Release Date
25/03/2021
แนว
ดราม่า
ความยาว
2.20 ชม. (140 นาที)
เรตผู้ชม
G (ทั่วไป)
ผู้กำกับ
นาโอมิ คาวาเสะ (Naomi Kawase)
Our score
9.3True Mothers | 朝が来る
จุดเด่น
- สะท้อนภาพความเป็นแม่ได้ลึกกว่าการเป็นหนังดราม่าชิงลูก
- น้องที่รับบทฮิคาริ แสดงได้ดีมาก
- ภาษาภาพสวยงามปราณีต ทำหน้าที่เล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี
จุดสังเกต
- ตัวหนังให้น้ำหนักกับความเป็นผู้หญิงมากจนทำให้มุมมองและความรับผิดชอบของผู้ชายมีน้อยไปหน่อย
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
9.2
-
คุณภาพงานสร้าง
10.0
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
8.5
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
9.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.3
เรื่องย่อ เรื่องของ 2 สามีภรรยาที่ตัดสินใจรับเด็กมาเลี้ยงหลังพยายามมีลูกหลายครั้ง จนวันนึงมีผู้หญิงปริศนาอ้างว่าเป็นแม่ตัวจริงของเด็ก และบังคับให้พวกเขาคืนเด็กให้กับเธอ
‘True Mothers’ เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายที่ชื่อ ‘Asa ga Kuru’ ของ ‘มิซึกิ สึจิมูระ’ ซึ่ง ผู้กำกับหญิงอย่าง ‘นาโอมิ คาวาเสะ’ ได้นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากฉายในญี่ปุ่น ก็ได้รับกระแสวิจารณ์ที่ดีมาก จนได้มีโอกาสเข้าชิงรางวัล ‘The 44th Japan Academy Film Prize’ ที่เทียบได้กับออสการ์ของญี่ปุ่นถึง 7 รางวัล และได้รับฉายใน ‘เทศกาลภาพยนตร์เมื่องคานส์ ประจำปี 2020’ ในสายประกวดหลัก พร้อมทั้งยังเป็นตัวแทนหนังญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
เรื่องราวของครอบครัวของ ‘ซาโตโกะ’ และสามี ที่อยากมีลูก แต่ต้องประสบปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถมีลูกได้อย่างใจคิด ทั้งคู่จึงต้องพึงพา ‘เบบี้ บาตอง’ บ้านที่รับอุปการะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และทำหน้าที่ส่งต่อลูกต่อให้กับพ่อแม่บุญธรรม โดยมีกฏว่า แม่ที่แท้จริงจะไม่มีโอกาสติดต่อกับลูกของตัวเอง และครอบครัวบุญธรรมอีกต่อไป โดยซาโตโกะได้รับ ‘น้องอาซาโตะ’ มาจาก ‘ฮิคาริ’ หญิงสาวมัธยมต้นที่เกิดอุบัติเหตุตั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่วันหนึ่ง ฮิคาริตัดสินใจโทรไปหาซาโตโกะ เพื่อขอรับน้องอาซาโตะคืน
แม้ด้วยตัวอย่างหนัง และเรื่องย่อ จะทำให้เราคิดไปว่า นี่อาจเป็นหนังญี่ปุ่นที่ขับเน้นดราม่า เค้นน้ำตาด้วยเรื่องราวประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว และประเด็นที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกบุญธรรม ซึ่งประเด็นนี้มันสามารถเป็นได้ทั้งพล็อตน้ำเน่าเมโลดราม่า ที่ว่าด้วยเรื่องของการแย่งชิงลูกระหว่างแม่แท้ ๆ กับแม่บุญธรรม หรือลึกซึ้งขึ้นอีกนิดด้วยประเด็นถกเถียงว่า ระหว่างแม่แท้ ๆ ที่ให้กำเนิด กับแม่ที่เลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ แม่แบบไหนคือแม่ที่แท้จริง (True Mother) หรือแม่แบบไหนมีความเป็นแม่ (Motherhood) มากกว่ากัน
แต่หนังเรื่องนี้คือหนังความยาว 2 ชั่วโมงเกือบครึ่งที่ลึกและหนักหน่วงกว่านั้นมาก เพราะตัวหนังยังลงรายละเอียดและสะท้อนให้เห็นภาพของความเป็นแม่ที่ไม่ใช่แค่ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดู แต่กลับสะท้อนถึง “ความเป็นแม่” ที่จะใช้คำว่า “คือหัตถาครองพิภพจบสากล” อย่างนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะตัวหนังยังเล่าถึงความเป็นแม่ (และความเป็นหญิง) ที่มีอิทธิพล ส่งผลกระทบต่อคนคนหนึ่งที่เกิดมาและอยู่ในสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ในขณะที่ช่วงแรก คุณแม่ซาโตโกะและสามี รับน้องอาซาโตะมามาเลี้ยงดูอย่างอบอุ่น ท่ามกลางครอบครัวชนชั้นกลางที่พอมีพอกิน ซาโตโกะเลี้ยงลูกอย่างอบอุ่นและเข้าใจ ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งก็คือ ฮิคาริ สาวน้อยวัยมัธยมต้น คุณแม่แท้ ๆ ของน้องอาซาโตะ ที่เกิดจากการมีอะไรกับคนรักโดยพลั้งเผลอจนเกิดปัญหา โดยที่แทบจะไม่มีใครเข้าใจเธอเลย
ซึ่งมันเป็นภาพสะท้อนที่ตัดกันอย่างรุนแรง ที่ทำให้เรามองเห็นอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของสถาบันครอบครัวต่อชีวิตคนคนหนึ่ง ระหว่างครอบครัวที่เลี้ยงดูแบบเข้าใจ ยอมรับในความเป็นตัวตนและเข้าใจทุกคนในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน และไม่มองว่าใครเป็นตัวถ่วงเหมือนครอบครัวซาโตโกะ ในขณะที่ครอบครัวของฮิคาริ คือมุมมองของครอบครัวที่มองว่าการตั้งครรภ์ก่อนกำหนดของเธอคือปัญหา ฮิคาริกลายเป็นตัวถ่วงที่สร้างความยากลำบากให้ครอบครัวต้องตามแก้ปัญหา ในที่สุด ปัญหาในบ้านและความไม่เข้าใจของพ่อและแม่ จึงเหมือนเป็นการผลักไสไล่ส่งแบบกลาย ๆ ให้ฮิคาริออกไปเผชิญกับความเป็น “คุณแม่ไม่พร้อม” แต่เพียงลำพัง
รวมถึงยังสะท้อนภาพ ‘ความเป็นหญิง’ ในญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีแต่ด้านสวยงามหรือน่ารักแต่เพียงอย่างเดียว ญี่ปุ่นดูเหมือนจะคล้ายกับหลายประเทศทั่วโลก ที่ผู้หญิงมักประสบปัญหาความลำบากในชีวิตมากมายหลายประการ ผู้หญิงหลายคนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งบางคนต้องออกจากการเรียนกลางคัน หนีออกจากบ้านไปหางานรับจ้างเงินน้อยเพื่อเลี้ยงชีพ บางคนอาจไม่มีทางออกในชีวิตจนต้องกลายไปเป็นโสเภณี หลายคนก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ แถมมีชีวิตครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ไม่เข้าใจ รวมถึงการต้องปิดบัง แอบซ่อนปัญหาเอาไว้ไม่ให้ใครเห็นเพราะกลัวว่าจะเสียหน้าและอับอาย ตามลักษณะนิสัยแบบสังคมญี่ปุ่น
ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมันเกิดขึ้นจากการให้กำเนิดและการเลี้ยงดูที่บิดเบี้ยว แต่นั่นก็จะโทษผู้หญิงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะมันก็เป็นข้อสังเกตของหนังอยู่เหมือนกัน ตรงที่ตัวหนังเน้นเล่าเรื่องของผู้หญิง (โดยเฉพาะชีวิตผู้หญิงญี่ปุ่น) เสียมาก จนทำให้ขาดมุมมองของผู้ชาย และความเป็นผู้ชายในฐานะผู้มีส่วนในความรับผิดชอบ ทั้งการเลี้ยงดูลูก และการมีส่วนปกป้องสังคมไม่ให้คนไม่ว่าจะเพศไหน ต้องตกเป็นเบี้ยล่างหรือถูกเอาเปรียบในความแตกต่างทางเพศได้
แม้หนังเรื่องนี้ของผู้กำกับ ‘นาโอมิ คาวาเสะ’ จะมีความ ‘แมส’ มากกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เธอเคยกำกับมาก่อนหน้านี้ แต่เรื่องนี้ก็ยังมีร่องรอยวิธีการเล่าเรื่องด้วยกลวิธีแบบหนังอินดี้อยู่พอสมควร ทั้งวิธีการเล่าเรื่องที่แช่มช้า (แต่ไม่เชื่องช้า) การใช้ภาพธรรมชาติใน 6 เมืองสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ทั้งป่าไม้ ภูเขา ทะเลอันสวยงามที่เสมือนเป็นตัวแทนเรื่องราวและความรู้สึกของตัวละคร วิธีการเล่าเรื่องที่แหวกขนบทั้งการเปลี่ยนบางซีนให้กลายเป็นสารคดีสัมภาษณ์ที่ถือกล้อง Handheld รวมถึงการเล่าข้าม 2 เส้นเรื่องแบบไม่แคร์เวิลด์
ซึ่งแน่นอนว่าในทีแรกที่ดูอาจทำให้รู้สึกงงนิด ๆ ว่า ทำไมถึงเล่าเรื่องคนนั้นมากกว่าคนนี้ แต่สุดท้ายก็ทำให้เราหายงง เพราะตัวหนังกลางและท้ายเรื่องกลับสามารถขมวดปมและโยงใยเรื่องราวระหว่าง 2 ครอบครัว ภายใต้เรื่องราวของความเป็นแม่เข้ากันได้อย่างงดงาม และสะท้อนเรื่องราวของสถาบันครอบครัว ความเป็นแม่ และความเป็นผู้หญิงได้อย่างหนักหน่วง งดงาม และบาดลึกจนอาจน้ำตารื้น
แน่นอนว่าหลายคนอาจรู้สึกไปก่อนแล้วว่า หนังที่เกี่ยวกับประเด็นแม่ลูกบุญธรรม ก็คงไม่พ้นการแย่งชิงลูกกัน แต่ต้องบอกเลยว่า ‘True Mothers’ คือหนังที่ลงลึกให้เราได้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว รวมถึงความเป็นแม่ ที่ไม่ใช่มีแค่ทำหน้าที่ให้กำเนิดออกมา หรือทำหน้าที่เลี้ยงดูให้เติบโตเพียงเท่านั้น แต่ระหว่างทางที่มนุษย์คนหนึ่งเกิดขึ้นมา การมอบความรัก ความเข้าใจ และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเหมือนคนไร้ตัวตนให้กับลูก นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะทำให้ครอบครัวและสังคมแข็งแรงและมีความสุข
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส