Release Date
26/11/2020
ความยาว
86 นาที
Our score
7.5MOSUL
จุดเด่น
- ฉากแอ็กชันสมจริงทั้งฉากเมือง และการเคลื่อนกล้องแบบติดตามตัวละคร รวมถึงบทสนทนาที่คมคายหลายครั้งที่เป็นมากกว่าหนังสงครามยิงถล่มกัน
จุดสังเกต
- การล่อหลอกผู้ชมเรื่องเป้าหมายภารกิจ กลายเป็นดาบสองคมที่บั่นทอนหนังเองให้น่าเชื่อน้อยลง และสนุกน้อยลงตามห้วงเวลาที่ผ่านไป
-
บท
7.5
-
โพรดักชัน
8.5
-
การแสดง
7.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.0
เรื่องย่อ เรื่องราวของ คาวา (อดัม เบสซา จาก Extraction) ตำรวจอ่อนประสบการณ์ที่ได้รับการช่วยชีวิตจากหน่วยสวาทนิเนเวห์ กลุ่มต่อต้านไอซิสกลุ่มสุดท้ายในเมืองโมซุล คาวาถูกชักชวนเข้าร่วมกลุ่มภายใต้การนำของ ผู้พันจาเซม (ซูฮาลี แดบบาช จาก The Hurt Locker (2008) เพื่อปฏิบัติภารกิจสุดท้ายที่เขาเองก็ไม่รู้ปลายทางของมัน
แม้จะจั่วหัวขายของกันด้วยชื่อชั้นของโปรดิวเซอร์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้อย่าง 2 ผู้กำกับพี่น้องตระกูลรุสโซ จากหนัง Avengers: Endgame (2019) ที่มีหนังหลายเรื่องให้ทำหน้าที่ป๋าดัน โดยก่อนหน้านี้ก็มีหนังอย่าง Extraction ที่มี คริส เฮมเวิร์ธ แสดงนำ และยังมาถ่ายทำในไทยจนเป็นที่ฮือฮาในโซเชียลบ้านเรามาแล้ว
และสำหรับ Mosul เรื่องนี้นั้น แม้จะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่คล้ายหนังแอ็กชันเอามันอย่าง Extraction แต่ก็มีกลิ่นอายหนังสงครามในอิรักที่ดูสมจริงอยู่มากกว่าด้วย อาจเพราะนี่เป็นการดัดแปลงหนังจากบทความชื่อ The Desperate Battle to Destroy ISIS ในนิตยสารรายสัปดาห์อย่าง The New Yorker ที่ว่าด้วยเลือดเนื้อชีวิตจริงของหน่วยสวาทนิเนเวห์ ที่ปฏิบัติการแลกชีวิตเพื่อทวงบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ในเมืองโมซุลที่ถูกปกครองโดยกลุ่มก่อการร้ายไอซิสก็เป็นได้
เน้นความสมจริงขนาดว่า หนังเลือกที่จะให้ตัวละครพูดภาษาอิรักตลอดเรื่องจริง ๆ แบบไม่สน ไม่เสียดายเลยว่าหนังอาจขายยากขึ้นในอเมริกาที่ผู้ชมไม่ชอบอ่านซับ ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต้องยอมแลกมาเพื่อความเชื่อแบบฝังเนื้อของผู้ชมว่ากำลังดูเรื่องจริง และนั่นก็ยังพ่วงมาด้วยวิธีการถ่ายทำแบบแฮนด์เฮลด์เกือบทั้งเรื่อง ผสมกับการกระชากซูมแบบหนังสารคดีที่ถึงลูกถึงคนเหมือนผู้ชมไปวิ่งถือปืนข้างกล้องนักข่าวสงครามอย่างไรอย่างนั้น
สำหรับการเล่าเรื่อง ก็ต้องบอกว่า ผลงานการกำกับครั้งแรกของมือเขียนบทอย่าง แมตธิว ไมเคิล คาร์นาฮาน ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือในหนังสงครามตะวันออกกลางอย่าง The Kingdom (2007) ของผู้กำกับ ปีเตอร์ เบิร์ก หรือหนังสงครามมวลมหาประชาซอมบี้อย่าง World War Z ที่มี แบรด พิตต์ แสดงนำ ก็สามารถผสมผสานเรื่องจริงที่มีดรามาติกมากเหลือล้นผสมเรื่องแต่งที่เข้มข้นและชวนตีความได้อย่างน่าสนใจ
หนังเปิดเรื่องมาท่ามกลางดงกระสุนที่กลุ่มไอซิสผลาญดินปืนใส่กลุ่มตำรวจของเมืองเล่นจนหูดับตับไหม้ แค่ฉากนี้ก็เปิดโสตประสาทผู้ชมให้ตื่นได้อย่างดี ว่างานนี้อาจได้ตามแอ็กชันกันรัว ๆ แบบไม่ต้องเกริ่นความเข้าใจอะไรมากมาย และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะผู้ชมแทบจะเข้าใจหัวอกตัวละครนำอย่าง คาวา ได้อย่างกับอยู่ร่วมสถานการณ์เดียวกัน เนื่องจากหลังควันกระสุนเริ่มจาง พระเอกของเราก็ถูกชักชวนร่วมกลุ่มสวาทที่มาช่วยเหลืออย่างงุนงง แม้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นไวมากจนดูประหลาด แต่ผู้กำกับก็ฉลาดในการหย่อนรายละเอียดบทสนทนาให้ดูน่าเชื่อได้ว่านี่คือการคัดคนเข้าหน่วยจริง ๆ อันนี้โชว์สกิลการเขียนบทที่ช่ำชองของคาร์นาฮานได้อย่างดี
หลังจากนั้นเราก็แทบจะถูกจับโยนถูลู่ถูกังไปกับรถฮัมวี่และการเดินแถวยุทธวิธีโดยไร้คำอธิบายใด ๆ ตลอดร่วม 1 วันเต็ม ๆ ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผู้กำกับอีกนั่นล่ะที่จะให้เราสงสัยติดตามรอคอยว่าภารกิจของกลุ่มสวาทนี้คืออะไรกันแน่ เพราะแม้คาวาจะถามครอบครัวใหม่ของเขาสักกี่ครั้ง (เกือบค่อนเรื่อง) สิ่งที่ได้มาก็คือความเงียบ โดยหนังใช้คำอธิบายที่น่าเชื่อถือว่าพระเอกยังไม่ได้รับการยอมรับว่าไม่ใช่สายของไอซิสจริง ๆ
แต่ก็นั่นล่ะ ท่ามกลางความอยากรู้ของเรา เมื่อนานเข้าก็เริ่มเป็นความอิหยังวะขึ้นทุกที เพราะการกระทำของกลุ่มสวาทนั้นชวนงงไม่ใช่น้อย เช่นสำรวจหาห้องที่มีทีวีเพื่อนั่งดูละครน้ำเน่าแย่งสามีกัน? หรือจะความไม่เป็นมิตรแบบแปลก ๆ ที่มอบให้กับสหายรบฝั่งเดียวกันอื่น ๆ เช่นกองกำลังทหารอิหร่าน หรือตำรวจประจำเมือง เป็นต้น แน่นอนทุกอย่างมีคำอธิบายของมัน แต่น่าเสียดายว่ากว่าหนังจะประกอบร่างให้เรายอมรับได้ เราก็เอียงไปทางไม่เชื่อหนังไปเสียส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นดาบสองคมในการเลือกวิธีเล่าเช่นนี้
นอกจากเหตุผลลึกลับของกลุ่มแล้ว หนังยังมอบฉากสถานการณ์ที่ชวนถกเถียงตั้งคำถามในหลาย ๆ ครั้ง ถึงความว่างเปล่าและมูลค่าที่ต้องแลกไปเพื่อเป้าหมายที่เราก็ไม่รู้ ทั้งฉากหยุดช่วยเหลือเด็กชาย 2 คนที่เพิ่งสูญเสียแม่ไป โดยให้เลือกทิ้งศพแม่ไว้แล้วรอดตายหรือจะอยู่แบบความหวังริบหรี่ หรือจะฉากที่ยิงตอบโต้กับไอซิสจนเพื่อนฝั่งตัวเองถูกลูกหลง และอีกหลายฉาก ซึ่งสิ่งที่ต้องแลกไปก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ไอ้เป้าหมายภารกิจนี้มันยิ่งใหญ่ขนาดไหนกันเชียว
ซึ่งตรงนี้ขอบอกไว้ว่าเมื่อมันเฉลยมีโอกาสทั้ง 2 แบบที่เราจะรู้สึก คือ แค่นี้เลยเหรอ? มันยิ่งใหญ่ล่ะ แต่ดูเล่นใหญ่มาทั้งเรื่องเพื่อแบบนี้อ่ะเหรอ หรืออีกแบบคือคุณอาจยอมรับว่ามันเป็นเพียงภาพสะท้อนนามธรรมและคอนเซ็ปต์ของหนังที่มันใหญ่เกินตัวมนุษย์ หรือตัวละครไปแล้วจริง ๆ และบทหนังก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม
ส่วนตัวของผู้รีวิวแล้ว เข้าใจคอนเซ็ปต์ดีเลย คิดว่ามันเจ๋งมาก ๆ ด้วยล่ะ แต่ในห้วงเดียวกันก็รู้สึกไม่ค่อยอินกับคำตอบนัก และเมื่อนึกหาสาเหตุ ก็เพราะลีลาท่าทีปกปิดความลับยิ่งใหญ่ที่ผ่านมาทั้งเรื่องนั่นล่ะ ว่ามันบอกไม่ได้เลยจริงดิ? หรือแบบฉากสุดท้ายที่เล่นใหญ่เวอร์มาก ๆ มันต้องทำขนาดนั้นเลยจริงดิ? แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ชื่นชมว่าหนังขยายคติที่อยากสื่อออกมาได้น่าติดตาม และน่าสนใจทีเดียว
ข้อติงอีกอย่างที่ไม่รู้จะสปอยล์หรือเปล่า คือหนังใช้วิธีการให้ผู้ชมจดจำตัวละครจำนวนมากด้วยการให้ฉากไหนที่ตัวละครนั้นจะสำคัญ เราจะได้ยินชื่อคนนั้น ๆ ถี่หลาย ๆ ครั้ง และเชื่อได้เลยว่าอีกไม่นานจะเกิดเรื่องบางอย่างกับตัวละครนั้นแน่ ๆ ซึ่งว่าไปมันก็ฉลาดในการเล่าด้วยเวลาจำกัด แต่พอใช้หลายครั้งเข้ามันก็เริ่มเกร่อเกินไปนั่นเอง
โดยสรุป นี่เป็นหนังสงครามที่มีการเรียงร้อยเรื่องราวหลายแง่มุมที่ชวนถกเถียงมากไปกว่าแค่ความขัดแย้งหรือความแค้น มีฉากแอ็กชันที่ดี ออกแบบบทสนทนาที่ดี คิดมาเยอะ ดีไม่ดีคิดระหว่างทางมาเยอะเกินไปจนปลายทางเริ่มไม่ตอบโจทย์เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีหนังเรื่องนี้ดูสนุกอยู่ไม่น้อย ดูผลาญเวลาได้สบายครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส