Release Date
21/01/2021
แนว
ไซไฟ/ระทึกขวัญ
ความยาว
1.25 ชม. (85 นาที)
เรตผู้ชม
13+
ผู้กำกับ
Adam Mason
ผู้อำนวยการสร้าง
Michael Bay
Our score
5.4SONGBIRD | โควิด 23 ไวรัสล้างโลก
จุดเด่น
- หนังหยิบเอากิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อิงจากโควิด-19 มาบิดเล่นได้น่าสนใจ เช่นเรื่องของ Social Distancing
- หนังไม่ยาวมาก
จุดสังเกต
- บทอ่อนปวกเปียกและจืดชืด เต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล
- ดูเพลิน ๆ ก็พอไหว แต่ไม่มี Massage อะไรทิ้งไว้ให้คิดต่อนะ
- ตัวละครไม่มีมิติเลย ไม่ชวนให้เอาใจช่วยด้วย
- มีความพยายามใส่ลายเซ็นไมเคิล เบย์ในมุมกล้องและการตัดต่อ แต่ทำไม่ค่อยถึง
- มีจังหวะน่าเบื่อ ๆ และออกทะเลเยอะเหมือนกัน
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
3.8
-
คุณภาพงานสร้าง
7.5
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
4.6
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
6.7
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
4.4
เรื่องย่อ ในโลกอนาคตปี 2024 เมื่อไวรัสโควิด 23 ระบาดร้ายแรงเริ่มกลายพันธุ์ และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 110 ล้านรายทั่วโลก แต่แล้วหายนะก็บังเกิดกับ นิโก (เคเจ อาปา) ชายหนุ่มผู้มีภูมิคุ้มกัน เมื่อ ซารา (โซเฟีย คาร์สัน) แฟนสาวของเขาที่ไม่เคยมีโอกาสเจอกันอีกเลยนับตั้งแต่เกิดเหตุไวรัสระบาด กำลังจะถูกเจ้าหน้าที่บุกมาถึงที่พักภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกต้องสงสัยว่าติดเชื้อ นิโกจึงต้องรีบเดินทางฝ่ามฤตยูไวรัสล้างโลกนี้ พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยซาร่าให้ได้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ปี 2020 (และน่าจะปีนี้ด้วย) เป็นปีแห่งความวิปโยคโศกศัลย์และฉิบหายวายป่วงของวงการภาพยนตร์จริง ๆ ครับ ไม่น่าเชื่อว่า โควิด-19 จากไวรัสตัวหนึ่งจะทำให้ทั้งวงการภาพยนตร์ต้องชะงักตั้งแต่การถ่ายทำ ส่วนเรื่องไหนที่ทำทุกอย่างเสร็จแล้ว ก็ต้องมาสะดุดเพราะโรงหนังปิด หรือไม่ถ้ากัดฟันฝีนฉาย ก็มีโอกาสเสี่ยงเจ๊งไม่คุ้มทุนอีก เพราะคนดูไม่ค่อยกล้าออกไปนั่งในโรงหนัง คือเรียกได้ว่าง่อยเปลี้ยกันทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเลย
แต่แม้คนในอุตสาหกรรมหนังหลายคนจะขยาดกับโควิด-19 มากแค่ไหน แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดยผู้อำนวยการสร้างชื่อดังอย่างไมเคิล เบย์ ผู้กำกับ Armageddon (1998), Pearl Harbor (2001), The Purge (2013) และแฟรนไชส์หุ่นยนต์ตีกัน Transformers (2007-2017) คือไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแกคิดยังไงนะครับ เพราะช่วงโควิดระบาด แทนที่พี่เบย์จะหยุดพักกองในช่วงล็อกดาวน์เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดโควิด พี่แกดันอยากใช้เมืองลอสแองเจลิสที่กำลังเงียบเชียบจากมาตรการล็อกดาวน์ในปีที่แล้ว เป็นโลเกชันหลัก ๆ ในการถ่ายทำและเป็นฉากดำเนินเรื่อง เพื่อให้ได้บรรยากาศล็อกดาวน์ที่สมจริงสมจัง
แต่แน่นอนแหละ ใครมันจะไปอนุญาต 555 จนกระทั่งในที่สุด ทีมงานก็ได้อนุญาตให้ถ่ายทำ โดยทีมงานได้เลือกลอสแองเจลิสเป็นสถานที่เดียวในการถ่ายทำ และใช้เวลาถ่ายทำเพียง 4 เดือน เรียกได้ว่ากลายเป็นหนังเรื่องแรก ๆ เลยที่ถ่ายเสร็จหลังช่วงการล็อกดาวน์ โชคยังดีที่ไม่มีใครในกองถ่ายหนังเรื่องนี้ชิงติดโควิด-19 ไปก่อนที่โควิด 23 จะมาถึงจริง ๆ
พล็อตสั้น ๆ ของหนังเรื่อง “นกร้องเพลง” ก็คือโลกในอีก 3-4 ข้างหน้านี่แหละครับ ในปี 2024 แน่นอนว่าเชื้อไวรัสโควิดยังคงอยู่ แถมทะลึ่งกลายพันธ์ุในชื่อใหม่ว่า โควิด-23 ที่ร้ายแรงกว่าเดิม คนตายไปนับร้อยล้านคน ก็เลยต้องประกาศล็อกดาวน์และการใช้เคอร์ฟิว จำกัดพื้นที่ คนติดเชื้อต้องถูกควบคุมตัวส่งไปอยู่ในคิวโซน ค่ายกักกันแบบปิดตาย รวมถึงห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานโดยไม่จำเป็น คนที่มีภูมิต้านทานโควิด 23 ที่มีป้ายข้อมือสีเหลืองที่มีแถบเก็บข้อมูลดิจิทัลเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ออกนอกบ้าน หรือนอกพื้นที่ได้ และรัฐบาลมีสิทธิ์ใช้มาตรการรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดได้ทุกเมื่อสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
ตัวละครหลักของเรื่องก็คือไอ้หนุ่มนิโก พนักงานส่งของด้วยจักรยานผู้มีภูมิต้านทานไวรัส ที่ได้พบรักกับซารา หญิงสาวในอพาร์ตเมนต์ที่อาศัยอยู่กับยาย แต่ทั้งคู่ไม่สามารถออกมาเจอกัน หรือมีสัมพันธ์ทางกายได้อีกเลยนับจากประกาศล็อกดาวน์ จนเมื่อวันหนึ่ง ซาราถูกสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด 23 นิโกจึงต้องหาทางช่วยซาราให้รอดพ้นจากเงื้อมมือการควบคุมของภาครัฐที่โคตรเข้มงวด หนีออกไปจากลอสแองเจลิสให้ได้ พร้อมกับต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดันของการไล่ล่า การควบคุม และเชื้อโควิด 23 ที่ร้ายแรงในระดับที่ถ้าติดก็ทำใจได้เลยว่าต้องตายแน่ ๆ ภายใน 48 ชั่วโมง
จริง ๆ ตัวหนังพยายามที่จะขับเน้นความเป็นไซไฟ-ดิสโทเปียที่บวกความโรแมนติกเข้าไป ซึ่งเอาจริง ๆ ผมคิดว่า มันมีศักยภาพพอที่จะทำให้มันกลายเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ดูสนุกและจริงจังได้นะครับ สิ่งที่ผมว่าโอเคเลยสำหรับหนังเรื่องนี้คือ การหยิบเอากิมมิกจากสถานการณ์โควิด-19 และธีมของ New Normal มาต่อยอดให้มีความเป็นไซไฟได้น่าสนใจและใกล้ตัวมาก ๆ
การคิดต่อยอดว่า ในอนาคตอีก 3-4 ปีข้างหน้า ชีวิตและเทคโนโลยีที่เราใช้มันจะเป็นอย่างไรบ้าง การตรวจหาไวรัสจะทันสมัยโคตร ๆ ชนิดที่ใช้สมาร์ตโฟนสแกนหน้าก็ตรวจได้ หรือตู้ไปรษณีย์ต่อไปจะติดระบบยูวีเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสได้ และเปิดได้จากทั้งในและนอกบ้านเพื่อลดการเข้าออกบ้านโดยไม่จำเป็น
ในขณะที่ต่อไป การสัมผัส การจับมือ การกอด การจูบ หรือแม้แต่มีเซ็กส์กับคนแปลกหน้า จะกลายเป็นเรื่องย้อนยุค (Nostalgia) ที่หลายคนโหยหา แต่ไม่กล้าทำ รวมถึงการควบคุมตัวของภาครัฐที่พยายามควบคุมโรคด้วยมาตรการขั้นรุนแรง การคุมตัวคนติดไวรัสเข้าสถานกักกันที่สภาพโหดร้ายยิ่งกว่าคุก นี่ถือเป็นจุดที่ผมคิดว่า น่าสนใจมาก และคิดว่า ถ้าโควิด-19 มันยังระบาด อีกหน่อยสภาพชีวิตและบ้านเมืองก็คงจะประมาณนี้แหละ
เพียงแต่ว่า พอมีข้อจำกัดอะไรหลาย ๆ อย่างเข้ามา ทั้งการถ่ายทำที่เร่งรีบ และด้วยตัวหนังที่ไม่ได้ยาวมากนัก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ตัวหนังครึ่งแรกของหนังค่อนข้างจะเน้นไปที่เรื่องของการปูเรื่องให้เห็นความเป็น New Normal ในยุคปี 2024 ที่มีกลิ่นอายดิสโทเปีย-ไซไฟ เช่นเรื่องของการเล่าพฤติกรรมของคนในยุคนั้นว่าต้องทำอะไรบ้าง ชีวิตถึงจะปลอดเชื้อไวรัส เช่น ทุกคนจะต้องใช้สมาร์ตโฟนสแกนตรวจหาไวรัสแม้ว่าจะอยู่แต่ในบ้าน ทุกคนต้องล้างมือ มืดค่ำต้องเข้าบ้านไม่งั้นโดนจับข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โลกโซเชียลจะกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ปกติมาก ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ บางส่วนก็ดูน่าสนใจดี แต่บางส่วนก็ดูน่าเบื่อเหมือนกำลังดูคลิปข่าว หรือคลิปสาระน่ารู้ในยูทูบ
จนกระทั่งหนังเริ่มมาสู่องก์ที่สอง หนังพยายามพาเข้าสู่พาร์ตความเป็นโรแมนติก ซึ่งเป็นความโรแมนติกแบบ New Normal ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยวิกฤติไวรัส จะออกมาเจอกัน จับมือ กอด จูบกันไม่ได้ก็เลยต้องคุยกันผ่านมือถือ เปิดหนังสตรีมมิงผ่านวิดีโอคอล มาเยี่ยมกันได้ แต่ก็เข้าไปเจอกันไม่ได้ เลยต้องนั่งคุยกันผ่านประตู หรือแม้แต่การเขียนจดหมายรักส่งผ่านกล่องฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี (น้ำเน่าไปอีก 555) ซึ่งแม้ว่าจะยังทำได้ไม่สุดนัก แต่พาร์ตของหนังโรแมนติกก็ถือว่าเป็นพาร์ตที่ดีที่สุดในหนังแล้วล่ะครับ
เพราะหลังจากนี้ พาร์ตหลังของหนังเรื่องนี้ กลับกลายเป็นหนังแอ็กชันระทึกบาง ๆ ที่เส้นเรื่องเต็มไปด้วยความจืดชืด และไม่สมเหตุสมผลมากมาย รวมถึงความเลวร้ายอย่างที่สุดก็คือ ตัวละครในหนังเกือบทุกตัวที่ดูไม่มีมิติอะไรเลย ทำให้ตัวละครดูน่ารำคาญมากน้อยแตกต่างกันออกไป พาร์ตที่ดูน้ำเน่ามาก ๆ ก็เช่นไอ้หนุ่มรถเข็นที่เป็นแฟนคลับศิลปินสาวที่คอยโดเนตเงินตอนที่เธอ Live ร้องเพลงสดนี่แหละครับ สำหรับผม พาร์ตนี้คือพาร์ตที่น่าเบื่อเอามาก ๆ
แต่ถ้าจะถามผมว่า ตัวละครไหน “น่ารำคาญ” มากที่สุด ผมขอยกให้ตัวละครคุณลุงหนวดที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล ที่คอยออกคำสั่งเจ้าหน้าที่จับคนที่ติดเชื้อ หรือคนที่ฝ่าฝืนล็อกดาวน์นี่แหละครับ คือผมว่าก็เข้าใจคาแรกเตอร์ของแกนะครับ แต่ยังไงเสีย แกก็ดูเป็นแค่ตาลุงโรคจิตพกมีดสั้นอ่ะครับ ที่นอกจากจะดูตลกและไม่ได้ดูน่ากลัวแล้ว ตรงกันข้าม บุคลิกประหลาด ๆ และไดอะล็อกของลุงแกก็ดูประดิษฐ์มาก ๆ น่ารำคาญซะจนผมอยากสาปแช่งให้ลุงติดเชื้อไวรัสโควิด 23 ตายเป็นคนแรกในหนังไปเลย
แม้แนวคิดของตัวหนังที่ใช้ความเป็น “ดิสโทเปีย+โรแมนติก+ระทึกขวัญ (นิดหน่อย)” มาขับเคลื่อนจะน่าสนใจ แต่มันก็เหมือนว่าตัวหนังจะไปได้ไม่สุดสักทาง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังที่เต็มไปด้วยความเล่นท่าง่าย เล่นน้อย เพลย์เซฟ ทุกปมปัญหาดูคลี่คลายได้ง่าย ๆ จุดไคลแมกซ์ก็เป็นเพียงจุดผ่านไปสู่บทสรุปที่มาง่าย ๆ และจบไปแบบจืด ๆ ทุกตัวละครและพล็อตหนังที่ควรจะ New Normal ก็กลับมา Normal แบบที่ไม่ได้เหนือความคาดหมายมากนัก และเอาเข้าจริง ๆ ผมก็แทบจะนึกไม่ออกว่าหนังจะให้ Message อะไรกันแน่ นอกจากจะเป็นหนังที่เป็นหัวหอกในการหยิบเอาสถานการณ์โควิด-19 มาดัดแปลงเพียงเท่านั้นเอง
ไหน ๆ สถานการณ์หนังโลกในยุคโควิด-19 นี้ก็ง่อยเปลี้ยจะแย่แล้วครับ ผมเองก็ขอบคุณทีมงานที่ยังเสียสละกล้าหาญออกไปทำให้อย่างน้อย ๆ อุตสาหกรรมหนังก็ไม่ชะงักงัน ส่วนคนดูอย่างเรา ๆ ถ้าอยากไปดูเพื่อสนับสนุนโรงหนัง ก็ไปดูได้แบบเพลิน ๆ นั่นแหละครับ แต่ก็ต้องไม่พยายามคิดถึงว่า นี่เป็นหนังที่ไมเคิล เบย์ เป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับพาร์ตแอ็กชันเอง หรือหวังว่าดูแล้วจะได้ Message ที่มากกว่าเป็นหนังที่ได้แรงบันดาลใจโควิด-19 นอกจากการกระตุ้นเตือนให้เราไม่ลืมสแกนไทยชนะ ล้างมือ ใส่แมสก์ตลอดเวลาที่ดูหนัง
และอย่าคาดหวังอะไรกับหนังเรื่องนี้มากเกินไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส