Release Date
29/10/2020
In the mood for love / ค่ายภาพยนตร์ : มงคลภาพยนตร์/ ความยาว 99 นาที
ผู้กำกับ : หว่องกาไว / นักแสดง : เหลียงเฉาเหว่ย จางม่านอวี้
Our score
10.0[รีวิว] In the mood for love ห้วงรักอารมณ์เสน่หา – กี่เพ้า ความเหงา การเมือง
จุดเด่น
- งานเขียนบทล้ำลึก ซ่อนสารการเมืองไว้ใต้ความสัมพันธ์ร้อนแรงของตัวละคร
- งานภาพวิจิตรตรึงตา หนังใช้ศิลปะภาพยนตร์ในทุกองค์ประกอบได้อย่างรุ่มรวยและชาญฉลาด
- การแสดงของ เหลียงเฉาเหว่ย จางม่านอวี้ สามารถหลอมละลายหัวใจผู้ชมได้อย่างเฉียบขาด
- การรีมาสเตอร์ภาพครั้งนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยม สีสันสวยสด ขับให้เห็นความงามในทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์
จุดสังเกต
-
ึความล้ำลึกของเนื้อหาภาพยนตร์
10.0
-
คุณภาพงานสร้าง งานถ่ายภาพ ตัดต่อ องค์ประกอบศิลป์
10.0
-
คุณภาพนักแสดง
10.0
-
สุนทรียภาพตามมาตรฐานหนังทางเลือก
10.0
-
ความคุ้มค่าบัตรชมภาพยนตร์
10.0
หากกล่าวถึงผู้กำกับเอเซียมือรางวัลที่โด่งดังในยุค 90 ถึง 2000 ตอนต้นชื่อของหว่องกาไวย่อมเป็นแบรนด์ที่เชื่อถือได้สำหรับใครที่มองหาหนังเศร้า เหงา ติสท์ และเหมือนบิดาของนักศึกษาภาพยนตร์ที่อยู่ดี ๆ ในยุคหนึ่งหนังศึกษาก็เต็มไปด้วยตัวละครที่ต้อง “กระทำความหว่อง” ทั้งควันบุหรี่ล่องลอยใต้แสงไฟนีออน หรือตัวละครที่คิดคำนึงอะไรสักอย่างแล้วมีเสียงวอยซ์โอเวอร์พ่นประโยคเท่ ๆ
และสำหรับ In the mood for love ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น และที่พิเศษกว่านั้นมันยังเป็นหนังที่บ่งบอกถึงภาวะสุกงอมทางความคิดของหว่องกาไวที่ไม่ได้มีแต่เรื่องรักไม่สมหวังและวนเวียนกับความเหงาของผู้คนอย่างที่ผ่านมาเท่านั้นแต่มันยังแอบซ่อนห้วงคำนึงและอารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัยท่ามกลางความไม่แน่นอนของฮ่องกง ประเทศที่ผู้กำกับเคยอพยพมาใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก ๆ อีกด้วย
โดยโครงเรื่องหรือเนื้อหนังของ In the mood for love อาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการกล่าวถึงภาวะความเหงาเป็นขั้วบวกขั้วลบของ เจ้ามู่หวัน (เหลียงเฉาเหว่ย) คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ กับ ชั่นไหลเจิน (จางม่านอวี้) เลขาบริษัทชิปปิ้งนำเข้าส่งออกสินค้า ที่นอกจากทั้งคู่จะเป็นอยู่ในชุมชนที่ชาวเซียงไฮ้อพยพที่ฮ่องกงเหมือนกันแล้วยังมาผูกพันกันด้วยแก้ว 3 ประการคือย้ายเข้าอพาร์ตเมนต์วันเดียวกัน ต่างก็มีคู่ครองกันแล้ว และคู่ครองของพวกเขาก็ลักลอบเป็นชู้กัน เหลือเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ว่าพวกเขาจะปล่อยตัวปล่อยใจแล้วยอมให้ความเสน่หาชักพาให้ทั้งคู่เล่นชู้กันเหมือนคนรักของพวกเขาหรือไม่
ในปี 2000 ที่หนังออกฉายในแง่การตอบรับของวงการภาพยนตร์โลก In the mood for love ได้สร้างหมุดหมายสำคัญตามเทศกาลหนังที่มันไปเยือนทั้งเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำและเหลียงเฉาเหว่ยก็คว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังคานส์มาครองรวมถึงการเข้าชิงและครอบครองรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำหนังรุ่นใหม่ที่เด่นชัดที่สุดคือ โซเฟีย คอปโปลา ที่ถึงกับขอบคุณหว่องกาไวในคืนที่เธอรับรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Lost in translation (2003) ของเธอ
สำหรับผู้เขียนกว่าที่หนังจะเดินทางมาสู่การรับชมก็ปาเข้าไปร่วม 10 ปีจาก DVD ของบริษัท บลูเบิร์ด จำกัด ที่วางจำหน่าย DVD ลิขสิทธิ์ของหนังเป็นครั้งแรก แต่ด้วยความที่ยังไม่ได้ศึกษาหรือสำรวจหนังดีพอในการชมครั้งนั้นเลยรับรู้แค่มันเป็นหนังถ่ายสวยและการแสดงของทั้งเหลียงเฉาเหว่ยกับจางม่านอวี้ก็ตรึงอารมณ์สิเน่หาจนชวนเคลิ้มไปหมด แต่จากการชมล่าสุดที่ทางมงคลภาพยนตร์ได้เริ่มโพรเจกต์ฉายหนังหว่องกาไวที่ถูกนำมารีมาสเตอร์ด้วยความละเอียด 4K แล้วผู้เขียนก็ต้องกลับมาทบทวนสาระของหนังจากใหม่ทั้งหมดจากเนื้อหาที่เพิ่งสังเกตจากการชมครั้งนี้
บทความต่อไปนี้จะมีการเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
โดยในช่วงองก์ 3 ของหนังอยู่ดี ๆ หว่องกาไวก็ใส่ภาพข่าวการเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นายพล ชาร์ลส์ เดอ กัล โดยมีพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุพร้อมพระมเหสีใตห้การต้อนรับก่อนจะจบเรื่องราวด้วยฉาก “กระซิบรักลับไว้ในรอยแตกของนครวัด”อันเป็นตำนาน แต่เป็นไปได้ไหมว่า In the mood for love อาจกลายเป็นมากกว่าแค่หนังชู้รักเหงา ๆ กระทำความหว่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง ?
He remembers those vanished years. As though looking through a dusty window pane, the past is something he could see, but not touch. And everything he sees is blurred and indistinct.
เขาจดจำวันคืนที่ผันผ่านประหนี่งมองไปยังแผ่นกระจกที่มีฝุ่นเกรอะกรัง อดีตคือภาพสะท้อนที่เพียงให้ประจักษ์แต่ไม่อาจสัมผัสได้ และมีเพียงภาพอันมัวหมองและไม่ชัดเจน
เป็นไปได้ไหมว่าการที่หว่องกาไวระบุอาชีพให้นางเอกอย่าง ชั่นไหลเจิน ทำงานชิปปิงเป็นกลวิธีอันแยบยลที่จะเล่าถึงทางเลือกของคนฮ่องกง ในช่วงเวลาต่อมาที่จีนกำลังเข้าครอบครองอย่างเต็มตัว เพราะการมองบ้านเมืองตัวเองหลังส่งมอบเกาะฮ่องกงหลังปี 1997 ย่อมไม่ต่างจากกระจกที่ฝุ่นเกรอะกรังเพราะมันแทบมองไม่เห็นอนาคตว่าท้ายที่สุดบ้านเมืองจะอยู่อย่างสงบสุขหรือเร่าร้อนด้วยไฟการเมืองแผดเผากันแน่
ยิ่งหนังอิงกับชีวิตของหว่องกาไวในฐานะชาวเซี่ยงไฮ้ที่อพยพมาฮ่องกงและหนังก็ดำเนินเรื่องในปี 1962 ที่กระแสอนุรักษ์นิยมในชุมชนนั้นมาแรงเหลือเกินซึ่งมันช่วยบีบให้ความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้ามู่หวัน กับ ชั่นไหลเจิน ยิ่งกลายเป็นสิ่งต้องห้ามแม้ทั้งคู่จะถูกหักหลังจากคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายก็ตาม ดังนั้นทางเลือกที่ทั้งคู่จะหาความสุขจากความสัมพันธ์ครั้งนี้เลยเต็มไปด้วยความถามถึงความถูกต้องและสิทธิเสรีภาพอันคลุมเครือ
และยังถูกจับจ้องด้วยสายตาของเพื่อนบ้านซึ่งหว่องกาไวก็ใช้ทั้งมุมมองภาพแบบให้คนดูเป็นฝ่ายแอบมองและเสียงจากภายนอกห้องพักอย่างเสียงการจัดไพ่นกกระจอกที่ดังเสียดแทงเข้ามาหาทั้งคู่ได้อย่างแยบยลดังนั้นการตัดสินใจเลือกของทั้งเจ้ามู่หวันและชั่นไหลเจินจึงมากกว่าแค่จะเป็นชู้หรือไม่แต่มันยังหมายถึงเสรีภาพของพวกเขาในการระบุความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยเสน่หาทว่าไม่ถูกต้องด้วยบรรทัดฐานของสังคม
และข้ออ้างที่ ชั่นไหลเจิน ใช้เพื่อมาอ่านนิยายกำลังภายในของเจ้ามู่หวันจึงต้องใช้การงานบังหน้า เพราะเป็นบรรทัดฐานที่กำหนดคุณค่าของผู้หญิงแบบเธอ และพอจะก้าวข้ามเส้นศีลธรรมในพื้นที่ส่วนตัวของเธอกับชู้รัก “กระจก” ก็ยังอุตส่าห์สะท้อนภาพอันพร่าเลือนและแบ่งช่องให้เธอเลือกระหว่างความถูกต้องกับความสุขที่แม้กระจกจะใสสะอาดแต่ใจเธอกลับต้องฝุ่นเกาะด้วยบาปที่ยังไม่ได้ก่อด้วยซ้ำ
It is a restless moment. She has kept her head lowered… to give him a chance to come closer. But he could not, for lack of courage. She turns and walks away.
ในโมงยามอันร้อนรน เธอก้มหน้าชะม้ายตาทอดสะพานให้เขาขยับใกล้ แต่เขากลับไม่อาจเอื้อมด้วยขลาดเขลา เธอจึงหันกลับและเดินจากไป
ส่วนเจ้ามู่หวัน จึงเป็นอื่นไม่ได้นอกเสียจากการแทนภาพชาวฮ่องกงที่ยังยึดกับแนวคิดเสรีแบบอังกฤษ หลายครั้งหลายตอนเหลือเกินที่เขาเป็นฝ่าย “ขยับ” ท้้งเลื่อนฝ่ามือไปใกล้เธอจนถึงวาจาที่เอ่ยชวนให้นอกใจ ด้วยสูทสากลแบบตะวันตกและการงานอย่างคอลัมนิสต์ก็ไม่มีเหตุผลที่เขาจะยังซื่อสัตย์กับคู่ครองที่ปันความเสน่หาไปให้ชายอื่น แต่ก็ด้วยความชิดใกล้และเห็นใจเขาจึงเอาความรู้สึกไปวางกับ ซือไหลเจิน ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันแทน
แต่ด้วยวันคืนผันผ่านสำนึกอนุรักษ์ของฝ่ายหญิงอย่าง ชั่นไหลเจิน เองก็ยังยึดกับคุณธรรมและธรรมเนียมของคนจีน หน้าที่ภรรยาแม้จะถูกถ่ายทอดอย่างนักโทษทั้งแสงเงาและการเฟรมภาพที่คริสโตเฟอร์ ดอยล์ จงใจให้ตัวละครอยู่ในกรงขังและแม้มันจะแกล้มด้วยความสง่างามของกี่เพ้าแต่ละชุดที่ขับภาพภิริยาในอุดมคติของชาวจีนมากแค่ไหนแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราแทบไม่เห็น “ความสุข” ของเธอนัก
และแม้เธอจะได้พบผู้คนที่มีทางเลือกตัดสินชะตาตัวเองอย่างการได้กลับมาเยี่ยมคุณนายฉวนและพบว่าแม้แต่คนมีอายุอย่างคุณนายยังเลือกไปอยู่อเมริกากับลูกสาว แต่สำหรับเธอแล้วสเต๋็กที่กินกับชู้รักอย่างเจ้ามู่หวันจะเผ็ดร้อนและถูกปากแต่สุดท้ายเธอก็เลือกกินบะหมี่ตามลำพังอยู่ดี จนสุดท้ายสิ่งที่เธอมอบให้เขาได้ก็มีเพียงตั๋วที่พาเจ้ามู่หวันออกจากความสัมพันธ์ครั้งนี้และอพยพจากฮ่องกงที่หวังจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของชีวิตพเนจรไปยังสิงคโปร์ดินแดนหลากเชื้อชาติแทน
ย้อนกลับไปที่ภาพข่าวดังที่กล่าวไว้การที่มันเอาประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในช่วงใต้การปกครองของฝรั่งเศสทำให้ผมต้องมาตีความและนึกถึงความเป็นไปได้ของข้อความที่เจ้ามู่หวันกระซิบในรอยแตกของนครวัดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สุดท้ายแล้วข้อความที่เขากล่าวอาจไม่ได้มีแค่เรื่องรักลับ ๆ ของเขากับชั่นไหลเจินเท่านั้น แต่มันอาจจะเป็นสิ่งเดียวกับกระเป๋าใบงามที่ภรรยาเขาได้จากชู้หรือเนกไทสุดหรูที่สามีของชั่นไหลเจินได้จากภรรยาของเขาและมัน “หาไม่ได้ในฮ่องกง” นั่นคือ “เสรีภาพในการแสดงออก”
In the mood for love ฉบับรีมาสเตอร์ 4K จะเข้าฉายทั้งที่โรงภาพยนตร์ House Samyan, Major Cineplex และ SF Cinema วันที่ 29 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส