Our score
8.0Ideal Home : 2คู๊ณพ่อ 1คู๊ณลูก ครอบครัวนี้ใครๆ ก็ไม่ร้าก
จุดเด่น
- สตีฟ คูแกน กับ พอล รัดด์ เล่นเข้าขากันได้ดีมาก
- มุกเยอะเกินคาด แล้วหลาย ๆ มุกก็ได้ผล ยิงติด เสียงหัวเราะดังทั่วทั้งโรง
- สตีฟ คูแกน ถ่ายทอดบทบาทของเกย์รุ่นใหญ่ออกมาได้อย่างน่ารัก และพอดี ไม่ยัดเยียดจริตจก้านจนเกินงาม
- หนูน้อย แจ๊ก กอร์ สอบผ่านอย่างมากกับบท แองเจิล เด็กมีปัญหาก้าวร้าวมาเป็นเด็กไร้เดียงสา
- สอดแทรกความสัมพันธ์ของ 2 ปู่กับ 1 หลานให้เราอินไปด้วยได้ ภายในเวลาสั้น ๆ
จุดสังเกต
- หนังสั้นเกิ๊น ทั้งที่อุปสรรคหลาย ๆ อย่างที่หนังใส่เข้ามา สามารถขยายต่อให้หนังเข้มข้นได้มากกว่านี้
- หน้าหนังดูเป็นหนังครอบครัว แต่มุกและคำหยาบเยอะมาก อย่าเข้าใจผิดแล้วพาเด็กไปดู
-
ตรรกะความสมเหตุสมผลของบท
8.0
-
คุณภาพงานสร้าง
7.0
-
คุณภาพนักแสดง
10.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
8.0
-
คุ้มเวลา คุ้มค่าตั๋ว
7.0
ต้องบอกก่อนเลยว่าเข้าไปดู Ideal Home แบบไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก เพราะเป็นหนังฟอร์มเล็กที่มาแบบเงียบเชียบมาก แล้วก็เปิดตัวตามเทศกาลภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2018 นู่นแล้ว จากนั้นก็ปล่อยฉายตามช่องสตรีมมิงและฉายแบบจำกัดโรงในหลายประเทศไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่บ้านเราเพิ่งเอามาลงโรงฉายในปีนี้ แต่หน้าหนังก็ยังน่ามีความน่าสนใจอยู่ในด้านนักแสดงนำ ที่จับเอา พอล รัดด์ จาก Ant-Man มาประกบคู่กับ สตีฟ คูแกน ดาราสายคอมเมดี้ขาเก๋า มารับบทเป็นคู่เกย์ และมีชื่อ แอนดรูว์ เฟลมิง ในตำแหน่งผู้กำกับและเขียนบท ก็เป็นชื่อที่พอเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นผู้กำกับ The Craft เวอร์ชันต้นฉบับปี 1996 อยู่ในเครดิต
พล็อตหนังก็ไม่ได้เรียกว่าแปลกใหม่นะครับ แนว ๆ นี้ผ่านตากันมาแล้วหลายเรื่อง เมื่อคู่เกย์รุ่นใหญ่ต้องมาร่วมกันเลี้ยงเด็กชายโดยไม่ได้ตั้งตัว สตีฟ คูแกน รับบทเป็น เอราสมัส บรัมเบิล พิธีกรรายการอาหารชื่อดัง ส่วน พอล รัดด์ รับบทเป็น พอล ชื่อเดียวกับของตัวเอง รับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างประจำรายการของเอราสมัส ทั้งคู่คบหากันมานานถึง 10 ปี เบื้องหน้าก็เหมือนคู่ผัวตัวเมียทั่วไป ระหองระแหงกัดกันไปกัดกันมาแต่เบื้องหลักก็รักผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น แต่อยู่ดี ๆ ก็มีแองเจิล เด็กชายวัย 13 ปีเดินเข้ามาในชีวิต พร้อมกับจดหมายแนะนำตัวจากพ่อที่ฝากมาให้เอราสมัส ว่าเขาคือลูกของ “โบ” ลูกชายที่ห่างเหินของเอราสมัส นั่นก็หมายความว่าหนูน้อยแองเจิลนี่ก็คือหลานปู่ของเอราสมัสนั่นแหละ ในจดหมายนั้นโบฝากให้คุณปู่ดูแลแองเจิลเป็นการชั่วคราวเพราะเขาโดนตำรวจจับข้อหาทำร้ายร่างกายและขโมยของโสเภณี บทหนังเดินตามสูตรสำเร็จเป๊ะ แบบที่ใครก็เดาได้ตั้งแต่ 5 นาทีแรกของหนัง เมื่อทั้งเอราสมัสและพอลต่างก็ตีโพยตีพาย รับสถานการณ์ไม่ได้ที่อยู่ดี ๆ จะต้องมาดูแลเด็กผู้ชายแปลกหน้าในบ้าน แต่พอนานเข้าก็เริ่มกลายเป็นความรักความผูกพัน แล้วเมื่อโบพ้นโทษ ออกจากคุกมา ก็มาใช้สิทธิ์พ่อผู้ให้กำเนิดทวงตัวแองเจิลคืน
แม้ว่าเส้นเรื่องที่เป็นสูตรสำเร็จเช่นนี้ แต่กลับเดินหน้าไปในแต่ละนาทีได้อย่างน่ารื่นรมย์ ต้องยกความดีความชอบให้กับ แอนดรูว์ เฟลมิง ล้วน ๆ ครับ ที่สร้างคาแรกเตอร์ของ เอราสมัส และ พอล ออกมามีบุคลิกได้อย่างโดดเด่น และที่สำคัญสุดก็คือบทสนทนาภาษาเกย์ ที่คู่รักคู่นี้ต่อปากต่อคำจิกกัดกันไปมาได้อย่างสนุกสนานและเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างถี่ ๆ แม้ในโรงจะมีคนดูไม่มากนัก แต่ก็สามารถได้ยินเสียงหัวเราะคลอไปตลอดทั้งเรื่อง มีทั้งขำเล็กและขำใหญ่สลับกันไป แม้ว่าหน้าหนังจะดูเป็นหนังครอบครัว มีเด็กชายเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แต่นี่คือครอบครัวเกย์ ซึ่งมีมุกเกี่ยวกับเกย์อยู่”เยอะมาก” แน่นอนล่ะ ว่ามันต้องเป็นมุกสัปดนล้วน ๆ จึงต้องเตือนกันว่า Ideal Home ไม่เหมาะกับเด็กเลยนะ
ที่ประทับใจมากคือการค่อย ๆ ปูความผูกพันของพอลและแองเจิล จากคนที่ไม่ได้รักเด็ก แต่ด้วยภาระจำเป็นทำให้เขาค่อย ๆ ผูกพันกับแองเจิล และแองเจิลเองก็เปิดใจรับพอล ถือได้ว่า Ideal Home เป็นตัวอย่างที่ดีของบทภาพยนตร์ที่สามารถเล่าความผูกพันระหว่างตัวละครจาก 0 ถึง 100 ให้คนดูสัมผัสได้จริงภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะหนังสั้นมาก รวมเครดิตท้ายเรื่องแล้วยาวแค่ 91 นาทีแค่นั้นเอง เมื่อเกิดความสงสัยว่าทำไมนะ แอนดรูว์ถึงเล่าเรื่องราวได้น่ารักเป็นธรรมชาติ แล้วพาให้คนดูอินไปกับครอบครัวของเขาได้ พอได้อ่านข้อมูลเบื้องหลังก็เลย…อ๋อ ! ด้วยความที่ Ideal Home เป็นหนังที่มีความเป็นส่วนตั๊วส่วนตัวของแอนครูว์ เพราะตัวแอนดรูว์แกเองนั้นเป็นเกย์ บทของเรื่องนี้ก็เป็นการหยิบชีวิตส่วนตัวของแกเองมาเล่าเป็นหนัง เมื่อตอนที่แกอายุ 23 ปี ก็เคยคบหากับคู่ขา ที่รับลูกติดจากการแต่งงานครั้งแรกมาอยู่ด้วย แอนดรูว์ปลุกปล้ำกับโพรเจกต์นี้อยู่ยาวนานถึง 10 ปี กว่าจะสำเร็จเรียบร้อย
มี 2 ตัวละครในเรื่องนี้ที่น่าพูดถึงอย่างมาก รายแรกคือ สตีฟ คูแกน นักแสดงคอมเมดี้วัย 55 ปี ด้วยบทเอราสมัสที่เขาแสดงนั้นเป็นเกย์ฝ่ายรับ ก็เลยต้องมีความตุ้งติ้งเล็กน้อย ซึ่งสตีฟก็สามารถทำให้เอราสมัสออกมาดูน่ารัก เป็นคนอารมณ์ดี มุกเยอะ ปากร้าย ที่ชอบมากคือความพอดี ไม่โอเวอร์แอ็กติ้งจนดูฝืน ดูพยายาม ส่วน พอล รัดด์ นั้นในบทพอลของเขาเป็นเกย์รุก เป็นผู้ชายแมน ๆ ก็เลยไม่ต้องประดิษฐ์ปรุงแต่งอะไรมากนัก เล่นผ่านไปได้สบาย ๆ
อีกรายที่น่าประทับใจ ก็คือนักแสดงรุ่นเล็ก แจ๊ก กอร์ ตอนที่รับบทแองเจิลนั้น อายุแค่ 13 ปี ที่ชอบก็คือภาพลักษณ์ของแองเจิลที่มี 2 มุม ด้วยพื้นเพที่โตมากับพ่อที่เป็นกุ๊ย ทำให้แองเจิลเป็นเด็กหยาบคาย ก้าวร้าว แรกเริ่มที่มาอยู่กับปู่ก็เลยแสดงนิสัยเดิม ๆ ให้เห็น เมื่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็เลยค่อย ๆ หล่อหลอมให้แองเจิลดูมีความอ่อนโยนมากขึ้น ซึ่งเผยให้เห็นด้านที่สดใสน่ารัก มีความไร้เดียงสาของเด็กวัย 13 ให้ได้เห็น บวกกับจุดกระบนหน้าที่ดูมีเอกลักษณ์ ซึ่งจุดนี้ ผู้กำกับแอนดรูว์เลือกใช้ตู้ถ่ายสติกเกอร์มาเป็นเครื่องมือสื่อพัฒนการของแองเจิลได้อย่างแนบเนียน แล้วแจ๊ก กอร์ ก็ถือว่าสอบผ่านสำหรับบทที่เหมือนจะง่าย แต่บทแองเจิลนี่ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องเลย ซึ่งก็ต้องย้อนไปชื่นชมผู้กำกับแอนดรูว์ เฟลมิง ที่สร้างสรรค์ตัวตนของแองเจิลให้ออกมาน่าสนใจ แล้วสามารถสอดแทรกมุกกับความไร้เดียงสาของแองเจิลได้สำเร็จ ทำให้หลาย ๆ ครั้งเรียกเสียงฮาได้ดัง ๆ
มีจุดน่าเสียดายอยู่นิด ที่ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดหนังจึงถูกรวบรัดตัดความให้สั้นนัก เพราะในเส้นเรื่องนั้นก็มีการสอดแทรกอุปสรรคมาให้ชวนลุ้นอยู่เนือง ๆ แต่ทุกปัญหาก็ล้วนลงเอยได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน อยู่ดี ๆ ก็คลี่คลายไปเองแบบไม่ต้องเอาใจช่วยเลย ก็เลยทำให้เส้นเรื่องราบเรียบเกินไป แต่ก็มีดีที่บทสนทนาและเสน่ห์ของนักแสดงนำนี่่ล่ะ ที่ทำให้เรายิ้มไปกับหนังได้ทั้งเรื่องได้แบบไม่รู้ตัว สมแล้วล่ะได้ตรามะเชือเทศสดจาก rottentomatoes.com บวกกับอีก 2 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์
หนังมีความน่ารักยันฉากเครดิตท้ายเรื่อง ด้วยการขึ้นภาพนิ่งของหลากหลายครอบครัวเกย์/เลสเบี้ยน กับบุตรบุญธรรมของพวกเขา ที่มองเห็นความสุขของพวกเขาได้อย่างชัดเจน