![[รีวิว] The Trial of the Chicago 7: หนังศาลคดีชุมนุมทางการเมือง สุดปั่น](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/10/MV5BYjYzOGE1MjUtODgyMy00ZDAxLTljYTgtNzk0Njg2YWQwMTZhXkEyXkFqcGdeQXVyMDM2NDM2MQ@@._V1_SY1000_CR006751000_AL_-374x554.jpg)
Release Date
16/10/2020
ความยาว
129 นาที
![[รีวิว] The Trial of the Chicago 7: หนังศาลคดีชุมนุมทางการเมือง สุดปั่น](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2020/10/MV5BODE1MWEwMDItOGQwYy00NWY4LTkxNjctN2VlZjdjMmFjODlmXkEyXkFqcGdeQXVyNjU1NzU3MzE@._V1_-780x519.jpg)
Our score
9.5The Trial of the Chicago 7
จุดเด่น
- ดาราดังคับคั่งทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ บางคนมาเซอร์ไพรส์ก็มี บทสนทนาเด่น คุยกันทั้งเรื่องแต่สนุกตามสไตล์หนังในศาล แถมเติมความตลกร้ายได้คัน ๆ แสบ ๆ
จุดสังเกต
- หนังน่าจะใส่สีตีไข่จากประวัติศาสตร์เดิมให้มันหยดขึ้นอาจนำไปอิงของจริงได้ไม่เต็มร้อย ฉากการชุมนุมและปะทะกันที่ไม่ได้เน้นนัก ดูทำได้ไม่ค่อยสุด
-
บท
10.0
-
โพรดักชัน
8.5
-
การแสดง
10.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
10.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
9.0
เรื่องย่อ: การประท้วงอย่างสันติ ณ งานประชุมแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในปี 1968 กลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานกองกำลังพิทักษ์ชาติ แกนนำผู้ประท้วงอย่างแอ็บบี้ ฮอฟแมน, เจอรรี่ รูบิน, ทอม เฮย์เดน และบ็อบบี้ ซีลถูกจับข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการปลุกปั่นการจลาจล และการพิจารณาคดีที่ตามมากลายเป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
The Trial of the Chicago 7 คือหนังคอร์ตรูมที่ 90% ของเรื่องเกิดขึ้นในศาล (ตัวอย่างที่เห็นฉากชุมนุมฉากปะทะกันนั่น โคตรหลอกลวงครับ) เกี่ยวกับคดีที่รัฐบาลอเมริกันฟ้องแกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนามที่ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในปี 1968 (ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคประธานาธิบดีนิกสันสมัยแรก)
แอรอน ซอร์กิน ที่เคยเขียนบท The Social Network มาทำหน้าที่เขียนบทและกำกับได้โคตรเก่ง บทสนทนาเปลือยคาแรกเตอร์ตัวละครและตัวสังคมได้อย่างชาญฉลาด (โดยส่วนตัวคือชอบงานสไตล์หนังคุยกันของ ปีเตอร์ มอร์แกน จากหนังอย่าง Frost/Nixon และ The Queen มาก เลยยิ่งสนุกกับเรื่องนี้) คือพูดกันทั้งเรื่องแต่ดูสนุก แค่ความตลกร้ายที่ชื่อเรื่องว่า The Trial of the Chicago 7 แต่จำเลยมี 8 คน ก็ย้อนแย้งแสบสันแล้ว เพราะว่าอีก 1 คนนั้นเป็นหัวหน้ากลุ่มผิวดำหัวรุนแรงอย่างแบล็กแพนเธอร์ (ที่ไม่ใช่ฮีโรมาร์เวล) ขนาดตัวละครยังต้องพูดว่า “โลกทั้งใบบอกว่าจงปล่อยตัวพวกชิคาโกทั้ง 7 คน โดยไม่นับผมซะอย่างงั้น”

ถ้าถอดเหตุการณ์จริงในปี 1968 และภาพการเมืองที่ขัดอคติผู้ชมต่างวัฒนธรรมการเมืองออกไป หนังเรื่องนี้ก็กล่าวได้ว่ามีเนื้อแท้พูดถึงมนุษย์ธรรมดาหลากหลายกลุ่ม หลากหลายความคิด ที่ต่างดิ้นรนต่อสู้ตามความเชื่อของตนเอง

ทั้งนักศึกษาหัวก้าวหน้าบุคลิกดีความตั้งใจมาเต็ม แต่กลับอ่อนต่อโลกไปหน่อย (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) ยิปปี้เมายาบ้าอุดมการณ์กวนประสาทแต่ฉลาดลึกและมองโลกแตกฉาน (ซาช่า บารอน โคเฮน) คนที่มาร่วมชุมนุมแล้วได้แต่สงสัยว่าทำไมถึงถูกจับมาเทียบเท่าแกนนำ และพ่อผู้แสนดีที่ใฝ่หาสันติวิธีและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ จนถึงหัวหน้าแก๊งฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง ก็ล้วนอยู่ในคอกจำเลยเดียวกัน โดยมีผู้ช่วยเป็นทนายจอมเก๋าที่ประหนึ่งแกนดัลฟ์ของกลุ่มฮอบบิตหัวขบถ (มาร์ก ไรแลนซ์)


หนังใด ๆ จะน่าลุ้น น่าสนุก ก็เพราะตัวร้ายดูเก่งฉกาจ สำหรับเรื่องนี้ตัวร้ายก็คือ ระบบอคติในสังคมที่มีอำนาจมหาศาลขนาดว่าสามารถ ยกเว้น กระบวนการยุติธรรมปกติทุกอย่างได้ จนการพิจารณาคดีนี้อื้อฉาวระดับประวัติศาสตร์ แถมมันยังอวตารร่างเป็นผู้พิพากษาชราที่หัวรั้นและดึงดันแบบผิด ๆ
โดยฉากที่ฮาสุดและชัดเจนสุดฉากหนึ่ง คือผู้พิพากษาพยายามให้จำเลยคนหนึ่งชื่อ เดอร์ลิงเจอร์ให้ได้ทั้งที่เขาชื่อเดลลิงเจอร์ และแม้เจ้าตัวเอง ทนายจำเลย อัยการต่างก็พยายามแก้ให้ถูก แต่แกโนสนโนแคร์ให้เสมียนศาลจดไปว่าชื่อเดอร์ลิงเจอร์เอาจนได้ แล้วฉากหลังจากนั้นทนายจำเลยก็ปรึกษากันเองว่าจะให้จ้างจิตแพทย์เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัยมานั่งฟังพิจารณาคดีวันหลังด้วย เพื่อประเมินอาการทางจิตของผู้พิพากษา (บทอย่างปั่นเลย)

แล้วนอกจากอวตารเป็นผู้พิพากษาแล้ว ภาคเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช่ย่อยส่งตำรวจนอกเครื่องแบบไปปะปนแถมล่อลวงผู้ชุมนุมให้กระทำผิดกฎหมาย อย่างเช่น เสนอขายกัญชาให้เป็นต้น จนว่าเมื่อมีการขึ้นศาล ได้มีการเบิกพยานเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบมาเป็นพยานถึง 30 กว่าปาก และช็อตความฮาคือจำเลยสองคนหันมาคุยกันว่า “ตำรวจปลอมตัวเยอะขนาดนี้ เป็นไปได้มั้ยว่า ที่ผ่านมาพวกแกนนำพาตำรวจนอกเครื่องแบบกว่าหมื่นนายไปชุมนุม (แทนที่จะเป็นประชาชนจริง ๆ)” (ปั่นดีอีกแล้ว)
และความสนุกที่สุดมันอยู่ตรงหนังเหมือนจะแทนสายตาผู้ชมผ่านตัวละคร ริชาร์ด ชูลต์ส ที่มี โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์ เล่น แต่พี่แกกลับเป็นหัวหน้าอัยการผู้ฟ้องจำเลยที่เป็นมือไม้ของฝั่งรัฐนี่ล่ะ แถมหน้าแกจะประมาณ “ตูมาทำอะไรอยู่ตรงนี้” หรือแบบ “ศาลเอียงขนาดนี้ไม่ต้องใช้ตูก็น่าจะชนะมั้ง” ตลอดเวลา เพราะส่วนตัวแกไม่เห็นด้วยในการฟ้องร้องกลุ่มผู้ชุมนุม แถมบ่นไม่ได้กับผู้พิพากษาประสาทแตกเพราะมองในแง่ความเป็นมืออาชีพ ฝั่งตัวแกก็ได้ประโยชน์ คือแกรับบทไปตามหัวโขนที่ใส่ล่ะ มันเลยย้อนแย้งประหลาด ๆ ดี

หนังมีฉากมัน ๆ ปั่น ๆ เยอะมาก สายตลกร้ายฮาขมขื่นได้สนุกแน่ แถมครึ่งหลังพลิกกลายเป็นซึ้งดราม่า ๆ แล้วตบท้ายด้วยฟีลกู้ดได้ไปอีก เอาเป็นว่าไม่ต้องอินการเมืองบ้านไหน ดูเรื่องนี้ก็บันเทิงได้ล่ะ ส่วนใครอินการเมืองบ้านนี้ดูก็จะเห็นฝั่งฝ่ายต่าง ๆ มีร่างจำลองอยู่ในหนังเรื่องนี้ไม่มากก็น้อยทีเดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส