[รีวิว] School Town King: ราชาขบถนักฝันล่ามงกุฎ สารคดีไทยชวนสะดุดหัวสมองและหัวใจส่งท้ายปี

Release Date

17/12/2020

ความยาว

120 นาที

[รีวิว] School Town King: ราชาขบถนักฝันล่ามงกุฎ สารคดีไทยชวนสะดุดหัวสมองและหัวใจส่งท้ายปี
Our score
8.0

School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

จุดเด่น

  1. สารคดีไทยน้ำดี ที่มีทั้งพลังงานฝัน พลังงานความคิด และพลังงานใจ เหมาะกับเด็กที่กำลังหลงทางระหว่างความต้องการของตัวเองกับความต้องการของสังคม และเหมาะกับผู้ใหญ่ที่อยากหาเชื้อไฟมาสั่งให้ลุกไปเปลี่ยนแปลงสังคม

จุดสังเกต

  1. การเล่าเรื่องยังง่อนแง่นในบางจุด การลำดับเวลาทำให้ชวนสับสนในความต่อเนื่องของตัวละครบางช่วง (ต้องสังเกตจากทรงผมเอา) และหนังค่อนข้างมีความยาวมากสำหรับหนังสารคดี
  • การนำเสนอเรื่องราว

    7.0

  • โพรดักชัน

    8.0

  • ข้อทิ้งชวนคิดให้บริหารสมองและหัวใจ

    9.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.5

SF Cinema
Exclusive SF Cinema

เรื่องย่อ ภาพยนตร์สารคดีที่จะพาทุกคนไปเข้าใจโลกของเด็กสลัมคลองเตยที่ห่วยเรียน แต่เซียนแรป เมื่อความยากจนเป็นแรงผลักดัน พวกเขาจึงฝันจะเลี้ยงดูครอบครัวจากการเป็นแรปเปอร์อาชีพ แต่ในความเป็นจริง เขาต้องฝ่าฟันในสมรภูมิที่โหดขิงของระบบการศึกษาไทย คำดูถูกจากเพื่อนและพ่อแม่ บวกแรงกดทับจากสังคม ภารกิจพิสูจน์ฝันนี้สำหรับคุณอาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับพวกเขาทั้งสอง หากจะเฟี้ยวได้ มันต้องจ่ายด้วยการเดิมพันกับชีวิต!

หนังสารคดีจัดเป็นของแสลงสำหรับนักดูหนังทั่วไปเสมอมา การก่อกำเนิดสารคดีสักหนึ่งเรื่องมันจึงต้องใช้เชื้อไฟที่มากไปกว่าเรื่องธุรกิจหรือรายได้เป็นตัวนำ นั่นทำให้หลายครั้งหนังสารคดีจึงเต็มไปด้วยอุดมการณ์ รวมถึงอารมณ์อันท่วมท้นจากความตั้งใจในการนำเสนอ ยิ่งไปกว่าที่หนังบันเทิงใด ๆ จะ มอบให้ได้ และสำหรับ School Town King เองก็ทำให้เราเห็นสิ่งที่ว่าอย่างเด่นชัด ผ่านจุดน่าสนใจหลัก ๆ ดังนี้

ความน่าสนใจที่ 1 ไม้ตายสำคัญของหนังสารคดีไม่ว่าจะบอกเล่าด้วยสไตล์ใดก็ตาม อย่างไรก็ยังเป็นเรื่องความน่าทึ่งของหัวเรื่องที่นำเสนออยู่วันยังค่ำ ซึ่งหัวเรื่องที่ว่าก็อาจหมายถึงตัวบุคคลเจ้าของประเด็น เฉกเช่น บุ๊ค (ธนายุทธ ณ อยุธยา) และ นนท์  (นนทวัฒน์ โตมา) เด็กบ๊วยของโรงเรียน ที่ตั้งกลุ่มแรปเปอร์เด็กจากสลัมคลองเตยในนาม School Town King และกลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศอยู่ช่วงหนึ่ง และแม้ทั้งคู่จะมีบุคลิกตลอดภูมิหลังที่น่าสนใจไม่น้อยที่ชวนเราลงไปสำรวจได้อย่างไม่รู้เบื่อ

School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

เช่นว่า บุ๊ค เป็นเด็กเรียนดีและอาจกล่าวได้ว่าคือประเภทประธานนักเรียนในอุดมคติของระบบการศึกษาไทยเลยก็ว่าได้ในช่วง ม.ต้น หากแต่เพียงข้ามก้าวปีสู่ ม. ปลาย การได้พบกับความฝันอย่างแรป ก็แปรเปลี่ยนเขาไปอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งความขบถที่มากขึ้น หรือแม้แต่ความมั่นใจที่ประกาศว่าตนเองจะไปอเมริกาเพื่อเป็นแรปเปอร์อันดับ 1 ให้จงได้ด้วยสายตาที่ไม่มีทีท่าของการหลอกเล่นแต่อย่างใด

School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน
School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

หรืออย่าง นนท์ ก็เป็นประเภทของเด็กหลืบที่กลืนหายไปในหลังห้อง ไม่มีใครสนใจจะจดจำ เป็นพวกที่น่าจะโดนรังแกได้ง่าย แต่เพราะแรปนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็น บางคน ขึ้นมา และกล้าที่จะฝันเอาดี ไปไกลได้กว่าเด็กในคลองเตยที่เป็นภาพจำของสังคมว่าไม่โตไปค้ายา ทำผิดกฎหมาย ก็คงอยู่หรือตายในคุกเท่านั้น

School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน
School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

ซึ่งแม้จะมีคาแรกเตอร์ตัวนำเรื่องที่น่าสนใจ พร้อมเรื่องราวความดังข้ามคืนแบบหนังชวนฝันสูตรสำเร็จ แต่ผู้สร้างหนังก็ไม่ได้ฉาบฉวยเอาสะดวกเท่านี้ และก็ไม่เพียงแค่จะเป็นเรื่องราวการเดินทางอันยาวไกลของฮีโรตกยาก ที่ต้องพบอุปสรรคนานาจนกว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะหากเป็นเพียงเช่นนั้นก็คงเป็นเพียงอีกหนึ่งเรื่องเล่าฮีโรที่เห็นดาษดื่นเท่านั้น

แต่หนังกลับมีเรื่องเล่าที่ต่างจากสูตรสำเร็จไปแบบที่เราก็ไม่คาดคิด ซึ่งหากจะ สปอยล์ บ้างพอยั่วน้ำลายก็คงเป็นการปะทะความคิดที่ไม่มีใครผิดหรือถูกของสองสหายรักต่างวัยที่เราเดินร่วมทางกลับเขามาตลอด จนรู้สึกใจหายอยู่หลายครั้งกับทุกความเปลี่ยนแปลงในชีวิตพวกเขา

School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

และมันยังเชื้อเชิญอย่างจงใจให้เราตั้งคำถามกับบริบทรอบตัวของน้องทั้งสองคน ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ อย่างครอบครัว ใหญ่ขึ้นเป็นชุมชน ความเหลื่อมล้ำของชนชั้น แนวคิดของระบบการศึกษา ยาวไปถึงนโยบายของรัฐ และทัศนคติของผู้นำประเทศที่มีต่อเด็กได้ถึงขนาดนั้นเลย และคงต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าฉากโมโนล็อกของ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา คือช่วงเวลาที่หนังอัดเอาจุก ทั้งยังเปล่งประกายมากที่สุดฉากหนึ่งทีเดียว

ซึ่งชะตากรรมของทั้ง 2 สหายในท้ายสุดของหนังที่ไม่ได้เกินคาดคิดสำหรับผู้ชมที่ตระหนักความจริงของโลกใบนี้ จะว่าไปหากอยู่ในหนังบันเทิงก็คงหนักต่อความรู้สึกเราเพียงหมัดแย็บสองสามที แต่เมื่อมันเป็นบันทึกจากเรื่องจริงแล้ว ก็ได้เปลี่ยนน้ำหนักกลายมาเป็นหมัดฮุกหรือเคาต์เทอร์แอตแทกค์ใส่หน้าผู้ชมได้อย่างจังอยู่ไม่น้อย

ความน่าสนใจที่ 2 เป็นเรื่องของโพรดักชันและแนวคิดของสารคดี ต้องย้อนว่านี่คือผลงานเรื่องยาวเรื่องที่ 2 ที่ได้รับการฉายโรงของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย (เบสต์) ซึ่งส่วนตัวติดตามและสนใจมาจากหนังเรื่องก่อนหน้าอย่างหนังสารคดีเชิงทดลองเรื่อง นิรันดร์ราตรี (2560) ที่ว่าด้วยการปิดกิจการโรงหนังธนบุรีรามา ซึ่งโดดเด่นในการนำเสนอความจริงที่ตกแต่งด้วยภาพสุดอัศจรรย์ ราวกับหนังบันเทิงแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) และสะท้อนรสนิยมของผู้สร้างที่ไม่ธรรมดาในการนำเสนอทั้งภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีคิดการสลายตัวตนผู้สร้างให้กลืนหายไปเกือบเป็นอากาศธาตุในสารคดี

หากแต่ในเรื่องนี้อาจด้วยจุดเริ่มต้นของหนังมาจากโครงการที่ทีมงานลงไปทำเวิร์กช็อปให้การเรียนรู้นอกตำรากับนักเรียนมาก่อน ทำให้ เบสต์ กับทีมสร้างได้คลุกคลีเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องราวไปด้วย หลายครั้งเราจึงได้ยินเสียงเขาในการสัมภาษณ์ ถามเพิ่ม หรือแม้แต่ในบางซีนที่ถามนำเสียด้วย ก็ทำให้เห็นลีลาที่เป็นสารคดีแบบกระตุ้นเรียกร้องทางสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย

School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

ตรงนี้ก็อาจมองได้หลายแง่มุม หรือแม้แต่อาจตั้งคำถามไปในแนวคิดของสารคดีด้วยว่า เมื่อเป้าหมายคือการกระตุกคิดหรือตั้งคำถามแล้ว ผู้สร้างเข้าไปแหย่ความจริงได้มากน้อยเพียงใด อย่างน้อยก็แน่ชัดหนึ่งอย่างว่า หากวันนั้นเบสต์ไม่จับกล้องเข้าไปยังพื้นที่ชีวิตหรือพื้นที่กายภาพอย่างบ้านและโรงเรียนของทั้งบุ๊คและนนท์ มันมีโอกาสเกิดได้ทั้งว่าชีวิตของทั้งคู่อาจไม่เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้อย่างสิ้นเชิง/หรืออาจจะเป็นแบบที่หนังเล่าอยู่ดี ซึ่งโดยส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบุ๊คและนนท์พอสมควรทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดในฐานะที่มันคือสารคดีแนวกระแทกปัญหาสังคม

School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน

และเมื่อมองจากทุกองค์ประกอบนั่นก็เพียงพอให้หนังของเขาได้ไปฉายโชว์ในเทศกาลหนังนานาชาติที่ปูซานในปีนี้ด้วย

ความน่าสนใจสุดท้าย หนังเรื่องนี้มีพลังงานบางอย่างที่ทำให้เราเอาใจช่วยน้อง ๆ ทั้งสองคน หรือแม้แต่ทุกบุคคลที่ปรากฏบนหน้าจอ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายหนังพยายามตอกย้ำอย่างแนบเนียนว่า ไม่ว่าใคร ๆ ก็ล้วนตกเป็นเหยื่อของกระบวนการทางสังคมที่ครอบทับเอาไว้ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำ ทางพื้นที่ ทางการเงิน ทางการศึกษา และที่น่าเศร้าที่สุดคือทางความฝัน และแม้เราจะถอดหมวกความเป็นวิชาการรวมถึงภาษาศัพท์แสงทางสังคมศาสตร์ทิ้งไป หนังเรื่องนี้ก็ยังมีคุณค่าที่ทิ้งตะกอนความคิดมากมายให้ผู้ชมแบบย่อยง่ายแต่หนักท้อง และบันเทิงในแบบที่อิ่มจุกพร้อมทั้งยิ้มและมีน้ำตาได้ในทีเดียวกัน หนังส่งพลังงานดีแบบนี้ต้องเชียร์ครับ

School Town king

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส