศาตร์ รวมถึง “เมทริกซ์” ลูกชาย ที่ก็มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความหวังแบบวิทยาศาสตร์ว่า ลูกสาวที่ถูกแช่ในถังไนโตรเจนเหลวนั้นไม่ใช่ “ศพ” หรือ “คนตาย” แต่เป็นเพียง “คนป่วย” ที่ถูกทำให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างในระดับเซลล์ เพื่อหวังว่าจะมีวิธีการใดก็ตามในอนาคตที่จะรักษากับโรคมะเร็ง ปรับเปลี่ยนในระดับดีเอ็นเอ และประกอบร่างฟื้นคืนขึ้นมาในร่างใหม่ และกลายเป็น “น้องไอนส์” ในร่างใหม่ที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาในอีกหลายสิบ หรือหลายร้อยปีนับจากนี้
ซึ่งข้อเท็จจริงของความเป็นวิทยาศาสตร์นี่แหละครับ ที่กำลังจะมาพบกับ “จุดตัด” ของความเชื่อ ศาสนา สัจธรรม ปรัชญาบางอย่างที่ตัดกับความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ความเชื่อที่เข้มข้นในฝั่งวิทยาศาสตร์บางทีก็ดูเพ้อฝันไปเลย อย่างเช่นเรื่องง่าย ๆ อย่างการเก็บไว้เฉพาะศีรษะ ที่อาจทำให้วิญญาณไปสู่ภพภูมิแบบไม่ครบถ้วน การไม่ยอมรับสัจธรรมที่ว่าทุกชีวิตมีการเกิดก็ต้องมีการดับ การที่ถูกมองว่าไม่ยอมตัดใจจากการพลัดพราก ที่เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องเจอ ความเป็นมนุษยธรรมในแง่ที่ว่า ถ้าน้องไอนส์ฟื้นขึ้นมาจริง ๆ ในวันหนึ่งแม้ว่าจะมีหลักฐานเป็นข้าวของ ภาพถ่าย ภาพวีดิโอ (หรือแม้แต่หนังเรื่องนี้) บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยมีครอบครัวที่รักเธออยู่และมีตัวตนจริง แต่ถึงเวลานั้น เธออาจจะต้องอยู่คนเดียวลำพังโดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วยแล้วก็ได้
หรืออีกจุดที่ผมชอบมากในหนังก็คือ เรื่องของการที่เมทริกซ์ได้มีโอกาสไปเรียนรู้กับศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง แล้วค้นพบว่า แม้ร่างกายจะฟื้นขึ้นมาแล้ว แต่การที่จะเชื่อมต่อหรือเรียกความทรงจำที่เคยมีเมื่อตอนมีชีวิตกลับคืนมาอาจจะเป็นเรื่องยากกว่า หรืออาจแทบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดไคลแม็กซ์ใหญ่ของตัวหนัง ที่แม้ว่าไม่ได้เปลี่ยนความคิดของครอบครัว แต่ก็ทำให้ความคิดและความเชื่อต้องสั่นคลอนในระดับที่ทำให้ความมุ่งมั่นของเมทริกซ์ที่อยากจะใช้ความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยน้องสาว ยังต้องกลับมา “คิดใหม่” กันอีกที
แต่ทั้งหมด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ครอบครัวก็ยังมีความหวังว่า สักวัน เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนโฉมหน้าความเชื่อ สัจธรรม และปรัชญาทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงความรัก และความหวัง จะทำให้เด็กหญิงคนหนึ่ง ได้มี “โอกาสที่สอง” ที่จะได้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป
แม้ว่าจุดสังเกตหนึ่งในหนังที่ผมรู้สึกได้ว่า กราฟความพีกของหนังสารคดีเรื่องนี้อาจราบเรียบไปนิด แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยฝีมือการกำกับและสัมภาษณ์ของผู้กำกับ และการลำดับภาพโดย ลี ชาตะเมธีกุล นักลำดับภาพฝีมือเทพแห่งยุค สามารถลำดับภาพ และใช้ภาพในการสื่อเรื่องราวได้อย่างปราณีต งดงาม และสวยราวกับเป็นหนัง Fiction ดี ๆ เรื่องหนึ่งเลย ทำให้เราสามารถคล้อยตามไปกับเรื่องราวของครอบครัวได้อย่างงดงาม รวมถึงการใช้ฟุตเตจของครอบครัวมาประกอบ ก็ทำได้อย่างมีพลังและอิมแพ็กมาก ๆ ชนิดที่ว่าดูแล้วอาจน้ำตาซึมได้เลยทีเดียว
รวมถึง Original Soundtrack แนวแอมเบียนต์โดย ฟิว ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล ที่มีกลิ่นอายของความเศร้าเจือไปกับความหวังอันสวยงาม ซึ่งทำงานได้เข้ากับภาพ และส่งแรงกระเพื่อมทางอารมณ์ใหัภาพและตัวหนังได้อย่างพอดี ไม่แหลมเด่นออกมาจากตัวหนัง แต่ก็ไม่ได้กลมกลืนเกินไปจนไม่รู้สึกถึงอะไรเลย
‘ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง’ คือสารคดีที่หลอมรวมความเป็นวิทยาศาสตร์และความเชื่อ ความฝันและความเป็นจริง ความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ ปรัชญาที่ครั้งหนึ่งเคยจริง แต่มันอาจกลายเป็นเรื่องไม่จริงก็ได้ สัจธรรมและการล้มล้างสัจธรรม การและรวมถึงความรักและการพลัดพลากเอาไว้รวมกันได้อย่างงดงาม เศร้าสร้อย แต่ในขณะเดียวกันที่ชม เราก็จะรู้สึกถึงแสงสว่างอะไรบางอย่างที่แม้จะยังพร่าเลือนและริบหรี่ แต่มันก็ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้ว่า จะลุกโชนขึ้นในวันใดวันหนึ่ง ที่น้องไอนส์ลืมตาขึ้นมามองเห็นโลกยุคใหม่ในอีก อาจจะร้อยหรือพันปีข้างหน้า หรือนั่นก็อาจเป็นไปไม่ได้เลย
แต่อย่างไรเสีย สิ่งที่ดูเหมือนจะอยู่นาน มีอายุยืนยาวยิ่งกว่าร่างกายและวิทยาการใด ๆ นั่นก็คือความรัก และความหวังต่างหาก
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส