[รีวิว] Death to 2020: กึ่งสารคดีสุดขื่นขม แต่ก็ฮาแสบสันต์

Release Date

27/12/2020

ความยาว

70 นาที

[รีวิว] Death to 2020: กึ่งสารคดีสุดขื่นขม แต่ก็ฮาแสบสันต์
Our score
9.0

Death to 2020

จุดเด่น

  1. เสียดสีแสบ ๆ กับเรื่องดังตลอดปี 2020 เลวแบบได้ใจ ดาราดังมาเล่นฮา ๆ เยอะมาก

จุดสังเกต

  1. เน้นสายตาผ่านฝั่งอังกฤษเยอะไปนิดเพราะทีมสร้างเป็นฝั่งบริเทน แล้วก็ซับไทยแปลไม่แซ่บเท่าอารมณ์ของต้นฉบับ
  • บท

    8.5

  • โพรดักชัน

    8.5

  • การแสดง

    9.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    10.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    9.5

เรื่องย่อ สารคดีปลอมที่เอาฟุตเทจและข่าวสำคัญตลอดปี 2020 มาประมวลตีความใหม่อย่างตลกร้าย ผ่านผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง ทั้งราชวงศ์ นักข่าว นักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักการเมือง ยูทูบเบอร์ ตลอดจนชาวบ้านธรรมดา ซึ่งที่ว่ามาปลอมด้วยนักแสดงคนดังและตลกมืออาชีพทั้งสิ้น

เน็ตฟลิกซ์ กับมือกับทีมงานซีรีส์ชุดดังของอังกฤษอย่าง Black Mirror มาทำการประมวลเหตุการณ์สำคัญของโลกตลอดปี 2020 ปีที่ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เรียกว่าอลหม่านที่สุด บ้าบอที่สุด และไม่มีปีใดที่เหมาะจะเอามาทำหนังตลกร้ายได้มากเท่านี้อีกแล้ว จากเหตุการณ์ต้นปีตั้งแต่ไฟป่าครั้งใหญ่ที่ออสเตรเลีย จนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี

โดยได้ดาราดังทั้ง ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น ที่มาให้เพียงพากย์ แซมมูเอล แอล. แจ็กสัน รับบทนักข่าวนักวิเคราะห์ ฮิวจ์ แกรนต์ ในบทนักประวัติศาสตร์ คุมาล นันจีอานี ในบทเจ้าของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ โจ คีรี่ ในบทยูทูบเบอร์และดาวตลกอีกมากมายก่ายกอง ที่คุ้นหน้าสุดอย่าง เลสลี่ โจนส์ จาก Ghostbusters (2016) เป็นต้น

ดาราเป็นจุดขายก็อย่างหนึ่ง แต่จุดแข็งจริง ๆ คงเป็นบทวิเคราะห์ผ่านมุมมองของคาแรกเตอร์แต่ละคนต่อปี 2020 นั่นล่ะ ที่โคตรปั่น แสบสมกับเป็นทีมสร้างซีรีส์ Black Mirror จริง ๆ เอาง่าย ๆ แค่ภาพเปิดหนังที่มาด้วยหน้าเบื่อโลกของ ซามูเอล แอล. แจ็กสัน ที่แทบจะได้ยินเสียง Mother F*cker กระแทกจอมา (แต่น่าเสียดายที่แกไม่ได้พูดคำนี้เลยในหนัง) แบบใช่เลย ปี 2020 มันต้องได้เสียงประกอบแบบนี้ล่ะ

Death to 2020

ความตลกที่แตกต่างจากหนังตลกเรื่องอื่น ๆ เพราะมันเป็นการประยุกต์ สแตนด์-อัปคอมเมดี มาใช้ในงานภาพยนตร์ คือเวลาเราชมเดี่ยวต่าง ๆ ผู้พูดจะทำการเข้าเนื้อเรื่องซึ่งมักยกมาว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเหตุการณ์ส่วนรวมที่ทุกคนสามารถอินได้ง่าย แล้วเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องจริงนั้น ๆ ด้วยวิธีการเล่าหรือวิธีการคิดที่เฉียบคมให้กลายเป็นขำขัน หัวใจคือเอาเรื่องจริง (หรือสมจริง) มาใช้เป็นต้นทุนในการผลิตเพื่อความฮา

เช่นเดียวกัน Death to 2020 ก็เป็นความตลกจากการแดกดัน เสียดสีเรื่องจริง ซึ่งต่างจากหนังตลกเพียว ๆ ที่มักแฟนซีจัดไปเลย หรืองานตลกแอบถ่ายที่ถึงจะฮาจากสถานการณ์จริง แต่ไม่ได้มีการใช้ความเฉียบคมในการเสนอมากนัก

Death to 2020

ส่วนตัวชอบบทพูดของ ฮิวจ์ แกรนต์ ในฐานะนักประวัติศาสตร์มาก ตัวอย่างเช่น ตอนวิเคราะห์เรื่อง Black Lives Matter ที่คนรุ่นใหม่ออกมาทำลายรูปปั้นคนผิวขาวที่มีชื่อเสียงในอดีต (แต่เคยค้าทาส) แล้วพี่แกบอก พวกนั้นกำลังทำลายประวัติศาสตร์ แต่ก็มีเสียงผู้กำกับสารคดีถามสวนไปว่า แล้วมุมมองว่าการที่พวกเขาทำลายรูปปั้นก็เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ล่ะ

Death to 2020

พี่แกรนต์ก็ทำหน้าอึ้ง ๆ เออว่ะ แล้วตัดบทว่า หุบปากแล้วก้าวผ่านเรื่องพวกนี้กันซะทีเถอะ (ฮา)

หรืออย่างตอนแกที่บอกว่าปีนี้มันเลวร้ายมาก ดั่งปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ ไวท์วอล์กเกอร์ เดินทางมาถึงกำแพงเวสเทอรอส แล้วพอโดนทักว่านั่นมันซีรีส์ Game Of Thrones นะไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แกก็ว่าอย่าเถียงแกสิ แกเป็นนักประวัติศาสตร์ แกเรียนมา (ฮา) คือมันมีการผสมผสานความบันเทิงร่วมสมัย การเมือง วิทยาศาสตร์ หลาย ๆ อย่างมาปั่นอย่างสร้างสรรค์ได้สนุกทีเดียว

Death to 2020

มาถึงข้อเสียของหนังบ้าง ด้วยความที่ทีมสร้างเป็นทีมอังกฤษ ทำให้เหตุการณ์แซวนายกรัฐมนตรีอังกฤษดูจะได้เวลามากไปเสียหน่อยสำหรับคนดูประเทศอื่น ๆ ที่อาจไม่ได้อินมาก หรือช่วงของ Black Lives Matter ก็เล่นเบามาก คือดูออกว่าเกรงใจเพราะมันก็เป็นประเด้นที่น่าเศร้าอยู่เรื่องผู้บริสุทธิ์ตาย แต่มู้ดมันดรอปลงเยอะเหมือนกัน

จริง ๆ หนังออกมาตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมปีก่อน แต่เนื่องจากยังไม่มีซับไทยก็เลยรอรีวิวพร้อมซับไทยเมื่อวันก่อนเลยทีเดียว ซึ่งต้องบอกว่าตอนที่ดูแบบยังไม่มีซับไทยนั้นฮากว่ามาก อาจด้วยความประทับใจแรก แต่อีกประการก็คือการแปลซับไทยนั้นค่อนข้าง แซ่บ น้อยกว่าที่ควรเป็นมาก ภาษาออกทางสารคดีจนน่าเบื่อ ทั้งที่บทและการแสดงเล่นแรงกว่าการแปลไปไกลแล้ว ก็น่าเสียดายนิดหนึ่งครับ

สรุป จัดแบบนี้มาทุกปีเลยนะเน็ตฟลิกซ์

Death to 2020

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส