ไม่ใช่เป็นแค่หนังเรื่องสุดท้ายของแชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ ยังเป็นงานล่ารางวัลให้นักแสดงหนุ่มที่หลาย ๆ คนรู้จักจากหนังซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล ‘Black Panther’ ที่เรื่องนี้รับบทเป็นลีวี (Leevee) มือทรัมเป็ตเจ้าปัญหาในวงดนตรีแบ็กอัปของมา เรนีย์ (Ma Rainey) เจ้าแม่เพลงบลูส์ ซึ่งได้ไวโอลา เดวิส (Viola Davis) เจ้าของออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงจาก ‘Fences’ มาเล่นอย่างสมบทบาท จนเข้าชิงรางวัลอย่างต่อเนื่องไม่ต่างไปจากนักแสดงชายรุ่นน้องที่จากไป
แต่ที่แตกต่างก็คือ มา เรนีย์ ของเดวิส มีตัวตน เป็นเจ้าแม่เพลงบลูส์ตัวจริง ส่วนลีวีของโบสแมน เป็นตัวละครที่แต่งขึ้นมา เช่นเดียวกับเรื่องราวของหนัง ยกเว้นบทเพลงในเรื่อง เช่น “Ma Rainey’s Black Bottom” ที่มีจริง ๆ ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อสนองการเต้นรำยุค 1920s ที่เรียกว่า “แบล็ก บ็อตทอม” (Black Bottom) ที่กำเนิดจากชุมชนคนผิวดำทางใต้ของสหรัฐอเมริกา แล้วพอกลายเป็นที่นิยม ศิลปินต่างก็มีเพลง “Black Bottom” ของตัวเอง โดยมาบันทึกเสียงเพลงนี้ในปี 1927
หนัง ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ สร้างจากบทละครชื่อเดียวกันของ ออกัสต์ วิลสัน (August Wilson) เมื่อปี 1982 ซึ่งเป็นหนึ่งในละครสิบเรื่องของละครเวทีซีรีส์รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ที่เรียกว่า The Pittsburgh Cycle หรือ the American Century Cycle โดยเนื้อหาว่าด้วยชีวิตคนแอฟริกันอเมริกันในแต่ละทศวรรษตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 หนึ่งในละครเวทีชุดนี้ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ก็คือ ‘Fences’ ที่นำแสดงโดยเดวิสและเดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) ผู้อำนวยการสร้างหนังทั้งสองเรื่อง แล้วในละครเวทีชุดนี้ มีมา เรนีย์ เท่านั้นที่มีตัวตนจริง ๆ ในโลกใบนี้
“เดวิสก้าวไปบนเวทีเป็นครั้งแรก แล้วเสียงเพลงก็ดังขึ้น ขณะที่เธอกำลังลิปซิงก์ ผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างออกอาการปลื้มปริ่ม ส่งเสียงกรีดร้อง ปลุกเร้ากันสุดใจขาดดิ้น พลังงานมากมายถูกส่งไปมาทั่วเต็นท์ มันน่าตื่นเต้นเอามาก ๆ” ผู้กำกับ จอร์จ ซี. โวลฟ์ (George C. Wolfe) บอกกับ OprahMag.com ถึงฉากเปิดของหนัง อีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทรงพลังของเรื่อง “นักแสดงรู้สึก และไวโอลาก็รู้สึก แล้วทุกคนก็เข้าถึงมันได้”
มา เรนีย์ ตัวจริงก็เหมือนเดวิส เธอคือผู้สร้างความบันเทิง แต่ด้วยเสียงเพลงที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์อย่างไม่น่าเชื่อ ก่อนจะเป็นที่รู้จักอย่างที่รู้กัน เธอคือ เกอร์ทรูด เมลิสสา นิกซ์ พริดเก็ตต์ (Gertrude Malissa Nix Pridgett) ลูกสาวของแม่-เอลลา (Ella) และพ่อ-โธมัส (Thomas) ที่ลืมตาดูโลกในรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกบันทึกว่าเป็นวันหนึ่งในเดือนกันยายน 1882 ที่อะลาบามา แต่เจ้าตัวแย้งว่า เป็นวันที่ 26 เมษายน 1886 ที่โคลัมบัส, จอร์เจีย ต่างหาก ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ กฏหมายจิม โครว์ (Jim Crow Law – กฎหมายที่ใช้ในรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ ช่วงปี 1877 – กลางยุค 1960 ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ)
เกอร์ทรูดเดินทางไปกับคณะแสดง ที่จิโอวานนี รัสโซเนลโล (Giovanni Russonello) นักวิจารณ์ดนตรีแจซของ The New York Times เรียกว่า เป็น “การแสดงคล้ายๆ กับคาบาเรต์ ที่พัฒนามาจากการแสดงช่วงกลางกลางยุค 1800s เพื่อผู้ชมผิวขาว” ตั้งแต่อายุแค่ 14 ปี โดยใช้ชื่อ เกอร์ทรูด พริดเก็ตต์ และการเดินทางไปเล่นที่มิสซูรี ในปี 1902 ก็ทำให้เธอได้พบดนตรีบลูส์เป็นครั้งแรก เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งเล่นกีตาร์ ร้องเพลงเศร้าถึงคนรักที่หายไป ด้วยท่วงทำนองที่น่าลุ่มหลงและพลิกผันไปมา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับเกอร์ทรูด เธอหลงใหลในดนตรีที่เศร้าสร้อย และเริ่มร้องเพลงเดียวกันกับที่ได้ยินในช่วงอองกอร์ (Encore) ของการแสดงตัวเอง จากที่ Encyclopedia.com บันทึกเอาไว้ มาอ้างด้วยว่า เธอเป็นคนที่ใช้คำว่า ‘บลูส์’ โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อถูกถามว่า เพลงที่ร้องเป็นเพลงแบบไหน เธอตอบว่า “บลูส์”
ปี 1904 เกอร์ทรูดในวัย 18 ปีที่เริ่มเล่นเพลงของตัวเองแล้ว แต่งงานกับ วิลเลียม ‘ปา’ เรนีย์ (William ‘Pa’ Rainey) ซึ่งทำให้เธอถูกเรียกว่า มา ทั้งคู่เข้าร่วมคณะ แร็บบิต ฟูค คัมพะนี (Rabbit Foot Company) ของ แพ็ท แช็ปเพลล์ (Pat Chappelle) ที่ออกทัวร์ทางตอนใต้ของอเมริกาในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 และขึ้นแสดงร่วมกันโดยใช้ชื่อ มาแอนด์ปา เรนีย์ – ดิ แอสแซสซิเนชัน ออฟ เดอะ บลูส์ (Ma and Pa Rainey, the Assassinators of the Blues) ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งตำนานบลูส์ เบสซี สมิธ (Bessie Smith) เมื่อมาจ้างเด็กสาววัย 14 ปีเป็นแดนเซอร์ในคณะ สมิธได้รับการดูแลอย่างดีจากมา และมีโอกาสร่วมงานกัน โดยในยุค 20s – 30s สมิธได้ฉายาว่า ‘ราชินีเพลงบลูส์’ และเรื่องราวของทั้งคู่ถูกนำเสนอใน Bessie หนังของผู้กำกับ ดี รีส (Dee Rees) เมื่อปี 2015 ซึ่งโม’นิกว์ (Mo’Nique) เล่นเป็นมา และควีน ลาติฟาห์ (Queen Latifah) รับบทเบสซี สมิธ
มาแยกทางกับวิลเลียมในปี 1916 แล้วตั้งคณะของตัวเอง มาดาม เกอร์ทรูด มา เรนีย์ แอนด์ เฮอร์ จอร์เจีย สมาร์ต เซ็ต (Madam Gertrude Ma Rainey and Her Georgia Smart Set) ความนิยมที่มีต่อเธอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปี 1923 มาก็เป็นหนึ่งในศิลปินผิวดำรายแรก ๆ ที่ได้เซ็นสัญญากับบริษัทพาราเมาต์ หลังถูกพบโดยโปรดิวเซอร์ – เจ. มาโย วิลเลียมส์ (J. Mayo Williams) เธอได้บันทึกเสียงเพลงเป็นครั้งแรก และในเวลาแค่เดือนเดียว มาบันทึกเสียงเพลงถึง 8 เพลง รวมแล้วในช่วงห้าปีแรกเธออัดเสียงเพลงไปร้อยกว่าเพลง ที่ส่วนหนึ่งก็คือเพลงดัง ๆ อย่าง “Moonshine Blues”, “See See Rider” และ “Trust No Man” ซึ่งทำให้เพลงบลูส์เป็นดนตรีกระแสหลัก และมากลายเป็นคนดัง
มาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในยุค 1920s ที่ชิคาโก ขึ้นแสดงในงานพาร์ตีตามบ้าน หรือไม่ก็เปิดคอนเสิร์ตรอบ ๆ เมือง รวมทั้งบันทึกเสียงให้พาราเมาต์ เธอได้ทำงานกับนักดนตรีมากหน้าหลายตาในนาม มา เรนีย์ แอนด์ เฮอร์ จอร์เจีย แจซ แบนด์ (Ma Rainey and Her Georgia Jazz Band) ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีตำนานแห่งวงการเพลง อย่าง วิลลี ‘เดอะ ไลออน’ สมิธ (Willie ‘The Lion’ Smith) และ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) แต่แล้วในปีต่ 1927 มาก็ได้บันทึกเสียงเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากพาราเมาต์บอกเลิกสัญญา เพราะ “เพลงบลูส์ในสไตล์ของมา น่าจะได้รับความนิยมอีกไม่นาน” เมื่อเพลงแนวอื่น ๆ เช่น แจซ ได้รับความนิยมทดแทน ทำให้อายุการเป็นศิลปินบันทึกเสียงของเธอกินเวลาแค่ 5 ปี
มาหันมาเน้นการแสดง แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ทำให้สถานการณ์ของเธอไม่ดีขึ้น เธอเลยวางมือจากการแสดงในปี 1935 กลับไปที่โคลัมบัส, จอร์เจีย ทำธุรกิจสถานบันเทิงสองแห่ง และเข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์ ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายในวันที่ 22 ธันวาคม 1939 ด้วยวัย 53 ปี
เพราะสภาวะเศษฐกิจตกต่ำ และบริษัทพาราเมาต์ปิดตัวลง เพลงของมาเลยไม่ได้มีการปั้มออกมาในระยะหนึ่ง จนยุค 1960s ถึงมีการทำออกมาอีกครั้ง โดยสังกัดแผ่นเสียงไมล์สโตน (Milestone) และไบโอกราฟ (Biograph) ทำให้เธอได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินบลูส์ที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อวงการ โดยระหว่างการเคลื่อนไหวของศิลปินผิวดำตอนยุค ’60s นักกวี อัล ยัง (Al Young) ได้เขียนบทกวีชื่อ ‘A Dance for Ma Rainey’ เพื่อยกย่องการทำงานศิลปะของมา
มา เรนีย์ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในยุค 80s ซึ่งต้องให้เครดิตกับละครเวทีบรอดเวย์เรื่อง ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ โดยเธเรซา เมอร์ริตต์ (Theresa Merritt) เล่นเป็นเธอ ที่ในช่วงเวลาเดียวกัน แซนดรา อาร์. ลีบ (Sandra R. Lieb) ก็พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับชีวิตของมา ‘Mother of the Blues: A Study of Ma Rainey ออกมา’
นับจากนั้น สิ่งที่มามอบให้กับวงการเพลงได้รับการรำลึกถึงอย่างต่อเนื่อง เธอได้รับการจารึกชื่อเข้าสู่หอประกาศเกียรติคุณดนตรีบลูส์ (Blues Hall of Fame) ในปี 1983 ตามด้วยหอประกาศเกียรติคุณร็อกแอนด์โรลล์ (Rock and Roll Hall of Fame) ในปี 1990 แล้วในปี 1994 กรมไปรษณีย์แห่งสหรัฐฯ ก็จัดทำแสตมป์ที่ระลึกให้กับมา ส่วนเพลง “See See Rider” ของเธอก็ได้รับการจารึกในหอประกาศเกียรติคุณแกรมมี (Grammy Hall of Fame) และถูกบันทึกในหอสมุดงานบันทึกเสียงของสภาคองเกรสส์ในปี 2004
ตลอดจนมีการตั้งชื่อสถาบันการศึกษา เรนีย์ แม็คคูลเลอร์ส สคูล ออฟ อาร์ตส์ (Rainey McCullers School of Arts) ในโคลัมบัส, จอร์เจีย เมื่อปี 2017 ซึ่งตั้งตามนามสกุลของมา และนักเขียน คาร์สัน แม็คคูลเลอร์ส (Carson McCullers) นั่นเอง
ปี 2019 นิว ยอร์ก ไทม์ส ตีพิมพ์เรื่องราวชุด ‘Overlooked’ ที่ให้ความสำคัญกับบุคคลมากความสามารถแต่การจากไปกลับไม่ได้รับการรำลึกถึง โดยยกย่องมาว่า เป็นผู้สร้างความบันเทิงคนแรก ที่ ‘สร้างสะพานข้ามเส้นแบ่ง’ ระหว่างการแสดงละครเร่กับการแสดงดนตรีพื้นบ้านผิวดำทางใต้แท้ๆ แล้วยังสร้างรากฐานใหม่ให้การเล่าเรื่องผ่านเนื้อร้องในเพลง ที่หลาย ๆ เพลงของเธอนำเสนอเรื่องสิทธิสตรี ผ่านตัวละครที่เป็นหญิงสาว ที่มีทั้งความแข็งแกร่ง เป็นอิสระชน
แองเจลา เดวิส (Angela Davis) นักวิชาการและนักรณรงค์ เขียนไว้ในหนังสือ ‘Blues Legacies and Black Feminism’ ว่า เพลงของมา “มีลักษณะของการชื่นชมสิทธิในการจัดการกับตัวเองของผู้หญิง โดยมีขอบเขตที่กว้างขวาง และไม่เป็นที่ปรารถนาเช่นเดียวกับเพศชาย” แล้วยังไม่กลัวที่จะเปิดเผยมุมมืดของชีวิต พูดถึงประสบการณ์จริงของผู้คน “เพลงบลูส์ของมา เรนีย์ มีเรื่องราวที่เรียบง่าย, ตรงไปตรงมา ว่าด้วยความรักที่ผิดหวัง, ความสำส่อน, การสำมะเลเทเมา, การผจญภัยจากการเดินทาง, ชีวิตการทำงาน และแก๊งตามถนนที่ติดคุก, เวทย์มนต์และเรื่องงมงาย พูดให้สั้นๆ ก็คือ เรื่องในภาพรวมของคนแอฟริกันอเมริกัน ที่เป็นไปในยุคหลังการฟื้นฟู” วิลเลียม บาร์โลว์ (William Barlow) เขียนไว้ในหนังสือ ‘Looking Up at Down: The Emergence of Blues Culture’
ยิ่งไปกว่านั้นเพลงของมา ยังเผยความสนใจของเธอที่มีต่อทั้งชายและหญิงในเพลง จนสื่ออย่าง Rolling Stone ยกให้เธอเป็น สัญลักษณ์ (Icon) ของคนรักร่วมเพศ แม้มาไม่เคยแสดงออกให้รับรู้ทั่วกันว่าเป็นไบเซ็กชวลก็ตาม ใน “Prove It On Me Blues” เพลงดังของเธอเมื่อปี 1928 เนื้อหาท่อนหนึ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่า “Went out last night with a crowd of my friends. They must’ve been women, ’cause I don’t like no men” ซึ่งพาดพิงถึงกิจกรรมทางเพศกับแดนเซอร์ที่มาเธอจัดขึ้น และทำให้เธอถูกจับที่ชิคาโกในปี 1925 ก่อนได้รับการประกันตัวในเช้าวันรุ่งขึ้นโดยสมิธ
ภาพโฆษณาเพลงนี้ที่พาราเมาต์ทำ เป็นภาพของเรนีย์ “สวมหมวกของผู้ชาย ใส่เสื้อกั๊ก แจ็กเก็ต ผูกไท เพื่อเรียกร้องความสนใจจากหญิงสาวหุ่นดีสองคน” เซนต์. สุกี เดอ ลา ครัวซ์ (St. Sukie de la Croix) เขียนไว้ในหนังสือ ‘Chicago Whispers: A History of LGBT History Before Stonewall’
แต่บทบาทสำคัญที่ทำให้มาได้รับการรำลึกถึงจนทุกวันนี้ ก็คือการสร้างวิวัฒนาการให้กับดนตรีบลูส์ เพราะนอกจากเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นแรก ๆ ที่ได้บันทึกเสียงงานของตัวเอง มายังสร้างเทคนิคการร้องเพลงที่มีลักษณะเฉพาะตัว ด้วยการร้องราวกับการคร่ำครวญ เต็มไปด้วยอารมณ์จากเบื้องลึก และจากที่ เดอ ลา ครัวซ์ ตั้งข้อสังเกต มาเป็นนักร้องหญิงรายแรกก็ว่าได้ ที่ ‘ขัดเกลา’ เสียงให้สวยน้อยมาก คล้าย ๆ กับนักร้องเพลงบลูส์ชาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักร้องเพลงบลูส์รุ่นหลัง ๆ ใช้เป็นต้นแบบ ทั้งเจนิส จอปลิน (Janis Joplin) และ บอนนี เรต (Bonnie Rait) ก็น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากมา การแสดงบนเวทีที่ผสมผสานการแสดงหลากหลายรูปแบบ ที่เธอได้พบเห็นในตอนออกทัวร์ ก็สะกดผู้ชมได้อยู่หมัด ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้มาได้ฉายา ‘เจ้าแม่เพลงบลูส์’
โดยเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงที่ เมมฟิส มินนี (Memphis Minnie) นักร้องเพลงบลูส์ ร่ำร้องถึงการจากไปของมา สามารถให้นิยามความสำคัญของเธอเอาไว้ได้อย่างชัดเจน
“People it sure look lonesome since Ma Rainey been gone”
อ้างอิง:
1. www.goodhousekeeping.com; https://bit.ly/3tRVXbl
2. www.historyvshollywood.com; https://bit.ly/3fezwZJ
3. screenrant.com; https://bit.ly/3tRipkX
4. www.womenshealthmag.com; https://bit.ly/3rkEoPB
5. www.oprahmag.com; https://bit.ly/2NThJfC
6. www.biography.com; https://bit.ly/3f7zhQm
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส