[รีวิว] Enola Holmes: น้องสาว เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ผจญภัย ผ่านวัยใสสู่วัยซ่าสตรีนิยม

Release Date

23/09/2020

ความยาว

123 นาที

[รีวิว] Enola Holmes: น้องสาว เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ผจญภัย ผ่านวัยใสสู่วัยซ่าสตรีนิยม
Our score
8.3

Enola Holmes

จุดเด่น

  1. การต่อยอดจากนิยายดังของเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ให้เป็นวรรณกรรมเยาวชนแสนสนุกหลากรส เหมาะกับทุกวัย และได้นักแสดงที่ดีมาขับหนุนทั้งสิ้น

จุดสังเกต

  1. ความเล่นง่ายเพื่อให้เข้ากับทุกกลุ่มผู้ชมก็ทำให้หนังไม่ค่อยมีรสเด่นไปทางใด และโพรดักชันก็มีหลุด ๆ อยู่บ้าง
  • บท

    7.5

  • โพรดักชัน

    7.5

  • การแสดง

    9.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    9.0

  • ความคุ้มค้าการรับชม

    8.5

เน็ตฟลิกซ์ปล่อยโปรแกรมใหญ่ด้วยหนังต่อยอดจากตัวละครชื่อดังอย่าง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ยอดนักสืบที่ถูกถ่ายทอดมาแล้วหลายแง่มุม ทั้งในแบบฉบับมึน ๆ ของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (2009) ฉบับซีรีส์จิต ๆ บนฉากหลังยุคปัจจุบันของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (2010) หรือฉบับวัยชราของดารารุ่นใหญ่ เอียน แม็กเคลเลน (2015) (และอาจขอข้ามฉบับหนังยอดแย่แห่งปีใน Holmes & Watson (2018) ไป)

ก็จะเห็นว่าแค่ช่วงเวลาไม่เกิน 10 ปีนี้่ เราเจอโฮล์มส์มาเกือบทุกแบบ คำถามคือ เน็ตฟลิกซ์ยังเห็นช่องว่างในตลาดอะไรที่เอามาดึงความสนใจให้ต่างจากเหล่ารุ่นพี่ที่ว่ามาได้อีกล่ะ คำตอบคือหนังเรื่อง Enola Holmes นี่ล่ะ

เอโนลา โฮล์มส์ (มิลลี บ็อบบี บราวน์ จาก Stranger Things) เป็นน้องสาวสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 3 คนของตระกูลโฮล์มส์ โดยมีพี่ชายคนโตเป็นขุนนางสุดเฮี้ยบนามว่า มายครอฟต์ (แซม คลาฟลิน จาก Me Before You) และมี เชอร์ล็อก (เฮนรี แควิลล์ จาก The Witcher) ผู้แหกคอกตระกูลแต่เป็นอัจฉริยะในการสืบสวนคดีที่โลกน่าจะรู้จักดีมาเป็นพี่ชายคนรอง โดยตัดเอา หมอวัตสัน คู่หูคนสนิทของโฮล์มส์ออกไป

ซึ่งตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องราวจินตนาการดัดแปลงของ แนนซี สปริงเกอร์ ผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนชุด The Enola Holmes Mysteries ที่เอาจักรวาลโฮล์มส์คลาสสิกมาสปินออฟทำเป็นหนังสือเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีวางขายมาแล้ว 6 เล่มด้วยกัน โดยตอน The Case of the Missing Marquess ที่เอามาทำเป็นหนังเน็ตฟลิกซ์นี้เป็นตอนแรกในปี 2006 ของชุดนิยายดังกล่าวด้วย

ด้วยความที่จุดมุ่งหมายต่างจากการเป็นหนังสือผู้ใหญ่แบบที่ เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ สร้างสรรค์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ไว้ ทำให้ความรุนแรงความสยองขวัญต่าง ๆ ในคดีลดดีกรีลงมาเป็นระดับที่เด็กโตรู้สึกสนุกได้แทน จุดนี้เองที่ แฮร์รี แบรดเบียร์ ผู้กำกับรุ่นเก๋าที่เคยคว้า 2 รางวัลไพรม์ไทม์เอมมี่อวอร์ดมาแล้ว คงมองเห็นโอกาสในการเล่าเรื่องที่กินใจคนวงกว้างหลากเพศหลากวัยได้มากขึ้น

เพราะการที่ตัวละครนำเป็นเด็กสาวที่เติบโตขึ้นจากการเลี้ยงดูเพียงลำพังของ แม่ (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ จาก Harry Potter) แล้ววันหนึ่งเมื่อเธออายุครบ 16 ปี แม่ของเธอก็หายสาบสูญไป ทิ้งไว้เพียงคำใบ้ปริศนาต่าง ๆ ที่ผลักให้เธอต้องใช้ความรู้และทักษะที่แม่เธอฝึกให้ไม่ต่างจากเชอร์ล็อกพี่ชาย ออกตามหาแม่ตัวเอง มันก็ดูน่าสนุก มีกลิ่นการผจญภัยแบบวรรณกรรมเยาวชนสมัยนิยมอยู่ไม่น้อย

ยังไม่นับว่าเนื้อหาเปิดโอกาสให้มีการใส่ปริศนาอักษรไขว้ หรือการถอดรหัสอย่างภาษาดอกไม้อะไรให้สมองตื่นว้าวได้เรื่อง ๆ อยู่ตลอดด้วยนะ ทั้งความอ่อนต่อโลกแต่เฉลียวฉลาดเอาตัวรอด และการไขปริศนาต่าง ๆ สองจุดนี้คือเสน่ห์สำคัญของนิยายเอลีนาที่ใช้เดินเรื่องไปได้เรื่อย ๆ เลยล่ะ

และตัวหนังก็สามารถดำเนินเรื่องได้น่าติดตามไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะแม้เรื่องแม่และพี่ชายจะเป็นตัวผลักให้เธอมาเผชิญโลกกว้างครั้งแรกก็ตาม แต่ระหว่างทางที่เธอตามหาแม่ก็กลับเข้าไปพัวพันกับคดีที่ขุนนางระดับมาร์ควิสหนีออกจากบ้านหายตัวไป แถม มาร์ควิส (หลุยส์ พาร์ทริดจ์) ที่ว่าดันเป็นหนุ่มหล่ออายุไล่เลี่ยกับเอโนลาที่นิสัยกวน ๆ เสียอีก เปิดช่องให้มีความโรแมนติกคอมเมดี้เข้ามาเปลี่ยนรสชาติบ้าง และเมื่อถึงเวลาจะเอาจริงเอาจังก็ต้องบอกว่ามาเหี้ยมได้พอประมาณเลย ทั้งการต่อสู้มือเปล่า การถูกจับกดน้ำทรมาน หรือการเอาตัวรอดจากนักฆ่าที่มีลูกซองอยู่ในมือ ก็มีดีเกินหนังเด็กใส ๆ

นอกจากนั้นลูกเล่นการเล่าเรื่องยังใช้วิธีที่ทำให้เอโนลาเป็นตัวละครที่ทะลุมิติ หันมาคุยกับผู้ชมสร้างสีสันในแต่ช่วงตอนได้บ่อยครั้ง ทั้งหยอกล้อ แอบทำหน้าลิงหลอกเจ้า หรือตั้งคำถามกวน ๆ กับผู้ชม ก็เป็นการคิดมาให้หนังมีเอกลักษณ์เพิ่มมากขึ้นในทางที่ดี

ทั้งนี้ในส่วนดราม่าก็ดึงศักยภาพของ มิลลี บ็อบบี บราวน์ มาใช้ได้ค่อนข้างดีทีเดียว เพราะตัวละครต้องแบกรับเรื่องที่ว่าคนสำคัญที่สุดในชีวิตอย่างแม่ทิ้งเธอไปโดยไม่ให้เหตุผล (และความเด่นของ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ก็ต้องชมเพราะเธอทิ้งตัวตนคลุมตลอดเรื่องได้ไม่ดรอปแม้จะไม่มีบทเลยก็ตาม ) ขณะที่พี่ชายทั้งสองคนที่น่าจะเป็นที่พึ่งได้ มายครอฟต์ ก็เป็นจอมบงการชีวิตจับเธอโยนเข้าเรียนวิชาการเรือนอย่างที่เธอไม่เต็มใจ อีกคนที่น่าจะเข้าใจเธอที่สุดเพราะนิสัยคล้ายกันอย่างเชอร์ล็อกก็เลือกหนีปัญหาที่จะมีกับพี่ชายคนโตและปิดปากเงียบ

ไหนจะระบบวัฒนธรรมยุคเก่าที่บุรุษเป็นใหญ่ในสังคมแต่เธอกลับถูกแม่สอนว่าผู้หญิงก็เท่าเทียมได้มาทั้งชีวิต เมื่อต้องออกไปเจอโลกความจริง มันก็มีแต่เรื่องที่เอโนลาต้องหนักอกหนักใจทั้งนั้น และ มิลลี บ็อบบี บราวน์ ก็นำเสนอความขัดแย้งหลายระดับได้อย่างมีเสน่ห์จริง ๆ ไม่ว่าจะมาดแมน ๆ ขัดขืนระบบ หรือมาดคุณหนูที่ตกห้วงรักก็ตาม

สิ่งที่อาจจะพอติงได้สำหรับหนังก็คงเป็นการเฉลยที่ดูง่ายไปสักหน่อย ปูเรื่องให้คนดูคิดตามน้อยไปหน่อย หนักไปทางให้ลุ้นตามตัวละครเอกผจญภัยไปในฉากต่าง ๆ เสียมากกว่า บทบาทของเชอร์ล็อกก็ยังจัดว่าน้อยอยู่ เราน่าจะได้เห็นเอโนลาจับคู่กับเชอร์ล็อกไชคดีแบบจริงจังมากกว่านี้หากมีภาคต่อ และแม้โพรดักชันโดยรวมจะจัดว่าดีดูน่าเชื่อถือตามยุคสมัย แต่หลาย ๆ ฉากที่เป็นเทคนิคพิเศษก็ยังดูการ์ตูนหรือหลอกตาอยู่เหมือนกัน

สรุป นี่เป็นแนวหนังเด็กโตที่ครบรส ดราม่า รัก ตลก ลุ้นผจญภัย แอ็กชัน ไขปริศนา แต่ด้วยความสมดุลหลาย ๆ กลุ่มผู้ชมทำให้ยังออกรสกลาง ๆ ไม่จัดจ้านไปทางใดมากนัก เป็นหนังที่ดูสนุกดูเพลินตา และได้คะแนนพิเศษตรงได้เห็นแง่มุมรอบ ๆ ตัวละครระดับโลกอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ที่แปลกตา และไม่อาจเจอจากที่ใดได้ด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส