หนังเมนสตรีมคือหนังที่หวังผลทางการตลาดเป็นหลัก ทีมผู้สร้างจะต้องระดมสมองกันอย่างหนัก คิดหาวิธีว่าจะสร้างหนังออกมาอย่างไรให้ได้รับความสนใจจากคนดูทั่วโลกยอมออกจากบ้าน แล้วควักเงินซื้อตั๋วเข้ามาดู พล็อตหนังต้องแปลกใหม่ หรือไม่ก็ดัดแปลงมาจากนิยายขายดีที่คนทั่วโลกรู้จัก ไม่ก็ดัดแปลงจากวิดีโอเกมชื่อดัง หรือรีเมกหนังที่เคยประสบความสำเร็จจากในอดีต องค์ประกอบสำคัญของหนังก็ไม่พ้นดาราชื่อดังที่มีแฟน ๆ ทั่วโลกคอยติดตามผลงาน หรือไม่ก็ใช้ผู้กำกับชื่อดังที่มีผลงานขึ้นหิ้ง เสริมความน่าตื่นตาตื่นใจด้วยสเปเชียลเอฟเฟกต์ระดับอลังการ ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น ทั้งค่าตัวดาราและผู้กำกับ ค่าลิขสิทธิ์นิยายหรือเกมต้นฉบับ ค่าจ้างบริษัททำเอฟเฟกต์ระดับโลก ล้วนทำให้ทุนสร้างของหนังเป็นต้นทุนมูลค่ามหาศาล เหล่านี้ล้วนเรียกได้ว่าสูตรสำเร็จสำหรับหนังที่เราเรียกกันว่า บล็อกบัสเตอร์ หรือหนังทุนสร้างมหาศาลที่ตั้งใจสร้างมาเพื่อหวังผลกำไรโดยเฉพาะ
แต่กระนั้นก็ยังมีหนังที่สร้างโดยบริษัทเล็ก ๆ ใช้ดาราและผู้กำกับหน้าใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ผลงานที่ออกมากลับสนุกเกินคาด กลายเป็นกระแสแบบปากต่อปาก หรือบรรดานักวิจารณ์ต่างยกนิ้วให้ ผลสุดท้ายก็กลายเป็นหนังม้ามืดที่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง และแน่นอนสิ่งที่ตามมาก็คือผลกำไรในระดับมหาศาลเกินคาดเมื่อเทียบกับทุนสร้างที่น้อยมาก ๆ และผลพลอยได้ก็คือ ดาราและผู้กำกับก็ได้แจ้งเกิดในวงการ ได้ขยับไปแสดงหนัง หรือผู้กำกับได้ไปกำกับหนังระดับบล็อกบัสเตอร์กันก็มากแล้ว ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีหนังม้ามืดในระดับโดดเด่นที่เราพอหยิบมาเล่าต่อในที่นี้ได้สัก 12 เรื่อง เผื่อว่าใครพลาดเรื่องไหนไป ได้ลองไปหามาดู เพราะแน่นอนหนังในกลุ่มนี้จะต้องมีครบทั้งคุณภาพและความบันเทิงถึงประสบความสำเร็จได้เกินคาดเช่นนี้
1.Saw (2004)
ทุนสร้าง : 1,200,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 103,096,345 เหรียญ
จากมันสมองของคู่หู เจมส์ วาน และ ลีห์ แวนเนลล์ ที่แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เจมส์รับหน้าที่กำกับ ส่วนลีห์รับผิดชอบหน้าที่เขียนบท หนังประสบความสำเร็จเกินคาดคิด จากหนังที่ใช้ตัวแสดงหลักแค่ 2 คน และอยู่ในห้องน้ำเกือบทั้งเรื่อง แต่เล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม แถมจบหักมุมแบบทำเอาคนดูเหวอสุด ๆ ไอเดียการใช้อุปกรณ์พิลึกพิลั่นแต่สุดโหดมาให้เหยื่อดิ้นรนเอาตัวรอดในเวลาที่กำหนด กลายเป็นจุดขายหลักในภาคต่อที่หากินไปได้อีกยาว ๆ
ตัวหนังกลายเป็นแฟรนไชส์ทรงคุณค่าของค่ายไลออนเกตส์ ที่สร้างภาคต่อตามมาจนถึงภาค 9 และจะยังไม่จบแค่นี้ จิ๊กซอว์ กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนสยองขวัญของฮอลลีวูด ไม่เพียงแค่หนังจะกลายเป็นตำนาน แต่ทั้งเจมส์ วาน และ ลีห์ แวนเนลล์ ก็กลายเป็นบุคลากรเบื้องหลังที่ทรงอิทธิพลในฮอลลีวูดไปแล้ว เจมส์ วาน กลายเป็นเจ้าพ่อหนังสยองขวัญที่มีจักรวาลเป็นของตัวเอง ได้ไปกำกับหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Fast 7 และ Aquaman ส่วน ลีห์ แวนเนลล์ ก็ลองควบหน้าที่เขียนบทและกำกับ The Invisible Man กลายเป็นลูกรักของยูนิเวอร์แซลไปในทันที ที่เสกทุนสร้าง 7 ล้านเหรียญให้กลายเป็น 130 ล้านเหรียญไปได้
2.Rocky (1976)
ทุนสร้าง : 1,100,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 225,000,000
จุดกำเนิดของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ในฮอลลีวูด ด้วยภาพพจน์ของพระเอกหนังแอ็กชันจากยุค 80s – 90s ทำให้หลายคนลืมไปหรือบางคนอาจไม่เคยรู้ว่าเขาเข้าสู่วงการฮอลลีวูดด้วยฝีมือการเขียนบทภาพยนตร์ เขาเสนอขายบทเรื่องนี้ให้กับ เออร์วิน วิงเคลอร์ และ โรเบิร์ต ชาร์ทอฟ 2 ผู้อำนวยการสร้างชื่อดังในยุค 70s โดยซิลเวสเตอร์ยื่นข้อแม้ว่าจะต้องให้เขารับบทนำเท่านั้นเขาถึงจะยอมขายลิขสิทธิ์บทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้
แน่ล่ะว่าผู้อำนวยการสร้างหน้าไหนจะเอาเงินมาเสี่ยงสร้างหนังกับนักแสดงนำโนเนมแบบนี้ ทั้งคู่ก็เลยยื่นข้อเสนอให้เป็นเงิน 350,000 เหรียญกับซิลเวสเตอร์ เพื่อขอซื้อบทอย่างเดียว แต่ไม่ต้องให้เขามายุ่งเกี่ยวในการสร้างด้วย แม้ว่าขณะนั้นซิลเวสเตอร์มีเงินในกระเป๋าแค่ 106 เหรียญ ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออาหารให้หมาของเขา และกำลังตัดสินใจจะเอาหมาไปขายด้วย แต่ก็ยังเชื่อมั่นในบท Rocky ของเขาว่าต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน จึงยืนกรานข้อแม้เดิม จึงมาจบกันที่ข้อเสนอสุดท้าย ว่ายอมให้ซิลเวสเตอร์รับบทนำ และเขาจะได้ค่าตอบแทนในฐานะนักแสดงเท่านั้น และจะจ่ายเป็นขั้นบันไดตามรายได้ของหนัง แต่จะไม่ได้ค่าตอบแทนจากบทภาพยนตร์สักเหรียญเดียว ซิลเวสเตอร์ตกลง
เออร์วินและโรเบิร์ตเอาโพรเจกต์ Rocky ไปเสนอกับค่ายยูไนเต็ด อาร์ทิสต์ เสนอขอทุนสร้างไปที่ 2 ล้านเหรียญ ทางสตูดิโออ่านบทแล้วก็เห็นชอบด้วยอนุมัติงบให้แล้วก็ยื่นตัวเลือกมาให้ว่าจะเอาใครมารับบทนำบ้าง โรเบิร์ต เรดฟอร์ด, ไรอัน โอ’นีล, เบิร์ต เรย์โนลด์ หรือ เจมส์ คาน แต่เมื่อเออร์วินและโรเบิร์ตเปิดเผยว่าบทหนังเรื่องนี้มีเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เจ้าของบทจะต้องรับบทนำเท่านั้น ยูไนเต็ด อาร์ทิสต์ ก็หั่นงบเหลือให้แค่ 1 ล้านเหรียญ แล้วยังบอกอีกว่าถ้าคุมงบไม่ได้ แล้วทุนสร้างเกินจากนี้ก็ควักกระเป๋ากันเองแล้วกัน หนังปิดกล้องที่ 1,100,000 เหรียญ กลายเป็นว่าไอ้ที่เกินมา 100,000 เหรียญนั้น เออร์วินกับโรเบิร์ตต้องเอาบ้านตัวเองไปจำนองมา
ผลลัพธ์ที่ออกมาคงไม่ต้องสาธยายว่าประสบความสำเร็จเพียงใด หนังไม่เพียงแต่ทำกำไรมหาศาลแล้ว ยังคว้าออสการ์รางวัลใหญ่มาถึง 3 สาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และ ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม ส่วนซิลเวสเตอร์ สตอลโลน นั้นแสดงหนังเรื่องแรกก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 2 สาขา นักแสดงนำยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ถึงวันนี้ตำนาน Rocky ยังคงสานต่อมาอย่างต่อเนื่อง Rocky มีถึง 6 ภาค และมีภาคแยกออกมาเป็น Creed อีก 2 ภาค
3.Moonlight (2016)
ทุนสร้าง : 1,500,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 65,300,000 เหรียญ
ไม่เพียงแค่ทำกำไรมหาศาลเท่านั้น หนังยังประสบความสำเร็จสูงสุดทางด้านรางวัลอีกด้วย จากการคว้ารางวัลใหญ่มาได้ 3 สาขาจากเวทีออสการ์ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และเป็นหนังที่ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่คนทั่วโลกจะต้องจดจำไปนานแสนนาน เพราะเป็นความผิดพลาดอันน่าอับอายบนเวทีใหญ่อย่างออสการ์ เมื่อมีการการประกาศรายชื่อผู้ชนะผิดจากเดิมที่ประกาศว่า La La Land เป็นผู้ชนะรางวัลนี้ จนตัวแทนของหนังขึ้นมารับรางวัลไปแล้วด้วย ก่อนที่จะส่งออสการ์ต่อให้กับทีมงานของ Moonlight
บางกระแสบอกว่า Moonlight ใช้ทุนสร้างไป 4 ล้านเหรียญ แต่ทางผู้สร้างออกมาแก้ข่าวและยืนยันว่าหนังของเขาใช้ทุนสร้างไปที่ 1.5 ล้านเหรียญเท่านั้น ไม่มากไปกว่านี้ แถมยังประกาศด้วยความภาคภูมิใจอีกว่า นี่คือหนังรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ใช้ทุนสร้างต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์หลังจาก Rocky (1976) และถ้าเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อมาเทียบกันแล้ว Moonlight ใช้ทุนสร้างน้อยกว่า Rocky เสียด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าตัวเลขรายรับ 65 ล้านเหรียญ นั้นส่วนหนึ่งก็ได้มาเพราะรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ด้วยนี่แหละ ที่ทำให้ผู้ชมอยากพิสูจน์คุณภาพของหนังว่าดีอย่างไร
4.Pulp Fiction (1994)
ทุนสร้าง : 8,000,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 213,000,000 เหรียญ
เรียกได้ว่านี่คือผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ เควนติน ทาแรนติโน และเป็นออสการ์ตัวแรกของเขาจากสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก่อนไปคว้าตัวที่ 2 จากหนัง Django Unchained (2012) แม้ว่าหนังจะถูกบันทึกว่าใช้ทุนสร้างไปที่ 8 ล้านเหรียญ แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว หนังใช้ทุนสร้างจริงไปแค่ 3 ล้านเหรียญเท่านั้น แต่อีก 5 ล้านเหรียญตกเป็นค่าตัวของ บรู๊ซ วิลลิส ล้วน ๆ กลายเป็นว่าค่าตัวของพระเอกบรู๊ซ วิลลิส มากกว่าทุนสร้างหนังทั้งเรื่องเสียอีก แต่อย่างไรเสียค่ายหนังก็ต้องยอมจ่าย เพราะชื่อของ เควนติน ทาแรนติโน ในเวลานั้นยังไม่เป็นที่รู้จักเลยก็ว่าได้ เขาเพิ่งมีผลงาน Reservoir Dogs หนังอินดี้ที่ประสบความสำเร็จในสายตานักวิจารณ์มาแค่เรื่องเดียวเท่านั้น
ส่วนบรู๊ซ วิลลิส นั้นแม้ว่าจะอยู่ในช่วงชื่อเสียงกำลังโด่งดังสุด ๆ แต่ก็เพิ่งมีหนังเจ๊งในเครดิตมาหมาด ๆ Striking Distance (1993) ทำรายได้ไป 24 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 30 ล้านเหรียญ บรู๊ซ ก็เลยยอมลดค่าตัวเป็นพิเศษมาร่วมแสดงใน Pulp Fiction เพื่อจะมีหนังประสบความสำเร็จมากู้ชื่อเขาได้บ้าง แล้วก็เป็นการตัดสินใจไม่ผิดทั้งเจ้าของหนังและทั้งตัวบรู๊ซ วิลลิส เอง หนังทำรายได้ในสหรัฐฯ ไปที่ 107 ล้านเหรียญ แต่ก็เพราะได้ชื่อ บรู๊ซ วิลลิส ทำให้หนังกวาดรายได้นอกสหรัฐฯ มาอีก 106 ล้านเหรียญ
5.The Terminator (1984)
ทุนสร้าง : 6,400,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 78,000,000 เหรียญ
The Terminator ถือได้ว่าเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ เจมส์ คาเมรอน ที่ในวันนี้เขาได้กลายเป็นผู้กำกับระดับโลก มีหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรางวัลและทำรายได้มากมาย และอีก 2 ปีจากนี้เค้าจะมีหนัง Avatar 2 ออกมาทวงตำแหน่งหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก จาก Avatar (2009) ที่เคยครองแชมป์แล้วต้องเสียตำแหน่งนี้ไปให้กับ Avengers : EndGame (2019)
ในยุคเริ่มต้นนั้น เจมส์ เคยเป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญเกรดบี Piranha Part Two: The Spawning (1981) แต่เขาก็มีปัญหากับทีมสร้างจนถูกไล่ออกจากกองถ่ายกลางคัน ทำให้เขาได้เครดิตร่วมกับอีก 2 ผู้กำกับ ในช่วงนั้นเจมส์ไม่สบาย ช่วงที่เขาหลับพักผ่อนนั้นก็เกิดความฝันที่เขาจำภาพได้ชัดเจนว่าถูกหุ่นยนต์จากโลกอนาคตไล่ฆ่า พอเจมส์ตื่นขึ้นมาเขาก็เอาความฝันมาขยายเป็นบทภาพยนตร์ เจมส์ขายบทร่างของเขาให้กับ เกล แอนน์ เฮิร์ด หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งบริษัท นิว เวิลด์ พิกเจอร์ ไปในราคาเพียงแค่ 1 ดอลลาร์ เท่านั้น แต่มีข้อแม้ว่าเกลต้องพยายามผลักดันให้หนังเรื่องนี้ได้สร้าง แล้วเขาจะต้องเป็นผู้กำกับเท่านั้น
เกลเอาบทหนังไปเสนอให้กับหลายสตูดิโอ แทบทุกสตูดิโอให้ความสนใจแต่พอเจอข้อแม้ว่าจะต้องให้ เจมส์ คาเมรอน เป็นผู้กำกับ ซึ่งในวันนั้นไม่มีใครรู้จักชื่อนี้ สตูดิโอก็ขอปฏิเสธ แต่ท้ายที่สุดเกลก็ได้บริษัท โอไรออน พิกเจอร์ ที่ตกลงให้ทุนสร้าง แต่ทางโอไรออนก็ขอแก้ไขบท เขาอยากให้มีหุ่นยนต์หมามาคอยปกป้อง ไคล์ รีส ซึ่งเจมส์ คาเมรอนไม่เห็นด้วยและขอปฏิเสธ แต่โอไรออนก็ยังมีอีกข้อเสนอ ขอให้มีเรื่องราวความรักระหว่างไคล์ รีส กับ ซาราห์ คอนเนอร์ ข้อเสนอหลังนี้เจมส์เห็นชอบด้วย
แต่เมื่อหนังสร้างเสร็จ โอไรออน กลับเจียดทุนโฆษณาหนังมาให้น้อยนิดมาก หลังหนังเข้าฉายในโรงไปได้ 3 สัปดาห์ เสียงตอบรับจากบรรดานักวิจารณ์ไปในทางที่ดีมากจนไปถึงสตูดิโอ ทาง เฮมเดล โปรดักชัน บริษัทผู้ร่วมสร้างจึงตัดสินใจอัดงบโฆษณาเพิ่มให้กับหนัง จนกลายเป็นความสำเร็จระดับโลกในที่สุด และกลายเป็นต้นกำเนิดอีก 1 แฟรนไชส์ ทรงคุณค่าของฮอลลีวูด
6.Insidious (2010)
ทุนสร้าง : 1,500,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 99,500,000 เหรียญ
อีกก้าวสำคัญของคู่หู เจมส์ วาน และ ลีห์ แวนเนล หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงจาก Saw (2004) เขามีผลงานร่วมกันมาอีก 2 เรื่อง Dead Silence (2007) ทำรายได้ไปแค่ 22 ล้านเหรียญ และในปีเดียวกันกับ Death Sentence (2007) ทำรายได้ไปแค่ 16 ล้านเหรียญ นับเป็นผลงานที่ขาดทุนทั้ง 2 เรื่อง แทบมองไม่เห็นโอกาสกลับไปสร้างเกียรติประวัติได้อีกครั้งอย่างที่ Saw เคยทำได้
แต่แล้วปรากฏการณ์ก็มาอีกครั้งในปี 2010 กับจุดกำเนิดอีกหนึ่งแฟรนไชส์ Insidious ที่สานต่อไปได้ถึง 4 ภาค บ้านเราใช้ชื่อไทยว่า “วิญญาณตามติด” และในภาค 2 ใช้ชื่อว่า “วิญญาณยังตามติด” กลายเป็นชื่อหนังที่ถูกล้อกันใบนโลกโซเชียล ความสำเร็จของ Insidious เรียกได้ว่ามาแบบพลิกล็อก เพราะรอบนี้หนังใช้ทุนสร้างแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ใช้นักแสดงอย่าง แพททริก วิลสัน อดีตพระเอกที่เคยผ่านยุครุ่งเรืองมาแล้วมารับบทนำ หนังถ่ายทำกันแค่ 3 สัปดาห์ แต่กลับทำรายได้แบบว่าอีกนิดเดียวจะแตะ 100 ล้านเหรียญ กลายเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ทรงคุณค่าของ เจมส์ วาน และ ลีห์ แวนเนลล์ เพราะภาค 2, 3, 4 ล้วนทำรายได้ผ่านหลัก 100 ล้านเหรียญกันหมด แพททริก วิลสัน กลายเป็นนักแสดงคู่บุญของ เจมส์ วาน ที่ตามไปร่วมงานใน The Conjuring และ Aquaman
อ่านต่ออีก 6 เรื่องในหน้า 2 ได้เลยครับ
7.Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998)
ทุนสร้าง : 1,350,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 28,100,000 เหรียญ
ผลงานกำกับเรื่องแรกของ กาย ริตชี่ ที่กลายเป็นผู้กำกับมากฝีมือและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเด่นชัดในฮอลลีวูด Lock, Stock and Two Smoking Barrels เป็นหนังสัญชาตอังกฤษ ผู้กำกับอังกฤษ นักแสดงอังกฤษ และที่น่าจดจำก็คือนี่คือผลงานแสดงเรื่องแรกของ เจสัน สตาแธม พระเอกนักบู๊เบอร์ต้น ๆ ของฮอลลีวูด ก่อนหน้าที่จะมาแสดงในเรื่องนี้ เจสันเป็นแค่พ่อค้าขายของแผงลอยข้างถนน และยังเป็นผลงานแสดงเรื่องแรกของ วินนี่ โจนส์ อดีตนักฟุตบอลชื่อดัง ที่หันมาลองลิ้มชิมงานในวงการแสดง ก่อนหน้าที่จะมาเข้ากล้องเรื่องนี้เขาเพิ่งมีคดีต่อยตีกับเพื่อนบ้านจนโดนจับเข้าคุก หลังจากเรื่องนี้ วินนี่ ก็มีงานแสดงอีกหลายเรื่องเช่น Gone in 60 Seconds (2000), X-Men: The Last Stand (2006)
แม้ว่าหนังจะได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์เป็นอย่างดี แต่เจ้าของหนังก็ยังประสบปัญหาในการหาผู้จัดจำหน่ายหนังในสหรัฐอเมริกา จน ทรูดี สไตเลอร์ หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างบริหารของหนัง โทรหา ทอม ครุยส์ ซึ่งเป็นเพื่อนของเธอ ชักชวนให้ลองชมหนังเรื่องนี้ ทอม ครุยส์ รับคำเชิญ แล้วเมื่อได้ดูเขาก็ชอบหนังมาก และด้วยอิทธิพลของ ทอม ครุยส์ เขาสามารถดึงผู้อำนวยการสร้างหนังหลายคนให้มาดูหนังในรอบทดลองได้ และพอหนังจบ ทอมก็หันไปพูดกับทุกคนว่า
“นี่คือหนังที่ดีที่สุดที่ผมได้ดูมาในปีนี้ พวกคุณโง่มากถ้าไม่ซื้อหนังเรื่องนี้”
8.Boyhood (2014)
ทุนสร้าง : 4,000,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 57,300,000 เหรียญ
ผลงานจากไอเดียสุดหฤหรรษ์ของ ริชาร์ด ลิงเคเตอร์ ผู้กำกับสุดเซอร์จาก Dazed and Confused (1993) และไตรภาค Before Sunrise, Before Sunset, Before Midnight เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กชายคนหนึ่งในช่วงเวลา 12 ปี ที่ใช้เวลาถ่ายทำ 12 ปีตามนั้นจริง เอลลา คอลเทรน มีอายุแค่ 7 ขวบ ตอนเริ่มแสดงเรื่องนี้ เขาอายุ 19 ปีตอนที่หนังเรื่องนี้ปิดกล้อง ริชาร์ดจะรวบรวมทีมงานมาถ่ายทำหนังเรื่องนี้กันปีละ 1 – 2 ครั้ง แต่ละครั้งก็ถ่ายทำกันแค่ 3 – 4 วันเท่านั้น แล้วแต่ละปีที่ผ่านไป ริชาร์ดก็จะปรับบทไปตามบุคลิกลักษณะของเอลลาและประสบการณ์ชีวิตจริงที่เขาประสบ
Boyhood เป็น 1 ในหนัง 11 เรื่องที่ได้คะแนน Metascore เต็ม 100 และหนังยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา ซึ่งรวมไปถึง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับการแสดงยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สุดท้ายหนังก็คว้ามาได้ 1 รางวัล จากสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ตกเป็นของ แพททริเซีย อาร์เคว็ต และด้วยไอเดียแปลกใหม่ของหนัง บวกกับการได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาใหญ่ ทำให้หนังได้รับความสนใจจากผู้ชมในวงกว้าง และส่งผลให้หนังทำกำไรไปมากมายขนาดนี้
9.Dirty Dancing (1987)
ทุนสร้าง : 5,000,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 21,700,000 เหรียญ
เป็นหนังที่เจออุปสรรคในขั้นตอนการสร้างมากมาย บทหนังเขียนเสร็จแล้ว แต่ก็หาสตูดิโอที่ลงทุนกับหนังได้ยากเย็น ซึ่งสุดท้ายก็มาได้บริษัทที่สร้างหนังเกรดบีอย่าง เวสทรอน พิกเจอร์ ที่ออกทุนให้ แต่ก็ได้ทุนสร้างมาน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของที่ขอไปทีแรกเสียอีก ระหว่างถ่ายทำหนังก็ยังเจอปัญหาอีกมาก หนังได้ตัวแพททริก สเวย์ซี พระเอกชื่อดังในยุคนั้นมารับบทนำ ซึ่งแพททริกเองก็เป็นคนไปชักชวนให้ เจนนิเฟอร์ เกรย์ มารับบท “เบบี้” นางเอกของเรื่อง ซึ่งเจนนิเฟอร์ก็ไม่เต็มใจนักในทีแรก เพราะเธอไม่ค่อยชอบเขาจากตอนที่ได้ร่วมงานกันในหนัง Red Dawn (1984)
หนังยังมีช่วงเวลาการถ่ายทำที่กระชั้นมาก นักแสดงนำมีเวลาซ้อมก่อนถ่ายทำจริงแค่ 2 สัปดาห์ และถ่ายทำจนจบสิ้นในเวลาเพียงแค่ 44 วัน เพื่อให้ทันกำหนดฉายที่วางไว้ ระหว่างถ่ายทำ แพททริก สเวย์ซี พระเอกของเรื่องยังบาดเจ็บหนักอีก จากการที่เขายืนกรานจะแสดงเองในฉากที่ซ้อมเต้นรำบนขอนไม้ แล้วเขาก็พลาดตกลงมา จนหัวเข่าปวดบวม
พอเข้าฉาย ก็กลายเป็นหนังม้ามืดที่ประสบความสำเร็จอย่างเกินคาด ทำรายได้ในสหรัฐฯ ไป 64 ล้านเหรียญ และรายได้ทั่วโลกที่ 217 ล้านเหรียญ แถมยังเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำยอดขายวิดีโอได้ทะลุ 1 ล้านม้วน ด้านเวทีรางวัล หนังก็คว้าออสการ์มาได้ 1 รางวัล จากสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “(I’ve Had) The Time of My Life” แน่นอนว่าเมื่อหนังประสบความสำเร็จไปในระดับนี้ ทางผู้สร้างต้องมีแผนการจะสร้างภาคต่อ แต่พระเอก แพททริก สเวย์ซี เป็นคนที่ไม่ชอบเล่นหนังภาคต่อ เมื่อเขาปฏิเสธก็เลยทำให้โพรเจกต์หนังล่มไป แต่กระนั้น Dirty Dancing ก็กลายเป็นหนึ่งในหนังเพลงคลาสสิกตลอดกาลที่ฮอลลีวูดนิยมสร้างกันมากในยุค 80s
10.A Nightmare on Elm Street (1984)
ทุนสร้าง : 1,800,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 57,000,000 เหรียญ
หนึ่งในตัวละครสยองขวัญคลาสสิกที่เป็นผลผลิตของฮอลลีวูด ตามหลังมากับ เจสัน วอร์ฮีส์ จาก Friday the 13th (1980), เลเธอร์เฟซ จาก The Texas Chain Saw Massacre (1974) และ ไมค์ มายเออร์ จาก Halloween (1978)
ไอเดียในการสร้างสรรค์ตัวตนของ เฟรดดี้ ครูเกอร์ นั้นมาจากมันสมองของ เวส คราเว็น เจ้าพ่อหนังสยองขวัญแห่งยุค 80s เวสได้แรงบันดาลใจมาจากบทความข่าวที่ตีพิมพ์ใน “Los Angeles Times” เรื่องของชาวเขาเผ่า “ม้ง” หลายคนที่ตายเพราะฝันร้าย พวกเขาหลายคนอพยพหนีตายมาพักพิงในสหรัฐฯ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ พล พต ผู้นำเขมรแดง แม้จะมาอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว โรคตายเพราะฝันร้ายก็ยังคุกคามชาวเขากลุ่มนี้ 3 คนตายด้วยอาการนี้ภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว แม้แต่คนที่สุขภาพแข็งแรงดีก็ยังไม่รอดพ้น ทำให้หลายคนพยายามที่จะฝืนตัวเองไม่ให้หลับเพราะกลัวตาย แต่ในที่สุดเขาก็ผล็อยหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย เพื่อนรายหนึ่งในกลุ่มบอกว่า ชายหนุ่มตกใจตื่นขึ้นมาแล้วกรีดร้องเพราะฝันร้าย แล้วก็สิ้นใจไปในทันที แพทย์พยายามชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุ แล้วก็หาข้อสรุปไม่ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย ตอบได้แค่ว่าตายไปเฉย ๆ อย่างนั้น หน่วยงานทางสาธารณสุขจึงต้องบัญญัติชื่ออาการเสียชีวิตนี้ขึ้นมาใหม่ว่า “the phenomenon Asian Death Syndrome”
เวส คราเว็น เอาข่าวนี้มาขยายเป็นบทภาพยนตร์ เขาเขียนเสร็จในปี 1981 แล้วเอาไปเสนอให้กับหลาย ๆ สตูดิโอ แต่ก็โดนปฏิเสธ เวสตระเวนเสนอบทเรื่องนี้อยู่ 3 ปี กว่าจะมาลงเอยที่ นิวไลน์ ซีนีมา บริษัทที่โปรดปรานในการสร้างหนังสยองขวัญ แต่ก็เหมือนซวยซ้ำซวยซ้อน ระหว่างที่ถ่ายทำไปได้ครึ่งเรื่องแล้ว บริษัท นิว ไลน์ ก็เกิดปัญหาถังแตก ไม่มีทุนสร้างให้กับกองถ่าย ทำให้ทีมงานต้องบากหน้าสู้ชีวิตถ่ายกันเองต่อไปประมาณ 2 สัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง กว่าที่ผู้บริหารจะหานายทุนรายใหม่มาช่วยเหลือไว้ได้ทัน และหนึ่งในนักแสดงก็คือ จอห์นนี่ เด็ปป์ ที่เริ่มต้นอาชีพการแสดงกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก
เมื่อหนังถ่ายทำเสร็จสิ้น เบ็ดเสร็จแล้วใช้ทุนสร้างไปที่ 1.8 ล้านเหรียญ แต่เมื่อหนังเข้าฉาย หนังก็ได้ทุนคืนมาตั้งแต่สุดสัปดาห์แรกที่ออกฉาย ความสำเร็จของ A Nightmare on Elm Street ช่วยให้ นิวไลน์ ซีนีมา หลุดพ้นปัญหาการเงินของบริษัทไปได้ในที่สุด ถึงกับมีคำล้อเลียนบริษัท นิว ไลน์ ว่านี่คือ “บริษัทที่เฟรดดี้ ครูเกอร์ สร้าง”
11.Blue Valentine (2010)
ทุนสร้าง : 1,000,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 16,600,000 เหรียญ
แม้ว่าตัวเลขรายได้ 16 ล้านเหรียญของหนังจะไม่ได้มากมายนัก แต่เมื่อเทียบกับทุนสร้างของหนังที่ 1 ล้านเหรียญ ก็กล่าวได้ว่าหนังได้กำไรไปหลายเท่าตัว เป็นจุดที่น่าพึงพอใจต่อผู้สร้าง และเพื่อให้หนังสร้างได้จนจบ ดีเร็ก เซียนฟรองซ์ ผู้กำกับและเขียนบทของเรื่อง ต้องยอมสละค่าตัวของเขาเอง แต่เมื่อหนังทำกำไรได้อย่างน่าพอใจ เขาก็ได้สวนแบ่งของเขาในท้ายที่สุด
ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังอินดี้ทุนต่ำเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ก็มาจากเสียงฮือฮาจากผู้ชมต่อฉากเลิฟซีนที่รุนแรงของหนัง ก็ต้องยกความดีความชอบให้ทั้งผู้กำกับและนักแสดงนำอย่าง ไรอัน กอสลิง และ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ที่ทุ่มเทกับหนังอย่างมาก เพื่อให้ได้ภาพของทั้งคู่บนจอที่สนิทสนมกันอย่างสมจริง ทั้งไรอันและมิเชลล์ถึงกับต้องเช่าบ้านอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ซ้ำยังเป็นบ้านที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันด้วย ยิ่งไปกว่านั้นทั้งคู่ต้องดำเนินชีวิตกินอยู่ใช้จ่ายด้วยงบประมาณสัปดาห์ละ 100 เหรียญ เท่ากับรายรับที่ตัวละครของทั้งคู่รับบทจริง ๆ
หนังถ่ายทำในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2008 และต้องหยุดพักกองถ่ายกันชั่วคราว เหตุจากการเสียชีวิตของ ฮีธ เล็ดเจอร์ สามีของ มิเชลล์ วิลเลียมส์ นางเอกของเรื่องและเป็นพ่อของ มาธิลดา ลูกสาวของทั้งคู่ เพื่อเป็นการเคารพและให้เกียรติมิเชลล์ได้ทำใจก่อนกลับมาเข้ากล้องต่อ และเมื่อเธอกลับมาเข้ากล้อง ก็ทำหน้าที่ได้อย่างมืออาชีพและสมบูรณ์แบบ จนทำให้ มิเชลล์ วิลเลียมส์ เป็นเพียงตำแหน่งเดียวในเรื่องนี้ ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงในปีนั้น
12.One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975)
ทุนสร้าง : 4,000,000 เหรียญ
รายได้ทั่วโลก : 163,000,000 เหรียญ
หนึ่งในหนังคลาสสิกของฮอลลีวูด ที่ประสบความสำเร็จในทุกด้านไม่เพียงแค่ด้านรายได้ แต่รวมไปถึงความสำเร็จสูงสุดบนเวทีออสการ์ หนังเข้าชิงถึง 9 สาขา และสามารถคว้าไปได้ถึง 5 สาขา ซึ่งล้วนแต่เป็นรางวัลสาขาใหญ่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
ลิขสิทธิ์การสร้างอยู่ในครอบครองของ เคิร์ก ดักลาส นักแสดงอาวุโส พระเอกจากหนัง Spartacus (1960) เคิร์กพยายามหานายทุนที่จะสร้าง One Flew Over the Cuckoo’s Nest เป็นหนังอยู่นานหลายปี แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนความตั้งใจเดิมที่จะรับบทนำเองก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะเขาแก่เกินบทนำของหนังแล้ว เคิร์กส่งต่อลิขสิทธิ์ในการสร้างให้กับ ไมเคิล ดักลาส ลูกชายของเขา ซึ่งไมเคิลก็สามารถสานฝันของพ่อให้เป็นจริงได้ เพราะเขาหานายทุนมาสร้างหนังได้สำเร็จ
หนังเข้าฉายในไทยในชื่อว่า “บ้าก็บ้าวะ” ด้วยทุนสร้างที่จำกัดมากของหนัง แต่ได้รับความสนใจจากดาราใหญ่อย่าง แจ็ก นิโคลสัน จนยอมลดค่าตัวเพื่อมารับบทนำในเรื่องนี้ แต่ก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วหนังทำรายได้ไปทะลุร้อยล้านเหรียญ ทำให้แจ็กได้ส่วนแบ่งกลับไปอย่างคุ้มค่าเหนื่อย ส่วน หลุยส์ เฟล็ตเชอร์ นักแสดงนำหญิงที่คว้าออสการ์ไปด้วยกันจากเรื่องนี้ จากบท แรตเช็ด ก็เป็นบทนางพยาบาลจอมโหดที่ได้รับการจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเวลาผ่านมา 45 ปีแล้ว เรื่องราวของ แรตเช็ด ยังถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ในชื่อ Ratched เพิ่งแพร่ภาพทาง Netflix ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจากนั้นบทบาท แรตเช็ด ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ เอ็ม ไนต์.ชยามาลาน มาพัฒนาเป็นตัวละคร ดร.เอลลี สเทเปิล ใน Glass (2019) ซึ่งเธอก็ได้มารับบท แรตเช็ด ในเวอร์ชันทีวีซีรีส์ด้วย
แน่นอนว่าแต่ละเรื่อง ใช้ทุนสร้างกันน้อยนิด และไม่เพียงแค่กวาดผลกำไรไปหลายเท่าตัวจากทุนสร้างแล้ว หลาย ๆ เรื่องก็ยังขึ้นแท่นหนังคลาสสิก เป็นหนังที่สร้างชื่อให้กับนักแสดง และผู้กำกับ ที่วันนี้ต่างก็มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าของฮอลลีวูดแทบทั้งสิ้น ถ้าใครยังพลาดเรื่องไหน แนะนำว่าควรหามาดูกันให้ครบนะครับ