ผลงานหนังเรื่องแรกจากนิตยสาร a day ที่ทำออกมาเป็นแนวเรียลลิตี้เรื่องราวของมนุษย์ดาวน์ซินโดรมในสังคมไทย ผมไปดูโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ผลที่ได้กลับเกินคาด หนังสนุกมาก พาอารมณ์ผมไปถึงได้สุดทั้งดราม่าซาบซึ้งที่ทำเอาน้ำตาปริ่ม และมุกตลกที่หัวเราะคิกคักไปได้ทั้งเรื่อง และมีที่หัวเราะดังๆ ได้ก็หลายครั้ง
ผมไม่อยากใช้คำว่า”สารคดี”นะครับ ถึงแม้เจ้าของหนังจะบอกว่ามันเป็นสารคดี มันไม่ได้ออกแนววิชาการขนาดนั้น แต่กลับกันมันให้ความบันเทิงเสียมากกว่า ด้านสาระก็มีพองามไม่ได้ถึงกับยัดเยียด ตอนที่ให้คุณหมอมาเล่าสาเหตุและสถิติของคนดาวน์ซินโดรมในประเทศไทย ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ
ด้วยความเป็นแนวหนังที่คนไทยไม่คุ้น เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักเกินไป หนังเลยซอยหนังออกเป็นบทสั้นๆ 12 บท เหมือนเราอ่านหนังสือสั้นๆ ซักเล่ม บวกกับเทคนิคการตัดต่อแบบกวนๆ ทำให้กลายเป็นมุกได้บ่อยครั้ง การใส่ลูกเล่นตัวหนังสือสไตล์หนังคอมมีดี้ ทำให้หนังดูลื่นไหล ไม่รู้สึกเหมือนเราดูหนังสารคดีเลย ด้านดราม่าก็พองาม บางคำถามที่ถูกยิงออกมาบวกกับสีหน้าของคนที่ถูกถามก็ทำให้เรารู้สึกจุกแทนได้ แล้วหนังก็ตัดผ่านไป ไม่ถึงกับต้องโคลสอัพหยดน้ำตาบนหน้าแบบจงใจ แค่นี้คนดูก็เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้นได้เพียงพอแล้ว
หนังเดินเรื่องโดยใช้ตัวคุณโหน่ง เจ้าของหนังสือ a day ทำหน้าที่เป็นคนเล่าเรื่องและพาเราไปรู้จักกับเด็กดาวน์ซินโดรมชาย-หญิง 5 คนในวัย 19-26 ปี ช่วงแรกคุณโหน่งพาเราไปดูชีวิตที่โรงเรียน ที่ทำงาน สัมภาษณ์ครู ญาติ และเพื่อนร่วมงานสั้นๆ ครึ่งหลังก็พาไปรู้จักพ่อแม่ ชีวิตที่บ้าน และจบด้วยการเอาเด็กดาวน์ทั้ง 5 มาฝึกร้องเพลงแล้วขึ้นร้องเพลงบนเวทีร่วมกัน ยูนิโคล่ AIS สตาร์บั๊ค ล้วนเป็นแบรนด์ที่รับผลพลอยได้ไปเต็มๆ ในฐานะองค์กรที่ใจกว้างที่รับเหล่าเด็กดาวน์เป็นพนักงาน
เจตนาหนังน่ารัก ตรงที่ถ่ายทอดภาพของเด็กดาวน์ในด้านไร้เดียงสา น่ารัก อารมณ์ดี เปิดโลกทัศน์ของชีวิตพวกเค้าที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน ให้เห็นว่าพวกเค้าก็มีความสามารถทัดเทียมคนทั่วไป เรียนหนังสือกันจนจบปริญญาตรีได้ ทำงานได้ มีความรับผิดชอบดี เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานเป็นตัวสร้างสีสันบรรยากาศในการทำงาน หนังไม่ได้ทำให้รู้สึกเลยว่าเขาเหล่านี้น่าสมเพชและเป็นภาระของสังคมหรือครอบครัว กลับกันหนังกลับถ่ายทอดภาพความอบอุ่นของครอบครัว ให้รู้สึกได้ว่ามีความสุขกว่าครอบครัวคนปรกติล้วนๆเสียด้วยซ้ำ แม้ว่าเริ่มต้นเขาเกิดมาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพ่อแม่ที่ต้องเหนื่อยยากกับการดูแลแต่สุดท้ายพวกเค้าก็รู้จักกตัญญูและกลับมาช่วยจุนเจือครอบครัวให้พ่อแม่ไม่รู้สึกว่าเหนื่อยเปล่ากับเวลาและน้ำตาที่หมดไปกับการเลี้ยงดู
90 นาทีของหนัง ช่วงท้ายอาจจะรู้สึกได้ว่ายาวไปสักนิดกับหนังประเภทนี้ แต่เวลาที่ผ่านไปเราได้หัวร่องอหายไปกับพฤติกรรมของเหล่าเด็กดาวน์ แต่ก็ล้วนเป็นมุกที่เกิดจากกิริยาซื่อๆ ไร้เดียงสาของพวกเขา หนังไม่ได้สื่อภาพพวกเค้าออกมาเป็นตัวตลกของสังคม ไม่ได้หยิบด้านด้อยของพวกเค้าเอามาใช้เป็นมุกตลก แต่ดูแล้วทึ่งกับความสามารถต่างๆและกำลังใจในชีวิตของพวกเค้า คุณโหน่ง สื่อภาพของเด็กดาวน์ออกมาอย่างให้เกียรติเลี่ยงมากที่จะใช้คำว่า “ปัญญาอ่อน” หนังยังสร้างทัศนคติด้านบวกให้กับคนดูที่มีต่อเด็กดาวน์ซินโดรมต่อไปจากนี้ได้
ภาพของ the down แม้ไม่ใช่หนังตลาด และอาจไม่ใช่ตัวเลือกเวลาที่เราคิดจะดูหนังสักเรื่องใน2สัปดาห์นี้ แต่ยืนยันครับ มันเป็นหนังที่ให้ความสุขความบันเทิง คุ้มค่ากับเวลาและค่าตั๋วแน่นอน ซีนคาราโอเกะ ซีนหมาวิธนีย์ นี่หัวเราะได้แรงจริงๆ แล้วคุณจะประทับใจเด็กดาวน์อย่าง แพน และ แบงค์ เหมือนผมครับ