กูเกิ้ลกับความพยายามผลักดันเทคโนโลยีวิดีโอ 360 องศามีให้เห็นมาพักใหญ่แล้ว แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้กำกับที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Justin Lin แห่ง Fast and Furious ผู้รับไม้ต่อแฟรนไชส์นี้นับตั้งแต่ภาคที่ 3 จนถึงภาคที่ 6 ให้กลายเป็นหนังฮิตระเบิดระเบ้อมาแล้วเข้ามาลองทำหนังสั้นกับเทคโนโลยีภาพยนตร์แห่งอนาคตตัวนี้
ลิน ได้รับโทรศัพท์ลึกลับให้เข้าร่วมโปรเจคหนังสำหรับมือถือของกูเกิ้ลเมื่อราวๆ 2 ปีก่อน และในงานประชุมผู้พัฒนาของกูเกิ้ลเมื่อปลายเดือนที่แล้วนี้เอง ที่หนังสั้นความยาว 5 นาทีจากความร่วมมือดังกล่าวก็ได้ออกสู่สายตาคนทั่วโลกผ่านแอพที่ชื่อว่า Google Spotlight Stories (มีเฉพาะ Android เท่านั้นจ้า)
HELP เป็นหนังสั้นที่เกี่ยวกับสัตว์ต่างดาวที่บังเอิญพลัดตกลงมาบนโลกและพยายามหาทางกลับบ้านตัวเอง พล็อตง่ายๆไม่ซับซ้อนบวกกับบทสนทนาเพียงเล็กน้อยทำให้เราติดตามเรื่องไปได้โดยง่าย ที่สำคัญคือทำให้เราได้มีสมาธิกับการเลือกมุมกล้องที่เราต้องเลือกชม ว่าอยากจะหมุนไปชมตรงไหนในเหตุการณ์นั้น ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเจ้าเทคโนโลยีวิดีโอ 360 องศาที่ผู้ชมเป็นผู้กำหนดมุมกล้องนั่นเอง
ยกตัวอย่างเผื่อใครไม่เก็ต เมื่อเรายกจอขึ้นตรงหน้าเราจะพบเจ้าสัตว์ต่างดาว และเมื่อมันวิ่งหลบไปทางซ้ายของจอ เราก็สามารถกวาดจอมือถือของเราไล่ตามไปดูมันได้ ขณะเดียวกันที่ทางขวาเราได้ยินคนกำลังกรีดร้องเราก็ละสายตาจากเจ้าสัตว์ประหลาด กวาดจอไปทางขวาเพื่อมองผู้คนได้อีกเช่นกัน และเมื่อยกจอขึ้นไปดูบนฟ้าเราก็จะเห็นเฮลิคอปเตอร์ตำรวจกำลังบินว่อนเหนือหัวเรา พลันเราก็เลื่อนจอลงมามองหาเจ้าสัตว์ประหลาดได้ต่อว่ามันไปไหนแล้วนะ แน่นอนว่าเราเลือกแค่มุมกล้องส่วนการเคลื่อนที่ในลักษณะการเดินของตัวละครนั้นจะถูกกำหนดไว้แล้ว นั่นช่วยให้ผู้สร้างหนังสามารถบีบกรอบการเล่าเรื่องได้ง่ายขึ้น
โดยปกติวิดีโอ 360 องศานี้จะใช้การติดกล้อง GoPro หลายตัวเก็บภาพต่างมุมพร้อมกัน จากนั้นค่อยนำภาพจากกล้องทุกตัวมารวมกันในภายหลัง แต่ด้วยความที่มันไม่ตอบสนองคุณภาพที่เพียงพอสำหรับลิน เขาจึงให้ทีมงานพัฒนาอุปกรณ์ติดตั้งกล้องเรด (red) สำหรับถ่ายหนังใหญ่จำนวน 4 ตัวเพื่อเก็บภาพขนาด 6K ขึ้นมาพร้อมๆกันและสามารถขึ้นมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ให้ทีมงานดูขณะถ่ายได้ด้วย โดยใช้เวลาทดลองไปถึง 4 เดือน และด้วยคุณภาพภาพที่สูง กองถ่ายต้องใช้ฮาร์ดดิสค์ RAID ขนาด 48 เทราไบต์ในการเก็บไฟล์เลยทีเดียว
ในขณะเดียวกันปัญหาใหญ่ของการเล่าเรื่องแบบผู้ชมเลือกชมภาพที่ตัวเองอยากดู คือจะโน้มน้าวเขาให้ดูสิ่งที่เป็นหัวใจของเหตุการณ์ได้อย่างไร ทีมงานจึงต้องใช้การออกแบบทั้งเสียงและแสง ตลอดจนเทคนิคพิเศษต่างๆเป็นเหมือนหนึ่งตัวละครด้วย ลินขยายความการสร้างหนังสั้นเรื่องนี้ว่า หากการถ่ายหนังปกติคือการสร้างรถให้ผู้ชมนั่งไป หนังเรื่องนี้คือการที่เขาสร้างถนนขึ้นมาแล้วปล่อยให้รถยนต์วิ่งไปแทน
จากการดูหนังในโปรเจคดังกล่าวที่ปล่อยมา ผมสังเกตเห็นว่ามีการดึงความสนใจเรากลับไปที่เหตุการณ์หลักอยู่ตลอด ทั้งเมื่อเราเบือนหน้าไปตรงที่ไม่สำคัญเสียงดนตรีก็จะเบาลงเหมือนค่อยๆไกลออกไป หรือถ้าเป็นตัวอนิเมชั่นหากเราไม่หันไปมองตัวละคร บางทีมันก็จะยืนรอจนกว่าเราจะหันไปมองถึงค่อยทำกิจกรรมต่อด้วย แต่เหนือกว่าเทคนิคใดๆเราจะสัมผัสได้ว่าการเล่าเรื่องนั้นเปี่ยมสีสันและมันสนุกมากเมื่อเรามีส่วนร่วมเล็กๆน้อยกับเนื้อเรื่องนั้นด้วย เจ๋งมากๆเลยล่ะ
นอกจากหนังไซไฟคนแสดงของลินแล้ว ในแอพยังมีหนังสั้นอนิเมชั่นน่ารักๆ อย่างเช่น Windy Day เรื่องราวของเจ้าหนูที่พยายามไล่ตามหมวกที่ปลิวในวันลมพัดแรง Buggy Night เรื่องของแมลง 5 ตัวกับเจ้ากบนักล่า ที่เราต้องทำหน้าที่ส่องไฟฉายดูเหตุการณ์ทั้งหมด และ Duet อนิเมชั่นลายเส้นดินสอหวานๆเรื่องของผู้ชายผู้หญิงที่ชะตาชีวิตให้มาสัมพันธ์พบพรากกันตั้งแต่เด็กจนโต ต้องลองไปโหลดแอพ Spotlight Stories มาชมกันดู
ลินให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าเขาสนใจที่จะทำหนังขนาดยาวโดยเทคโนโลยีนี้ในสักวัน จริงๆแล้วเขาสนใจจะกลับมาร่วมโปรเจคหนังกับกูเกิ้ลทันทีเลยล่ะ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจหนัง Star Trek ภาค 3 ที่มีกำหนดฉายในปี 2016 ลงแล้ว รอชมสิครับ!
ว่าแล้วก็ลองโหลดแอป Google Spotlight Stories มาชมกันดู ตอนนี้เรื่อง HELP เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีอยู่ แต่ Google บอกว่าฟรีอีกไม่นาน ยังไงรีบหน่อยนะ
ปล. ก่อนหน้านี้ Taylor Swift ก็เคยออกแอป MV ที่สามารถชมได้ 360 องศามาแล้ว โลกเราเข้าสู่ยุควิดีโอ 360 องศาแล้วสินะ
ที่มา: THE VERGE