สำหรับใครที่ได้ติดตามข่าวคราวของหนังซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลอย่าง Ant-Man มาโดยตลอดคงจะทราบกันดีว่าหนังได้ถูกเปลี่ยนตัวผู้กำกับจากขวัญใจสายอินดี้คอมเมดี้อย่าง Edgar Wright (Shaun of the Dead (2004), Scott Pilgrim vs. the World (2010) และ The World’s End (2013)) มาเป็นผู้กำกับรอมคอมสุดป๊อปอย่าง Peyton Reed (Bring It On (2000), The Break-Up (2006) และ Yes Man (2008)) เนื่องจากปัญหาความไม่ลงรอยกันในเรื่องทิศทางของหนังกับประธานมาร์เวลสตูดิโออย่าง Kevin Feige นั่นเอง

เดิมทีแอนท์แมนมีโปรเจคที่จะสร้างเป็นหนังมายาวนานตั้งแต่ ปลายๆทศวรรษ 1980 นู่น ซึ่งตอนนั้นสตูดิโอนิวไลน์เอนเตอร์เทนเมนท์ได้เจรจาการทำหนังไว้กับมาร์เวล  ทว่าตัวโปรเจคก็เป็นหมันไปเสียก่อน ด้วยเพราะดันมีหนังที่พล็อตว่าด้วยการย่อส่วนมนุษย์คล้ายๆกันชื่อ Honey, I Shrunk the Kids (1989) เข้าพอดี แอนท์แมนก็เลยเป็นอันล้มหายตายจากกันไปกับฮอลลีวู้ดร่วมๆ 20 ปีทีเดียว

Honey, I Shrunk the Kids (1989) หนังที่ว่าด้วยพล็อตคนย่อส่วนที่ออกมาล้มโปรเจคมนุษย์มดในช่วงแรก

Honey, I Shrunk the Kids (1989) หนังที่ว่าด้วยพล็อตคนย่อส่วนที่ออกมาล้มโปรเจคมนุษย์มดในช่วงแรก

เริ่มแรกหนังวางเรื่องไว้ที่จะเล่าถึง แฮงค์ พิม ซึ่งเป็นตัวเอกตามคอมมิคดั้งเดิม ซึ่งก็เป็นตัวละครที่แฟนๆคนไหนต่างก็คงนึกถึงเป็นอันดับแรกเวลาพูดถึงแอนท์แมน ทว่ามีแฟนบอยคนหนึ่งกลับมองต่างไป ในปี 2003 แฟนบอยคนนั้นหอบโปรเจคหนังแอนท์แมนเข้าไปคุยกับมาร์เวลสตูดิโอ พร้อมกับพาชื่อของ สก็อตต์ แลงก์ โจรย่องเบาที่ได้กลายเป็นแอนท์แมนคนที่สองในคอมมิคเข้ามาเป็นตัวนำแทน ดร.พิม และแฟนบอยที่ผลักดันโปรเจ็กให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งนี้ก็มีชื่อว่า เอ็ดการ์ ไรท์ นั่นเอง

ตอนนั้นไรท์ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่หลังจากเขามีผลงานซอมบี้คอมเมดี้เลื่องชื่ออย่าง Shaun of the Dead เขาก็กลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนดูหนังทั่วโลกทีเดียว ไรท์พยายามผลักดันแอนท์แมนในฐานะแฟนบอยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเขียนบท ตามหานักแสดง และทดลองถ่ายหนังตัวอย่างขึ้นมาด้วย ซึ่งแฟนๆหลายคนก็คาดหวังในวิสัยทัศน์ของไรท์ โดยดูจากผลงานเก่าๆของเขาอยู่พอสมควร

ตัวอย่างฟุตเตจที่ไรท์ทดลองถ่ายทำก่อนถ่ายทำจริง จะเห็นว่าฉบับจริงก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก

Play video

ตอนเริ่มโปรเจคทีมงานสร้างมองว่า ดร.พิม เป็นตัวละครที่มีความแปรปรวนสูง มีหลายบุคลิก ดูเป็นนักวิทยาศาสตร์โรคจิตและไม่มีความเป็นมิตรซึ่งมักมีด้านมืดให้คนอ่านได้เห็นบ่อยๆด้วย (ในบุคลิกหนึ่งเคยทำร้าย เจเน็ต แฟนสาวของตัวเองด้วย) นั่นคงขัดแย้งกับแนวทาง “หนังตลกที่มีแอ็กชั่นและการผจญภัย” ของไรท์ที่เสนอกับมาร์เวลในครั้งแรกไปพอสมควร เขาจึงเลือกนำเสนอ สก็อตต์ แลงก์ แอนท์แมนคนที่สอง และให้ ดร.พิม เป็นตัวละครสนับสนุน หรืออาจารย์ผู้แนะแนวนั่นเอง

ถ้าตามสายตาของไรท์แต่ดั้งเดิมเลย นักแสดงที่เป็นตัวเลือกแรกสำหรับบทแลงก์คือ Joseph Gordon-Levitt แต่แล้วด้วยอายุอานามที่มากขึ้นเขาจึงต้องมองหานักแสดงที่หนุ่มพอจะเล่นเป็นแลงก์ไปได้หลายๆภาค และมาลงตัวที่ Paul Rudd ซึ่งแม้จะมีผมสีน้ำตาลเข้มผิดจากในคอมมิคที่แลงก์มีผมสีน้ำตาลแดงก็ตาม แต่ด้วยสเน่ห์ตามธรรมชาติของรัดด์ทำให้เขาเหมาะกับบทโจร ที่จะช่วยให้คนดูสามารถหลงรักและให้อภัยได้ไป

บุคลิกและตัวตนอันหลากหลายทำให้เขาเป็นตัวละครที่แปรปรวนมากตัวหนึ่งของมาร์เวล

บุคลิกและตัวตนอันหลากหลายทำให้เขาเป็นตัวละครที่แปรปรวนมากตัวหนึ่งของมาร์เวล

และแล้ว ในปี 2014 ก่อนหนังจะได้ถ่ายทำจริงๆ ไรท์ที่มีปัญหากับนายใหญ่อย่างไฟกี ก็ประกาศถอนตัวจากเก้าอี้ผู้กำกับ เหลือชื่อไว้เพียงเป็นผู้เขียนบทและอำนวยการสร้างร่วมเท่านั้น ซึ่งสร้างความตกใจให้กับแฟนๆที่เฝ้าติดตามข่าวของหนังมาอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งยังเป็นปริศนาว่าเหตุใดไรท์จึงถอนตัว แม้เจ้าตัวจะตอบไว้แล้วว่า “เป็นเพราะวิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์ต่างกัน” ก็ตาม

ดูเหมือนว่าสิ่งที่แตกต่างจริงๆจังๆของหนังที่มีไรท์ กับไม่มีไรท์ จะไม่ใช่เรื่องนักแสดงแต่เป็นตัวบทเลยต่างหาก แม้ว่าบทส่วนใหญ่ของไรท์จะยังคงอยู่ในหนัง แต่ก็มีการเขียนใหม่บางส่วนลงไปด้วย ซึ่งบทดั้งเดิมนั้นนักแสดงตลกคู่บุญของไรท์อย่าง Simon Pegg ได้บรรยายไว้ว่าเป็นบทที่ “กล้าหาญ, สนุก ตลก และโคตรน่าตื่นเต้น” ส่วนผู้กำกับอเวนเจอร์สอย่าง Joss Whedon ก็ยังยกย่องให้เป็นบทที่ยอดเยี่ยมที่สุดอีกด้วย

คำถามคือ อะไรในหนังที่ออกฉายที่ยังเป็นของไรท์ และอะไรที่ไม่ใช่

บทหนังได้รับการแก้ไขโดย Adam McKay และ พอล รัดด์ ดารานำ โดยพวกเขาให้สัมภาษณ์ว่าบทดั้งเดิมมีบทสนทนาที่เจ๋งมากๆ แต่มันก็ดูเยอะเกินไป สิ่งที่พวกเขาทำคือการเพิ่มจังหวะเร้าให้มากขึ้น ใส่ฉากแอ๊กชั่นให้มันขึ้นใหญ่ขึ้นนั่นเอง โดยที่เขายืนยันได้ว่าเป็นไอเดียดั้งเดิมของไรท์ซึ่งไม่ถูกแก้ไขใดๆ และนี่คือสิ่งที่มีและไม่มีเมื่อเทียบกับบทหนังดั้งเดิม (ใครยังไม่ได้ดูหนังอาจมีสปอยล์นะครับ)

  • หนังยังคงเป็นแนวโจรกรรมว่าด้วยการขโมยชุดแอนท์แมน หนังยังว่าด้วยความสัมพันธ์แบบอาจารย์กับศิษย์ ระหว่างพิม กับ แลงก์ นั่นคือทั้งหมดที่เป็นไรท์โปรเจคดั้งเดิม
พอล รัดด์ พระเอกของหนัง และมือแก้บทร่วมกับ อดัม แมดเคย์ ที่มาเผยข้อมูลสำคัญถึงบทดั้งเดิม

พอล รัดด์ พระเอกของหนัง และมือแก้บทร่วมกับ อดัม แมดเคย์ ที่มาเผยข้อมูลสำคัญถึงบทดั้งเดิม

  • ฉากที่ต้องสแกนลายนิ้วมือ และการทำลายตู้เซฟด้วยความเย็นในการโจรกรรมบ้านพิมครั้งแรก ถูกเพิ่มเข้าไปโดยแมคเคย์เพื่อเผยความฉลาดเฉลียวของพระเอกมากขึ้น โดยเขาได้ไอเดียจากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย

  • ฉากตัดต่อเล่าเรื่องที่มาของเนื้องานของตัวละครลุยส์เพื่อนพระเอกสุดฮาที่ ไมเคิล พีน่า แสดง หลายคนที่เป็นแฟนหนังไรท์คงคิดว่านี่ล่ะคือสไตล์ตัดต่อแบบไรท์ที่ทำมาในหนังเรื่องก่อนๆของเขาเป๊ะเลย แต่ผิดถนัดฉากที่เพิ่มมา 2 ฉากนี้เป็นไอเดียใหม่ที่เพิ่มเข้าไปภายหลังจ้า

ลุยส์ ตัวละครสุดฮาหนึ่งในโจรขโมยซีนของหนัง เป็นรองก็แค่บรรดามดทั้งหลายแค่นั้นเอง

ลุยส์ ตัวละครสุดฮาหนึ่งในโจรขโมยซีนของหนัง เป็นรองก็แค่บรรดามดทั้งหลายแค่นั้นเอง

  • ตัวละครดร.แฮงค์ พิม นั้นถูกเพิ่มมิติในเรื่องความขัดแย้งในตัวเอง ที่ผลงานสุดรักของตัวเองกลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถฆ่าคน เช่นเดียวกับคนที่ประดิษฐ์ระเบิดปรมาณู หรือคนที่ตั้งรางวัลโนเบลไพรส์เพื่อชดเชยความผิดที่ตนคิดค้นระเบิดไดนาไมท์ เป็นต้น
  • ตัวละครวอสป์ (คนแรก) ในบทดั้งเดิมไม่มีการกล่าวถึงชะตากรรมของเธอมากนัก แมคเคย์ซึ่งเป็นแฟนบอยที่เห็นแอนท์แมนตะลุยคู่กับวอสป์ในคอมมิคอยู่เสมอ มาตั้งแต่เด็ก จึงได้เพิ่มบทตัวละครนี้ลงไปทั้งในตอนท้ายที่บอกเป็นนัยๆว่าบางทีเธออาจจะยังอยู่ด้วย

  • และแน่นอน ควอนตัมเรียล์ม (ในคอมมิคใช้ชื่อว่า ไมโครเวิร์ส – ประมาณไมโคร+ยูนิเวิร์ส) ที่เกิดจากการย่อส่วนเล็กลงกว่าระดับอะตอมนั้นก็ไม่มีในตอนแรก แต่ถูกเสริมมาเพราะความคลั่งไคล้ในแนวคิดฟิสิกส์ควอนตัมในคอมมิคยุคเก่าๆของแมคเคย์และรัดด์

  • ฉากการต่อสู้ในห้องนอน ที่เป็นไคลแม็กส์ตอนจบยังคงเดิมตั้งแต่บทไรท์ โดยเฉพาะไอเดียเจ้ารถไฟธอมัสนั่นด้วย

เจ้าหัวรถจักร Thomas ตัวละครที่คุ้นตาเด็กๆทั่วโลก

เจ้าหัวรถจักร Thomas ตัวละครที่คุ้นตาเด็กๆทั่วโลก

– เพราะโปรเจคนี้ไรท์พัฒนามาตั้งแต่หนังไอออนแมนภาคแรกยังไม่เข้าฉาย ดังนั้นมันจึงเดินมาแบบหนังฮีโร่แสตนด์อโลนตั้งแต่ต้น ความเชื่อมโยงกับจักรวาลมาร์เวลอื่นๆนั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถึงขนาดว่าดร.พิมเป็นเฟืองสำคัญในการเกิดอัลตรอน ก็ไม่สามารถทำให้ไรท์จะยอมให้แอนท์แมนไปโผล่ในอเวนเจอร์สภาคแรกอย่างที่สตูดิโอต้องการในตอนแรกได้ นั่นทำให้ บทดั้งเดิมของไรท์ แทบไม่มีความเชื่อมโยงกับฮีโร่ตัวอื่นหรือจักรวาลของมาร์เวลเลยด้วย และนี่คงเป็นสาเหตุหลักๆที่ทิศทางการพัฒนาของเขาไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ของมาร์เวล ถ้าไรท์ยังดึงดันทำสำเร็จเราคงไม่ได้เห็นฉากการต่อสู้ของแอนท์แมนกับหนึ่งในอเวนเจอร์สในหนังแน่ๆ

ซึ่งก็คงพูดยากว่าหากไรท์ได้ทำหนังต่อ และไฟกีเป็นฝ่ายยอมแพ้ หนังจะออกมาดีหรือแย่ไปกว่าฉบับที่ได้ออกฉายจริงของรี้ด เพราะเราคงไม่ได้เห็นหนังฉบับของไรท์แล้ว แต่จากข้อมูลที่พอหลุดมาก็พอจะพูดได้ว่าน่าเสียดายที่หนังใช้เวลาพัฒนานานเกินไป หากมันเป็นหนังที่คิวฉายต่อจากไออนแมนภาคแรก มันคงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากๆทีเดียว