เชื่อว่า Orphan ต้องเป็นหนึ่งในรายชื่อหนังสยองขวัญในดวงใจของหลาย ๆ คน นับถึงวันนี้ Orphan ก็มีอายุ 12 ปีเข้าไปแล้ว หนังไม่ได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ที่ดีนักในวันที่ออกฉาย บวกกับรายได้ก็ไม่ได้ทำเงินมากมายนัก ในสหรัฐฯ ได้ไปแค่ 41 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 20 ล้านเหรียญ แต่ก็ยังดีที่ได้รายได้จากนอกประเทศเสริมมาอีก 36 ล้านเหรียญ เลยทำให้วอร์เนอร์เจ้าของหนังพอยิ้มออกได้ แต่พอนานไป Orphan กลับกลายเป็นหนังคัลต์ที่ได้รับการพูดถึงกันในโลกออนไลน์กันอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
จะด้วยความน่ากลัวของ “เอสเธอร์” หรือบรรดาตลกร้ายของหนัง จนทำให้วอร์เนอร์ตัดสินใจสร้างภาคต่อของหนังหลังผ่านมา 11 ปี ในชื่อเรื่องว่า Orphan: First Kill ได้ อิซาเบลล์ เฟอร์แมน ( Isabelle Fuhrman)นักแสดงผู้รับบทเอสเธอร์คนเดิมกลับมารับบท แต่ใช้งานเมกอัปและเทคนิคซีจีช่วยลดอายุของเฟอร์แมน หนังปิดกล้องไปตั้งแต่ปลายปี 2020 แล้ว แต่น่าจะเจอปัญหาไวรัสโควิด-19 เลยยังไม่มีการประกาศกำหนดฉาย แต่ตอนนี้เรามาอ่านเกร็ดน่าสนใจจาก Orphan (2009) กันไปก่อน เผื่อใครที่ได้รื้อฟื้นความสนุก ความสยองกันอีกรอบ หลังจาก Netflix เพิ่งนำเอา Orphan มาสตรีมอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ แล้วก็เป็นไปตามคาด หนังเข้าอันดับ Top10 ในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว
ใครยังไม่เคยดู…ห้ามอ่าน… นะครับ
1.ในวันที่กำลังโปรโมตหนัง ทางผู้สร้างได้ใช้คำโปรยลงในตัวอย่างหนังว่า “มันยากที่เราจะรักลูกเลี้ยงได้เท่าเทียมกับลูกของเราเอง” ประโยคนี้ล่ะได้สร้างความเดือดดาลให้กับกลุ่มพ่อแม่บุญธรรมที่รับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงกันอย่างมาก ถึงกับมีการรวมตัวกันร้องเรียนไปทางวอร์เนอร์ ให้ถอดประโยคนี้ออกจากตัวอย่างหนังซะ แต่ถึงแม้วอร์เนอร์จะถอดออกไป ก็ยังมีประโยคนี้อยู่ในบทสนทนาในหนังอยู่ดี
2.บทภาพยนตร์เขียนบรรยายลักษณะของเอสเธอร์ไว้ว่า “เป็นเด็กหญิงที่ผิวขาวซีด และมีผมบลอนด์” ซึ่งต่างจากตัวตนของ อิซาเบลล์ เฟอร์แมน อย่างมาก แต่เธอก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับทีมงานแคสติ้งได้อย่างมาก ด้วยการไปออดิชันในชุดของเอสเธอร์ตามที่บทบรรยายไว้ว่าเธอชอบแต่งตัวในชุดโบราณ มีริบบิ้นพันที่ข้อมือและคอ ทำให้เธอได้บทนี้แม้ว่ารูปร่างหน้าตาของเธอจะไม่ตรงตามบทก็ตาม
3.ผู้กำกับ เจาเม่ คอลเลต์ เซอร์รา (Jaume Collet-Serra) ย้อนเล่าให้ฟังถึงการถ่ายทำฉากที่เอสเธอร์พูดว่าเธอเห็นพ่อแม่กำลังมีอะไรกัน ว่าเป็นการถ่ายทำที่กดดันพอควร เพราะเขาต้องการให้ฉากนี้ผ่านให้ได้ภายในไม่กี่เทค เพราะเซอร์ราไม่อยากให้หนูน้อยเฟอร์แมนต้องสบถคำหยาบหลายครั้งเกินไป
4.โปสเตอร์หนังดูเผิน ๆ เหมือนจะธรรมดามาก เพราะเป็นภาพเต็มหน้าของ “เอสเธอร์” แต่ที่จริงแล้วโปสเตอร์นี้ผ่านการออกแบบโดยใช้หลักจิตวิทยา เพื่อให้ผู้ที่มองเห็นภาพโปสเตอร์นี้แล้วจะรู้สึกไม่สบายใจได้พอควร เหตุก็เพราะภาพหน้าของเอสเธอร์นี้ใช้การก๊อปปี้ในหน้าซีกซ้าย-ขวา ให้เหมือนกันเป๊ะ ๆ ซึ่งจะผิดหลักธรรมชาติของมนุษย์เราที่ใบหน้าด้านซ้าย-ขวา จะมีความแตกต่างกันโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่นั่นก็เป็นใบหน้าที่ดูเป็นปกติธรรมชาติ
5.อาร์ยานา เอ็นจิเนียร์ (Aryana Engineer) นามสกุลแปลกดีนะครับ หนูน้อยผู้ที่รับบทเป็น “แมกซ์” บทที่ประทับใจหลาย ๆ คน เหตุจากความน่ารักและน่าสงสารของเธอ มีฉากที่เธอขโมยซีนได้หลาย ๆ ครั้ง ส่วนใครที่สงสัยว่าทำไมน้องเอ็นจิเนียร์แสดงเป็นเด็กพิการทางการได้ยินได้เป็นธรรมชาติมาก นั่นก็เพราะน้องเอ็นจิเนียร์เธอมีปัญหาทางการได้ยินจริง ๆ และในชีวิตจริงเธอก็ต้องใส่เครื่องช่วยฟังตลอดเช่นกัน
6.เวรา ฟาร์มิกา (Vera Farmiga) ผู้รับบทเป็น “เคท” นั้นเธอเป็นนักเล่นเปียโนผู้ช่ำชองอยู่แล้ว เดิมทีก็มีฉากที่เธอได้โชว์ฝีไม้ลายมือเล่นเปียโนแบบยาว ๆ ในหนัง แต่ดันถูกผู้กำกับเซอร์ราตัดออกเหลือสั้นนิดเดียวในเวอร์ชันท้ายสุด ทำเอาฟาร์มิกาหัวเสียใส่เซอร์ราอย่างมาก กล่าวว่าเธอซักซ้อมฉากนี้มาเป็นอย่างดี ทำให้เธอเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ แต่เธอก็มีโอกาสได้โชว์ฝีมือการเล่นเปียโนในอีกหลายเรื่องตามคลิปที่แนบมานี้
7.ในหนังเวอร์ชันสุดท้ายนั้นแตกต่างจากบทร่างแรกอย่างมาก เพราะมีการแก้ไขบทในหลายฉากหลายตอนระหว่างที่ถ่ายทำ ตัวอย่างเช่นฉากที่เอสเธอร์บุกไปฆ่าแดเนียลบนเตียงในโรงพยาบาล แล้วสุดท้ายหมอก็ช่วยชีวิตแดเนียลไว้ได้ แต่ในบทดั้งเดิมนั้นเอสเธอร์ฆ่าแดเนียลได้สำเร็จ
8.ในบทดั้งเดิมอีกเช่นกัน เดิมทีจะเผยปูมหลังของเอสเธอร์มากกว่าที่เราได้ดูกันไปในหนัง และเผยเหตุผลเบื้องลึกว่าทำไมเอสเธอร์ถึงพยายามยั่วยวนพ่อเลี้ยง ในสคริปต์เวอร์ชันแรกนั้นพาเราย้อนไปถึงอดีตวัยเด็กของเอสเธอร์ที่ถูกพ่อแท้ ๆ ของเธอเองนั้นกระทำชำเราทางเพศต่อเนื่องเป็นปีตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กน้อย ส่งผลร้ายต่อร่างกายของเธอ ไม่สามารถตั้งครรภ์มีบุตรได้ แต่แล้วพ่อก็พาคนรักเข้ามาบ้าน สคริปต์ไม่ได้อธิบายว่าแม่ของเอสเธอร์หายไปไหน หนำซ้ำพ่อของเธอยังตอกย้ำกับเอสเธอร์อีกว่าการที่เธอไม่สามารถให้กำเนิดทารกได้นั้น ทำให้เธอไม่สามารถเป็น “ผู้หญิงจริง ๆ” ได้ ด้วยความอาฆาตแค้นถึงขีดสุด เอสเธอร์เลยสังหารพ่อและคนรักของเขาเสียทั้งคู่ หลังเหตุฆาตกรรม เอสเธอร์ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลจิตเวช ซาร์น (Saarne institute) แต่แล้วเอสเธอร์ก็หนีออกมาจากซาร์น แล้วไปเป็นโสเภณีในเอสโทเนียอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เธอก็ถูกตำรวจจับด้วยข้อหาค้าประเวณี แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเป็นเด็กน้อยทำให้เธอรอดจากการถูกจำคุกมาได้ แต่ถูกส่งตัวไปยังสถานดูแลเด็กกำพร้าแทน เอสเธอร์อึดอัดและรังเกียจตัวเองที่ต้องถูกจองจำอยู่ในร่างของเด็กหญิง เธอต้องการเติบโตเป็นหญิงสาวเหมือนคนอื่น ๆ อยากจะเป็นภรรยา เป็นแม่คน เป็นที่รักของผู้ชายสักคน และนั่นคือสาเหตุที่เธอพยายามล่อลวงพ่อเลี้ยงของเธอเอง
9.อีกฉากที่ถูกตัดทิ้งไปก็คือ หลังจากที่เธอฆ่าแม่ชีอบิเกลแล้ว เธอได้ใส่ความว่าเป็นฝีมือของคนจรจัดรายหนึ่ง ด้วยการนำค้อนที่เป็นอาวุธสังหาร และของใช้ส่วนตัวจากรถของอบิเกลไปใส่รวมไว้กับสัมภาระต่าง ๆ ของชายจรจัดที่อาศัยอยู่ในสวนสาธารณะ แต่ฉากนี้ได้ถูกบรรจุเป็นโบนัสในเวอร์ชัน
10.จะเล่าถึงบทดั้งเดิมหลายหัวข้อสักหน่อยนะครับ แม้ว่าในวันนี้ Orphan จะถูกจดจำในฐานะหนังสยองขวัญคลาสสิกเรื่องหนึ่ง มีฉากโหดหลาย ๆ ฉาก แต่บทดั้งเดิมของหนังนั้นโหดกว่าเวอร์ชันที่เราได้ดูกันไปมาก อย่างเช่นฉากจบของเรื่องที่หลายคนประทับใจกับประโยคคลาสสิกกันมาก เมื่อเอสเธอร์รู้ตัวว่าเธอเสียท่าให้กับเคทแล้ว เธอจึงลองอ้อนวอนเป็นครั้งสุดท้ายเผื่อเคทจะเห็นใจแล้วไว้ชีวิตเธอ “ได้โปรอย่าทำร้ายหนูเลยค่ะแม่” แล้วเคทก็ตอบกลับไปแบบสะใจคนดูมากว่า “กูไม่ใช่แม่มึง” (i’m not your fucking mommy) ในหนังนั้นเคทใช้เท้าถีบเอสเธอร์ให้จมลงก้นทะเลสาบน้ำแข็งไป แต่ในบทดั้งเดิมนั้นโหดกว่านี้มาก เพราะเคทยิงเอสเธอร์เข้าที่หน้าอกหนึ่งนัด แล้วตามด้วยหว่างตาอีกหนึ่งนัด
11.อีกฉากที่ถูกแก้ไปจากบทดั้งเดิมนั้น คือฉากที่เอสเธอฆ่าจอห์นพ่อบุญธรรมเของเธอ ในหนังนั้นเอสเธอร์แทงจอห์นที่หน้าอกจนตาย แต่ในบทเดิมนั้น ขณะที่จอห์นค้นพบความลับอันชั่วร้ายของเอสเธอร์ จากภาพเขียนบนผนังห้องที่ต้องมองดูด้วยแสงแบล็กไลต์ ระหว่างที่กำลังตะลึงอยู่นั้น จู่ ๆ เอสเธอร์ก็กระโจนออกมาจากกองตุ๊กตาสัตว์ที่สุมอยู่บนเตียงของเธอ แล้วก็ใช้กรรไกรแทงเข้าที่เบ้าตาของจอห์น เขาวิ่งหนีออกจากห้องด้วยความเจ็บปวด แต่เอสเธอร์ก็ไม่ปล่อยเขาง่าย ๆ แต่ตามมาผลักจอห์นให้ร่วงตกบันได ทำให้จอห์นขาหัก แค่นั้นยังไม่พอเอสเธอร์ใช้เชือกกระโดดตามมารัดคอแล้วแขวนคอเขาจนตาย ผู้เขียนว่าแก้บทน่ะดีแล้ว ฉากนี้โหดเกินไปจริง ๆ นะ
12.ขออีกสักฉากที่ถูกแก้ไปจากบทเดิม เป็นฉากตอนต้นเรื่องตอนที่เคทกับจอห์นไปสถานดูแลเด็กกำพร้าเพื่อหาลูกบุญธรรมมาเลี้ยง ในบทเวอร์ชันเดิมนั้น เคทกับจอห์นไม่ได้ตั้งใจจะรับตัวเอสเธอร์มาเลี้ยงนะ แต่ทั้งคู่สนใจในตัว “โยลันดา” เด็กหญิงชาวเปอโตริกันวัย 7 ขวบ ระหว่างที่เคทนัดแนะกับซิสเตอร์อบิเกลว่าจะมารับตัวโยลันดาในวันรุ่งขึ้นนั้น จอห์นก็เดินขึ้นไปชั้นบนแล้วได้พบกับเอสเธอร์กำลังเขียนรูปอยู่ ฉากนี้เป็นฉากเดียวกันกับที่เราได้ดูในหนังเวอร์ชันสุดท้ายนั่นแหละ ทำให้จอห์นรู้สึกประทับใจในตัวของเอสเธอร์ แต่จอห์นก็ยอมรับการตัดสินใจของเคทที่พึงพอใจในตัวโยลันดา จะมารับตัวโยลันดาในวันรุ่งขึ้น แต่ในเช้าวันนั้น แม่ชีจูดิธกลับพบว่า โยลันดาแขวนคอตัวเองตายในตู้เสื้อผ้า บรรดาแม่ชีสันนิษฐานกันว่า เด็ก ๆ เล่นช่อนแอบกันแล้วเกิดผิดพลาด พอโยลันดาตายไป เคทกับจอห์นก็เลยตัดสินใจรับอุปการะเอสเธอร์มาแทน
13.ในช่วงเดินสายโปรโมตหนัง ปีเตอร์ สการ์สการ์ด (Peter Sarsgaard) และ เวรา ฟาร์มิกา (Vera Farmiga) ให้สัมภาษณ์ด้วยเหตุผลสวย ๆ ว่าเขาทั้งคู่ได้อ่านบทแล้วรู้สึกช็อกกับเนื้อหาหักมุมของหนังมาก ทำให้พวกเขาตัดสินใจรับงานนี้ทันที แต่มีพรายกระซิบบอกว่าที่จริงแล้วเป็นเพราะ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้ด้วย กำชับและกดดันให้ทั้งคู่ยอมรับงานนี้
14.ส่วน อิซาเบลล์ เฟอร์แมน (Isabelle Fuhrman) หนูน้อยเจ้าของบทเอสเธอร์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อรับบทนี้เธอได้ศึกษาบทบาทการแสดงของ เกล็น โคลส (Glenn Close) จากหนัง Dangerous Liaisons (1988) และ แอนโธนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins)จากหนัง The Silence of the Lambs (1991)
15.อ้างอิงจากทะเบียนผู้ป่วยของ โรงพยาบาลจิตเวช ซาร์น (Saarne institute) เอสเธอร์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ซึ่งเป็นวันเกิดของ ฮิตเลอร์
16.ในปี 2009 ที่หนังออกฉายนั้น เอสเธอร์ กลายเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์สยองขวัญที่ผู้ชมจดจำ จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Fright Meter Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับบรรดานักแสดงในบทสยองขวัญแต่ละปี และ อิซาเบลล์ เฟอร์แมน ก็ชนะเลิศได้รับรางวัล นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมไปจากบทเอสเธอร์
17.ในฉากที่เคทเริ่มสืบประวัติของเอสเธอร์ เธอได้โทรไปที่ โรงพยาบาลจิตเวช ซาร์น ในเอสโทเนีย ในฉากนี้มีพยาบาลรับสายแล้วพูดภาษาเอสโทนเนีย แต่ไม่มีซับไตเติลแปลว่าที่เธอพูดแปลว่าอะไร เรามีคำแปลให้ตรงนี้ครับ
พยาบาลรับสายแล้วถามว่า “Saarne Instituute, kas ma saan teid aidata?” โรงพยาบาลจิตเวชค่ะ มีอะไรให้ฉันช่วยคุณไหมคะ?
เคทก็ยังพูดต่อไป ถามปลายสายว่าสามารถพูดอังกฤษได้หรือไม่ พยาบาลก็ตอบกลับมาอีกว่า
“Kuidas palun? Ma ei saa aru. Oota üks silmapilk.” ขอโทษด้วยค่ะ ฉันไม่เข้าใจที่คุณพูดเลย รอสักครู่นะคะ
แถมท้ายด้วยความเป็นไปของนักแสดงนำแต่ละคนในปัจจุบันว่ามีผลงานอะไรให้เราได้ติดตามกันบ้าง
1.เวรา ฟาร์มิกา (Vera Farmiga) ในบท เคท ปัจจุบันอายุ 48 ปี
ผลงานโดดเด่น : Up in the Air(2009), The Departed(2006), Bates Motel(2013-2017)
ก่อนหน้าที่จะมารับบท “เคท” ในเรื่องนี้ เธอก็อยู่ในฮอลลีวูดมาตั้งแต่ปี 1997 แล้ว ผลงานส่วนใหญ่ก็เป็นทีวีซีรีส์ จนช่วงต้นยุค 2000 ถึงได้โดดเข้าวงการจอเงิน น่าแปลกที่ผลงานสร้างชื่อของเธอส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังสยองขวัญ นอกจาก Orphan แล้ว เรื่องก่อนหน้าก็คือ Joshua (2007) เนื้อหาก็เกี่ยวกับเด็กนรกเช่นกัน แต่เป็นเด็กผู้ชาย จนกระทั่งปี 2013 จุดพีกสุดในอาชีพของเธอก็มาถึง เมื่อเธอได้รับบทเป็น โลเรน วอร์เรน (Lorraine Warren)ใน The Conjuring ทำให้เธอได้กลายเป็นคาแรกเตอร์หลักในจักรวาลหนัง The Conjuring ที่เนื้อหาหลักสานต่อมาถึงภาค 3 แล้ว ยังมีภาคแยกย่อยไปอีกหลายเรื่อง ตอนนี้ฟาร์มิกามีหนังที่ถ่ายทำเสร็จแล้วพร้อมฉาย 1 เรื่อง ทีวีซีรีส์อีก 1 เรื่อง และหนังใหม่รอเปิดกล้องอีก 2 เรื่อง
2.ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด (Peter Sarsgaard) ในบท จอห์น ปัจจุบันอายุ 50 ปี
ผลงานโดดเด่น : Shattered Glass (2003), Kinsey (2004), Jarhead (2005)
นักแสดงสายขายฝีมือที่อยู่ในวงการมาตั้งแต่กลางยุค 90s ไม่ค่อยมีผลงานในหนังระดับบล็อกบัสเตอร์เท่าใดนัก แต่มักจะอยู่ในหนังเบอร์กลาง ๆ สายรางวัลเสียมาก แม้นักวิจารณ์จะชื่นชมฝีมือการแสดงของซาร์สการ์ดที่เล่นได้ทั้งบทคนร้ายและคนดี แต่เขาก็ยังไม่เคยได้บทที่ช่วยส่งให้เขาได้ไปถึงฝั่งฝันเสียที ซาร์สการ์ดเคยได้เข้าชิงรางวัลทางด้านงานแสดงมาแล้ว 35 ครั้งแต่ไม่เคยได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เลยแม้แต่ครั้งเดียว บทที่ส่งเขาไปได้ไกลสุดก็ตั้งแต่เรื่อง Shattered Glass ปี 2003 นู่น ที่ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม บนเวทีลูกโลกทองคำ ปัจจุบันมีหนังที่สำเร็จรอฉายแล้ว 4 เรื่อง และหนึ่งในนั้นคือ The Batman
3.อิซาเบล เฟอร์แมน (Isabelle Fuhrman) ในบท เอสเธอร์ ปัจจุบันอายุ 24 ปี
ผลงานโดดเด่น : The Hunger Games (2012), Cell (2016), Kokuriko-zaka kara (2011)
น่าแปลกมากที่บท เอสเธอร์ ของเธอโด่งดังมาก สร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาจนทุกวันนี้ แต่ตัวเธอเองกลับไม่มีงานภาพยนตร์ต่อเนื่องหลังจาก Orphan เลย ผลงานของเธอหลังจากบทเอสเธอร์แล้วก็มีแต่ทีวีซีรีส์ กลับอีกสายงานที่เธอถนัดก็คืองานพากย์ เฟอร์แมนมีผลงานพากย์แอนิเมชันและวิดีโอเกมหลายเรื่อง เฟอร์แมนมีผลงานภาพยนตร์อีกครั้งคือ 3 ปีต่อมาหลังจาก Orphan กับหนังฟอร์มใหญ่อย่าง The Hunger Games ในบท Clove แต่ก็ไม่มีใครจดจำเธอได้แล้ว
ถึงแม้เฟอร์แมนจะไม่มีบทนำในหนังฮอลลีวูดแล้วก็ตาม แต่ก็เรียกได้ว่าเธอเป็นนักแสดงงานชุกคนหนึ่ง มีทั้งหนังสั้น หนังยาว และงานพากย์อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เธอมีหนังที่ถ่ายทำเสร็จแล้วถึง 3 เรื่อง มีทีวีซีรีส์อยู่ในขั้นตอนเตรียมการสร้างอีก 1 เรื่อง รวมถึง Orphan: First Kill ที่เธอได้กลับไปเป็น เอสเธอร์ อีกครั้ง ก็รอประกาศกำหนดฉายอยู่
4.จิมมี่ เบ็นเน็ต (Jimmy Bennett) ในบท แดเนียล ปัจจุบันอายุ 25 ปี
ผลงานโดดเด่น : Firewall (2006), Star Trek(2009)
เป็นนักแสดงนำรายเดียวจาก Orphan ที่หลังจากเรื่องนี้ก็มีงานน้อยสุด ผลงานของเบ็นเน็ตส่วนใหญ่ก็เป็นทีวีซีรีส์ มีภาพยนตร์ประมาณ 3-4 เรื่อง แต่ก็เป็นหนังฟอร์มเล็ก ส่วนผลงานล่าสุดก็คือ Downfalls High หนังสั้นที่มีกำหนดฉายในปีนี้ ซึ่งเบ็นเน็ตมีบทสมทบเล็ก ๆ ในเรื่องนี้
5.อาร์ยานา เอ็นจิเนียร์ (Aryana Engineer) ปัจจุบันอายุ 20 ปี
ผลงานโดดเด่น : Resident Evil: Retribution (2012)
น้องอาร์ยานาเป็นเด็กที่พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด เหตุเพราะแม่ของเธอก็หูหนวกเช่นกัน แต่เธอก็พยายามฝึกการพูดออกเสียง ด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง เธอชอบร้องเพลงให้แม่ของเธอฟัง สร้างความประทับใจกับเพื่อนบ้านผู้พบเห็น เลยชักจูงให้เธอเข้าวงการแสดง และบทบาท แมกซ์ ก็เป็นผลงานการแสดงเรื่องแรกของเธอ แม้ว่าบท แมกซ์ ของเธอจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู ทั้งด้วยความสามารถของน้องเองที่แสดงได้ดูน่าสงสารและด้วยความน่ารักของน้องเอ็นจิเนียร์เองก็ตาม แต่ด้วยอุปสรรคที่น้องเป็นผู้พิการทางการได้ยินทำให้เธอมีผลงานอีกแค่เรื่องเดียวคือ Resident Evil: Retribution ในบท เบ็กกี้ ซึ่งตัวละครนี้ก็เป็นคนหูหนวกต้องใช้ภาษามือ จึงเหมาะกับตัวน้องอาร์ยานา ผลงานล่าสุดของน้องคือ Dreaming of Peggy Lee เป็นหนังสั้นปี 2015 หลังจากนั้นน้องก็ไม่มีผลงานแสดงอีกเลย