Release Date
16/07/2021
แนว
ระทึกขวัญ
ความยาว
1.38 ชม. (98 นาที)
เรตผู้ชม
18+ (การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม,การใช้สารเสพติด,การฆ่าตัวตาย)
ผู้กำกับ
สิตา ลิขิตวนิชกุล, เจตริน รัตนเสรีเกียรติ, อภิรักษ์ สมุดกิจไพศาล, ธนบดี เอื้อวิทยา, อดิเรก วัฏลีลา
Our score
6.7[รีวิว] DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย – ไอเดียตื่นดี แต่บทคงต้องขออดนอนต่ออีกนิด
จุดเด่น
- ไอเดียแปลกใหม่ วางปมได้น่าสนใจ
- โปรดักชันทำออกมาได้ดีแบบมืออาชีพ
จุดสังเกต
- การดำเนินเรื่องและพล็อตยังมีกลิ่นอายจากหนังหลายเรื่อง
- บทสรุปเดาง่าย และการขมวดปมยังไม่สุดเท่าที่ควร
- แอ็กติงและไดอะล็อกยังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
6.9
-
คุณภาพงานสร้าง
8.0
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
4.4
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
8.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
6.0
เรื่องย่อ นักศึกษาแพทย์ที่มีอาการนอนไม่หลับ 4 คน หลงกลไปเข้าร่วมการทดลองทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่กลายเป็นฝันร้าย และทุกคนต้องหาทางหนีเอาตัวรอดก่อนจะสายเกินไป
เรียกว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่ายินดีของนักเรียนภาพยนตร์ เมื่อ Netflix ตัดสินใจเปิดโอกาสให้ผลงานภาพยนตร์ของนักศึกษา ‘DEEP โปรเจ็กต์ลับ หลับเป็นตาย’ ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ในการร่วมพัฒนาโปรเจกต์ จนได้ออกฉายทาง Netflix ถือว่าเป็นงานนักศึกษาชิ้นแรกของไทยที่ได้ไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกเลยก็ว่าได้
โดยโปรเจกต์นี้ ตั้งแต่ไอเดีย บทภาพยนตร์ และการถ่ายทำทุกขั้นตอน ผ่านการโค้ชอย่างใกล้ชิดจากเมนเทอร์ระดับมืออาชีพของวงการหนังไทย ทั้ง ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ ที่คอยให้คำแนะนำเรื่องบทภาพยนตร์ และ ‘อังเคิล – อดิเรก วัฏลีลา’ ที่มาชี้แนะในส่วนของการกำกับภาพยนตร์ โดยมีทีมงานรุ่นใหม่จาก ม.กรุงเทพ เป็นกำลังหลักในการเขียนบทและถ่ายทำอย่างยาวนานตลอด 3 ปีเต็ม นอกจากนี้ยังได้ 4 นักแสดงรุ่นใหม่คุ้นหน้าคุ้นตาทั้ง ‘แคร์-ปาณิสรา ริกุลสุรกาน’, ‘เค เลิศสิทธิชัย’ (Kayavine), ‘เฟิร์น-ศุภนารี สุทธวิจิตรวงษ์’, ‘กิต-กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ (กิต นักร้องนำวง Three Man Down)’ มาร่วมแสดงด้วย
พล็อตของหนังเรื่องนี้น่าสนใจตรงที่หยิบเอาจุดร่วมของคนสมัยนี้ที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (แต่บางทีเราก็ไม่รู้ตัว) นั่นก็คือ การอดหลับอดนอนนั่นเอง เพราะอาจจะด้วยความเคยชิน หรือเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งตรงนี้นี่แหละครับที่นักศึกษาหยิบเอามาต่อยอดเป็นพล็อตหนัง โดยการตั้งคำถามว่า คนเราจะอดนอนได้สักเท่าไหร่ และถ้าอดนอนแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
และก็นำมาสู่พล็อตหลักของเรื่องที่ว่าด้วยนักศึกษาแพทย์ 4 คนที่มีไลฟ์สไตล์ต่างรูปแบบกัน (แต่อดหลับอดนอนเหมือนกัน) ต้องจับพลัดจับผลู เมื่อได้ทราบถึงโปรเจกต์การทดลองลับ ๆ ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยต้องเข้ารับการฉีดสารบางอย่างเข้าร่างกาย เพื่อแลกกับเงินจำนวนมหาศาล โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามงีบหลับโดยเด็ดขาด เพราะถ้างีบหลับเมื่อไหร่ หัวใจจะหยุดเต้น และส่งผลให้ตายในทันที
แน่นอนว่า หากจะให้พูดถึงจุดเด่น ก็คงหนีไม่พ้นพล็อตอันแปลกใหม่ที่หยิบเรื่องของการอดนอนมาต่อยอดนี่แหละครับ และไม่ใช่เป็นเพราะว่าป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ เหมือน ‘คริสเตียน เบล’ (ผอมกะหร่อง) ใน The ‘Machinist (2004)’ หรือไม่ได้หลับเพราะหลับไม่ได้เหมือนในหนัง Netflix เรื่อง ‘AWAKE (2021)’ ด้วย
แต่เป็นการตั้งใจเจตนาอยากจะนอนไม่หลับนี่แหละ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นแกนไอเดียที่แข็งมากเลย ซึ่งถ้ามองจากโครงเรื่องโดยรวม ๆ ก็ต้องบอกว่าตีโจทย์ได้ค่อนข้างแตกนะครับ ในการอธิบายว่าถ้าอดนอนแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งแน่นอนว่ามันคงไม่ใช่แค่ว่าง่วงหรือเบลอจนทำอะไรมั่วซ่ัวอย่างเดียวแน่ ๆ แต่มันน่าสนใจตรงที่พล็อตสามารถทำให้การอดหลับอดนอนนำไปสู่จังหวะและเหตุการณ์ระทึกขวัญได้อย่างน่าสนใจทีเดียว รวมถึงปมปัญหาของตัวละครบางตัว ที่มีผลทำให้เกิดจุดหักเหบางอย่างในหนังด้วย และรวมไปถึงงานโปรดักชัน มุมกล้อง การตัดต่อที่ทำได้ออกมาน่าสนใจในฐานะหนังนักศึกษาหน้าใหม่ และในฐานะหนัง Netflix เลยแหละ
แต่จริง ๆ ถ้าจะให้พูดข้อสังเกต ก็น่าจะเป็นข้อสังเกตที่ถือว่าเป็น Pain point หลัก ๆ ของหนังนักศึกษาโดยปกตินั่นแหละครับ คือเรื่องของบทที่ยังค่อนข้างจะเป็นเส้นตรงไปหน่อย คือแม้หนังเรื่องนี้จะมีแกนแข็ง ๆ ที่เอาไปตีโจทย์ต่อยอดได้หลากหลาย ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ตีโจทย์ได้ดีในระดับหนึ่งนั่นแหละนะครับ
แต่ด้วยความที่หนังเรื่องนี้มันถูกขับเคลื่อนด้วยการดำเนินเรื่องแบบเป็นเส้นตรง ที่แม้ว่าจะมีจุดหักเหให้พอมีเซอร์ไพรส์ แต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่ยังมีอิทธิพล จังหวะ และกลิ่นอายจากหนังหลาย ๆ เรื่อง จนทำให้แม้ว่าไอเดียตั้งต้นจะสดใหม่ แต่วิธีการดำเนินเรื่องกลับไม่ได้สดตามไปด้วย จนทำให้นอกจากจะเดาเรื่องตามได้แล้ว ยังรู้สึกถึงอาการไถด้นพล็อตทริลเลอร์กันตั้งแต่ต้นเรื่อง กลางเรื่อง ไคลแม็กซ์ จนไปถึงบทสรุปที่เหมือนจะสุดแต่ก็ไม่สุด เหมือนจะว้าว แต่ก็ว้าวได้ไม่ได้เต็มเสียง
ด้วยความเคารพในฐานะแฟนหนังพี่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงนะครับ ผู้เขียนดูวิธีการสรุปเรื่อง และการขมวดปมเรื่องแล้ว โดยส่วนตัวก็แอบคิดถึงหนังพี่วิศิษฏ์นิด ๆ เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจนะครับว่า พี่วิศิษฏ์และพี่อังเคิลเองคงไม่ได้โน้มน้าวน้อง ๆ อะไรขนาดนั้นหรอก แค่ดูแล้วรู้สึกว่ามีกลิ่นอายติดมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หรือเรื่องของปมปัญหาของบางอันของบางคน ที่จริง ๆ แล้วย่อให้เล็กลงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงลึกก็ได้ รวมถึงแอ็กติงและไดอะล็อกในหลาย ๆ จุดที่ยังดูขัด ๆ แปร่ง ๆ ไปตลอดทั้งเรื่อง สิ่งเหล่านี้ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้ยังดูขาด ๆ เกิน ๆ ในบางจุด ถ้ามีการเคี่ยวบทให้เป็นธรรมชาติ ปรับคาแรกเตอร์วัยรุ่นให้ดูเป็นวัยรุ่นจริง ๆ ในยุคนี้ ปรับไดอะล็อกให้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ และปรับลดการนำเสนอที่มีกลิ่นอายและอิทธิพลจากหนังใหญ่ให้น้อยลง น่าจะทำให้หนังเรื่องนี้ไปได้สุดกว่านี้
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องชื่นชมความเป็นออริจินัลไอเดียของน้อง ๆ กลุ่มนี้นะครับ โดยเฉพาะการตีโจทย์ที่ทำได้ค่อนข้างครบถ้วนและสดใหม่ทีเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าตัวบทได้รับการอดนอนมากกว่านี้สักหน่อย น่าจะกลายเป็นหนังระทึกขวัญกลิ่นอายวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ที่ทำให้การนอนกลายเป็นความระทึกที่จัดเต็มมากกว่านี้ครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส