Release Date
05/01/2021
แนว
สารคดี / บันเทิงคดี
ความยาว
1 ซีซัน / 6 ตอน (ตอนละ 20 นาที)
เรตผู้ชม
18+ (การใช้ภาษาไม่เหมาะสม)
Excecutive Producer
Rhett Bachner
Co-Producer
Christopher D'Elia
Our score
7.9History of Swear Words | นานาสาระเรื่องคำด่า
จุดเด่น
- สั้น กระชับ ดูเพลิน ดูจบแล้วเข้าใจได้เลยทันที
- ผู้กำกับเชื่อมโยงและเชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ ทั้งภาษา สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ จิตวิทยา ฯลฯ ได้ออกมารอบด้าน ทั้งสนุกและโคตรปั่น
- นิโคลัส เคจ ในภาพลักษณ์แบบนี้นี่มันเครื่องด่าชัด ๆ โคตรชอบ 555
จุดสังเกต
- มีคำหยาบคาย มุกผู้ใหญ่ และมุกสไตล์อเมริกันเยอะ น้อง ๆ อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ต้องดูก็ได้ เพราะดูไปก็ไม่เก็ต
- ตัวสารคดีมีความเป็นบันเทิงคดีอยู่ ถ้าหวังดูแบบซีเรียสจริงจัง น่าจะต้องกระเทาะออกเล็กน้อย
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
7.8
-
คุณภาพงานสร้าง
7.7
-
คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น
7.1
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
8.2
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.9
เรื่องย่อ History of Swear Words สารคดีซีรีส์ดำเนินรายการโดย Nicolas Cage ที่จะพาไปสำรวจต้นกำเนิดของคำหยาบคาย ทั้งในมุมของวัฒนธรรมพอป วิทยาศาสตร์ และผลกระทบต่อสังคมของคำหยาบคายที่คนรู้จักกันมากที่สุดในโลก
คำเตือน : บทความรีวิวนี้มีการกล่าวถึง “คำหยาบคาย” ต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อยกตัวอย่างในการใช้คำหยาบคายในบริบทและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสื่อสารกับผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น อย่าดราม่ากันนะผมกลัว…
ใน ชีวิตของเรา เรามักจะใช้ “คำหยาบคาย” กันจนชิน ใช้กันจนน่าจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรแล้วละมั้งครับ แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่าคำหยาบคายที่เราใช้กัน ทั้งตอนที่ด่า หรือโดนด่า หรือใช้เพื่ออุทาน สบถ ต่าง ๆ นานานั้นมีที่มาอย่างไร มันกลายมาเป็นคำหยาบคายได้อย่างไร แล้วคำหยาบคายกลายมาเป็นคำต้องห้ามได้อย่างไรมันมีกลไกอะไรบ้างที่ทำให้เมื่อเราได้ยินคำหยาบคาย เราจึงรู้สึกว่ามันทั้ง“หยาบ” ระ “คาย” หู และจิตใจเสียเหลือเกิน ทำไมเวลาเราสบถกับตัวเองเบา ๆ เราจึงรู้สึกดี แต่ทำไมเวลาเราโดนด่า เราจึงรู้สึกขุ่นเคืองจนอยากจะมีเรื่อง หรือทำไมคำหยาบบางคำ ที่เคยกลายเป็นคำต้องห้ามในสังคมเวลาหนึ่ง แต่ทำไมพอมาถึงปัจจุบัน มันกลับกลายไปเป็นคำที่ยอมรับได้
มิหนำซ้ำ คำหยาบคายบางคำ ทำให้หนังบางเรื่อง เพลงบางเพลง อัลบั้มบางอัลบั้ม หนังสือบางเล่ม นักเขียน นักร้อง นักแสดงบางคน กลายเป็นที่จดจำ ยกตัวอย่างก็ “Motherf**ker” ของลุงแซมมวล แอล. แจ็กสัน หรือคำว่า “ไอ่สั๊ด!” ของน้าค่อม ชวนชื่น อะไรแบบนี้เป็นต้น
ต่าง ๆ นานาที่ผมยกมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะกลไกเรื่องของ “ภาษาและความหมายของคำ” แต่เพียงอย่างเดียวตามลำพังแน่ ๆ เคยสงสัยกันไหมครับว่า ไอ้ที่เราด่า ๆ กัน หรือเคยโดนด่า ทำไมเราถึงต้องเอาคำนั้นมาด่า มันมีความหมายอะไรที่มากกว่านั้นหรือเปล่านะ?
History of Swear Words คือสารคดีซีรีส์ Original เรื่องใหม่ของ Netflix ครับ ซึ่งก็ตามชื่อเลยว่า เป็นสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ของ “คำหยาบคาย” โดยทั้ง 6 ตอนในซีซันแรกนั้น เน้นการเล่าเรื่องจุดกำเนิด ประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไป รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ตั้งแต่เรื่องของภาษา ปรากฏการณ์ทางสังคม เพศ ชนชั้น ศาสนา ความเชื่อ การเมือง การปกครอง สุขภาพกายและจิต พฤติกรรม และแน่นอนว่า ต้องไปข้องแวะกับสื่อบันเทิง ตั้งแต่ภาพยนตร์ เพลง รายการทีวี หรือแม้แต่โชว์ Stand Up Comedy (เดี่ยวไมโครโฟน) ซึ่งเปรียบเสมือน “ที่ทาง” เดียวในสังคมที่ยังได้รับความยินยอมให้คำหยาบคายเล็ดลอดออกมาได้บ้างผ่านการจัดเรตติง
ทั้งหมดนี้ดำเนินเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม และบันเทิง ที่จะมาเล่าถึงมุมมองทางด้านภาษาของคำหยาบคาย มุมมองและผลกระทบต่อสังคมที่เกี่ยวเนื่องจากคำหยาบคายนั้น หรือแม้แต่ผลกระทบด้านจิตวิทยา และปรากฏการณ์ทางร่างกายที่เกี่ยวกับคำหยาบด้วย รวมถึงทีมงานยังนึกสนุก ไปสัมภาษณ์ดารา นักแสดง นักแสดงตลก นักแสดงเดี่ยวฯ มากหน้าหลายตา เพี่อมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับคำหยาบคายด้วย และทั้งหมดนี้ถูกขมวดรวมและนำเสนอโดยพิธีกรอย่างลุง Nicolas Cage (ผู้เคยพ่นคำว่า BITCH ในหนังเรื่อง Face/Off (1997) มาแล้ว)
ส่วนตัวผมชอบลุงแกในลุคนี้นะครับ หลังจากที่หลัง ๆ แกชอบรับงานหนังด้วยคติ “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” รับเล่นหนังบ้าบอคอแตกอะไรก็ไม่รู้ตั้งหลายเรื่อง ลุคของลุงแกก็เลยออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ จำไม่ค่อยได้ แต่คราวนี้ผมว่า ลุงแกเท่มาก ๆ ครับ ลุงดูกลายเป็น “เครื่องด่า” ที่พร้อมจะหลุดคำสบถ พ่นคำด่า ปล่อยสัตว์เลื้อยคลาน (จากปาก) ออกมากัดเราได้ทุกเมื่อ 555
และพอเป็นสารคดีคำหยาบคายที่มาในรูปของซีรีส์ ทั้งหกตอนในซีซันแรกก็เลยมีชื่อตอนเป็น “คำหยาบคาย” ทั้งหมด ได้แก่ “FUCK”, “SHIT”, “BITCH”, “DICK”, “PUSSY“, และ “DAMN” เรียกได้ว่าเป็นชื่อตอนที่ “โคตรหยาบคาย” เลยครับ 555
ก็แหงล่ะ เพราะซีรีส์เรื่องนี้เขาเล่าเรื่องของประวัติศาสตร์คำหยาบคาย คำละหนึ่งตอน ตอนละราว ๆ 20 นาที เจาะลึกคำหยาบคายแต่ละคำกันแบบทุกด้านทุกมุม ตั้งแต่เรื่องของต้นกำเนิด รากศัพท์ ภาษา การศึกษาปรากฏการณ์ที่อธิบายว่าเมื่อเราพูดคำ (หยาบคาย) นั้นออกไปแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างไรกับคนในสังคมบ้าง
รวมถึงเรื่องที่น่าสนใจที่เราอาจนึกไม่ถึงก็คือ คำหยาบคายจริง ๆ แล้ว อาจมีความหมายที่ไม่จีรังยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนแปลงความหมายตามประวัติศาสตร์และการใช้ มันทำให้ความหมายของคำหยาบคายบางคำนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นคำธรรมดา ๆ ที่มีความหมายโดยนัย “กว้างขึ้น” และ “มีนัยที่สื่อถึงความหยาบคาย” น้อยลง เมื่อใช้ในบริบทและน้ำเสียงที่ต่างกันออกไป
ตัวอย่างที่น่าสนใจก็อย่างเช่นตอน “PUSSY” ที่หมายถึงของสงวนของสตรี ซึ่งจริง ๆ มันมีที่มาหลายตลบมาก ๆ ตั้งแต่การที่มันมีความหมายร่วมกันในหลาย ๆ ภาษา สันนิษฐานว่า รากศัพท์อาจหมายถึงประตู หรือกระเป๋ามาก่อน (ซึ่งก็คล้ายอยู่นะ) จนกระทั่งคลี่คลายกลายไปเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกแมวหรือลูกแมว จนกระทั่งมันก็ถูกนำเอามาเรียกผู้หญิงในเชิงชื่นชมประมาณว่า “คุณช่างน่ารักนุ่มนิ่มเหมือนแมวน้อย…”
จนกระทั่งมาถึงช่วงหนึ่ง ความหมายก็เปลี่ยนเป็นคำที่สื่อไปถึงของสงวนของสตรี (ในฐานะที่เคยถูกมองว่ามันเป็นของต่ำ) แล้วก็พัฒนากลายไปเป็นคำด่าเพศตรงข้ามแทน เช่น “ไอ้หน้า PUSSY“ ซึ่งพอด่าออกไป ก็จะเกิดความย้อนแย้งเหยียดเพศขึ้นมาอีก เพราะถ้าเกิดเราด่าใครสักคนว่าไอ้หน้า “PUSSY“ มันก็เหมือนกันการ “ยอมรับ” ว่า “PUSSY“ ของเพศหญิงเป็น “ของต่ำ” ไปอีกแน่ะ! (เพราะปกติเรามักใช้ของที่ต่ำต้อย สกปรก น่ารังเกียจ ฯลฯ มาใช้ด่าเพื่อเปรียบเปรยว่าคน ๆ นั้นต่ำต้อย สกปรก น่ารังเกียจเหมือนกับสิ่งนั้น ๆ)
แม้ชื่อซีรีส์สารคดีเรื่องนี้จะใช้ชื่อนำหน้าว่า History (ประวัติศาสตร์) แต่เอาเข้าจริง ๆ เป็นสารคดีที่ดูได้เพลิน ๆ เลยนะครับ เพราะนอกจากจะสั้นแค่ 20 นาทีแล้ว ในแง่ของการเล่าเรื่องก็น่าสนใจ เพราะสามารถเล่าเรื่องห่าม ๆ อย่างคำหยาบคายให้ออกมาได้เนิร์ดมาก ๆ โพรดิวเซอร์และคนเขียนบทเก่งมาก ๆ ในการเชื่อมโยงคำหยาบคายกับมุมมองด้านต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ คำหยาบหนึ่งคำ สามารถพูดได้ตั้งแต่เรื่องของภาษา ประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง หรือแม้แต่ศาสนาหรือความเชื่อขนาดนั้นเลย!
แม้ว่าจะมีข้อมูลเนิร์ด ๆ เต็มไปหมด แต่ก็สามารถนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ให้ออกมาทั้งหยาบคาย ห่าม ตลก สนุกสนานเฮฮา และกวนเบื้องล่างมาก ๆ ส่วนลุงนิโคลัส เคจ ก็เป็นโฮสต์ที่คอยเชื่อมเรื่องราวแบบโซโลเดี่ยวได้สมกับเป็นนักแสดงระดับแถวหน้า กลายเป็น “เครื่องด่ามาดดี” ที่ดูแล้วก็แอบคิดถึง “น้าเน็ก” (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) อยู่เหมือนกันนะครับ
สำหรับคนที่คอนเซอร์เวทีฟ หรือมีความหวั่นใจว่าสารคดีเรื่องนี้จะมาเชิดชูคำหยาบคายหรือเปล่า ต้องขอบอกเลยครับว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่มีอะไรอย่างนั้นแน่นอน โอเค เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่า คำหยาบคายน่ะ ถ้ามันออกมาอย่างผิดกาลเทศะ มันมีแต่จะเสียกับเสีย เอาไปใช้ไม่ถูกคน ไม่ถูกสถานที่ก็เสียเกียรติ เอาไปใช้ไม่ถูกเวลาก็ดราม่า เอาไปใช้ไม่ถูกทั้งเวลา ไม่ถูกคน ไม่ถูกสถานที่ก็มีแต่จะฉิบหายวายวอด
แต่ในอีกทางหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า คำหยาบคายนั้นไม่ได้ “หยาบคาย” เพียงเพราะตัวมันเองแน่นอน สารคดีเรื่องนี้เปิดให้เราได้เห็นแบบอล่างฉ่างว่า คำหยาบคายไม่ได้เป็นเพียงแค่คำที่เอาไว้สบถด่าทอ แต่ยังมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย คำหยาบคายอาจเป็นสิ่งแย่และเป็นข้อห้าม แต่สำหรับคนอย่างเรา ๆ เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่าโลกมันห่วย คนน่ารำคาญ
การได้สบถว่า “FUCK YOU!” เบา ๆ กับตัวเองแค่สักครั้ง มันก็ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้จริง ๆ นะครับ…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส