ขึ้นชื่อว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ ต่อให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมในกองถ่ายก็รู้ดีว่านี่คือ “งานใหญ่’ ที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นปี ใช้ทีมงานนับร้อยชีวิต และทุนสร้างหลายล้านบาท ยิ่งถ้าหนังฮอลลีวูดนี่หลักหลายพันล้านบาทเลย ในฐานะผู้ชมเราก็ได้ดูหนังที่สำเร็จเสร็จสิ้นบนจอด้วยความรื่นรมย์ แต่หารู้ไม่ว่าหนังที่เราดูนั้นบางเรื่องกว่าจะเสร็จมาได้ ทีมงานต้องเจอปัญหาสารพันทั้งเล็กทั้งใหญ่ เพราะมันคือการทำงานที่มากคนก็ยิ่งมากความ ความเห็นขัดกันบ้าง ทีมงานไม่ลงรอยกันบ้าง หรือต้องเจอกับนักแสดงอีโก้จัดทำตัวเรื่องมากบ้าง หรือบางเรื่องถ่ายทำไปก็ยังเขียนบทไปด้วยก็มี

ซึ่งปัญหาสารพันนั้นคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสะสางปัญหาเหล่านั้นโดยตรงก็คือผู้กำกับ ที่เราหยิบมาเล่านี่ก็คือ 9 เรื่องที่ 9 ผู้กำกับต้องเผชิญตั้งแต่วันแรกของการถ่ายทำ มีตั้งแต่ปัญหาหยุมหยิมอย่าง เหตุการณ์ขัดข้องทางเทคนิคบ้าง ทีมงานบาดเจ็บ ไปจนถึงเคสหนักสุดก็คือมีการเสียชีวิตในกองถ่าย ตามไปอ่านกันเลยครับ ว่าผู้กำกับดวงซวยเหล่านี้มีใครบ้าง

1.Matthew Vaughn – Kingsman: The Secret Service

Kingsman: The Secret Service

สำหรับผู้กำกับแมทธิว วอห์น (Matthew Vaughn) นี่รียกได้ว่าเป็นผู้กำกับที่เคยผ่านงานหินมาแล้ว เขาเคยเปิดกล้องถ่ายทำหนัง X-Men: First Class จนปิดกล้องและสามารถออกฉายได้ภายในระยะเวลาแค่ 10 เดือนมาแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปมาก ช่วยให้การถ่ายทำสะดวกรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ซึ่งแมทธิวก็เป็นผู้กำกับที่ไว้วางใจกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในกองถ่ายอย่างมาก

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในหนัง Kingsman: The Secret Service (2014) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกในการถ่ายทำ ฉากแรกที่ทีมงานถ่ายทำกันก็คือฉากฝึกใต้น้ำ แน่นอนว่าการถ่ายทำใต้น้ำเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก ทำให้ทีมงานต้องงานแผนล่วงหน้ากันอย่างรัดกุม และมีการทดสอบกันอย่างเข้มงวดแล้วก่อนเริ่มต้นถ่ายทำจริง

ในฉากนี้ทั้งทีมงานและนักแสดงทำงานกันบนฐานกว้างที่ควบคุมระดับในแนวดิ่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นวิธีการที่สะดวกมากเพราะฐานจะสามารถขยับขึ้นลงในน้ำได้ในทุกระดับความลึกที่ต้องการ แต่แล้วระบบคอมพิวเตอร์ก็เกิดรวนซะงั้น ฐานที่รองรับทีมงานและนักแสดงทั้งกลุ่มก็ยุบตัวลงกะทันหัน ผลก็คือทั้งทีมงานและนักแสดงจมอยู่ใต้น้ำลึก 6 เมตร

แมทธิว วอห์น ย้อนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “กล้องหลายตัว ทีมงานเสียง ทุกคนเปียกน้ำกันหมด ขวัญเสียกัน คนที่เหลือก็กระโดดลงไปในน้ำช่วยเพื่อน ๆ ออกมา ที่ผมเห็นคือตอนนั้นบรรดานักแสดงไมได้แอ็กติ้งอะไรเลย พวกเขาตกใจกันจริง ๆ มันเป็นเรื่องแย่มากสำหรับการเริ่มต้นถ่ายทำวันแรกแบบนี้”

แต่ก็ยังดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์นี้ แล้วการถ่ายทำในวันต่อ ๆ ไปก็ราบรื่นดี

2.Paul W.S. Anderson – Resident Evil: The Final Chapter (2016)

Olivia Jackson ก่อนเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับคอหนังฮอลลีวูดแล้ว เมื่อได้ยินชื่อ พอล ดับเบิ้ลยู.เอส. แอนเดอร์สัน (Paul W.S. Anderson) ก็พอจะรู้กันดีว่าผลงานของเขามักจะหวังผลทางรายได้เป็นหลัก และมักจะเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากวิดีโอเกมอย่าง Mortal Kombat, Resident Evil และล่าสุดก็ Monster Hunter ส่วนคุณภาพก็งั้น ๆ อย่าไปคาดหวังอะไรมาก แต่กระนั้นเจ้าของสตูดิโอก็พึงพอใจกับผลงานของแอนเดอร์สัน เพราะเขาสามารถปิดกล้องได้ในงบประมาณที่สมเหตุสมผลและหนังก็ทำกำไรได้ในระดับที่น่าพอใจ นั่นจึงทำให้เขามีงานกำกับออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในวงการมาตั้งแต่ยุค 90s แล้ว

ส่วนผลงานที่สร้างชื่อให้กับแอนเดอร์สันมากสุดก็คงหนีไม่พ้นแฟรนไชส์ Resident Evil ที่เขากำกับไป 4 ใน 6 ภาค และภาคที่เราจะพูดถึงก็คือภาคที่ 6 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของแฟรนไชส์ ซึ่งแอนเดอร์สันต้องเจองานยากตั้งแต่วันแรกของการถ่ายทำและจะเป็นวันทีเขาไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต เมื่อโอลิเวีย แจ็กสัน (Olivia Jackson) สตันท์หญิงที่รับบทแทน มิลลา โจโววิช (Milla Jovovich) นางเอกของเรื่องและศรีภรรยาของแอนเดอร์สันเอง ในฉากนี้แจ็กสันจะต้องแสดงฉากขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผน แต่แล้วก็เกิดเหตุผิดพลาดทางเทคนิค มอเตอร์ไซค์ที่เธอขี่นั้นพุ่งเข้าชนกับเครนกล้องเข้าอย่างจัง ทำให้เธอหมดสติและอยู่ในโคม่านานถึง 2 สัปดาห์

Paul W.S. Anderson

รายการบาดเจ็บสาหัสของ โอลิเวีย แจ็กสันมีดังนี้ ผิวหนังบนใบหน้าถลอกจนหลุดออก, กระดูกใบหน้าแตก, สมองบาดเจ็บ, หลอดเลือดแดงที่คออุดตันอย่างรุนแรง, กระดูกซี่โครงหัก, แขนซ้ายใช้การไม่ได้ถาวรจนหมอต้องตัดออก และอีกมาก อุบัติเหตุของ โอลิเวีย แจ็กสัน ค่อนข้างเป็นข่าวใหญ่ในวงการหนัง ถ้าใครติดตามข่าววงการหนังอาจจะเคยผ่านตาคดีของเธอมาบ้างแล้ว เพราะเธอฟ้องร้องค่าเสียหายเหมาหมดทั้งสตูดิโอผู้สร้างหนัง รวมไปถึงตัวผู้กำกับ พอล ดับเบิ้ลยู.เอส. แอนเดอร์สัน ด้วย ในฐานะผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้

คดีค่อนข้างยืดเยื้อหลายปี มาสิ้นสุดเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เมื่อศาลตัดสินให้ทีมผู้อำนวยการสร้างมีความผิดจริงในข้อหา “ให้ความสำคัญกับทุนสร้างมากกว่าที่จะคำนึงถึงความปลอดภัย” แจ็กสันอ้างว่าทีมงานขอร้องให้เธอแสดงฉากผาดโผนนี้ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย

นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกในการถ่ายทำ แต่ที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุเดียวในกองถ่าย Resident Evil: The Final Chapter ในช่วงท้ายของการถ่ายทำ ก็เกิดอีกหนึ่งอุบัติเหตุรุนแรง รอบนี้ถึงขั้นเสียชีวิตเลย เกิดเหตุกับ ริคาร์โด คอร์เนเลียส (Ricardo Cornelius) ร่างของเขาถูกบดขยี้เสียชีวิตคาที่ภายในรถฮัมวี นับเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ในกองถ่ายนี้ ในวันที่เกือบจะปิดกล้องอยู่แล้ว

3.Lynne Ramsay – Jane Got A Gun

Jane Got a Gun

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น กองถ่ายภาพยนตร์เป็นงานที่ใช้ผู้คนจำนวนมาก บางกองอาจจะมากถึงพันคน การที่เจ้าหน้าที่ หรือนักแสดงบางคนอาจจะติดขัดปัญหาไม่สามารถมาทำงานได้ในวันแรกที่เปิดกล้อง ก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้แต่ต้องไม่ใช่ “ผู้กำกับ”สิ เรื่องแบบนี้ก็มีด้วยครับ ในกองถ่าย Jane Got A Gun หนังคาวบอยขายชื่อ นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) เมื่อปี (2015) ที่เกิดเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อวันเปิดกล้องแต่กลับไร้เงาของ ลินน์ แรมเซย์ (Lynne Ramsay) ผู้กำกับหญิงที่สร้างชื่อมาจาก We Need to Talk About Kevin หนังมากรางวัลปี 2011

ก็ปรากฏว่าในวันแรกนั้น นักแสดงมากันพร้อมหน้า ทีมงานพร้อม จนแล้วจนรอด ลินน์ แรมเซย์ ก็ไม่มีวี่แววจะปรากฏตัวมา ทีมผู้อำนวยการสร้างจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการด่วน ระหว่างนั้นก็ปล่อยให้บรรดานักแสดงซ้อมบทกันไปพลาง ๆ ก่อน แล้ววันต่อมาเขาก็ได้ตัว เกวิน โอ คอนเนอร์ (Gavin O’Connor) ผู้กำกับฝีมือดีไม่น้อยหน้า ลินน์ แรมเซย์ เลยล่ะ เคยมีผลงานเด่น ๆ มาแล้วอย่าง Pride and Glory (2008) และ Warrior (2011)

ส่วนสาเหตุที่ลินน์ แรมเซย์ อ้างถึงการไม่มาทำงานก็เป็นเหตุผลสวยงามสุดยอดฮิต “ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานกับสตูดิโอไม่ตรงกัน” แต่ทางสตูดิโอกลับอ้างเหตุผลอีกย่างว่า ลินน์ แรมเซย์ นั้นเธอเมาแล้วก็ใช้ถ้อยคำหยาบคายกับนักแสดงและทีมงาน กลายเป็นดราม่ายืดยาวเลยนับแต่นั้น ทั้งสองฝ่ายก็ต้องทีมกฏหมายฟ้องร้องกันไป ส่วนกองถ่ายก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ก็ยังมีดราม่าในกองถ่ายอีกจนได้ เมื่อ จูด ลอว์ (Jude Law) อ้างว่าไม่ต้องการทำงานกับผู้กำกับ เกวิน โอ คอนเนอร์ เขาเซ็นสัญญาแสดงหนังเรื่องนี้เพราะอยากจะร่วมงานกับ ลินน์ แรมเซย์ เท่านั้น เมื่อลินน์ไม่กลับมา เขาก็ไม่ขอร่วมงานด้วย ยัง ยังไม่จบแค่นั้น ดาริอุส คอนด์จี (Darius Khondji) ผู้กำกับภาพระดับตำนานก็ขอโบกมือลาไปอีกคน

หลังลินน์ แรมเซย์ โบกมือลาไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ กองถ่ายถึงเริ่มต้นกันได้อีกครั้ง แต่ก็เดินหน้าไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีนักแสดงมาแทนบทตัวร้ายของ จูด ลอว์ จนกระทั่ง 1 เดือนผ่านไป ถึงจะได้ ยวน แม็กเกรเกอร์ (Ewan McGregor) เข้ามาแทนที่ในบทนี้

แม้ว่าในที่สุดหนังจะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่หนังก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงตอบรับจากบรรดานักวิจารณ์เอาเสียเลย

4.Paul Verhoeven – Basic Instinct

Basic Instinct

เป็นผู้กำกับนี่ความรับผิดชอบเยอะจริง ๆ นะ ต้องทำหนังให้สำเร็จลุล่วงได้ตรงตามกำหนดการ ได้ในงบประมาณที่ตั้งไว้ และหนังจะต้องออกมามีคุณภาพ นักแสดงและที่ทีมงานต้องปลอดภัย อวัยวะครบ 32 ชิ้นในตอนปิดกล้อง และที่สำคัญผู้กำกับสมควรที่จะดึงศักยภาพนักแสดงออกมาให้ได้มากที่สุด ตรงตามบทบาทที่วางไว้

ประเด็นหลังนี่ล่ะ ที่เราจะหยิบมาเล่าในกรณีที่เกิดกับ พอล เวอร์โฮเวน (Paul Verhoeven) ผู้กำกับระดับตำนานในยุค 90s เขาเป็นผู้กำกับชาวฮอลแลนด์ ที่สั่งสมชื่อเสียงในประเทศไว้มากพอ แล้วก็ก้าวเข้าสู่ฮอลลีวูด ประเดิมด้วย Robocop (1987) และตามมาด้วย Total Recall (1990) แล้วก็เปลี่ยนแนวมาเป็นหนังดราม่า-ทริลเลอร์ ระดับตำนานอย่าง Basic Instinct ในปี 1992 หนังเป็นที่โจษจันอย่างมากในวันที่ออกฉาย เพราะได้ ชารอน สโตน (Sharon Stone) นางเอกฮอลลีวูดสุดร้อนแรงที่ตอนนั้นอยู่ในช่วงพีคสุดในอาชีพการแสดงของเธอ แล้วยิ่งตอกย้ำความร้อนแรงของเธอมากยิ่งขึ้น กับฉากสลับขาไขว่ห้าง

แล้ววันแรกในกองถ่ายที่ดูไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ก็เหมือนเป็นอุปสรรคครั้งสำคัญที่ท้าทายผู้กำกับมากประสบการณ์อย่างเวอร์โฮเวน เมื่อนางเอกสาวที่เป็นชื่อขายของเรื่องกลับให้การแสดงที่เวอร์โฮเวนบรรยายว่า “ยังกะท่อนไม้” ทำเอาเวอร์โฮเวนถึงกับเรียกทีมผู้อำนวยการสร้างมาคุย ถึงขั้นเสนอให้เปลี่่ยนตัวนักแสดง แต่หนังก็โปรโมตไปล่วงหน้าแล้วด้วย และมีผู้ชมรอดูการจะหาใครมาทดแทนตำแหน่ง ชารอน สโตน ในวันนั้นได้ แทบมองไม่เห็น การทำงานจึงต้องเดินหน้าต่อไป

จนเมื่อเลิกกองในวันนั้น เวอร์โฮเวนตัดสินใจลากตัวสโตนมาคุยส่วนตัว แล้วก็ใช้วาทศิลป์ในแบบผู้กำกับเพื่อกระตุ้นให้เธอฮึกเหิมแล้วงัดฝีมือการแสดงออกมาให้สมกับที่เขาคาดหวัง ได้ผลครับ สโตนกลับมากองถ่ายในวันรุ่งขึ้น เหมือนกับไปชาร์จพลังใจพลังกายในการทำงานมาเต็มที่ เธอมาพร้อมกับความมั่นใจสุด ๆ ผลลัพธ์ก็คือ Basic Instinct กลายเป็นหนังระดับตำนาน ที่ประสบความสำเร็จในทุกด้าน ทุนสร้าง 49 ล้านเหรียญ กวาดรายได้ไป 352 ล้านเหรียญ ส่วนชารอน สโตน ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงในเวทีลูกโลกทองคำเลยด้วย

5.George Lucas – Star Wars

Geoge Lucas

หนังระดับมหากาพย์ก็ต้องเจอปัญหาวิกฤตระดับมหากาพย์เช่นกัน กับหนัง Star Wars ภาคเปิดตำนานในปี 1977 ผลงานสร้างชื่อให้กับ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) นั้น กองถ่ายยกทัพกันไปเปิดกล้องที่ประเทศตูนิเซีย โดยวางฉากหลังให้เป็นดาวทะเลทรายทาทูอีน แม้ว่าจะมีการสำรวจโลเคชันก่อนการยกทัพมาปักหลักแล้วก็ตาม ไม่มีใครคาดคิดว่าจะต้องเจอกับฝันร้าย ตั้งแต่วันแรกของการถ่ายทำ ปัญหาเล็กใหญ่ทยอยดาหน้ามาเพิ่มความปวดหัวให้กับ จอร์จ ลูคัส แบบไม่ว่างเว้น

เริ่มตั้งแต่ทีมงานจำนวนมากเกินจำนวนที่พักในตูนิเซียจะรองรับไหว ทีมงานบางส่วนก็ต้องถูกส่งไปนอนในโรงแรมถูก ๆ พอเริ่มถ่ายทำ หุ่นยนต์ที่สร้างไว้เข้าฉาก ก็เกิดขัดข้องไม่ทำงาน เจอพายุรุนแรงทำให้ถ่ายทัศนียภาพมุมกว้าง ที่วางไว้ว่าเป็นภาพท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์คู่ อันเป็นสัญลักษณ์ของดาวทาทูอีน ก็ถ่ายไม่ได้ แล้วยานพาหนะต่าง ๆ ก็เคลื่อนย้ายไม่ได้ เพราะรถติดหล่มอยู่ในโคลน

กลายเป็นว่าฉากมุมกว้างที่จะใส่ดวงอาทิตย์คู่ ต้องมาถ่ายกันใน 2 สัปดาห์ให้หลัง แต่หลังจากนั้นทีมงานก็ต้องประสบกับพายุลูกใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมอีก เป็นอุปสรรคให้กับทีมงานและจอร์จ ลูคัส ต้องคอยแก้ปัญหากันแทบทุกวัน ด้วยประสบการณ์เลวร้ายแบบนี้ล่ะ ที่ทำให้ จอร์จ ลูคัส บอกว่าพอกันที และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมลูคัสถึงไม่กำกับภาคต่ออีก 2 ภาค และในวันที่จอร์จ ลูคัส กลับมากำกับไตรภาคก่อนหน้า เขาถึงเจาะจงที่จะถ่ายทำในโรงถ่ายแล้วใช้เทคนิค กรีน-สกรีน เท่านั้น เพราะทำงานแบบนี้เขาสามารถควบคุมทุกอย่างได้

6.Randall Miller – Midnight Rider

William Hurt ในบท Greg Allman

ในจำนวน 9 เรื่องที่หยิบมาเล่าในบทความนี้ ทั้งตัวผู้กำกับ แรนดัลล์ มิลเลอร์ (Randall Miller) และหนัง Midnight Rider น่าจะเป็นผู้รับผลกระทบจากความซวยในกองถ่ายหนักที่สุดแล้ว และไม่ต้องกังวลโทษตัวเองว่าทำไมคุณ ๆ ถึงไม่เคยได้ยินชื่อหนัง Midnight Rider มาก่อน ก็เพราะว่าหนังผลกระทบจากอุบัติเหตุในกองถ่ายนั้นรุนแรงหนักหนาถึงขนาดว่ากองถ่ายต้องยกเลิกการถ่ายทำแบบถาวรกันไปเลย

Midnight Rider เป็นหนังอัตชีวประวัติของ เกร็ก ออลแมน (Greg Allman) นักร้องและนักกีตาร์ระดับตำนานของอเมริกัน และเป็นสมาชิกคนสำคัญของวง the Allman Brothers Band ที่รุ่งเรืองสุดในยุค 70s ชื่อหนัง Midnight Rider ก็เป็นชื่อของเพลงฮิตเพลงหนึ่งของเขานั่นเอง หนังนั้นดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อ My Cross to Bear ที่เขียนโดยตัว เกร็ก ออลแมนเอง และได้ วิลเลียม เฮิร์ต (William Hurt)มารับบทนำเป็นตัว เกร็ก ออลแมน

วันเปิดกล้องของหนังคือ 20 กุมภาพันธ์ 2014 หนังยกกองไปถ่ายทำกันที่เมืองเวย์น เคาตี้ รัฐจอร์เจีย ตั้งกล้องถ่ายทำกันบนสะพานรางรถไฟเทสเทิล ข้ามแม่น้ำอัลทามาฮา แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันและเป็นอุบัติเหตุที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ เมื่อ ซาราห์ โจนส์ (Sarah Jones) ผู้ช่วยกล้องคนที่ 2 ถูกรถไฟขนสินค้าชนตายคาที่ ไม่เพียงแค่นั้น ทีมงานอีก 7 ชีวิตยังบาดเจ็บด้วย และมีคนหนึ่งอาการสาหัส

แน่นอนว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขนาดนี้ กองถ่ายก็ต้องหยุดการถ่ายทำทันที เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาสืบสวนหาสาเหตุ และจนถึงวันนี้บางกรณีก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย แต่ในวันนั้น แรนดัลล์ มิลเลอร์, โจดี้ ซาวิน (Jody Savin), เจย์ เซ็ดริช (Jay Sedrish) ในฐานะผู้อำนวยการสร้างของหนัง รวมไปถึง ฮิลลารี ชวาร์ตซ์ (Hillary Schwartz) ผู้ช่วยกล้องที่ 1 ก็โดนข้อหา “การทำให้คนตายโดยไม่เจตนาฆ่า” และ “มีความผิดทางอาญาโทษฐานบุกรุก” ทั้งหมดถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปี แต่พวกเขาก็ติดคุกจริง ๆ แค่ปีเดียว แล้วก็ได้รับการคุมประพฤติหลังพ้นโทษ แต่อนาคตในวงการภาพยนตร์ของ แรนดัลล์ มิลเลอร์ ก็จบลง

คลิปเหตุการณ์ที่บันทึกจากกล้องหน้ารถไฟ

7.Roger Spottiswoode – Tomorrow Never Dies

Roger Spttiswoode

เราต่างรู้กันดีว่า เจมส์ บอนด์ เป็นแฟรนไชส์หนังที่ประสบความสำเร็จที่สุด แม้จะสร้างต่อเนื่องมาแล้ว 25 เรื่อง ก็ยังประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น ก็ไม่ได้ผ่านขั้นตอนงานสร้างที่ราบรื่นสวยหรู เหมือนผลลัพธ์ทีได้ผ่านตาเรากันไปแล้ว ตัวอย่างเช่น Quantum of Solace ก็เจอปัญหาในเรื่องที่ต้องถ่ายทำกันในช่วง สมาคมนักเขียนบทสไตรค์กัน ทำให้ผู้กำกับ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ (Marc Forster) และพระเอกบอนด์ แดเนียล เครก (Daniel Craig) ต้องลงมาแก้ไขบทกันเอง เรียกได้ว่าเขียนไปถ่ายไปเลยนั่นแหละ แล้วไมได้เครดิตเสียด้วย ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดีหนังก็ประสบความสำเร็จ

แต่ไม่ใช่กับภาค Tomorrow Never Dies (1997) ในยุคที่มี เพียร์ซ บรอสแนน (Pierce Brosnan) เป็น เจมส์ บอนด์ เป็นอีกภาคที่ต้องถ่ายกันไปโดยที่บทภาพยนตร์ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเขียนเสร็จเมื่อไหร่ เป็นกองถ่ายที่โกลาหลมากสุดในตำนานเรื่องหนึ่ง เหล่านักแสดงถกเถียงกันแทบทุกคน รวมไปถึง โจนาธาน ไพรซ์ (Jonathan Pryce) และ เธริ แฮตเชอร์ (Teri Hatcher)ต่างก็ไม่แฮปปี้กับบทบาทของตัวเองตามที่บทเขียนไว้

ส่วนผู้กำกับ โรเจอร์ สปอตทิสวู้ด ก็ถกเถียงกับ บรูซ เฟียร์สไตน์ มือเขียนบทตั้งแต่วันแรกของการถ่ายทำ และเป็นอย่างนี้ไปตลอดการถ่ายทำ มีทีมงานคนหนึ่งออกมาเมาท์ว่า
“ความสุขในการทำงานที่เคยเป็นที่รู้กันในกองถ่ายหนังบอนด์ ไม่มีปรากฏให้เห็นในเรื่องนี้เลย”

ถึงแม้ว่ากองถ่ายจะเดินหน้าไปด้วยปัญหาสารพัน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็นับว่า Tomorrow Never Dies เป็นหนังบอนด์ที่น่าพอใจเรื่องหนึ่ง หนังทำรายรับไป 339.5 ล้านเหรียญ ทำเงินสูงสุดเป็นอันดับที่ 7 จากหนังบอนด์ทั้ง 25 เรื่อง

8.Richard Stanley – The Island Of Dr. Moreau

The Island Of Dr. Moreau

The Island Of Dr. Moreau เป็นหนังคัลต์ ไซ-ไฟ ปี 1996 ได้เข้าฉายในบ้านเราด้วยในชื่อไทยว่า “ครึ่งคนครึ่งสัตว์ มฤตยูพันธุ์โหด” เป็นหนังที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างดี เพราะมีดาราขายชื่อได้อย่าง วัล คิลเมอร์ (Val Kilmer) และนักแสดงรุ่นใหญ่ มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) แต่ในตลาดวงกว้างแล้ว หนังไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย หนังทำรายได้เพียง 49 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 40 ล้านเหรียญ เรียกว่า “เจ๊ง” นั่นแหละ แต่กระนั้นหนังก็ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดในฐานะหนังที่ “เจอหายนะระหว่างถ่ายทำมากที่สุด”

โปรเจกต์หนัง The Island Of Dr. Moreau เริ่มต้นได้เพราะเป็นหนังที่ผู้กำกับ ริชาร์ด สแตนลีย์ ปรารถนาอยากสร้างอย่างมาก ดัดแปลงมาจากนิยายของ เอช.จี. เวลส์ นักเขียนระดับตำนาน วี่แววหายนะในกองถ่ายเริ่มมองเห็นตั้งแต่วันเปิดกล้องเลย เมื่อนักแสดงหลักอย่าง มาร์ลอน แบรนโด ไม่ปรากฏตัวในกองถ่าย เมื่อสืบสาวราวเรื่องไป ก็พบว่าเขาเจอปัญหาหนักทางบ้าน เมื่อลูกสาวของแบรนโดฆ่าตัวตาย

หนังมีนักแสดงขายชื่อบนโปสเตอร์ 2 คน นั่นก็คือ มาร์ลอน แบรนโด และ วัล คิลเมอร์ ไม่ใช่เพียงแค่ มาร์ลอน แบรนโด ที่ไม่มาเข้ากล้อง แต่ วัล คิลเมอร์ ก็ไม่มาด้วย กว่าจะปรากฏตัวมาให้เห็น ก็ผ่านไปแล้ว 2 วัน โดยให้เหตุผลว่าอยู่ในช่วงทำใจเพราะเพิ่งเลิกรากับภรรยา ปัญหาทั้งหมดรับรู้ไปถึง นิวไลน์ สตูดิโอ เจ้าของหนัง ที่เริ่มรู้สึกแล้วว่า ริชาร์ด สแตนลีย์ ไม่มีกึ๋นพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ และไม่น่าจะพาให้การถ่ายทำสำเร็จลุล่วงไปได้

ปัญหายังไม่จบแค่นั้น ไม่งั้นกองถ่ายเรื่องนี้ไม่กลายเป็นตำนานหรอก ในวันที่ 2 ของการถ่ายทำ ร็อบ มอร์โรว์ (Rob Morrow) อีกหนึ่งนักแสดงนำก็โบกมือบ๊ายบายกองถ่ายโดยไม่ให้เหตุผล ซึ่งก็ได้ เดวิด ธิวลิส (David Thewlis) มารับบทแทน ยังไม่แค่นั้น สภาพอากาศก็ไม่เป็นใจอีกด้วย ทำให้การถ่ายทำเดินหน้าไปอย่างล่าช้า

พอถึงวันที่ 3 ทางนิวไลน์ สตูดิโอ ก็รู้สึกว่าพอกันทีล่ะ ขอตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ริชาร์ด สแตนลีย์ โดนไล่ออกอย่างเป็นทางการผ่านทาง Fax ทางนิวไลน์ส่งตัว จอห์น แฟรงเคนไฮเมอร์ (John Frankenheimer) ผู้กำกับขาเก๋าที่อยู่ในวงการมาแล้วกว่า 40 ปี มารับหน้าที่แทน ซึ่งทางนิวไลน์พิจารณาแล้วว่าต้องให้ผู้กำกับมากประสบการณ์แบบนี้ถึงจะมีทักษะพอที่จะควบคุมกองถ่ายที่มากปัญหาแบบนี้ได้ ซึ่งแฟรงเคนไฮเมอร์ ก็ถือว่าเอาอยู่และพาหนังให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ถึงแม้สุดท้ายแล้วหนังจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

9.Jeff Kanew – Dead Poets Society

Dead Poets Society

Dead Poets Society (1989) ในชื่อไทย “ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน” อีกหนึ่งผลงานจดจำของ โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ที่หลายคนรักหนังเรื่องนี้มาก ซึ่งแฟนหนังเรื่องนี้หลายคนน่าจะจดจำได้ดีว่าเป็นผลงานของ ปีเตอร์ เวียร์ (Peter Weir) ผู้กำกับฝีมือดีที่อยู่ในวงการมาตั้งแต่ยุค 70s แต่รู้มั้ยครับว่า ปีเตอร์ เวียร์ ไม่ใช่่ัตัวเลือกแรกที่ให้มากำกับเรื่องนี้ แต่เป็น เจฟฟ์ คานิว (Jeff Kanew) ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูคอหนังกัน แต่เขาสร้างชื่อมาจากหนัง Revenge of the Nerds หนังคอมเมดี้-เซ็กซี่ เมื่อปี 1984 ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วก็ไม่น่าจะตรงแนวกับหนัง Dead Poets Society เท่าใดนัก

ไม่ใช่แต่เรา ๆ ที่คิดแบบนั้นหรอกครับ ตัวโรบิน วิลเลียมส์ เองก็คิดเหมือนกันว่า เจฟฟ์ คานิว ไม่ใช่ตัวเลือกที่ถูกต้องนักกับหนังเรื่องนี้ และสิ่งที่ โรบิน วิลเลียมส์ ทำเพื่อเป็นการประท้วงสตูดิโอผู้สร้างก็คือ เขาไม่มากองถ่าย ตั้งแต่วันแรกเลย ทั้ง ๆ ที่ทีมงานและนักแสดงคนอื่น ๆ มากันพร้อมหน้าพร้อมตาที่กองถ่ายกันหมดแล้ว ฉากต่าง ๆ ก็สร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมถ่ายแล้วด้วย

วิธีการแก้ปัญหาของ เจฟฟ์ คานิว คือ เดินหน้าถ่ายทำไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีนักแสดงนำอย่าง โรบิน วิลเลียมส์ มาเข้าฉาก ซึ่งทุกคนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ประหลาดมาก แต่ยิ่งเดินหน้าไปทุกอย่างก็ยิ่งเละเทะ ปัญหาต่าง ๆ เริ่มพอกพูน เจฟฟ์ คานิว ก็เลยแก้ปัญหาเด็ดขาดด้วยการ “ทิ้งกองถ่าย” ไปเสียดื้อ ๆ ซะงั้น ดิสนีย์เจ้าของหนังก็เลยไปเชื้อเชิญ ปีเตอร์ เวียร์ ให้มารับหน้าที่แทน แล้วเริ่มต้นถ่ายทำใหม่เลย ซึ่งรอบนี้ โรบิน วิลเลียมส์ ก็ยินดีมาร่วมงานด้วย ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ Dead Poets Society ขึ้นแท่นเป็นหนังฮอลลีวูดคลาสสิกอีกเรื่องหนึ่ง เข้าชิงออสการ์ 4 สาขา ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ก็พลาดไป คงได้มา 1 สาขา นั่นก็คือ “บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม”

อ้างอิง